อุบัติเหตุที่เกิดจากโรคลมชัก (Accidents and Epilepsy)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผู้ป่วยโรคลมชัก (Epilepsy) มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตสูงกว่าคนปกติ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยโรคลมชักต้องถูกห้ามทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น อาบน้ำในแม่น้ำลำคลอง หรือในอ่างอาบน้ำ ขับรถ เล่นกีฬาทางน้ำ ทำงานในที่สูง ซึ่งการห้ามทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชักมีอะไรบ้าง?

อุบัติเหตุจากโรคลมชัก

อุบัติเหตุที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคลมชัก คือ

1. การบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากเกิดการล้มลงขณะที่ชัก เพราะมีอาการชักขณะที่ยืนหรือนั่ง และมีอาการหมดสติขณะชักทำให้ล้มลงกับพื้นก่อให้เกิดอุบัติเหตุ แต่พบน้อยมากที่จะมีอันตรายถึงชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็นการฟกช้ำหรือแผลแตกเท่านั้น

2. การจมน้ำ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้บ่อย โดยมักพบในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่มีอายุ 5-19 ปี โดยมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับคนทั่วไป จึงเป็นเหตุที่ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ห้ามผู้ป่วยโรคลมชักว่ายน้ำ หรืออาบน้ำในอ่างหรือ อาบน้ำ/ว่ายน้ำในแม่น้ำลำคลอง แต่ถ้าผู้ป่วยว่ายน้ำภายใต้การดูแลของผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โอกาสเสี่ยงก็ไม่แตกต่างกับคนทั่วไป

3. ไฟไหม้น้ำร้อนลวก พบได้ประมาณ 12% ของผู้ป่วยโรคลมชักทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิดใน ช่วงการทำกิจกรรมต่างๆ และในบ้านซึ่งสามารถป้องกันได้ เช่น การปรุงอาหาร การอาบน้ำอุ่น การดื่มกาแฟร้อน การผิงไฟในหน้าหนาว ซึ่งการป้องกัน คือ ต้องแนะนำให้ผู้ป่วยปรุงอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ ดื่มกาแฟร้อนที่ใส่ในแก้วมีฝาปิด หลีกเลี่ยงการนั่งผิงไฟในหน้าหนาวเพียงคนเดียว เพราะถ้ามีอาการชักหมดสติก็จะมีคนที่นั่งผิงไฟด้วยช่วยได้ทัน

4. กระดูกหักและข้อต่อเลื่อนหลุด พบว่า 2% ของผู้ป่วยกระดูกหักและข้อต่อเลื่อนหลุดเป็นผลมาจากการชัก ซึ่งผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสเสี่ยงต่อกระดูกหักและข้อต่อเลื่อนหลุดสูงมากกว่าคนทั่วไป ประมาณ 4 เท่า

5. อุบัติเหตุทางการจราจร เป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะจะถูกห้ามขับรถอย่างน้อย 6 เดือน หลังจากไม่มีอาการชัก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต ในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดในกฎหมายว่าผู้ป่วยโรคลมชักห้ามขับรถ และในการทำใบ อนุญาตขับขี่นั้น โรคที่ระบุในใบรับรองแพทย์ก็ไม่มีการระบุถึงโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคลมชักถ้ามีอาการขณะขับรถมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรได้สูงมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมสติ ส่งผลให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมรถ จึงก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และเมื่อเกิดอุบัติเหตุนอกจากผู้ป่วยที่จะได้รับอันตรายแล้ว ผู้คนที่อยู่บนถนนในขณะนั้นอาจได้รับอันตรายได้ด้วย เพราะผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมรถได้เลยเนื่องจากหมดสติขณะที่มีอาการชัก

6. อุบัติเหตุอื่นๆ เช่น ฟันหัก แผลถลอก ฟกช้ำตามลำตัว หรือแขนขา มักเกิดจากการล้มลงกระแทกพื้นขณะชัก ซึ่งพบได้บ่อยมากในผู้ป่วยโรคลมชักชนิดชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติร่วมด้วย(ลมบ้าหมู)

ผู้ป่วยโรคลมชักทุกคนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเท่ากันหรือไม่?

