เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodizepine ย่อว่า BZD หรือ BZs หรือ Benzos) คือ กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และเริ่มใช้ในวงการแพทย์มากขึ้นในเวลาต่อมา เช่น ยานอนหลับ ยาต้านชัก ยารักษาอาการอารมณ์แปรปรวน

เบนโซไดอะซีปีน ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) ยากลุ่มนี้มีผลต่อสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า ‘กาบา’ Neurotransmitter gamma-aminobutyric acid (GABA) ในสมอง

ด้วยอิทธิพลและฤทธิ์ของยาเบนโซไดอะซีปีน จะส่งผลให้ผู้ที่ได้รับยามีอาการง่วงนอน คลายความวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยยับยั้งอาการของโรคลมชัก, ใช้รักษาอาการพิษสุราเรื้อรัง, รวมไปถึงใช้เป็นยาเตรียมสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับหัตถการทางทันตกรรม

ในทางคลีนิก กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนที่มีระยะเวลาในการออกฤทธิ์สั้นไปจนถึงระยะเวลาปานกลางจะถูกนำไปบำบัดรักษาผู้ป่วยที่นอนไม่หลับ สำหรับตัวที่ออกฤทธิ์ได้เป็นเวลานานๆจะถูกนำไป ใช้บำบัดอาการวิตกกังวล และผู้ป่วยที่มีการใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานานๆอาจได้รับผลข้างเคียงของยาติดตามมาได้เช่นกัน

ในทางปฏิบัติ อาจแบ่งยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนตามระยะเวลาของการออกฤทธิ์ได้ดังนี้

1. ออกฤทธิ์ระยะสั้น (Short acting): ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่นยา Triazolam, Midazolam

2. ออกฤทธิ์ระยะเวลาปานกลาง (Intermediate acting): ตัวอย่างยากลุ่มนี้เช่นยา Lorazepam, Alprazolam, Oxazepam, Temazepam, Estazolam

3. ออกฤทธิ์ระยะเวลานาน (Long acting): ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่นยา Flurazepam, Quazepam, Clonazepam, Chlordiazepoxide, Clobazam, Clorazepate, Diazepam,

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาในกลุ่มนี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติหลายรายการ เช่น Chlordiazepoxide, Diazepam, Lorazepam, Clonazepam, Alprazolam โดยจัดกลุ่มยาเหล่านี้ลงในหมวดวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภท 4 และจากหมวดของยาและฤทธิ์ที่มีผลต่อระบบประสาท น่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่สนับสนุนให้ประชาชนเชื่อและเลือกที่จะใช้ยาตามใบสั่งและคำยืนยันจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เบนโซไดอะซีปีน

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร/ข้อบ่งใช้ :

  • รักษาอาการนอนไม่หลับ โดยมีระยะเวลาของการใช้ 2 - 4 สัปดาห์ ยาที่มักนำมาใช้รักษา เช่น Nitrazepam และ Diazepam
  • รักษาโรคลมชัก มักใช้เวลานานในการรักษา ยาที่นำมาใช้รักษาเช่น Clobazam และ Clonazepam
  • รักษาอาการสุราเรื้อรัง/โรคพิษสุรา ตัวยาที่ใช้ในกรณีนี้เช่น Chlordiazepoxide
  • รักษาอาการวิตกกังวลชนิดเฉียบพลัน การใช้ยามีระยะเวลารักษา 2 - 4 สัปดาห์ ยาที่นำมาใช้รักษาเช่น Alprazolam, Bromazepam, Lorazepam และ Diazepam
  • ช่วยสงบประสาทของคนไข้ก่อนทำหัตถการทางการแพทย์ หรือก่อนทำหัตถการทางทันต กรรม ยาที่นำมาใช้บ่อย เช่น Midazolam
  • ใช้รักษาโรคอารมณ์แปรปรวน ยาที่นำมารักษา เช่น Lorazepam และ Clonazepam

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง ทำให้มีความรู้สึกผ่อนคลายความกังวล ช่วยสงบประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย จะเป็นไปตามธรรมชาติของยาแต่ละตัวว่าอยู่ในร่างกายได้นานมากน้อยเพียงใดมาเป็นเหตุผลประกอบกัน

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 0.25, 0.5, 1, 2, 5, 10 และ 15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลนิ่มขนาด 5,10 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาแคปซูลขนาด 20 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีดขนาด 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 10 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  • ยาฉีดขนาด 15 มิลลิกรัม/3 มิลลิลิตร

