เตตราไซคลีน (Tetracycline)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

เตตราไซคลีน (Tetracycline) คือ ยาปฏิชีวนะที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้รักษาโรคในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียและมีการใช้ยาตัวนี้ยาวนานเกือบ70ปี ในอดีตถูกนำไปใช้รักษาอหิวาตกโรค วงการแพทย์ยังนำยานี้มาใช้รักษา สิว หลอดลมอักเสบ กามโรค(เช่น ซิฟิลิส)

ยาเตตราไซคลีน ยังใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้ยากลุ่มเพนนิซิลลิน ทั้งนี้ รูปแบบของยา ที่มีวางขายตามร้านขายยาและในสถานพยาบาล เช่น ยาขี้ผึ้ง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยานี้จะถูกดูดซึมได้ดีเมื่อรับประทานในขณะที่ท้องว่าง จึงควรรับประทานก่อนอาหาร

อนึ่ง ได้มีการทดสอบการใช้ยานี้กับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์ พบว่า ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อน จึงห้ามใช้ยานี้กับหญิงมีครรภ์ อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ ควรต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์หรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรเท่านั้น

ยาเตตราไซคลีน มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ยาเตตราไซคลีน มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย
  • และโรค/ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ เช่น
    • สิว
    • กามโรค
    • อหิวาตกโรค

ยาเตตราไซคลีน มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเตตราไซคลีน ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนและสารตั้งต้นทางพันธุกรรมของเชื้อแบคทีเรีย และทำให้เชื้อแบคทีเรียนั้นๆหยุดการเจริญเติบโต

ยาเตตราไซคลีน มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบการจัดจำหน่ายที่พบบ่อยๆในประเทศไทยของยาเตตราไซคลีน เช่น

  • ยาขี้ผึ้งทาผิวหนัง
  • ยารับประทานที่เป็น ยาเม็ด, ยาแคปซูล, ขนาด 100, 250, และ 500มิลลิกรัม

ยาเตตราไซคลีน มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเตตราไซคลีนมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ขนาดของยาเตตราไซคลีน ที่รับประทานในผู้ใหญ่สำหรับการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีขนาดรับประทาน 250-500 มิลลิกรัมต่อครั้ง ทุก 6 ชั่วโมง
  • สำหรับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีอายุมากกว่า 8ปีขึ้นไป มีขนาดรับประทานอยู่ที่ 25-50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว1กิโลกรัมต่อครั้งทุก 6ชั่วโมง
  • ในผู้ป่วยโรคไต ต้องมีการปรับขนาดรับประทานโดยเป็นคำแนะนำจากแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดการติดโรคเชื้อรา หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแบบซ้ำซ้อน (Bacteria superinfection) นอกจากนี้ยังอาจทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำได้ด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาเตตราไซคลีน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาเตตราไซคลีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเตตราไซคลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ /มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือผ่านรก และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาเตตราไซคลีน ควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเตตราไซคลีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ และถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น2เท่า

ยาเตตราไซคลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาเตตราไซคลีน เช่น

  • อาการทางผิวหนัง: อาจก่อให้เกิดภาวะผื่นคัน และผิวลอก
  • อาจทำให้รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร โดยมีอาการ คลื่นไส้อาเจียน
  • สามารถก่อให้เกิดอาการ ปวดหัว เวียนศีรษะ การมองเห็นไม่ชัดเจน
  • อาจทำให้มี ไข้ หนาวสั่น คล้ายกับอาการของไข้หวัดใหญ่
  • อาจทำให้มีภาวะ ตัวเหลืองตาเหลือง รวมไปถึงเบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้ยาเตตราไซคลีนอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาเตตราไซคลีน เช่น

  • ห้ามใช้ยากับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ใน หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ยกเว้นเป็นคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8ปี ด้วยก่อให้เกิดภาวะสีของฟันคล้ำขึ้น
  • ห้ามรับประทานยาเตตราไซคลีนพร้อมกับนม ด้วยจะลดการดูดซึมของยา
  • ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเตตราไซคลีน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเตตราไซคลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยาเตตราไซคลีนร่วมกับกรดวิตามินบางตัว สามารถก่อให้เกิด ความดันเพิ่มขึ้นในสมอง และแสดงอาการ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าวควรต้องรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรักษาและบำบัดอาการอย่างทันที ยากลุ่มกรดวิตามินดังกล่าว เช่นยา ไอโสเตรติโนอิน (Isotretinoin, ยารักษาสิว)
  • การรับประทานยาเตตราไซคลีน ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งบางชนิด สามารถเพิ่มระดับของยารักษามะเร็งดังกล่าวในร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดสีผิวซีด อ่อนแอ มีแผลในปาก คลื่นไส้- อาเจียน อุจจาระสีดำหรือมีเลือดออกมากับอุจจาระ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ยารักษาโรคมะเร็งดังกล่าว เช่น เมโธเทรกเซท(Methotrexate)
  • การรับประทานยาเตตราไซคลีน ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารสามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของยาเตตราไซคลีน ลดประสิทธิภาพลง ยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารที่กล่าวถึง เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของ แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) และ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide)

ควรเก็บรักษายาเตตราไซคลีนอย่างไร?

สามารถเก็บยาเตตร้าซัยคลิน เช่น

  • เก็บยาในที่อุณหภูมิ ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาเตตราไซคลีน มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่ออื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต ยาเตตราไซคลีน เช่น

ชื่อการค้า ผู้ผลิต
Aureomycin (ออรีโอมัยซิน) U.S. Summi
Chlortetracycline Chew Brothers (คลอเตตร้าซัยคลิน จิวบราเทอร์) Chew Brothers
Lenocin (ลีโนซิน) General Drugs House
Tetracycline General drugs house (เตตร้าซัยคลิน เจเนอรัลดรักเฮ้า) General Drugs House
Tetracycline Osoth (เตตร้าซัยคลิน โอสถ) Osoth Interlab
Tetrana (เตตร้าน่า) Atlantic Lab
Tetrano (เตตร้าโน) Milano

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/sfx/tetracycline-side-effects.html [2021,Aug21]
  2. https://www.drugs.com/tetracycline.html [2021,Aug21]
  3. Drug Information Handbook 20th edition with Charles Flacy RPh. Ms, Pharm D FCSHP , Lora L.Armstrong RPh, PharmD BCPS , Morton P.Goldman, RPh, PharmD BCPS,FCCP , Leonard L. RPh. BSPharm