หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หูน้ำหนวก (Chronic otitis media)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหูชั้นกลางอักเสบ หรือ หูชั้นกลางติดเชื้อ (Otitis media) เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากในเด็กนั้น ท่อปรับความดันหูชั้นกลาง/ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางและหลังโพรงจมูก ยังไม่พัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ ประกอบกับเด็กเกิดภาวะติดเชื้อเป็นโรคหวัดได้บ่อย ซึ่งถ้าโรคหวัดที่เป็นลุกลามก็มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบต่อเนื่องไปยังรูเปิดของท่อปรับความดันหูชั้นกลาง ซึ่งอยู่หลังโพรงจมูก มีผลทำให้เกิดภาวะหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (Acute otitis media) ขึ้น ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา จะมีอาการไข้ หูอื้อ และปวดหูมาก จนเมื่อแก้วหูทะลุ อาการปวดหูและไข้จะเริ่มทุเลาลงได้ แต่จะมีน้ำหนอง ซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหู ถ้ายังไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอีก อาจกลายเป็น “โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวก (Chronic otitis media)” ต่อไป ซึ่งมีโอกาสเกิดผลข้างเคียง แทรกซ้อนต่างๆตามมาได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หูชั้นในอักเสบ ฝีในสมอง ฝีหลังหู ฝีที่คอ ใบหน้าเป็นอัมพาต เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังได้อย่างไร?

หูน้ำหนวก

โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก วินิจฉัยได้โดยการซักประวัติอาการต่างๆ การตรวจร่างกาย และการตรวจหูด้วยเครื่องตรวจหู รวมทั้งอาจส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ภาพถ่ายทางรังสี (เอกซเรย์/X-ray) การตรวจการได้ยิน การส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หู เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการไข้ หูอื้อ ปวดหู มีน้ำหนองซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหู ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก ไม่ควรปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง

รักษาหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังอย่างไร?

แพทย์รักษาหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวกได้โดย

1. รักษาโรคหวัด และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีโรคหวัดร่วมด้วย

2. รับประทานยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ ต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์

3.ใช้ยาหยอดหูสำหรับโรคหูน้ำหนวก ซึ่งมียาต้านจุลชีพหยอดหูวันละ 2 ครั้ง

4. ทำความสะอาดช่องหู โดยแพทย์หู คอ จมูก และสามารถทำเองได้ที่บ้านตามที่แพทย์ พยาบาลแนะนำ โดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาดให้ชุ่ม และเช็ดบริเวณปากรูหูออกมา ไม่ควรแหย่ไปลึกกว่านั้น

5. ป้องกันการเป็นซ้ำ โดยป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู โดยใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู (Ear plug) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬา เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำ ดำน้ำ และใช้ทุกครั้งขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู และป้องกันไม่ให้เป็นโรคหวัด หรือโรคทางเดินหายใจอักเสบ

6. ผ่าตัดในบางกรณีมีแก้วหูทะลุ และ/หรือมีการอักเสบเรื้อรังของโพรงอากาศในกระดูกกกหู (Chronic mastoiditis) ร่วมด้วย เช่น เมื่อต้องการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ

โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังรักษาหายไหม?

โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/โรคหูน้ำหนวก สามารถรักษาได้ โดยรักษาโรคหวัด หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีโรคหวัดร่วมด้วย รับประทานยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องประมาณ 1-2 สัปดาห์ ใช้ยาหยอดหูสำหรับโรคหูน้ำหนวกซึ่งมียาต้านจุลชีพหยอดหูวันละ 2 ครั้ง ทำความสะอาดช่องหู โดยแพทย์หู คอ จมูก และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง อาจมีการผ่าตัดในบางกรณี เช่น ผ่าตัดแก้วหูเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ

โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังรุนแรงไหม? มีผลแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปส่วนใหญ่โรคหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก มักมีการพยากรณ์โรค/อาการไม่รุนแรงเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง แต่หากปล่อยไว้ไม่รักษา หรือพบแพทย์ช้าเกินไป อาจมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หูชั้นในอักเสบ ฝีในสมอง ฝีหลังหู ฝีที่คอ ใบหน้าเป็นอัมพาต เป็นต้น

เมื่อมีอาการหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์เมื่อมีหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก คือ

  • ไม่แคะ ปั่น เขี่ย หรือเช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตามใส่เข้าไปในรูหู
  • ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ หรือซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง
  • ไม่ไอแบบปิดปากแน่น หรือสั่งน้ำมูก จามรุนแรงแบบปิดจมูกแน่น
  • ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู โดยใช้สำลีหรือวัสดุอุดรูหู (Ear plug) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬา เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ และทุกครั้งขณะอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
  • งดว่ายน้ำ ดำน้ำจนกว่าโรคจะหายเป็นปกติ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
  • ป้องกันตนเองไม่ให้เป็นหวัด หรือโรคทางเดินหายใจอักเสบ
  • เมื่อมีอาการน่าสงสัย หรือเป็นหวัดยาวนาน หรือ เป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (มีอาการไข้ หูอื้อ ปวดหู มีน้ำหนองซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากหู) ควรรีบไปพบแพทย์/แพทย์หู คอ จมูก

ป้องกันหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังได้อย่างไร?

