เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ โรคอะไร? พบบ่อยไหม?

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ(Cellulitis) คือ การอักเสบเฉียบพลันจากการติดเชื้อของผิวหนังในชั้นหนังแท้และในเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง  เป็นโรคที่พบบ่อย และพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย พบได้ทุกตำแหน่งของผิวหนัง แต่จะพบบ่อยบริเวณส่วนรยางค์(Appendage, คือส่วนที่ยื่นออกมาจากลำตัว ได้แก่ ขา แขน)ของร่างกาย โดยขาจะพบได้บ่อยกว่าแขน

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ?

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ โดยทั่วไปเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรีย  เชื้อที่พบบ่อยคือเชื้อ  Streptococcus spp./Species และ Staphylococcus spp. ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถพบได้เป็นปกติบริเวณผิวหนังโดยไม่ก่อโรค แต่เมื่อคนไข้มีการบาดเจ็บที่ผิวหนัง มีรอยแตกแยกที่ผิวหนังเกิดขึ้น จึงทำให้เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ผิวหนังชั้นลึกและมีการเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มอื่นๆ ก็เป็นสาเหตุของเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้แต่พบได้น้อยกว่า  และ ประวัติอาชีพ หรือการสัมผัสต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การเลี้ยงสัตว์ การสัมผัสน้ำทะเล อาจมีประโยชน์ต่อการสงสัยชนิดเชื้อแบคทีเรียที่แตกต่างออกไป เช่น การถูกแมวกัดที่แผลมักติดเชื้อชนิด Pasteurella multocida เป็นต้น

         อนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ได้แก่

  1. การมีแผลเกิดใหม่ที่ผิวหนัง
  2. การมีผื่น หรือ รอยโรคเดิมที่ผิวหนัง เช่น รอยโรค จากโรคเชื้อรา หรือจากแมลงกัด
  3. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง
  4. มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันฯ, ผู้ป่วยโรคเอดส์
  5. มีประวัติการใช้เข็มฉีดยา

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบเกิดได้อย่างไร?

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ มักพบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากบริเวณที่ผิวหนังมี รอยแตก รอยแยก หรือ รอยแผล เช่น มีการบาดเจ็บ  มีผื่น ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ผิวหนังชั้นลึก และก่อให้เกิดการติดเชื้อขึ้น 

 อย่างไรก็ตาม บางครั้งเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ก็ไม่สามารถพบแผลหรือรอยแตกรอยแยกใดที่จะเป็นช่องทางเข้าของเชื้อ  อาจเนื่องจากมีแค่การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในระดับที่ตาเปล่าไม่สามารถมองเห็น หรือ เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคที่มีความรุนแรงสูง 

นอกจากนั้น อาจพบการเกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบจากการติดเชื้อผ่านทางกระแสเลือดที่ได้รับเชื้อมาจากบริเวณอื่นของร่างกาย เช่น การอักเสบติดเชื้อของกระดูกและไขกระดูก (กระดูกอักเสบ), หรือจากการมีโพรงหนองบริเวณถุงผนังลำไส้ใหญ่ (Diverticular Abscesses)

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีอาการอย่างไร?

ผิวหนังที่มีการติดเชื้อ/เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ จะมีอาการ

  • เจ็บ ปวด  บวม แดง ร้อน บริเวณที่มีการติดเชื้อ  
  • ขอบเขตของรอยโรค มองดูไม่ชัดเจน
  • มักพบมีการติดเชื้อบริเวณ แขน ขาโดยจะพบที่ขาได้บ่อยกว่าที่แขน        
  • มักมีอาการอื่นที่ร่วมด้วยกับอาการทางผิวหนัง เช่น  
    • มีไข้
    • อ่อนเพลีย
    • ปวดเมื่อยตามตัว    
    • อาจมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงโต กดเจ็บ เช่น ในกรณีที่ติดเชื้อบริเวณขา ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ อาจโต บวม อาจเจ็บ และคลำพบได้

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบติดต่อกันได้ไหม?

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากบุคคลสู่บุคคล เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังในชั้นลึก และโดยทั่วไปคนเราจะมีผิวหนังชั้นนอกที่ปกติปกคลุมป้องกันอยู่ นอกจากนั้น เชื้อที่ทำให้เกิดเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้บ่อย ก็เป็นเชื้อที่สามารถพบได้อยู่แล้วบนผิวหนังชั้นนอกสุดปกติของมนุษย์

แพทย์วินิจฉัยเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบโดย

  • วินิจฉัยจากอาการผู้ป่วย ร่วมกับ
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น
    • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC/ซีบีซี)
    • ส่งเพาะเชื้อจากหนอง หรือ จากสารคัดหลั่งบริเวณบาดแผล (Swab culture)
    • ในรายที่อาการรุนแรง อาจส่งตรวจเลือดเพื่อเพาะเชื้อ(Blood culture)เพื่อดูการติดเชื้อในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
  • อาจมีการส่งตรวจภาพรอยโรคทางรังสีวิทยา เช่น
    • อาจส่งตรวจเอกซเรย์เมื่อสงสัยมีวัตถุแปลกปลอมในเนื้อเยื่อที่อักเสบ
    • หรือ อาจส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) เมื่อสงสัยภาวะแทรกซ้อน เช่น การเกิดโพรงหนองในเนื้อเยื่อผิวหนังและ/หรือในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง หรือ สงสัยมีการติดเชื้อที่กระดูก(กระดูกอักเสบ)

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีแผลที่ผิวหนัง ที่อาการแย่ลง หรือที่มีอาการ ปวด บวม แดง บริเวณผิวหนังนั้นๆร่วมด้วย ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล 

รักษาเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ได้แก่

  1. การใช้ยาปฏิชีวนะ ชนิดรับประทานหรือชนิดฉีด อย่างรวดเร็ว ตามความเหมาะสมกับความรุนแรงของอาการ และชนิดของเชื้อแบคทีเรีย   
  2. ในรายที่มีไข้ หรือมีอาการปวดร่วมด้วย ผู้ป่วยควรได้รับ ยาลดไข้ ยาแก้ปวด  เพื่อบรรเทาอาการ 
  3. ผู้ป่วยควรยกอวัยวะส่วนที่ติดเชื้อขึ้นสูงกว่าพื้นราบ เช่น หนุนขาข้างมีรอยโรคให้สูงด้วยหมอนรอง เพื่อช่วยลดอาการบวม
  4. หากมีผื่นหรือมีแผลที่ผิวหนัง ควรมีการดูแลรักษาที่เหมาะสม เช่น มีการทำความสะอาดแผลและทำแผล รวมทั้งมีการรักษารอยโรคเดิมที่ผิวหนัง เช่น ในคนไข้ที่มีเชื้อรา หรือผื่นผิวหนังอักเสบอื่นๆ ทั้งนี้ควรดูแลตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ที่ดูแลรักษา

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ คือ จะเป็นโรคที่ร้ายแรงได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจมีการกระจายทางระบบน้ำเหลือง  และอาจลุกลามกระจายเข้าไปในกระแสเลือด จนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะ ติดเชื้อในกระแสเลือด ที่เป็นเหตุให้ถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือบกพร่อง เช่น ผู้สูงอายุ   ผู้ป่วยโรคเบาหวาน   ผู้ติดเชื้อเอชไอวี   ผู้ป่วยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน  

 แต่โดยทั่วไป หากได้รับยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อก่อโรค อาการผู้ป่วยจะดีขึ้นในระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมงหลังได้รับยาปฏิชีวนะนั้น

เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เช่น
1. การเกิดโพรงหนอง (Abscess formation)ในเนื้อเยื่อชั้นผิวหนังและ/หรือเนื้อเยื่อต่างๆชั้นลึกใต้ผิวหนัง
2. การติดเชื้อลุกลามไปที่กล้ามเนื้อและที่กระดูก 
3. ในรายที่มีการติดเชื้อบริเวณรอบตา อาจมีการลุกลามของเชื้อจากตาเข้าไปในสมอง ส่งผลให้เกิดสมองอักเสบ และ/หรือฝีในสมอง
4. การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมี แผล ที่สำคัญ เช่น

  1. หากมีผื่นหรือแผลที่ผิวหนัง ควรมีการดูแลรักษาที่เหมาะสมกับความรุนแรงของรอยโรค เช่น ถ้ารอยโรคไม่มากเพียงแผลถลอก สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าแผลไม่ดีขึ้น หรือลุกลามมากขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือแผลรุนแรงตั้งแต่แรก เช่น แผลฉีกขาดมาก แผลลึก แผลสกปรก ควรรีบไปโรงพยาบาลตั้งแต่แรก
  2.   ในผู้ป่วยที่ผิวแห้ง ควรมีการทาผิวด้วยสารที่ให้ความชุ่มชื้นผิว (Moisturizer)    เช่น น้ำมัน(Oil) , โลชั่น (Lotion), ครีมเบส (Cream base), ปิโตเลียมเจล (Petroleum jelly) เพื่อให้ผิวไม่แห้ง และถูกทำลายได้ง่าย
  3. หากผิวหนัง มีอาการ บวม แดง ร้อน และดูมีแนวโน้มจะลุกลามมากขึ้นควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพราะในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วและเหมาะสม แผลจะสามารถหายเป็นปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน

  ส่วนการดูแลเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ หลังพบแพทย์แล้ว คือ

  1. ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  2. กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง ไม่ขาดยา
  3. ดูแล รักษาความสะอาด แผล/รอยโรค ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลอย่างเคร่งครัด
  4. พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • ผิวหนังบริเวณที่มีการติดเชื้อดูแย่ลง แผล/รอยโรคลุกลามใหญ่ มากขึ้น
  • มีอาการร่วมอื่นๆที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น  มีไข้   อ่อนเพลียมาก  เบื่ออาหาร  อาเจียน
  • มีผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว เนื้อตัวบวม เป็นลม
  • กังวลในอาการ

ป้องกันเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบได้อย่างไร?

 วิธีป้องกันเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ได้แก่

  • หากมีผื่นหรือมีแผลที่ผิวหนัง ควรมีการดูแลรักษาที่เหมาะสม ไม่ปล่อยปละละเลยให้ติดเชื้อ
  • ถ้าแผลมีลักษณะติดเชื้อที่ลุกลาม เช่น มีหนองมากขึ้น ปวดมากขึ้น แผลขยายใหญ่ขึ้น แผลกินลึกมากขึ้น  หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย  เช่น  มีไข้  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล  
  • ในผู้ป่วยที่ผิวแห้ง ควรมีการทาสารให้ความชุ่มชื้นที่ผิวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผิวมีความแข็งแรง ไม่แห้งแตกและถูกทำลายจนเกิดแผล/ผื่นได้ง่าย

บรรณานุกรม

  1. ปรียากุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
  2. Lowell A.Goldsmith,Stephen I.Katz,BarbaraA.Gilchrest,Amy S.Paller,David J.Leffell,Klaus Wolff.Fitzpatrick Dermatology in general medicine .eight edition.McGraw hill.
  3. https://patient.info/skin-conditions/skin-rashes/cellulitis-and-erysipelas  [2022,April30]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/214222-overview#showall  [2022,April30]