ผู้ป่วยโรคลมชักทุกคนมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุแตกต่างกัน จากหลายๆการศึกษาพบว่าผู้ ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยกว่าผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้แก่

1. ชนิดของการชัก พบว่าการชักชนิดเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ หรือการชักชนิดล้มลงกับพื้นทันทีเนื่องจากเกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้ออย่างทันที เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่าการชักชนิดอื่นๆ เพราะผู้ป่วยจะหมดสติและล้มลงขณะชัก แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการเตือนก่อนการชักก็จะเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่า เพราะผู้ป่วยทราบว่าจะเกิดอาการชักจึงสามารถหยุดทำกิจกรรม นั่งหรือนอนลงกับพื้นได้

2. ความถี่ของการชัก ถ้าผู้ป่วยชักบ่อยมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน มีโอกาสสูงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

3. ผู้หญิง พบว่ามีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจากไฟไหม้น้ำร้อนลวกมากกว่าผู้ชาย เพราะหน้าที่ในการทำงานบ้านของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เช่น ปรุงอาหาร รีดผ้า เป็นต้น

4. ช่วงเวลาที่เกิดอาการชัก พบว่าถ้าอาการชักเกิดขึ้นเฉพาะเวลากลางคืน หรือขณะที่นอนหลับเท่านั้น โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุน้อยมากเพราะเป็นช่วงเวลาที่พักผ่อนและนอน แต่ถ้าอาการชักเกิดขึ้นในเวลากลางวันขณะที่ทำงาน หรืออยู่นอกบ้าน ระหว่างการเดินทางก็จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูงกว่ามาก

5. ผลแทรกซ้อนจากการทานยากันชัก เช่น ง่วง ซึม เดินเซ มือสั่น เสียการทรงตัว

มีแนวทางป้องกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ป่วยโรคลมชักอย่างไร?

แนวทางป้องกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก คือ

1. ต้องรับการรักษาโรคลมชักเป็นอย่างดีและต่อเนื่อง เพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการชัก และระวังผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น อาการเดินเซ มือสั่น หรือซึม พยายามอย่าให้เกิดขึ้น ถ้ามีอาการผิดปกติต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมต่อไป

2. ทำกิจกรรมต่างๆตามคำแนะนำ ดังนี้

2.1 การขับรถถ้าจำเป็นจริงๆ ควรหยุดขับรถอย่างน้อย 6 เดือนหลังควบคุมการชักได้ ถ้าจะให้ดีควรหยุดขับรถอย่างน้อย 1 ปี หลังจากการชักครั้งสุดท้าย แต่ถ้าเป็นพนัก งานขับรถก็ไม่ควรขับรถจนกว่าจะควบคุมอาการชักได้นานมากกว่า 5 ปี และสามารถหยุดยากันชักได้แล้ว

2.2 การปรุงอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการใช้เตาแก๊สและเตาถ่าน โดยแนะนำใช้เตาไมโคร เวฟแทน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรปรุงอาหารด้วยความระมัดระวัง และถ้ามีอาการเตือนก่อนชัก ควรรีบหยุดทำทันที

2.3 การอาบน้ำ หลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ หรือแม่น้ำลำคลอง ควรนั่งอาบน้ำและไม่ควรล็อคประตูห้องน้ำ เพราะถ้ามีอาการชักจะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงและผู้ให้การช่วยเหลือจะได้เข้าให้การช่วยเหลือได้ง่ายและรวดเร็ว

2.4 การว่ายน้ำ ไม่ควรว่ายน้ำคนเดียว ควรมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดและไม่ควรว่ายน้ำจนเหนื่อย เพราะจะกระตุ้นให้มีอาการชักได้ง่ายขึ้น

2.5 ไม่ควรอยู่ในที่สูงตามลำพัง

2.6 ไม่ควรเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันหรือเล่นกีฬาผาดโผน

2.7 ถ้าชักถี่มากๆ และล้มบ่อยๆ อาจใส่หมวกกันน๊อคเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะ

