เนื้องอกเน็ท มะเร็งเน็ท (NET or Neuroendocrine tumor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เนื้องอกเน็ท/เนื้องอกเน็ต (NET:Neuroendocrine tumor) คือ เนื้องอก ชนิดหนึ่งที่เกิดจากเซลล์ที่เรียกว่า “Neuroendocrine cell” ซึ่งเป็นเซลล์มีอยู่ในอวัยวะต่างๆในระบบต่อมไร้ท่อและในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆเกือบทั่วร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ปอด ผิวหนัง และ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

Neuroendocrine cell เป็นเซลล์ที่ทำงานร่วมกับระบบประสาทในการสร้างและปลดปล่อยฮอร์โมนประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศ แต่เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยสารประกอบที่เรียกว่า Amine และ Polypeptide ซึ่งมีหน้าที่ช่วยการทำงานต่างๆของเซลล์ต่างๆ เช่น การใช้พลังงานของเซลล์ เป็นต้น

ทั่วไป เนื้องอกเน็ทส่วนใหญ่เป็นเนื้องอกที่’ไม่ใช่มะเร็ง’ คือ ไม่ลุกลามแพร่กระจาย แต่มีส่วนน้อยประมาณ 10-15% จะมีธรรมชาติของโรค’เป็นมะเร็งได้’ คือ สามารถมีการลุกลามแพร่กระจาย ซึ่งเรียกว่า “มะเร็งเน็ท/มะเร็งเน็ต (Neuroendocrine carcinoma หรือ Neuroendocrine cancer หรือ Malignant neuroendocrine tumor)”

เนื้องอกเน็ท พบน้อย พบประมาณ 2-5 รายต่อประชากร 1 แสนคน บางชนิดย่อยพบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง บางชนิดย่อยพบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย แต่ในภาพรวมทั่วไปพบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย เป็นโรคของผู้ใหญ่ แต่ก็พบได้ทุกอายุ โดยจะพบสูงขึ้นตั้งแต่อายุ40ปีขึ้นไป และ2/3ของผู้ป่วยพบเป็นเนื้องอกชนิดคาร์ซินอยด์/Carcinoid(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บ haamor.com), ที่เหลือ1/3เป็นชนิดอื่นๆร่วมกัน

ตำแหน่งเกิดเนื้องอกเน็ท:

  • พบสูงสุด, ประมาณ 60-70% เกิดในระบบทางเดินอาหาร โดยมีการศึกษารายงาน
    • ประมาณ 23% พบที่กระเพาะอาหาร
    • ประมาณ 21% พบที่ไส้ติ่ง
    • ประมาณ 15% พบที่ลำไส้เล็ก
    • ประมาณ 14% พบที่ลำไส้ใหญ่ส่วนลำไส้ตรง
    • ที่เหลือ พบน้อยมากในอวัยวะอื่นๆ ของระบบทางเดินอาหาร เช่น ตับอ่อน และที่หลอดอาหาร
  • ประมาณ 20-30% พบเกิดในปอด
  • และที่เหลือประมาณ 5-10% พบเกิดในอวัยวะอื่นๆ เช่น ผิวหนัง ต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต ฯลฯ

เนื้องอกเน็ทมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากอะไร?

เนื้องอกเน็ท-01

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุเกิดเนื้องอกเน็ท รวมทั้งยังไม่พบปัจจัยเสี่ยง แต่พบว่า ผู้ป่วยบางส่วนเป็นส่วนน้อย ที่โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้หากมีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคนี้

เนื้องอกเน็ทมีกี่ชนิด?

