อาการกะเผลกเหตุปวดประสาท (Neurogenic Claudication)

สารบัญ

บทนำ

บางคนคงสงสัยว่าเป็นอะไรมากหรือเปล่า เพราะช่วงนี้จะปวดน่องมากเวลาเดิน บางครั้งเดินกะเผลก จนต้องหยุดพักเป็นระยะๆ เป็นอะไรกันแน่ และสังเกตว่าเดินได้ระยะทางใกล้ลงมากขึ้นเรื่อยๆ อาการเหล่านี้คืออะไร อ่านได้จากบทความนี้ครับ

อาการปวดน่อง เดินกะเผลก และปวดขาเวลาเดินนั้น มีลักษณะอาการอย่างไร?

อาการกะเผลกเหตุปวดประสาท

อาการ/ภาวะปวดน่อง เดินกะเผลก และปวดขาเวลาเดินนั้น เป็นอาการผิดปกติอย่างหนึ่ง เรียกว่า “อาการ/ภาวะกะเผลกเหตุปวด (Claudication)” คือก่อนเดินไม่ปวด แต่เมื่อเริ่มเดินได้พักหนึ่งจะปวดขา ปวดน่อง จนเดินกะเผลก และเมื่อพักแล้ว อาการปวด อาการกะเผลกจะดีขึ้น พอเดินใหม่ก็กลับมีอาการปวดขา ปวดน่องอีก เป็นอยู่อย่างนี้เสมอๆ เรียกว่า “อาการ/ภาวะกะ เผลกเป็นพักๆเหตุปวด (Intermittent claudication)”

เมื่อมีอาการปวดขาเมื่อเดิน เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

ผู้ที่มีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรไปพบแพทย์ เมื่อ

  • อาการกะเผลกนั้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เดินได้ระยะทางสั้นลงๆก็ปวดแล้ว
  • ปวดขณะนอนหลับ
  • กดเจ็บบริเวณกระดูกสันหลัง และ/หรือ
  • มีไข้ ร่วมด้วย

อาการกะเผลกเหตุปวดเกิดจากอะไร?

อาการกะเผลกเหตุปวดเกิดจาก 3 กลไกหลัก คือ

  • Vascular claudication ขากะเผลกสาเหตุจากกล้ามเนื้อขาขาดเลือด เกิดจาก กล้าม เนื้อขา สะโพก และ/หรือก้น ที่ใช้ช่วยในการเดินขาดเลือด เช่น จากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดอักเสบ (เช่น จากโรคเบาหวาน) หรือ โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral arterial disease : PAD เช่น จากโรคเบาหวาน)
  • Neurogenic claudication ขากะเผลกสาเหตุจากโรคของเส้นประสาท เช่น จากเส้น ประสาทถูกกดทับ (เช่น โรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ) โรคเส้นประสาทอักเสบ (เช่น จากโรคเบาหวาน) และ/หรือโรคของหมอนรองกระดูกสันหลัง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง)
  • ขากะเผลกเหตุจากกล้ามเนื้อขาหดเกร็ง เกิดตะคริว อาจจากการขาดเลือด หรือจากโรคของเส้นประสาทกล้ามเนื้อ หรือจากโรคต่างๆที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยพบเกิดจากโรคของกล้ามเนื้อโดยตรงได้น้อยกว่า ซึ่งในสมัยก่อนใช้คำ Muscular claudication ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ไม่นิยมใช้ คำว่า Muscular claudication แล้ว เพราะการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมักไม่ได้เกิดจากพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เกิดจากพยาธิสภาพของหลอดเลือด และ/หรือของเส้นประสาท

อนึ่ง อาการตะคริว พบได้ทั้งขณะมีกิจกรรม และ/หรือขณะนอนพัก (โดยส่วนใหญ่พบขณะนอน) มักพบในผู้ป่วย โรคตับแข็ง ไตวาย ผู้ป่วยโรคไตที่รักษาด้วยการล้างไตโดยการฟอกเลือด โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน (เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบจากโรคเบาหวาน) โรคกระดูกสันหลังเสื่อม และ/หรือ ในโรคกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น

แพทย์ให้การวินิจฉัยสาเหตุอาการขากะเผลกเหตุปวดอย่างไร?

แพทย์ให้การวินิจฉัยหาสาเหตุอาการขากะเผลกเหตุปวด ได้จากลักษณะของ การปวดขา ปวดน่อง เดินกะเผลก หรือมีอาการตะคริวขณะเดิน ร่วมกับการตรวจร่างกาย

กรณีเป็นการกะเผลกเหตุปวดประสาทนั้น อาจกดเจ็บบริเวณหลัง ชาบริเวณน่อง และ/หรือด้านข้างของเท้า ตรวจรีเฟล็กซ์ของขาลดลง นอนราบเหยียดขาและยกสูงขึ้น อาจก่อให้เกิดอาการปวดร้าวบริเวณน่อง (Straight leg raising test) เอกซเรย์กระดูกสันหลังพบการเสื่อมของกระดูกสันหลัง หรือพบ โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

แต่ถ้าเป็นกรณีของการกะเผลกเหตุปวดจากหลอดเลือด จะพบชีพจรบริเวณขาหลังเท้าเบาลง และขนบริเวณขาร่วง เป็นต้น

ส่วนที่เกิดจากกล้ามเนื้อเป็นตะคริว การวินิจฉัยจะขึ้นกับอาการอื่นๆ ที่เกิดจากแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคตับแข็ง โรคไต เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางกรณีก็ไม่สามารถแยกสาเหตุออกจากกันได้ชัดเจน เพราะอาการที่เกิดขึ้นก็มีซ้ำซ้อนกันได้ในระหว่างสาเหตุต่างๆ