2.8 การนอนไม่ควรนอนบนเตียงที่สูงจากพื้นมากๆ ดีที่สุดควรนอนกับพื้นหรือที่นอนวางติดกับพื้น และไม่ควรมีสิ่งของต่างๆที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้วางไว้ใกล้ๆที่นอน เช่น ตู้ไม้ กระติกน้ำร้อน เพราะถ้ามีอาการชักขณะนอนหลับนั้น ผู้ป่วยอาจมีการเกร็งกระตุกของแขนขาและไปโดนสิ่งของเหล่านั้น ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายขึ้น

อุบัติเหตุที่เกิดจากการชักส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และสามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมการชักให้ดี และปฏิบัติตนตามคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคลมชัก และพยายามไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนจากการใช้ยากันชักก็จะป้องกันได้เป็นอย่างดี

โรคลมชักมีผลต่ออุบัติเหตุทางการจราจรอย่างไร?

โรคลมชักมีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุทางจราจร เพราะผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติขณะชัก ถ้าการชักนั้นเกิดในขณะที่ผู้ป่วยขับรถอยู่ก็มีผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคลมชักที่ควบคุมอาการได้ดี มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุไม่ต่างจากคนปกติ ขณะที่ผู้ป่วยที่ควบคุมอาการชักได้ไม่ดี มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรมากกว่าคนปกติประมาณ 2 เท่า

อะไรเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรของผู้ป่วยโรคลมชัก?

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรของผู้ป่วยโรคลมชัก คือ

1. ผู้ชายพบบ่อยกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายชอบขับรถ และขับรถเร็วกว่าผู้หญิง

2. ผู้ป่วยที่มีความถี่ของการชักสูง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

3. ระยะเวลาที่ไม่มีการชัก ถ้าไม่ชักติดต่อกันนานมากกว่า 6 เดือน โอกาสการเกิดอุบัติเหตุลดลงได้ 85% และ ถ้าไม่ชักติดต่อกันนานมากกว่า 12 เดือน โอกาสเกิดอุบัติเหตุลดลงได้ถึง 93%

4. ผู้ป่วยที่มีช่วงอายุ 18-25 ปี มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรเป็น 3-4 เท่า ของกลุ่มอายุอื่น

5. ชนิดของการชัก พบอุบัติเหตุได้บ่อยในผู้ป่วยที่ชักแบบทั้งตัวและหมดสติขณะชัก ถ้าเป็นการชักที่มีอาการเตือนนำมาก่อน โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะลดลงได้ เพราะมีสัญญาณเตือน สติก่อน แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุได้ ถ้าอาการเตือนนำมาก่อนในระยะเวลาสั้นในขณะที่ขับรถอยู่ ในขณะที่การจราจรแออัด หรือหยุดรถทันทีไม่ได้

6. การชักครั้งแรก พบว่า 18% ของการเกิดอุบัติเหตุในผู้ป่วยลมชักเกิดในการชักครั้งแรกเพราะไม่เคยมีอาการมาก่อนจึงไม่ทราบและไม่ได้ระมัดระวังตัวในการขับรถ

7. ประวัติอุบัติเหตุจากการชักก่อนหน้านี้ พบว่า 28% ของผู้ป่วยโรคลมชักเกิดอุบัติเหตุมากกว่า 1 ครั้ง

มีแนวทางป้องกันอุบัติเหตุทางการจราจรจากโรคลมชักอย่างไร?

แนวทางป้องกันอุบัติเหตุทางการจราจรจากโรคลมชัก คือ

1. ควบคุมการชักให้ดี โดยควรให้มีระยะเวลาที่ไม่มีการชักอย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องขับรถจริงๆ เช่น จำเป็นต้องขับรถไปทำงานเพราะไม่มีรถโดยสาร อาจพิจารณาเป็นกรณีได้ แต่ควรขับรถเป็นระยะทางใกล้ๆ และอย่างน้อยควรควบคุมการชักได้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 6 เดือน

2. หลีกเลี่ยงยากันชักที่มีอาการข้างเคียงมาก เช่น มือสั่น ซึม เดินเซ หรือเสียการทรงตัวเพราะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