เนื้องอกเน็ท/มะเร็งเน็ทมีหลากหลายชนิด เช่น

  • ชนิด คาร์ซินอยด์ ที่พบประมาณ 2/3 ของเนื้องอกเน็ท/มะเร็งเน็ททั้งหมด พบเกิดได้ทุกอวัยวะทั่วร่างกาย และเป็นชนิดพบบ่อยที่สุด
  • ชนิด Merkel cell carcinoma ที่เกิดกับผิวหนัง
  • ชนิด Medullary carcinoma ที่เกิดกับต่อมไทรอยด์
  • ชนิด ฟีโอโครโมไซโตมา(Pheochromocytoma) ที่เกิดกับต่อมหมวกไต
  • ชนิด Insulinoma ที่เกิดกับตับอ่อน
  • ชนิด Gastrinoma ที่เกิดกับกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้ เนื้องอกเน็ท/มะเร็งเน็ท ยังพบเกิดได้พร้อมๆกันในหลายๆอวัยวะ เรียกว่า “Multiple endocrine neoplasia ย่อว่า MEN/เมน” เช่น พบพร้อมกันทั้งที่ ตับอ่อน ต่อมใต้สมอง และ ต่อมพาราไทรอยด์ ซึ่งโรคที่พบเกิดพร้อมกันในหลายอวัยวะมักเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมอาจทั้งที่ถ่ายทอดได้ หรือ ไม่ถ่ายทอด

เนื้องอกเน็ทมีอาการอย่างไร?

เนื้องอกเน็ท/มะเร็งเน็ท พบมีทั้งชนิดที่เซลล์เนื้องอก’ไม่สร้างฮอร์โมน’ และชนิดที่ ’เซลล์เนื้องอกสร้างฮอร์โมน’

ก. ชนิดไม่สร้างฮอร์โมน:

  • ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ มักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนภาพอวัยวะต่างๆจากโรคอื่นๆ เช่น จากตรวจภาพตับในโรคตับอักเสบแต่พบเนื้องอกเน็ทที่ต่อมหมวกไตร่วมด้วยโดยบังเอิญ เป็นต้น
  • ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่จนกดเบียดทับเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง อาการที่พบจะเป็นไปตามแต่ละอวัยวะที่เกิดโรค เช่น
    • แน่นท้อง ปวดท้องเรื้อรัง หรือลำไส้อุดตัน เมื่อเป็นก้อนเนื้อของลำไส้เล็ก
    • แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และไอเรื้อรัง เมื่อเป็นก้อนเนื้อในปอด
    • คลำพบก้อน/ก้อนเนื้อผิดปกติ เช่น ก้อนเนื้อในท้อง หรือ ก้อนเนื้อที่ผิวหนัง

ข. ชนิดสร้างฮอร์โมน: จะมีอาการได้ตั้งแต่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก โดยเป็นอาการที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนแต่ละชนิดที่ก้อนเนื้อสร้างขึ้น โดยอาการทั่วไปที่มักพบ บ่อย เช่น

  • ร้อนวูบวาบที่ใบหน้า เนื้อตัว เป็นๆหายๆ
  • ท้องเสียบ่อย
  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • มีอาการของโรคหืด
  • หน้ามืด เป็นลมบ่อย
  • ใจสั่นบ่อยๆ เป็นๆหายๆ
  • อาจมีอาการคล้ายภาวะหัวใจวาย/ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • บวม แขน ขา โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • มีความดันโลหิตสูงมากเป็นๆหายๆ เช่น เนื้องอกที่เกิดที่ต่อมหมวกไต
  • ถ้าก้อนเนื้อมีขนาดโต ก็อาจคลำก้อนได้ในตำแหน่งที่เกิดโรค

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกเน็ทได้อย่างไร?

โรคเนื้องอกเน็ท/มะเร็งเนท เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก เพราะอาการไม่แน่นอน อาการจะคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆที่พบได้บ่อยกว่า ดังนั้น กว่าจะวินิจฉัยได้ จึงมักต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแพทย์วินิจฉัยโรคเนื้องอกเน็ทได้จาก

  • ประวัติอาการต่างๆของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย
  • และเมื่อสงสัยโรคนี้ แพทย์จะตรวจเลือดและ/หรือการตรวจปัสสาวะหาสารเคมีต่างๆที่อาจสร้างจากเนื้องอกชนิดนี้ เช่น สาร Chromogranin (CgA), Neuron-specific enolase (NSE), Synaptophysin (P38), และ/หรือ Urine 5-Hydroxyindoleacetic acid (5-HIAA), ซึ่งสารต่างๆเหล่านี้ทำการตรวจได้เฉพาะบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น(เช่น โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์)
  • นอกจากนั้น คือ
    • การตรวจภาพอวัยวะที่สงสัยเกิดโรคด้วย อัลตราซาวด์ ซีทีสแกน และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • และในกรณีพบก้อนเนื้อในตำแหน่งที่สามารถตัดชิ้นเนื้อได้ ก็จะมีการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อนั้นๆเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • และ/หรือการเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อนั้นๆเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา

เนื้องอกเน็ทมีกี่ระยะ? และรักษาเนื้องอกเน็ทอย่างไร?

