เจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาเจนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) หรือ คริสตัลไวโอเลต (Crystal violet) คือน้ำยาฆ่าเชื้อที่เป็นยาใช้ภายนอก(ยาทา)รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียและโดยเฉพาะโรคเชื้อราของผิวหนังและเชื้อราช่องปาก

เจนเชียนไวโอเลตเป็นสารเริ่มต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมสีและในห้องทดลองใช้เพื่อแบ่งประเภทของแบคทีเรียซึ่งมีศัพท์เรียกเฉพาะว่า ‘การย้อมแกรม (Gram’s method)’

เจนเชียนไวโอเลตถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1828 (พ.ศ. 2371) ต่อมาจักษุแพทย์ชาวเยอรมัน Jakob Stilling ค้นพบว่า เจนเชียนไวโอเลตมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย, โรคเชื้อรา, ยีสต์, (Yeast, เชื้อราประเภทหนึ่งที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร) และมีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาน้ำประเภทสารละลายสีม่วง ใช้ทารักษาการติดเชื้อทางผิวหนัง

องค์การอนามัยโลกได้บรรจุยาน้ำเจนเชียนไวโอเลตลงในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุการใช้เป็น ยาหยอดหู และยาทาภายนอก

ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาลต่างๆ และซื้อหายาน้ำเจนเชียนไวโอเลตได้จากร้านขายยาทั่วไป

เจนเชียนไวโอเลตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เจนเชียนไวโอเลต

ยาเจนเชียนไวโอเลตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาการติดเชื้อ เช่น แบคทีเรีย, โรคเชื้อราช่องปาก และโรคเชื้อราตามผิวหนังของร่างกาย

เจนเชียนไวโอเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเจนเชียนไวโอเลตคือ ตัวยาจะซึมเข้าผนังเซลล์ของเชื้อโรคและก่อให้เกิดภาวะเป็นพิษกับสารพันธุกรรม ดีเอ็นเอ (DNA) ส่งผลให้เชื้อโรคหยุดการแบ่งเซลล์และตายลงในที่สุด

เจนเชียนไวโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเจนเชียนไวโอเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาน้ำชนิดป้ายปากและทาผิวภายนอก ขนาดความเข้มข้น 0.5 และ 1 กรัม/สารละลาย 100 มิลลิลิตร

เจนเชียนไวโอเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเจนเชียนไวโอเลตมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยา: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ใช้ไม้พันสำลีที่สะอาดแต้มด้วยยาเจนเชียนไวโอเลตแล้วป้ายยาในบริเวณที่มีการติดเชื้อในปากหรือตามผิวหนัง วันละ 2 - 3 ครั้งเป็นเวลา 3 วัน หากป้ายยาในปากไม่ควร ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร หรือยาอื่นตามลงไปทันที เพราะยาที่ป้ายไว้จะถูกลดปริมาณลงไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเจนเชียนไวโอเลต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเจนเชียนไวโอเลตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาเจนเชียนไวโอเลตสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทา ยาในเวลาถัดไปให้ทายาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการทายาเป็น 2 เท่า

เจนเชียนไวโอเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเจนเชียนไวโอเลตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)ต่างๆ เช่น

  • ในผู้ป่วยบางราย ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการบวมแดงตรงรอยที่ทาหรือระคายเคืองในบริเวณที่ทายา
  • ในกรณีที่แพ้ยานี้ หากพบอาการดังจะกล่าวต่อไป ต้องหยุดการใช้ยา แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยทันที เช่น อาจพบ
    • อาการหน้าบวม
    • ปากบวม
    • มีผื่นคันขึ้น
    • หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย

มีข้อควรระวังการใช้เจนเชียนไวโอเลตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเจนเชียนไวโอเลต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ในบริเวณที่มีบาดแผล
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็กแรกเกิด และ เด็กทารกที่ยังไม่หย่านมของมารดาด้วยอาจก่อให้เกิดแผลในบริเวณที่ใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการป้ายยานี้ในบริเวณหัวนมมารดาที่ยังเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตนเอง เพราะจะทำให้หัวนมแห้งและแตกได้
  • การใช้ยากับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตนเอง ยังไม่พบรายงานว่าก่อโทษต่อทารก แต่เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนใช้ยานี้
  • เมื่อใช้ยานี้ 2 - 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาประเมินปรับการรักษาใหม่
  • การป้ายยานี้ในปาก ให้ใช้ปริมาณยาที่เหมาะสม ป้ายตรงบริเวณที่มีการติดเชื้อเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้มากเกินความจำเป็นด้วย ผู้ป่วยบางรายอาจกลืนยาและมีอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร - ลำไส้ตามมา
  • ระวังมิให้ยากระเด็นเข้าตา
  • ระวังยาเลอะเสื้อผ้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในรูหูกับผู้ป่วยที่มีเยื่อแก้วหูทะลุ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการ บวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ทายา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเจนเชียนไวโอเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เจนเชียนไวโอเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาเจนเชียนไวโอเลตเป็นยาใช้ภายนอก จึงไม่ค่อยพบเห็นปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาเจนเชียนไวโอเลตอย่างไร?

ควรเก็บยาเจนเชียนไวโอเลต:

  • เก็บยาในที่ที่มีอุณหภูมิเย็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เจนเชียนไวโอเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเจนเชียนไวโอเลต มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ICM Gentian Violet Paint 0.5% BP (ไอซีเอ็ม เจนเชียน ไวโอเลต เพนท์ 0.5% บีพี) ICM Pharma
Gentian Violet Srichand (เจนเชียนไวโอเลต ศรีจันทร์) Srichand
Gentian Violet Sahakarn (เจนเชียนไวโอเลต สหการ) The United Drug (1996)
Pyrad-Violet (ไพเรด-ไวโอเลต) The United Drug (1996)

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Crystal_violet [2021,July24]
  2. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/gentian-violet-topical-route/description/drg-20064064 [2021,July24]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=gentian%20violet [2021,July24]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/gentian%20violet%20srichand [2021,July24]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/Pyrad-Violet/?tabrecent=2 [2021,July24]