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ให้รับประทานยาเบนโซไดอะซีปีนตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ด้วยยากลุ่มนี้มีข้อห้ามข้อควรระวังและผลข้างเคียงมากมาย ผู้ป่วยไม่สมควรซื้อรับประทานหรือปรับขนาดการรับประทานด้วยตนเอง

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยา เบนโซไดอะซีปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเบนโซไดอะซีปีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเบนโซไดอะซีปีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเบนโซไดอะซิปีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ซึมเศร้า
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • กดการหายใจ (หายใจตื้น จนถึงหยุดหายใจ)
  • คลื่นไส้
  • สับสน
  • ฝันร้าย
  • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
  • เป็นพิษกับตับ /ตับอักเสบ
  • ความรู้สึกทางเพศเสื่อม

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนโซไดอะซีปีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเบนโซไดอะซิปีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซิปีน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง ต้องแพทย์สั่งการใช้เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับสตรีตั้งครรภ์ รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยากลุ่มนี้สามารถส่ง ผลต่อทารกได้ การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะช็อกหรือโคม่า ผู้ป่วยภาวะพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และผู้ป่วยที่มีภาวะการหายใจติดขัด/หายใจลำบากระยะรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่มีภาวะหัวใจทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ที่มีประวัติโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุด้วยเสี่ยงกับการเกิดภาวะซึมเศร้า และมีอาการวิตกกังวลตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานเพื่อป้องกันการถอนยา/ ลงแดง หรือติดยา
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องระมัดระวังเรื่องการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักร เนื่องจากยาจะก่อให้เกิดอาการง่วงนอน จึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มเบนโซไดอะซิปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน ร่วมกับ ยาบางกลุ่มเช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะบางตัว (เช่นยาClarithromycin, Erythromycin, Tetracycline) ยาต้านเศร้า ยาต้านเชื้อรา สามารถส่งผลให้ระดับของยาเบนโซไดอะซิปีนอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้นจึงอาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับยาบางตัวเช่นยา Rifampicin, Carbamazepine, และ Phenytoin จะไปเร่งให้ร่างกายกำจัดยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนได้มากยิ่งขึ้น ทำให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มดังกล่าวร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดการกดประสาทส่วนกลางหรือสมองมากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มฤทธิ์สงบประสาท กดการหายใจของร่างกายและเป็นอันตรายอย่างมาก จึงถือเป็นข้อห้ามการรับประทานยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
  • การใช้ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีนร่วมกับยาลดกรด สามารถทำให้การดูดซึมของยาเบนโซไดอะซิปีนน้อยลงและลดฤทธิ์ของการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษายาเบนโซไดอะซีปีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเบนโซไดอะซีปีน เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาเบนโซไดอะซีปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเบนโซไดอะซีปีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Dormicum (ดอร์มิคุม)Roche
Midazol (มิดาโซล)Hameln
Diazepam General Drugs House (ไดอะซิแพม เจนเนอรัล ดรักซ์ เฮาส์)General Drugs House
Diazepam GPO (ไดอะซิแพม จีพีโอ)GPO
Sipam (ซิแพม)Siam Bheasach
Anta (แอนตา)Central Poly Trading
Lonza (ลอนซา)Medicine Products
Lora (ลอรา)Atlantic Lab
Loramed (ลอราเมด)Medifive
Lorazep (ลอราเซพ)Asian Pharm
Zora (ซอรา)General Drugs House
Marzolam (มาร์โซแลม)March Pharma
Xanax/Xanax XR (ซาแน็กซ์/ซาแน็กซ์ เอ็กซ์อาร์)Pfizer
Halcion (ฮอลเซียน)Pfizer
Trialam (ไตรอะแลม)Alphapharm
Euhypnos 20 (ยูฮิบโนส 20)Pfizer
Benpine (เบนปีน)Atlantic Lab
Zepoxin (เซโพซิน)Chew Brothers
Clonaril (โคลนาริล)Medifive
Povanil (โพวานิล)Central Poly Trading
Rivotril (ริโวทริล)Roche

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Benzodiazepine [2021,Aug28]
  2. https://www.drugs.com/article/benzodiazepines.html [2021,Aug28]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/flurazepam?mtype=generic [2021,Aug28]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=temazepam [2021,Aug28]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=diazepam [2021,Aug28]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=chlordiazepoxide [2021,Aug28]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=clonazepam [2021,Aug28]
  8. https://www.mims.com/thailand/drug/info/diazepam%20gpo?type=full [2021,Aug28]