ทั่วไป ยังไม่มีการแบ่งระยะโรคในภาพรวมของเนื้องอก/มะเร็งเน็ท แต่อาจมีการแบ่งระยะโรคในเนื้องอก/มะเร็งเน็ทบางชนิดและบางอวัยวะ เช่น เนื้องอกเน็ทชนิด Carcionoid ของไส้ติ่ง เป็นต้น ดังนั้นจึงจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้

อนึ่ง: สามารถแบ่งเซลล์เนื้องอกเน็ท ออกเป็น 3 ชนิดตามการแบ่งตัวของเซลล์ที่จะส่งผลถึงความรุนแรงของโรค คือ

  • ชนิดเซลล์เนื้องอก/มะเร็งแบ่งตัวน้อย(Low grade ย่อว่า G1) ที่ความรุนแรงโรคจะน้อย
  • ชนิดเซลล์เนื้องอกฯแบ่งตัวปานกลาง (Intermediate grade: G2) ที่ความรุนแรงโรคจะอยู่ในระดับปานกลาง และ
  • ชนิดเซลล์เนื้องอกฯแบ่งตัวสูง (High grade:G3) ที่โรคมักมีความรุนแรงสูง

อย่างไรก็ตาม อาจแบ่งระยะโรคทางคลินิกของเนื้องอกเน็ท/มะเร็งเน็ท เป็น

  • ระยะที่โรคยังไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง: ที่ความรุนแรงโรคจะน้อย
  • ระยะที่โรคลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง: ที่ความรุนแรงโรคจะอยู่ในระดับปานกลาง
  • ระยะที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง: ที่โรคจะรุนแรงสูง และมักจัดอยู่ในโรคระยะที่4 และ
  • ระยะโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น: ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายสู่ ตับ รองลงไป คือ ปอด ซึ่งเรียกระยะนี้ได้ว่า ระยะที่ 4 ที่เป็นระยะรุนแรงที่สุด

วิธีรักษาเนื้องอกเน็ท:

ก. ชนิดที่เซลล์เนื้องอกแบ่งตัวน้อย, ก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก, และเป็นชนิดไม่สร้างฮอร์โมน: ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่โรคมีความรุนแรงต่ำ มักไม่มีการลุกลามแพร่กระจาย ไม่ใช่มะเร็ง, การรักษาคือ ผ่าตัดก้อนเนื้อออกเพียงวิธีการเดียว และแพทย์จะตรวจติดตามโรค โดยนัดตรวจผู้ป่วยเป็นระยะๆตามดุลพินิจของแพทย์

ข. ชนิดเซลล์แบ่งตัวปานกลาง: เป็นชนิดที่โรคยังไม่เป็นมะเร็งแต่มีโอกาสเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ การรักษา คือ การผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก และอาจเฝ้าติดตามโรค ทั้งนี้แพทย์จะพูดคุยปรึกษากับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นรายๆไปถึงข้อดีและข้อเสียของการรักษาต่อเนื่องด้วย ยาเคมีบำบัด, ยารักษาตรงเป้า, และ/หรือรังสีรักษา

ค. ชนิดเซลล์แบ่งตัวสูง: ซึ่งจัดว่าเป็นโรคมะเร็ง การรักษายังคงเป็นการผ่าตัดเอาออกของก้อนเนื้อที่อาจรวมถึงอวัยวะที่เกิดโรคและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง, และร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือยารักษาตรงเป้า ขึ้นกับว่า เป็นมะเร็งชนิดที่ตอบสนองต่อยาเหล่านั้นหรือไม่ และจะพิจารณาให้รังสีรักษาเป็นรายๆไป เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้ตอบสนองต่อรังสีรักษาได้ไม่ดีนัก

