หูติดเชื้อ (Ear infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หู (Ear)แบ่งทางกายภาพเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ หูชั้นนอก (External ear)เป็นส่วน ของรูหู ประกอบด้วย ต่อมไขมันและต่อมเหงื่อ ทำหน้าที่สร้างขี้หูเพื่อเคลือบปกป้องผิวหนัง ของรูหู ส่วนที่สองคือ หูชั้นกลาง (Middle ear) ประกอบด้วยเยื่อแก้วหู หรือบางท่านเรียก เยื่อแก้วหู และกระดูกหูซึ่งมีขนาดเล็กมากๆ 3 ชิ้น ทำหน้าที่ขยายเสียงที่เข้ามาจากรูหู เพื่อนำส่งต่อไปยังเส้นประสาทหู และส่วน สุดท้ายคือ หูชั้นใน (Inner ear)ที่อยู่ลึกเข้าไปในฐานกะโหลก ประกอบด้วย เส้นประสาทหู และอวัยวะควบคุมการทรงตัว เป็นส่วนสำคัญที่นำเสียง และการเคลื่อนไหวของศีรษะส่งเข้าสู่ สมอง เพื่อแปลเป็นการได้ยิน และเพื่อปรับเป็นการทรงตัว ตามลำดับ

หูติดเชื้อเกิดได้อย่างไร?

หูติดเชื้อ

การติดเชื้อของหูที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อของหูชั้นนอก มักพบเกิดหลังการว่ายน้ำ การแคะหู การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู หรือการมีขี้หูอุดตัน

การติดเชื้อของหูชั้นกลาง และของหูชั้นในมักเกิดตามหลังการติดเชื้อในทางเดินหายใจ (เช่น โรคหวัด หรือโรคไข้หวัดใหญ่) หรือเกิดตามหลังการอุดตันของท่อปรับความดันในหู (Eustachian tube,ท่อเปิดจากหูชั้นกลางเข้าสู่ลำคอ) จากสาเหตุต่างๆ เช่น จากโรคภูมิแพ้

ใครบ้างมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหูติดเชื้อ?

คนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่หูจะติดเชื้อ คือ

1 เด็กทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ จะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อของหูได้บ่อยกว่า เด็กที่กินนมแม่ เพราะขาดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่จะได้รับผ่านทางนมแม่

2 ผู้ที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ที่ไม่ได้มีการรักษาที่ถูกต้อง เพราะมักจะมีการอักเสบของระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง จึงส่งผลให้หูติดเชื้อไปด้วย

3 ผู้ที่มีโครงสร้างของใบหน้าผิดปกติ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ เพราะเป็นสาเหตุให้อากาศผ่านเข้าออกในช่องปากผิดปกติ ส่งผลถึงอากาศที่ผ่านเข้าออกหูทางท่อปรับความดันในหูผิดปกติ จึงมีเชื้อโรคเข้าสู่หูชั้นกลางได้มากและง่ายขึ้น

4 ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ส่งผลให้ร่างกายซึ่งรวมทั้งหูติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

หูติดเชื้อมีอาการอย่างไร?

อาการแรกของการติดเชื้อที่หูคือ อาการปวดหู ต่อมาคือ มีการสูญเสียการได้ยิน มีหนอง หรือน้ำ/ของเหลวใสๆไหลจากหู ในเด็กเล็กอาจมีไข้สูง ร้องกวน ใช้มือดึงใบหู

ในกรณีที่การติดเชื้อรุนแรงขึ้นจนลามเข้าสู่หูชั้นใน จะทำให้มีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เสียการทรงตัว

หากการติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจลุกลามเข้าสู่สมอง (หูเป็นอวัยวะที่อยู่ติดกับสมอง) ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือฝีในสมอง จะทำให้มีอาการปวด ศีรษะรุนแรง ตาพร่า/มัว เสียการรู้สึกตัว จนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต(ตาย)ได้

เมื่อสงสัยว่าหูติดเชื้อควรทำอย่างไร?

เมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ ขอแนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ หรือพบแพทย์ หู คอ จมูก/มาโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยว่า การติดเชื้อว่าอยู่ในหูชั้นใด และหาสาเหตุของการติด เชื้อ เนื่องจากมีการรักษาแตกต่างกันไป

แพทย์วินิจฉัยหูติดเชื้อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหูติดเชื้อได้จาก ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจหู อาจมีการย้อมเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากน้ำ/ของเหลวในหู และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หู เป็นต้น

รักษาหูติดเชื้ออย่างไร?

แนวทางการรักษาหูติดเชื้อ คือ

1. การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ มีทั้งรูปแบบยาหยอดหู และยาเม็ด ขึ้นอยู่กับว่ามีการติด เชื้อในส่วนใดของหู และเป็นการอักเสบติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งยาที่ใช้ ควรอยู่การควบคุมของแพทย์ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากยา

2. การทำความสะอาดหูโดยแพทย์ เพื่อกำจัดหนอง และเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออก เพื่อช่วย ในการออกฤทธิ์ของยา และเพื่อการตรวจวินิจฉัยความรุนแรงของโรค

3. การรักษาโดยการผ่าตัดกรณีมีการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่โพรงอากาศหลังหูชั้นใน หรือเข้าสู่สมอง และเมื่อมีการติดเชื้อเรื้อรังที่การรักษาโดยยาไม่ได้ผล

หูติดเชื้อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การติดเชื้อของหู มีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าได้รับการรักษา ที่ถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรกของโรค ดังนั้น เมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้ออาการ จึงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

หูติดเชื้อถึงแม้เกิดจากการติดเชื้อโรค แต่ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล

ผลข้างเคียงจากหูติดเชื้อ คือ อาจเป็นสาเหตุให้การได้ยินลดลง ซึ่งถ้าเกิดในเด็กเล็ก การได้ยินลดลง ยังส่งผลให้เด็กพูดได้ช้า นอกจากนั้น เมื่อรักษาล่าช้า หรือ เชื้อดื้อยา การติดเชื้ออาจลุกลามเข้าโพรงอากาศหลังหูชั้นใน เยื่อหุ้มสมอง และสู่สมอง ก่อให้เกิด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ เป็นหนอง ซึ่งอาจรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต(ตาย)ได้

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีหูอักเสบ คือ การรีบพบแพทย์/แพทย์หูคอจมูก ไม่ควรรักษาตัวเอง และภายหลังการพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน
  • ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยาเองแม้อาการจะดีขึ้น เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา
  • หลีกเลี่ยงน้ำเข้าหู เพราะความชื้นจะทำให้การติดเชื้อรักษายากขึ้น
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอเพื่อแพทย์สามารถติดตามอาการ และสามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมกับอาการได้
  • รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อมีอาการต่างๆเลวลง หรือ ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดหู หรือปวดศีรษะมากขึ้น หรือมีไข้ หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันหูติดเชื้อได้อย่างไร?

การป้องกันหูติดเชื้อ คือ

  • หลีกเลี่ยงการใช้ของแข็งแคะหู เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บของผิวหนังในรูหู ซึ่งจะนำ ไปสู่การติดเชื้อ
  • เมื่อมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ หรือโรคภูมิแพ้ ควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา ที่ถูกต้อง ก่อนที่จะอักเสบติดเชื้อลุกลามไปที่หู ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ ยินอย่างถาวรได้
  • ในเด็กอ่อน เด็กเล็ก ควรเลี้ยงด้วยน้ำนมแม่ ตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เพื่อให้เด็กมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ลดโอกาสเกิดหูอักเสบติดเชื้อ

บรรณานุกรม

  1. Cumming’s otolaryngology head and neck surgery, 4th edition