3. ระหว่างที่มีการเปลี่ยนหรือปรับขนาดของยาไม่ควรขับรถหรือขับรถเฉพาะที่จำเป็นเท่า นั้น เพราะในช่วงดังกล่าวมีโอกาสเกิดอาการชักได้ง่าย เนื่องจากระดับยายังมีการเปลี่ยนแปลงและไม่ได้ระดับการรักษา

4. ควรทานยากันชักสม่ำเสมอ ถ้าวันใดลืมทานยาควรงดการขับรถในวันนั้น

5. ถ้าเคยมีอุบัติเหตุทางการจราจรจากการชัก ควรควบคุมให้มีช่วงเวลาที่ไม่ชักติดต่อกันนานมากกว่า 1-2 ปี ก่อนจะขับรถอีกครั้ง

6. ผู้ป่วยที่มีอาการเตือนนำมาก่อนการชัก ควรหยุดรถทันทีที่มีอาการเตือนเกิดขึ้น ไม่ควรรีบขับรถเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางเพราะจะเกิดอุบัติเหตุก่อนถึงได้ ถึงแม้ระยะ ทางที่เหลือจะใกล้เพียงใดก็ตาม

7. ไม่ควรขับรถในที่ที่มีการจราจรติดขัดมากๆ และควรขับในช่องจราจรซ้ายสุด เพราะสามารถหยุดรถได้ทันทีเมื่อมีอาการเตือน หรือในช่วงเวลาที่รถไม่มาก

8. ผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการชัก ควรขับรถให้น้อยที่สุด

9. ควรบอกข้อมูลการชักตามจริงกับแพทย์ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับคนอื่นและตนเอง

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อต้องไปไหนคนเดียว?

ผู้ป่วยโรคลมชักสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป เพียงแค่ทานยากันชักให้สม่ำเสมอ ถ้าท่านไม่มีอาการชักเลยเป็นระยะเวลานานมากกว่า 1 ปี โอกาสที่จะมีอาการชักซ้ำอีกนั้นมีน้อยมาก แต่กรณีที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้นั้น ต้องทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอ หลีก เลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่จะก่อให้เกิดอาการชักได้ เช่น การอดนอน การดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด เป็นต้น และที่สำคัญ คือ ควรมีบัตรประจำตัวโรคลมชักติดตัวตลอดเวลา โดยในบัตรนั้นควรระบุว่า เป็นโรคลมชัก มีอาการชักแบบไหน การช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การจับตะแคงตัว ไม่ให้สำลักน้ำลาย หรืออาหาร และควรระบุสิ่งที่ไม่ควรทำในการช่วยเหลือ เช่น ไม่ต้องงัดปาก ไม่ต้องกดปั้มหน้าอก ถ้าเป็นการชักแบบพฤติกรรมผิดปกติ เดินไป เดินมานั้น การช่วยเหลือที่ถูก ต้องคือ การเดินประคองไม่ให้ตกน้ำ ไม่ให้ถูกรถชน หรือเกิดอุบัติเหตุได้ ผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตก ใจ และกรณีที่มีอาการเตือนรู้ว่ากำลังจะชักนั้น ให้หยุดทำกิจกรรมทันที และนั่งหรือนอนในที่ปลอดภัย และรีบบอกคนรอบข้างให้ทราบว่าตนเองกำลังจะมีอาการชัก จะได้ให้การช่วยเหลือที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเดินทางไปอยู่ในที่สูงหรือใกล้แหล่งน้ำเพียงตามลำพัง ถ้าจำเป็นจริงๆควรหาเพื่อนไปด้วย

มีข้อแนะนำการดูแลคนที่กำลังชักอย่างไร? ควรต้องพาไปโรงพยาบาลไหม? หรือต้องเรียกรถพยาบาล?