ดังนั้น การผ่าตัดจึงเป็นการรักษาหลักของเนื้องอก/มะเร็งชนิดนี้ แต่ในบางครั้ง ถ้าผ่าตัดไม่ได้ วิธีรักษาเพื่อให้ก้อนเนื้อเล็กลง เช่น

  • จี้ก้อนเนื้อด้วยคลื่นเสียง (RFA, Radiofrequency ablation)
  • รักษาทางรังสีร่วมรักษาเพื่อทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้ออุดตัน (Artery embolization), ก้อนเนื้อจึงขาดเลือดจนเกิดการตายของเซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็ง ที่อาจช่วยให้ก้อนเนื้อเล็กลงจนสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้
  • การรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ฉีดสารกัมมัตรังสีที่เซลล์เนื้องอก/มะเร็งสามารถจับกินได้ จึงส่งผลให้ก้อนเนื้อนั้นได้รับรังสีฯโดยมีผลน้อยที่สุดต่อเซลล์ปกติ (Radioisotope therapy:RIT)
  • อีกวิธี ถ้าผ่าตัดไม่ได้ และเมื่อเป็นเนื้องอกชนิดสร้างฮอร์โมน คือ การบรรเทาอาการจากฮอร์โมนที่เนื้องอกชนิดนี้สร้างขึ้น โดยการให้ยาต้านการทำงานของฮอร์โมนที่เซลล์เนื้องอกสร้างขึ้น เช่น ยา Somatostatin เป็นต้น

*นอกจากนั้น อีกวิธีที่ให้การรักษากับทุกผู้ป่วย คือ การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด, ยาแก้ท้องเสียเมื่อท้องเสีย, ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการของโรคหืด

เนื้องอกเน็ทรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของเนื้องอก/มะเร็งเน็ท ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ คือ การแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอกดังกล่าวแล้วใน หัวข้อ “ระยะโรคฯ”, ระยะโรค, เป็นเนื้องอกของอวัยวะใด, ผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่, อายุผู้ป่วย, และโรคร่วมต่างๆที่รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย, ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประเมินปัจจัยต่างๆและให้การพยากรณ์โรคกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

อย่างไรก็ตาม ทั่วไป

  • ถ้าเป็นเนื้องอกขนาดเล็กที่ผ่าตัดได้หมด และเซลล์เป็นชนิดแบ่งตัวน้อย/แบ่งตัวต่ำ(G1) จะมีการพยากรณ์โรคที่ดี โรครักษาได้หายสูงถึงประมาณ 80-90%
  • แต่ถ้าเป็นเนื้องอกที่เซลล์แบ่งตัวสูงและผ่าตัดไม่ได้, หรือผ่าตัดได้ไม่หมด, การพยากรณ์โรคมักไม่ดี
  • เมื่อมีโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆแล้ว, การพยากรณ์โรคจะแย่มาก, มักรักษาไม่หาย

ตรวจคัดกรองเนื้องอกเน็ทอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอก/มะเร็งเน็ท ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ในระยะต้นๆที่การรักษาจะได้รับผลดี

ป้องกันเนื้องอกเน็ทอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอก/มะเร็งเน็ท ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ”อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นเนื้องอกเน็ท?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นเนื้องอก/มะเร็งเน็ทเช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคเนื้องอก/โรคมะเร็งอื่นๆ, ปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. Barakat,M. et al. (2004). Neuroendocrine tumors. Endocrine-Related Cancer.11,1-18.
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Klimstra,D. et al. (2010). The pathological classification of neuroendocrine tumors. Pancreas.39,707-712.
  4. Maroun,J. et al. (2006). Guidelines for diagnosis and management of carcinoid tumors. Curr Oncol.13,67-76.
  5. Taal,B., and Visser,O. (2004). Epidemiology of neuroendocrine tumors. Neuroendrocrinology.80(suppl),3-7
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Neuroendocrine_tumor [2022,July30]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/2500010-overview#showall [2022,July30]
  8. https://www.medscape.com/viewarticle/734988 [2022,July30]
  9. https://erc.bioscientifica.com/view/journals/erc/17/4/909.xml [2022,July30]