หัวใจโต (Cardiomegaly)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หัวใจโต (Enlarged heart หรือ Cardiomegaly) คือ ภาวะที่หัวใจมีขนาดโตเกินกว่าปกติ โดยอาจโตจาก 2 กรณี คือ

  • กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดหนาขึ้น หรือ
  • โตจากห้องหัวใจขยายใหญ่ขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยหัวใจโต อาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ ซึ่งการวินิจฉัยภาวะหัวใจโต มักวินิจฉัยได้ครั้งแรกจากการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคของปอด และในการตรวจสุขภาพประจำปี

หัวใจโต หรือ ภาวะหัวใจโต ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากโรคต่างๆทั้งของหัวใจเอง, ของปอด, และ/หรือของหลอดเลือด

ดังได้กล่าวแล้ว การเกิดหัวใจโตพบได้ 2 ลักษณะ คือ

  • หัวใจโตจากมีกล้ามเนื้อหรือผนังห้องหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophy)
  • หรือจากห้องต่างๆของหัวใจขยายขนาดโตขึ้นผิดปกติ (Dilatation)

หัวใจโต พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุจากการเสื่อมของเซลล์ต่างๆของหัวใจตามธรรมชาติ และโอกาสเกิดหัวใจโต ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

ทั้งนี้สถิติการเกิดที่แท้จริงของ หัวใจโต ยังไม่ทราบ แต่มีการศึกษาพบว่าในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี พบมีภาวะหัวใจโต ซึ่งวินิจฉัยได้จากภาพเอกซเรย์ปอดประมาณ 17% และอีกการศึกษาพบภาวะหัวใจโตในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและเพศชายได้ 23% จากการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดประจำปี

หัวใจโตมีสาเหตุจากอะไร?

หัวใจโต

หัวใจโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อย คือ

  • สูงอายุ: เพราะเซลล์หัวใจเสื่อมตามอายุ
  • ผลข้างเคียงจากการมีโรคความดันโลหิตสูง: จึงส่งผลให้หัวใจต้องออกแรงสูบฉีดโลหิตเข้าหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (โรคกล้ามเนื้อหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม) จึงส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจโตได้
  • ผลข้างเคียงจากโรคหลอดเลือดแดงแข็ง: จึงส่งผลให้เกิดหัวใจโตด้วยเหตุผลเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม
  • โรคลิ้นหัวใจ: ส่งผลให้มีเลือดคั่งในหัวใจเพิ่มขึ้น
  • โรคของต่อมไทรอยด์ ทั้งชนิด ต่อมไทรอยด์ทำงานเกินปกติ (โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) และภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia) คือ หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเร็ว หรือ ช้า หรือ ไม่เป็นจังหวะ ซึ่งเกิดจากสัญญาณไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจผิดปกติ ภาวะนี้จึงส่งผลให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และอาจมีเลือดคั่งในหัวใจเพิ่มขึ้น หัวใจจึงโตขึ้น
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย: จึงส่งผลให้ผนังหัวใจยืดขยาย เกิดภาวะหัวใจโต
  • โรคความดันโลหิตในปอดสูง/ความดันหลอดเลือดปอดสูง :จึงส่งผลให้หัวใจต้องเพิ่มแรงสูบฉีดเลือดเข้าปอด หัวใจจึงมีขนาดโตขึ้น
  • ภาวะซีด/ โลหิตจาง: จะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะอวัยวะต่างๆต้องการออกซิเจนจากเลือดอย่างเพียงพอ หัวใจจึงต้องทำงานเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้หัวใจโต
  • ร่างกายได้รับสารพิษที่เป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น สาร ปรอท และสาร ตะกั่ว
  • ติดสุรา จากพิษของสุราต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  • ยาเสพติด เช่น โคเคน เพราะเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคอ้วน เพราะจะมีไขมันไปจับที่รอบๆและในเนื้อเยื่อหัวใจ
  • โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เพราะส่งผลให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • โรคตับแข็ง เพราะส่งผลให้มีโปรตีนในเลือดต่ำ การไหลเวียนโลหิตไม่ดี หัวใจจึงทำงานเพิ่มขึ้น
  • โรคไตเรื้อรัง เพราะมักร่วมกับการมีความดันโลหิตสูง และการมีน้ำคั่งในร่างกาย จึงเพิ่มการทำงานของหัวใจ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาไทรอยด์ฮอร์โมน ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งบางชนิด
  • โรคอื่นๆที่พบได้น้อย: เช่น ภาวะมีโปรตีนผิดปกติจับในกล้ามเนื้อหัวใจ (Amyloido sis), ภาวะมีธาตุเหล็กจับในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายซึ่งรวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ (Hemochromatosis), และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดหัวใจโต?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจโต คือ