โดยทั่วไปแล้วการชักนั้นจะเป็นระยะเวลาไม่นาน คือประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้น และผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ไม่มีอันตรายที่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องพามาพบแพทย์ ยกเว้นการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง

การช่วยเหลือผู้ที่กำลังชักที่ถูกต้อง สิ่งแรก คือ ผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตกใจ ตั้งสติให้ดีและอย่าทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการช่วยเหลือ เช่น การกดปั้มหน้าอก การงัดปาก ซึ่งเป็นการช่วยเหลือที่ผิดวิธี เป็นต้น การช่วยเหลือเริ่มจากการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากการสำลักอาหาร หรือน้ำลาย และเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นต้องจับผู้ป่วยนอนในท่าตะแคง ให้อยู่ห่างจากสิ่งกีดขวางต่างๆที่อาจถูกผู้ป่วยกระแทกได้ขณะที่มีอาการชัก ห้ามให้ยาทานทางปากในขณะชัก เพราะผู้ป่วยจะสำลักเม็ดยาและอาจเสียชีวิตจากการสำลักได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการชักนานกว่า 3-5 นาทีและได้รับอุบัติเหตุ เช่น ศีรษะแตก คิ้วแตกจากการล้มกระแทกพื้น ควรพามาโรงพยา บาลภายหลังหยุดชักแล้ว เพื่อการรักษาที่เหมาะสมต่อไป กรณีที่ผู้ป่วยชักนานไม่ฟื้นคืนสติ หรือมีอุบัติเหตุที่รุนแรง ควรเรียกรถพยาบาลจากโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หรือโทรเรียกรถ EMS(Emergency Medical Service) *โทรหมายเลข 1669 เบอร์เดียวโทรได้ทั่วประเทศ ฟรีตลอด 24 ชัวโมง

มีข้อแนะนำการดูแลตนเองหลังชักอย่างไร?

โดยส่วนใหญ่หลังการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดตามตัว

ถ้าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น การดูแลหลังชัก คือ การให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อน และสอบถามว่าวันนั้นได้ทานยากันชักหรือยัง ได้ลืมทานยาหรือไม่ เพราะสาเหตุหนึ่งที่ผู้ป่วยมีอาการชัก คือ การลืมทานยา ถ้าลืมก็ให้ผู้ป่วยทานยากันชัก

แต่ถ้าผู้ป่วยมีผลกระทบจากการชัก เช่น มีแผล เลือดออก ก็ให้การดูแลตามความเหมาะ สม แต่ถ้าอาการรุนแรงก็ต้องนำส่งโรงพยาบาล และถ้ากรณีที่ผู้ป่วยมีอาการชักนานมาก เช่น นานกว่า 10 นาทีและหยุดชัก แต่ไม่ฟื้นคืนสติ กรณีนี้ก็ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยอาจยังมีอาการชักต่อเนื่องแบบไม่มีอาการเกร็งกระตุกได้

หลังชักควรพบแพทย์ไหม? อย่างไร?

ปกติแล้วผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการชักได้นั้น อาจมีอาการชักได้ในระหว่างที่แพทย์นัดมาพบครั้งถัดไป การที่ผู้ป่วยมีอาการชักทุกครั้งนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทุกครั้ง เพียงแต่ให้มีการบันทึกเหตุการณ์ที่ชักไว้ ปัจจัยกระตุ้น การลืมทานยาหรือไม่ แต่ถ้ามีอาการชักบ่อยมาก เช่น วันละหลายๆครั้ง ก็สามารถมาพบแพทย์ก่อนนัดได้ หรือยาหมดก่อนถึงวันนัด

สิ่งที่ไม่ควรทำหลังการชัก คือ การทานยากันชักเพิ่ม หรือทานยาซ้ำขนาดเดิมอีก เพราะจะเกิดปัญหาทานยาเกินขนาดได้

สรุป

ผลข้างเคียงจากโรคลมชักที่พบบ่อย คือ การเกิดอุบัติเหตุ และในบางกรณีโดยเฉพาะในเด็กและในวัยรุ่น อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ แต่อย่างไรก็ตามอุบัติเหตุเหล่านี้เป็นสิ่งที่ป้อง กันหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการควบคุมโรคลมชักด้วยยาและด้วยการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม ดังได้กล่าวแล้วในบทความ