หนองใน (Gonorrhea)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

หนองใน หรือ โรคหนองใน (Gonorrhea) เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้จากการมีเพศสัมพันธ์(โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) เกิดจากเชื้อหนองใน (Neisseria gonorrhoeae) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เจริญได้ดีในที่ชื้นและที่อบอุ่นของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งหญิงและชาย ตั้งแต่ ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก ท่อปัสสาวะ (ทั้งหญิงและชาย) นอกจากนี้ ยังสามารถเจริญในที่อื่นๆได้ เช่น เยื่อบุผิว ของ ช่องปาก คอ ตา ทวารหนัก เป็นต้น

 

ทั่วโลก มีรายงานพบหนองในเทียมประมาณ 33-106 ล้านคนต่อปี โดยพบ ประมาณ 0.6% ของประชากรชาย และ0.8%ของประชากรหญิง ในสหรัฐอเมริการายงานในปีค.ศ.2004 พบโรคนี้ 113.5 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนในประเทศไทย รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข กองควบคุมโรค สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปีพ.ศ. 2559 (ผู้ป่วยปีพ.ศ. 2558) พบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด 23.2 รายต่อประชากร1แสนคน โดยพบเป็นโรคหนองในสูงสุด คือ 12.5 รายต่อประชากร 1 แสนคน

 

ติดโรคหนองในได้อย่างไร? ใครมีปัจจัยเสี่ยง?

โรคหนองใน เกิดจากการสัมผัสเยื่อบุผิวของ ช่องคลอด ช่องปาก ทวารหนัก องคชาต (อวัยวะเพศชาย) โดยอาจมี หรือ ไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ นอกจากนี้ ยังอาจติดจากมารดาสู่ทารกในระหว่างการคลอดได้ และที่เยื่อตา ติดได้จากมือที่สัมผัสสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศที่ติดเชื้อนี้แล้วมาสัมผัสตา

 

*อนึ่ง ผู้ที่เป็นโรคหนองใน หลังจากได้รับการรักษาหายแล้ว หากสัมผัสโรคอีก ก็เกิดเป็นโรคซ้ำได้

 

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดหนองใน:

ปัจจัยเสี่ยงของโรคหนองใน คือ คนที่มีเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว จะมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้เสมอ

 

นอกจากนั้น จะมีความเสี่ยงสูงใน

  • กลุ่มวัยรุ่น /วัยหนุ่มสาว อายุ 15-24ปี
  • คนที่มีคู่นอนมากกว่าหนึ่งคน
  • เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว และ/หรือ เคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆมาแล้ว เช่น โรคซิฟิลิส (Syphilis)
  • ไม่มีการใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ติดยาเสพติด

 

โรคหนองในมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหนองใน หากมีอาการมักจะปรากฏใน 1-14 วัน หลังจากสัมผัสคนที่เป็นโรค (ระยะฟักตัวของโรค) โดยอาการที่พบบ่อย คือ

 

ก. ในชาย: บางคนอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อมีอาการ อาการพบบ่อย ได้แก่

  • ปัสสาวะแสบขัด
  • มีหนองไหลจากปลายองคชาต
  • บางรายมีอาการปวดและบวมของถุงอัณฑะ

 

ข. ในหญิง: ไม่มีอาการได้เช่นกัน หรืออาการไม่มาก/ อาการมักน้อยกว่าในผู้ชาย โดยถ้ามีอาการ อาการที่พบบ่อย คือ

  • อาจมีปัสสาวะแสบขัด
  • ตกขาว
  • มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอดระหว่างรอบเดือน/รอบประจำเดือน

 

อนึ่ง หญิง มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากการติดเชื้อนี้ที่มักรุนแรงมากกว่าชาย ไม่ว่าจะมีอาการติดเชื้อหนองในมากหรือน้อยก็ตาม

 

ค. ทั้งในชาย และในหญิง:

  • หากติดเชื้อในทวารหนัก: อาจมีอาการ คัน ปวดทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาขับถ่าย
  • หากติดเชื้อในช่องคอ: อาจมีอาการเจ็บคอ
  • อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในตำแหน่งใดๆก็ตาม อาจไม่มีอาการเลยก็ได้

 

มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคหนองในไหม?

