หลอดเลือดดำผิวอักเสบ (Superficial Thrombophlebitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หลอดเลือดดำอักเสบ(Phlebitis)คือโรค/ภาวะที่เกิดมีการอักเสบขึ้นกับผนังของหลอดเลือดดำ(Vein) โดยที่การอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อก็ได้ แต่ที่พบบ่อยจะเกิดจากการอักเสบที่ไม่มีการติดเชื้อ ทั้งนี้ เมื่อเกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดดำ หลอดเลือดดำมักตอบสนองด้วยการก่อให้เกิดลิ่มเลือด(Thrombus)ร่วมด้วยเสมอ ดังนั้นโดยทั่วไป จึงเรียการอักเสบของหลอดเลือดดำว่า “Thrombophlebitis”

การอักเสบของหลอดเลือดดำที่พบบ่อย คือการอักเสบของหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังส่วนตื้นๆ/หลอดเลือดดำตื้นๆ/หลอดเลือดดำผิว (Superficial vein) ที่มักมองเห็นหลอดเลือดดำเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่า โดยเรียกการอักเสบของหลอดเลือดดำผิวที่อยู่ตื้นๆนี้ว่า “Superficial thrombophlebitis” ซึ่งการอักเสบของหลอดเลือดดำผิวนี้ เป็นการอักเสบที่พบได้บ่อย มักไม่มีความรุนแรง และวิธีรักษาไม่ยุ่งยากซับซ้อน

ส่วนการอักเสบของหลอดเลือดดำที่อยู่ลึกลงไปในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของส่วนต่างๆของร่างกาย(Deep vein) ที่มองไม่เห็นหลอดเลือดดำนั้นๆด้วยตาเปล่า จะเรียกว่า Deep vein thrombophlebitis หรือ Deep vein Thrombosis ที่พบได้น้อยกว่า และมักเป็นการอักเสบที่รุนแรง และมีการรักษาที่ยุ่งยากซับซ้อน

อนึ่ง ในบทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ การอักเสบของหลอดเลือดดำที่อยู่ตื้นๆใต้ผิวหนังเท่านั้น/หลอดเลือดดำผิว (Superficial thrombophlebitis)

ส่วนการอักเสบของหลอดเลือดดำที่เกิดกับหลอดเลือดดำที่อยู่ลึก (Deep vein) ได้แยกเขียนเฉพาะเป็นอีกบทความหนึ่งในเว็บ haamor.com บทความชื่อ ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ(Venous thrombosis)

หลอดเลือดำผิวอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

หลอดเลือดดำผิวอักเสบ

หลอดเลือดดำผิวอักเสบ ทั่วไปมักพบเกิดกับหลอดเลือดดำของขา รองลงมาคือ หลอดเลือดดดำของแขน แต่สามารถพบเกิดได้กับหลอดเลือดดำทุกตำแหน่งของร่างกาย เช่น ที่ลำคอ

สาเหตุหลอดเลือดดำผิวอักเสบ มีได้หลายสาเหตุ เช่น

  • เกิดการบาดเจ็บกับหลอดเลือดดำโดยตรง เช่น จากการใช้เข็มเจาะเลือด หรือจากการให้ยาต่างๆทางหลอดเลือดดำโดยเฉพาะยาเคมีบำบัด หรือยาที่ต้องให้ทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง(เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด) ทั้งนี้รวมไปถึงจากการให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำ
  • มีภาวะลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดดำ โดยลิ่มเลือดจะกระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดดำเกิดการอักเสบ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เช่น มีความผิดปกติในการทำงานของเกล็ดเลือด หรือขององค์ประกอบต่างๆที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้ง่ายกว่าปกติ ภาวะหลอดเลือดดำขอด ภาวะที่ร่างกายมีการไหลเวียนโลหิตไม่ดี เช่น นั่งนานๆ นอนติดเตียง ยืนนานๆ เดินมาก สวมใส่เสื้อผ้า รองเท้า ที่รัดแน่น ซึ่งภาวะเหล่านี้มักมี แขน ขา เท้า บวม ร่วมด้วย
  • ผนังหลอดเลือดดำติดเชื้อโดยตรง เช่น จากมีภาวะอักเสบติดเชื้อของเนื้อเยื่อ รอบหลอดเลือดดำที่จะลุกลามมายังหลอดเลือดดำได้ เช่น จากการติดเชื้อในกระแสโลหิต/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดเลือดดำผิวอักเสบ

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดหลอดเลือดดำผิวอักเสบ ได้แก่

  • สูบบุหรี่จัด เพราะสารพิษในควันบุหรี่ จะก่อการระคายเคืองต่อผนังหลอดเลือด ดำ จนส่งผลให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดฯ
  • ผู้มีหลอดเลือดดำขอด
  • หญิงตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์จะเป็นสาเหตุให้การไหลเวียนโลหิตไม่ดี โดยเฉพาะที่ขา
  • โรคอ้วน เพราะเป็นสาเหตุให้การไหลเวียนโลหิตไม่ดี โดยเฉพาะที่ขา รวมถีงผนังหลอดเลือดฯจะอักเสบจากการมีไขมันไปเกาะจับ
  • เป็นโรคเลือด หรือมีประวัติเป็นโรคเลือด เพราะมักเกิดลิ่มเลือดง่าย
  • เป็นโรคหลอดเลือด หรือ มีโรคหลอดเลือดอักเสบ มาก่อน
  • มีการให้ยาต่างๆ และ/หรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาเคมีบำบัด
  • มีการใส่คาเข็มฉีดยาไว้ในหลอดเลือดดำ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและจำเป็นต้องให้ยาต่างๆทางหลอดเลือดดำ เช่น ยาปฏิชีวนะ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ทำให้เลือดแข็งตัว/จับตัวเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาเม็ดคุมกำเนิด

หลอดเลือดดำผิวอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของการมีหลอดเลือดดำผิวอักเสบ มักเป็นอาการเฉพาะที่ เป็นอาการไม่มาก ไม่ก่ออันตราย โดยอาการที่พบได้คือ ปวด/เจ็บใน บริเวณ ตำแหน่งที่หลอดเลือดฯอักเสบ อาจมีอาการ บวม แดง ได้เล็กน้อย และมักเห็นเป็นทางสีดำ เป็นเส้นตามแนวหลอดเลือดดำผิวที่อักเสบ

ในผู้ป่วยบางราย ส่วนน้อยมาก ที่จะมีอาการรุนแรง คือ อาจมีการหลุดของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำผิวที่เป็นลิ่มเลือดขนาดเล็กๆ(Emboli)เข้าไปอุดในหลอดเลือดปอด ที่เรียกว่า Pulmonary embolism (ย่อว่า PE) ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะที่ปอดทำงานแลกเปลี่ยนอากาศไม่ได้ จึงเกิดอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก อย่างเฉียบพลัน ซึ่งถ้าเกิดมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้ออาการ ถ้าเป็นเพียง อาการ ปวด บวมเล็กน้อยเฉพาะที่ ใช้การดูแลตนเองเช่น ทานยาแก้ปวด Paracetamol หรือทายา Reparil gel หรือยา Hirudoid ตรงตำแหน่งที่ปวด บวม และพยายามยกตำแหน่งที่มีการอักเสบนั้นให้สูง เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต

แต่ถ้ากังวลในอาการ หรือ อาการลุกลามขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

แต่ถ้ามีอาการรุนแรง โดยเฉพาะมีปัญหาทางการหายใจ เช่น เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยหลอดเลือดดำผิวอักเสบได้อย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยหลอดเลือดดำผิวอักเสบ/หลอดเลือดดำตื้นๆอักเสบ ได้จากลักษณะทางคลินิกโดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม(เช่น การตรวจเลือดซีบีซี) ได้แก่จาก ประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ประวัติการใช้ยา/ การฉีดยาต่างๆ การตรวจร่างกาย และการตรวจรอยโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดดำ

แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการมาก หรือมีอาการรุนแรง แพทย์จึงจะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นไปตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือด ซีบีซี/CBC การเอกซเรย์ปอด เป็นต้น

รักษาหลอดเลือดดำผิวอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาหลอดเลือดดำผิว/หลอดเลือดดำตื้นๆอักเสบ คือการรักษาประคับประคองตามอาการที่สามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน ซึ่งอาการจะค่อยๆดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ เช่น

  • ยกแขน ขา ด้านที่มีหลอดดำผิวอักเสบให้สูง เมื่อ นั่ง นอน
  • หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ ถ้าการอักเสบเกิดกับหลอดเลือดดำผิวที่ขา
  • สวมใส่ถุงเท้าที่ช่วยพยุงการไหลเวียนของเลือดกรณีมีหลอดเลือดดำขาขอด
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่ เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่รัดแน่น
  • ทายาต้านการอักเสบบนรอยหลอดเลือดดำผิวที่อักเสบ เช่นยา Reparil gel หรือ Hirudoid
  • กินยาแก้ปวด Paracetamol เมื่อมีอาการปวดมากขึ้น
  • แต่ถ้าอาการเลวลง เช่น บวม ปวด มากขึ้น ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แต่ถ้าเกิดอาการรุนแรง เฉียบพลัน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

หลอดเลือดดำผิวอักเสบก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากหลอดเลือดดำผิวอักเสบ โดยทั่วไปไม่พบผลข้างเคียง ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายเป็นส่วนน้อยที่เกิดการหลุดของลิ่มเลือดขนาดเล็กมากเข้าสู่หลอดเลือดปอด ส่งผลให้เกิดอาการที่เกิดเฉียบพลันกับระบบหายใจ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ที่เมื่อเกิดมีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

หลอดเลือดดำอักเสบมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป หลอดเลือดดำผิวอักเสบมีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่ทำให้เสียชีวิต และแพทย์รักษาให้หายได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีหลอดเลือดดำผิวอักเสบ เช่นเดียวกับที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “การรักษาฯ” ได้แก่

  • ยกแขน ขา ด้านที่มีหลอดดำผิวอักเสบให้สูง เมื่อ นั่ง นอน
  • หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ ถ้าการอักเสบเกิดกับหลอดเลือดดำผิวของขา
  • สวมใส่ถุงเท้าที่ช่วยพยุงการไหลเวียนของเลือดกรณีมีหลอดเลือดดำขาขอด
  • หลีกเลี่ยงการสวมใส่ เสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้าที่รัดแน่น
  • ทายาต้านการอักเสบบนรอยหลอดเลือดดำผิวที่อักเสบ เช่นยา Reparil gel หรือ Hirudoid
  • กินยาแก้ปวด Paracetamol เมื่อมีอาการปวดมากขึ้น
  • แต่ถ้าอาการเลวลง เช่น บวม ปวด มากขึ้น ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล แต่ถ้าเกิดอาการรุนแรงที่เกิดเฉียบพลัน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อมีหลอดเลือดดำผิวอักเสบ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น บวมที่รอยโรคมากขึ้น เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หายใจลำบาก ที่หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กลับมามีอาการที่ที่เคยหายไปแล้ว เช่น ปวด บวม ที่รอยโรค
  • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ที่หากมีอาการ เหล่านี้ต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียนมาก ท้องเสียมาก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันหลอดเลือดดำผิวอักเสบได้อย่างไร?

ป้องกันหลอดเลือดดำผิวอักเสบได้โดย การหลีกเลี่ยง สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังกล่าวในหัวข้อ “สาเหตุฯ” และหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” ที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ไม่สูบบุหรี่
  • การใช้ยาฮอร์โมนต่างๆที่รวมถึงยาเม็ดคุมกำเนิด ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด เช่น การใช้เข็มฉีดสารเสพติด

บรรณานุกรม

  1. Collins,L., and Seraj, S. (2010);81(8):989-996
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Phlebitis[2017,May13]
  3. http://emedicine.medscape.com/article/463256-overview#showall[2017,May13]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Thrombophlebitis[2017,May13]