  • ผู้สูงอายุ
  • สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง (สูบบุหรี่มือสอง/Secondary smoke)
  • โรคอ้วน
  • ติดสุรา ติดยาเสพติด
  • กลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic syndrome, กลุ่มอาการเมตาโบลิก) คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
  • มีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ

หัวใจโตมีอาการอย่างไร?

อาการของ หัวใจโตในระยะเริ่มแรก มักไม่มีอาการ มักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภาพเอกซเรย์ปอด แต่เมื่อหัวใจโตมากขึ้น หรือกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมมากขึ้น อาการที่พบบ่อย คือ

  • เหนื่อยง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแรง
  • วิงเวียน คล้ายเป็นลม ง่าย
  • หัวใจเต้นผิดปกติ อาจ เบา เร็ว ช้า หรือ ไม่สม่ำเสมอ
  • อาจมีอาการไอผิดปกติโดยไม่รู้สาเหตุ
  • หายใจลำบาก
  • อาจบวม เท้า แขน ขา ใบหน้า
  • อาจเจ็บหน้าอก
  • อาจนอนราบไม่ได้ นอนราบแล้วจะหายใจลำบากที่มักเป็นอาการในระยะโรครุนแรง

แพทย์วินิจฉัยหัวใจโตได้อย่างไร?

เริ่มแรก แพทย์มักวินิจฉัยภาวะหัวใจโตได้จากการเห็นภาพหัวใจจากการถ่ายเอกซเรย์ปอด ทั้งนี้หัวใจปกติจะมีขนาดโต (ความกว้างของหัวใจ) ไม่เกิน ครึ่งหนึ่ง (50%) ของความกว้างของช่องอก

นอกจากนั้น การวินิจฉัยหาสาเหตุ จะได้จาก

  • สัญญาณชีพ (ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ อุณหภูมิร่างกาย)
  • อายุ
  • ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การใช้สารเสพติด
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มสุรา
  • การตรวจเลือดดูโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น โรคออโตอิมมูน โรคไขมันในเลือดสูง โรคไต
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ
  • การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุ ตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น อัลตราซาวด์หัวใจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ เป็นต้น

รักษาหัวใจโตอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะหัวใจโต คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การใช้ยาต่างๆ และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเมื่อสาเหตุเกิดจาก โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน
  • หรือการผ่าตัด เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคลิ้นหัวใจ
  • หรือ การใส่เครื่องคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ (Pacemaker) เมื่อสาเหตุเกิดจากภาวะหัวใจเสียจังหวะ เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • ใช้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะเมื่อมีอาการบวม
  • การให้ออกซิเจนเมื่อมีอาการทางการหายใจ
  • การให้ยาบรรเทาอาการไอ/ยาแก้ไอ
  • การพักผ่อน
  • การปรับการทำงาน การออกแรง การเรียน การกีฬา เป็นต้น

หัวใจโตรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของภาวะหัวใจโตขึ้นกับ