การติดเชื้อหนองใน หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ (ภาวะแทรกซ้อน/ ผลข้างเคียง) ตามมาได้ทั้งชาย และหญิง

 

ก. ในหญิง:

  • มักทำให้มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน/ ช่องท้องน้อย(การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) ทำให้มีอาการปวดท้องน้อย มีไข้
  • อาจทำให้เกิดถุงหนองในช่องท้องน้อยที่รักษาหายยาก แล้วอาจทำให้มีอาการปวดท้องเรื้อรังโดยเฉพาะในช่องท้องน้อย
  • มีการทำลายเนื้อเยื่อของปีกมดลูก จนทำให้มีภาวะมีบุตรยาก หรืออาจตั้งครรภ์/ท้องนอกมดลูกที่มีอันตรายถึงชีวิตได้

 

ข. ในชาย:

  • อาจทำให้เกิดการอักเสบของอัณฑะ(อัณฑะอักเสบ)และของท่อ/ถุงเก็บนำอสุจิ (ถุงเก็บอสุจิอักเสบ) ทำให้มีบุตรยาก

 

ค. ทั้งในหญิงและในชาย:

  • เชื้อโรคอาจแพร่กระจายเข้าสู่ ข้อกระดูก และ/หรือ กระแสเลือด (โลหิต) ซึ่งอาจมีอันตรายต่อชีวิตได้
  • อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่จะติดเชื้อ เอชไอวี (HIV) หรือ โรคเอดส์ (AIDS) ได้ ซึ่งคนที่เป็นโรคหนองใน จะติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เป็นหนองใน

 

หากเป็นโรคหนองในระหว่างตั้งครรภ์จะมีผลอย่างไรบ้าง?

ในหญิงตั้งครรภ์ หากเป็นหนองใน ทารกที่คลอดทางช่องคลอด

  • จะติดเชื้อโรคหนองในจากมารดาได้ จากการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอดของมารดา
  • ซึ่งหากทารกติดเชื้อที่ตา อาจทำให้ตาบอด
  • หรืออาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่นๆ เป็นอันตรายต่อชีวิตทารกได้

 

*ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์ หากมีอาการหรือเหตุอันน่าสงสัยว่า อาจติดเชื้อหนองใน ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

 

แพทย์วินิจฉัยโรคหนองในได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหนองใน ได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย เช่น อาการต่างๆ เรื่องคู่นอน เรื่องการมีเพศสัมพันธ์
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจบริเวณอวัยวะเพศ
  • การตรวจภายใน (ในหญิง)
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ของสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ เพื่อหาเชื้อที่ป้ายจากแผล จากปากมดลูก ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก และ/หรือจาก ช่องคอ

 

รักษาโรคหนองในอย่างไร?

การรักษาโรคหนองใน คือ การใช้ยาปฏิชีวนะ (เช่นยา Azithromycin, Doxycycline ) ซึ่งใช้ได้ผลดี แต่ในหลายพื้นที่ของประเทศอาจมีเชื้อดื้อยาได้ ดังนั้น หลังการรักษา หากยังคงมีอาการ ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง

 

นอกจากนั้น จำเป็นต้องตรวจหาการติดเชื้อที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยโดยเฉพาะ เชื้อ เอชไอวี หรือ โรคเอดส์

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ายาปฏิชีวนะจะรักษาโรคให้หายแล้ว แต่ยาปฏิชีวนะไม่สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่เสียหาย ซึ่งเกิดจากภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวไปแล้วได้ นอกจากนั้น หากยังไปสัมผัสโรคอีก ก็กลับมาเป็นโรคอีกได้

 

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดโรคหนองใน? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

หากมีอาการปัสสาวะแสบขัด หรือมีอาการปวด หรือมีผื่นขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ควรหยุดการมีเพศสัมพันธ์ แล้วรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล

 

ถ้าแพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคหนองใน และหลังได้รับการรักษาแล้ว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก

  • ควรแจ้งให้คู่นอนมารับการรักษาด้วย
  • และให้งดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการจะหายดีแล้ว

 

ควรดูแลตนเองอย่างไรเพื่อไม่ให้ติดโรค?

สามารถหลีกเลี่ยงการติดโรคหนองในได้ด้วย

  • การมีคู่นอนเพียงคนเดียว
  • และจะแน่นอนยิ่งขึ้น หากคู่นอนได้รับการตรวจแล้วว่า ไม่ติดเชื้อ
  • นอกจากนี้ การใช้ถุงยางอนามัยชายอย่างสม่ำเสมอในการมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ก็ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้

 

บรรณานุกรม

  1. http://e-library-aidssti.ddc.moph.go.th/lib/pdf/59535bb7af3b8.pdf [2019.April20]
  2. https://www.cdc.gov/std/gonorrhea/default.htm [2019.April20]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Gonorrhea [2019.April20]