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันหูชั้นกลางอักเสบเรื้อรัง/หูน้ำหนวก ทำได้ง่ายๆ ดังนี้

1. ไม่แคะ ปั่น เขี่ย หรือเช็ดขี้หูออก หรือทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม เพราะอาจก่ออันตราย ทำให้แก้วหูฉีกขาด และ/หรือมีการติดเชื้อ (บวมแดงและมีหนอง) ในหูชั้นกลางได้

2. ไม่ควรล้างหูด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อบ่อยๆ หรือซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง

3. ไม่ไอ แบบปิดปากแน่น หรือสั่งน้ำมูก จาม แบบปิดจมูกแน่น

4. เมื่อมีอาการน่าสงสัย หรือเป็นหวัดยาวนาน หรือ เป็นหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (มีอาการดังกล่าวแล้วในบทนำ) ควรรีบไปพบแพทย์/แพทย์ หู คอ จมูก

ควรดูแลรักษาสุขอนามัยของหูอย่างไร?

การดูแลรักษาสุขอนามัยของหู เป็นการปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของหูเกิดขึ้น ได้แก่

1. หลีกเลี่ยงการปั่น แคะ ล้าง (ด้วยสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อชนิดต่างๆ) ทำความสะอาดช่องหู โดยเฉพาะการใช้ไม้พันสำลี นิ้วมือ หรือวัตถุใดๆก็ตาม หลังอาบน้ำ หรือการให้ช่างตัดผม ปั่นหรือแคะหู เนื่องจากการกระทำดังกล่าว อาจกระตุ้นทำให้มีขี้หูในช่องหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น (จากการระคายเคืองที่ทำให้ต่อมสร้างขี้หูทำงานมากขึ้น) และจะยิ่งดันขี้หูในช่องหูที่มีอยู่แล้วให้อัดแน่นยิ่งขึ้น ทำให้ขี้หูอุดตันช่องหูชั้นนอกมากขึ้น เกิดอาการหูอื้อ หรือรู้สึกปวดหู หรือแน่นในช่องหู นอกจากนั้นอาจเกิดอันตราย หรือรอยถลอกของช่องหูชั้นนอก (เกิดแผลทำให้มีเลือดออก หรือหูชั้นนอกอักเสบ/หูติดเชื้อได้) หรืออาจทำให้แก้วหูฉีกขาด/แก้วหูทะลุได้

2. ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหู โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นหูชั้นนอกอักเสบ น้ำที่เข้าไปในช่องหูชั้นนอก อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น หรือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญทำให้ต้องใช้ไม้พันสำลีเช็ดทำความสะอาด ซึ่งจะทำให้การอักเสบของหูชั้นนอกเพิ่มมากขึ้น หรือผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุ เพราะน้ำที่เข้าไปจะเข้าไปสู่หูชั้นกลาง ทำให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลันได้

  • สามารถป้องกันน้ำเข้าหูได้โดย เอาสำลีอุดหู หรือใช้หมวกพลาสติกคลุมผมโดยให้ปิดถึงหู หรือใช้วัสดุอุดรูหู (Ear plug) ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านกีฬาทั่วไป เป็นที่อุดหูสำหรับการว่ายน้ำหรือดำน้ำ และเวลาอาบน้ำ
  • เมื่อน้ำเข้าหู ควรเอียงศีรษะเอาหูข้างนั้นลงต่ำ ดึงใบหูให้กางออก ซึ่งจะทำให้ช่องหูอยู่ในแนวตรงที่น้ำจะไหลออกมาได้ง่ายซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาน้ำเข้าหู จะหายไปทันที ไม่ควรปั่นหรือแคะหู

3. เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงจมูก (เช่น โรคหวัด หรือจมูกอักเสบ) โพรงหลังจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือมีอาการกำเริบของโรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรรีบรักษาให้บรรเทา หรือให้หายโดยเร็ว เนื่องจากมีทางติดต่อระหว่างโพรงหลังจมูกและหูชั้นกลางผ่านทางท่อยูสเตเชียน ถ้าเป็นโรคดังกล่าวเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหูได้ เช่น หูชั้นกลางอักเสบ น้ำขังในหูชั้นกลาง หรือท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ

  • ไม่ควรสั่งน้ำมูกแรงโดยเฉพาะเอามือบีบจมูกแล้วสั่งน้ำมูก เพราะจะทำให้เชื้อโรคในช่องจมูก และในไซนัสเข้าสู่หูชั้นกลางได้ง่าย
  • ไม่ควร ว่ายน้ำ ดำน้ำ เดินทางโดยเครื่องบิน หรือเดินทางขึ้นที่สูง หรือลงที่ต่ำอย่างรวดเร็ว (เช่น ใช้ลิฟท์) เพราะท่อยูสเตเชียน ซึ่งทำหน้าที่ปรับความดันของหูชั้นกลางกับบรรยากาศภายนอกไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ อาจทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ เสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะ บ้านหมุนได้

4. ควรระมัดระวังอย่าให้เกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุกับหู หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนบริเวณหู และบริเวณใกล้เคียง เช่น การถูกตบหู อาจทำให้แก้วหูทะลุ และฉีกขาด การที่ศีรษะกระแทกกับพื้นหรือของแข็ง อาจทำให้กระดูกรอบหูแตก อาจทำให้ช่องหูชั้นนอกฉีกขาด มีเลือดออกในหูชั้นกลาง หรือชั้นใน มีน้ำไขสันหลังรั่วออกมาทางช่องหู หรือทำให้กระดูกหูเคลื่อน ทำให้การนำเสียง/การได้ยินผิดปกติไป

5. โรคบางชนิด โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหู อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม เกิดหูหนวก หรือหูตึงได้ ควรใส่ใจในการดูแลรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ให้ดี เช่น โรคหวัด โรคหัด โรคคางทูม โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคกรดยูริคในเลือดสูง/โรคเกาต์ โรคโลหิตจาง/ภาวะซีด โรคเลือด และควรระวังปัจจัยบางชนิดที่อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น เครียด วิตกกังวล นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ (มีสารนิโคติน) รับประทานอาหารเค็ม หรือดื่มเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มโคลา (มีสารกาเฟอีน) พยายามออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงประสาทหู

6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเสียงดังเป็นระยะเวลานานๆ (เช่น เสียงในสถานเริงรมย์ หรือในโรงงานอุตสาหกรรม) หรือเสียงดังมากๆในระยะเวลาสั้นๆ (เช่น เสียงปืน เสียงประทัด) เพราะจะทำให้ประสาทหูค่อยๆเสื่อมลงทีละน้อย หรือเสื่อมแบบเฉียบพลันได้ ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง เช่น ที่อุดหู (Ear plug) หรือที่ครอบหู (Ear muff)

7. ก่อนใช้ยาทุกชนิด ไม่ว่าจะฉีด รับประทาน หรือหยอดหู ควรปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกรเสมอ เพราะยาบางชนิด เช่น ยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะ (เช่น Aminoglycoside) ยาแก้ปวด (เช่น Aspirin) หรือยาขับปัสสาวะบางชนิดอาจมีพิษต่อประสาทหู และประสาททรงตัว อาจทำให้ประสาทหูเสื่อม หรือเสียการทรงตัวได้ หรือผู้ป่วย อาจแพ้ยา (การแพ้ยา) หรือแพ้ส่วนประกอบของยาหยอดหูได้

8. ขี้หู เป็นสารธรรมชาติที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงให้หูชั้นนอกชุ่มชื้น ป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกขับออกมาเองจากช่องหู ไม่จำเป็นต้องแคะหู ถ้ามีขี้หูอุดตันมาก จนทำให้หูอื้อ ควรปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก บางคนที่มีปัญหาขี้หูเปียกและออกมาจากช่องหูมาก อาจใช้ยาละลายขี้หูหยอดในหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู (อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง ถ้าอาการดีขึ้นอาจห่างออกไป เป็น 2 หรือ 3 หรือ 4 อาทิตย์ หยอด 1 ครั้ง) ซึ่งจะช่วยลดการอุดตันของขี้หู ในช่องหูชั้นนอกได้ หรืออาจทำความสะอาดช่องหู โดยใช้ไม้พันสำลีชุบน้ำสะอาดให้ชุ่ม และเช็ดบริเวณปากรูหูออกมา ไม่ควรแหย่ไปลึกกว่านั้น

9. เมื่อมีอาการผิดปกติทางหู เช่น หูอื้อ มีเสียงดังในหู มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน ปวดหู มีน้ำหรือหนองไหลออกจากรูหู คันหู หน้าเบี้ยว หรือใบหน้าครึ่งซีกเป็นอัมพาต ควรรีบปรึกษาแพทย์ หู คอ จมูก

บรรณานุกรม

  1. Paparella MM, Schachern PA, et al: Temporal bone histopathology in chronically infected ears with intact and perforated tympanic membranes. Laryngoscope 1992; 102:1229-1236.
  2. Hildmann H, Sudhoff H, ed. Middle Ear Surgery, New York: Springer Verlag; 2006.
  3. Paraya Arsanasen: Public Knowledge for Thai population. The Royal College of Otolaryngologist-Head and Neck Surgeons of Thailand; 2011
Updated 2018,May19