  • สาเหตุ: เช่น สาเหตุเกิดจากโรคอ้วน ความรุนแรงน้อยกว่าเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
  • การรักษา (ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสควบคุมโรคได้ก็สูงขึ้น)
  • ระยะเวลาที่เกิดอาการ (ถ้าเป็นมานานเรื้อรัง ความรุนแรงของโรคก็สูงขึ้น)
  • การลดปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น เลิกบุหรี่ สุรา สารเสพติด
  • และการปรับพฤติ กรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพ

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากภาวะหัวใจโต ที่อาจพบได้ คือ

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจจากการมีเลือดคั่งในหัวใจจากภาวะหัวใจโต ซึ่งจะอัน ตรายมาก เพราะลิ่มเลือดอาจหลุดเป็นก้อนเล็กๆกระจายไปตามกระแสโลหิต แล้วไปก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดต่างๆได้ทั่วร่างกาย และเป็นสาเหตุให้เสีย ชีวิตได้ เช่น อุดตันหลอดเลือดของสมอง/ โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน และ/หรืออุดตันหลอดเลือดของปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
  • ภาวะหัวใจเสียจังหวะ ซึ่งเป็นได้ทั้งสาเหตุ และผลข้างเคียงของหัวใจโต
  • หัวใจหยุดเต้นทันที ซึ่งมักเสียชีวิต

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อยังไม่เคยทราบว่าตนเองมีหัวใจโต การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้นและเมื่อดูแลตนเองแล้วอาการต่างๆไม่ดีขึ้น หรืออาการต่างๆเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะหัวใจโต การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญ คือ
    • เลิกบุหรี่
    • ค่อยๆปรับลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้เหลือดื่มน้อยที่สุด และในที่สุดไม่ดื่มเลย
    • กินอาหารป้องกันโรคหัวใจ (อาหารป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง)
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ออกกำลังกายตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุและหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือ
    • มีอาการผิด ปกติไปจากเดิม หรือ
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประวัน เช่น ปวดท้องมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ
  • ไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อ
    • เจ็บหน้าอกมาก
    • นอนราบไม่ได้ หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
    • เป็นลม
    • หมดสติ โคม่า

ป้องกันหัวใจโตได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะหัวใจโต คือการป้องกันสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุและหัวข้อปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญที่สุด คือ

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูบุหรี่มือสอง ที่เป็นสาเหตุสำคัญของ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคหลอดเลือดสมอง
  • และการกินอาหารมีประโยชน์ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง ‘อาหารป้องกันโรคหัวใจ’ และเรื่อง ‘อาหารป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็ง’ )
  • ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • และการควบคุมอาหารเพื่อป้องกันการเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

นอกจากนั้น คือ

  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ควรมีการตรวจหัวใจประจำปีสม่ำเสมอ เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 15-18 ปี
  • มีการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 15-18 ปี
  • จำกัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยในแต่ละวัน
    • ผู้ชายไม่ควรดื่มเบียร์เกิน 350 มิลลิลิตร (มล.), ไวน์ไม่เกิน 150 มล. , และสุรา ไม่เกิน 50 มล.
    • ในผู้หญิงลด ลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย เพราะมีรูปร่างและน้ำหนักตัวน้อยกว่าผู้ชาย

บรรณานุกรม

  1. Frishman, W. et al. (1992). Cardiomegaly on chest x-ray: prognostic implications from a ten-year cohort study of elderly subjects: a report from the Bronx Longitudinal Aging Study.Am Heart J.124, 1026-1030. [Pubmed].
  2. Kino,M. et al. (1981).Cardiovascular status in asymptomatic alcoholics, with reference to the level of ethanol consumption. Br Heart J. 46. 545-551. [PubMed].
  3. Kushi,L. et al. (2012). American Cancer Society Guidelines on Nutrition and Physical Activity for Cancer Prevention. CA Cancer J Clin. 62, 30-67.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Cardiomegaly [2019,March2]
  5. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/ConditionsAndTreatments/heart-disease-enlarged-heart [2019,March2]