ลักษณะแยกโรคระหว่างอาการกะเผลกเหตุปวดประสาท (Neurogenic claudication) และเหตุปวดจากหลอดเลือด (Vascular claudication)

ลักษณะอาการ Neurogenic claudication Vascular claudication
มีอาการเมื่อเดิน มี มี
มีอาการเมื่อยืน มี ไม่มี
มีระยะทางในการเดินก่อนมีอาการ มี ไม่มี
อาการดีขึ้นเมื่อก้มตัว มี ไม่มี
อาการดีขึ้นเมื่อนั่ง มี มี
คลำชีพจรได้เบาลง ไม่มีมี

อนึ่ง การตรวจเพิ่มเติม/การสืบค้นเพิ่มเติมด้วยการตรวจกระดูกสันหลังด้วยเอกซเรย์ธรรมดา หรือเอมอาร์ไอนั้น ข้อดีของการตรวจเอมอาร์ไอ คือ เห็นความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เส้นเอ็นกระดูก หมอนรองกระดูก ไขสันหลัง เส้นประสาท และเนื้อเยื่ออื่นๆได้ แต่มีค่าใช้ จ่ายสูง ใช้เวลานาน มีสถานพยาบาลที่ให้บริการตรวจน้อยแห่ง เสียเวลารอคิวนาน ส่วนเอกซ เรย์ธรรมดาทำได้ง่าย ประหยัด รวดเร็ว แต่เห็นเฉพาะกระดูกสันหลังเท่านั้น

ดังนั้น แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์ธรรมดาก่อนเสมอในการประเมินอาการ และให้การวินิจ ฉัยเบื้องต้น แต่ถ้ามีความผิดปกติรุนแรงต้องผ่าตัด แพทย์จะส่งตรวจเอมอาร์ไอตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่จะตรวจเอมอาร์ไอเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา หรือมีอาการรุนแรง หรือสงสัยภาวะติดเชื้อในกระดูก หรือในไขสันหลัง

มีวิธีรักษาอาการกะเผลกเหตุปวดอย่างไร?

การรักษาอาการกะเผลกเหตุปวดประสาท ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ถ้าอาการไม่มาก การทานยาแก้ปวดร่วมกับกายภาพบำบัดก็เพียงพอ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น รุนแรงมากก็อาจพิจารณาผ่าตัด

การรักษาอาการกะเผลกเหตุปวดจากหลอดเลือดนั้น ต้องใช้ยาต้านเกล็ดเลือดร่วมกับยาขยายหลอดเลือด การใส่ท่อขยายหลอดเลือด และ/หรือการผ่าตัดต่อหลอดเลือด/บายพาสหลอดเลือด (Vascular bypass)

การรักษาอาการจากกล้ามเนื้อเกร็ง เป็นตะคริว ขึ้นกับสาเหตุของแต่ละโรค เช่น รักษาโรคตับแข็ง หรือ รักษาโรคไต เป็นต้น

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าอาการนั้นกลับเป็นมากขึ้น มีภาวะแทรกซ้อน/ผลข้าง เคียง เช่น อาการอ่อนแรง การเดินได้สั้นลงๆเพราะหมดแรงง่ายขึ้น ปวดจนนอนไม่ได้ ปัสสาวะ อุจจาระไม่สะดวก หรือกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น ผลแทรกซ้อนของยาที่ใช้ (เช่น ปวดท้องมากเมื่อกินยาแก้ปวด เป็นต้น)

อาการกะเผลกเหตุปวดมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค หรือผลการรักษาอาการกะเผลกเหตุปวดนั้น ขึ้นกับสาเหตุว่าสามารถแก้ไขได้หรือไม่, กลับเป็นซ้ำได้หรือไม่, เป็นโรคที่รักษาหายหรือไม่, และมาพบแพทย์เร็วมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นจึงขึ้นกับแต่ละบุคคลๆไป

และถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า อาจส่งผลให้เกิดอาการอัมพาตได้ ซึ่งจะรักษาให้กลับมาเป็นปกติยาก ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ จึงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการกะเผลกเหตุปวดนี้?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการกะเผลกเหตุปวด คือ

  • การลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการนี้ และเพื่อลดความรุนแรงของอาการ เช่น โรคกระ ดูกเสื่อม, โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันจากโรคเบาหวาน, โรคตับ, และโรคไต
  • ไม่ควรทานยาแก้ปวดมากเกินไป เพราะอาจก่อให้เกิดอาการติดยาแก้ปวดหรืออาการปวดจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกิน
  • การทำกายภาพบำบัดสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ

ป้องกันอาการกะเผลกเหตุปวดได้อย่างไร?

การป้องกันอาการกะเผลกเหตุปวด คือ การป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ ที่สำคัญ คือ โรคกระดูกเสื่อม โรคของหมอนรองกระดูก (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ปวดหลังจากโรคหมอนรองกระดูกสันหลัง) โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันจากเบาหวาน โรคตับ และโรคไต ซึ่งการดูแลตนเองที่สำคัญ ได้แก่

  • การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีน้ำหนักตัวเกิน/โรคอ้วน
  • ปรับพฤติกรรมการใช้หลังให้ถูกวิธี
  • ใช้ชีวิตด้วยพฤติกรรมที่ดี เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • ทานอาหารจืด
  • รักษาและควบคุมโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง (โรคในกลุ่มอาการเมตาโบลิก)

สรุป

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมต่างๆที่ทำในชีวิตประจำวัน มีความสำคัญต่อสุขภาพเสมอ ดังนั้น จงดูแลสุขภาพทั่วไป และสุขภาพหลังให้แข็งแรง จะได้ไม่มีอาการปวดหลัง ปวดขา หรือเดินขากะเผลก