สารเพิ่มสมรรถภาพ (Performance-Enhancing Substances)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

สารเพิ่มสมรรถภาพ (Performance-enhancing substances หรือ Performance-enhancing agents) หรือบางทีเราจะเรียกกันว่า ยาเพิ่มสมรรถภาพ(Performance-enhancing drugs) เป็นกลุ่มสารประกอบในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮอร์โมน ยา วิตามิน หรือสารอาหารชนิดต่างๆ เช่น โปรตีนชนิดต่างๆ(เช่น ไกลโคโปรตีน/Glycoprotein)    กลุ่มนักกีฬามักจะใช้คำว่า “ยากระตุ้น หรือยาโด๊ป(Doping in sport)” ซึ่งยังจัดอยู่ในวงแคบของการใช้  อาจกล่าวได้ว่าสารเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายมนุษย์ไม่ได้มีการใช้เฉพาะแต่ในวงการกีฬาเท่านั้น แต่พบเห็นการใช้ในงานทั้ง ภาคธุรกิจ  ภาคอุตสาหกรรม  การขนส่ง  งานบริหารที่ต้องใช้กำลังความคิดสร้างสรรค์ งานด้านสุขภาพ ตลอดจนกระทั่งงานของกองทัพที่ต้องดูแลป้องกันประเทศ

สารเพิ่มสมรรถภาพมีกี่ประเภท อะไรบ้าง?

 ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จัดแบ่งสารเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายออกเป็นประเภทต่างๆตามกลุ่มการออกฤทธิ์ของสารนั้นๆ ดังนี้

  1. Anabolic drugs: เป็นกลุ่มยาที่ช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ แบ่งย่อยตามประเภทสาร/ยา เป็น

         1.1 ฮอร์โมนที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโต(Human growth hormone) เป็น สิ่งที่หลายคนนึกถึงอันดับแรก  ทางการแพทย์จะใช้ฮอร์โมนนี้กับผู้ป่วยเด็กที่มีพัฒนา การเติบโตช้า  สาร/ยาฮอร์โมนนี้อาจทำให้มีอาการข้อบวม และเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน  ในปัจจุบันถูกห้ามใช้กับนักกีฬาโดยเด็ดขาด   

         1.2 Anabolic steroids หรือ Anabolic-androgenic steroids ซึ่งจะมุ่งประเด็นไปที่ฮอร์โมนเพศชาย อย่างเช่น Testosterone ที่ช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อของผู้ใหญ่ให้กลับมาแข็งแรง ทางการแพทย์ได้ใช้ Anabolic steroid เพื่อเพิ่มสมรรถนะทางร่างกายของผู้ป่วยเอชไอวี และผู้ป่วยโรคมะเร็งให้กลับมาแข็งแรงมากยิ่งขึ้น  Anabolic steroids มีผลข้างเคียงทำให้ผิวมัน  เกิดสิวได้ง่าย  มีขนอ่อนขึ้นตามใบหน้า และทำให้ผมร่วง ตลอดจนกระทั่งส่งผลถึงอารมณ์และสภาพจิตใจให้เปลี่ยนแปลงได้ง่าย

         1.3 ยาประเภท Beta2-adrenergic agonist อย่างเช่น Clenbuterol

                นักกีฬากลุ่มผู้หญิงได้นำมาใช้ร่วมกับ Anabolic drugs 2 ตัวแรก

เพื่อใช้เป็นยาลดน้ำหนัก  ทางคลินิกพบว่า Clenbuterol ไม่เพียงจะใช้เป็นยาขยายหลอดลมเท่านั้น แต่ยังมีกลไกลดการสะสมไขมันของร่างกาย และ     ช่วยเพิ่มมวลของกล้ามเนื้อ  ทางการแพทย์ไม่อนุญาตให้ใช้ Clenbuterol ในวัตถุประสงค์เป็นยาลดน้ำหนัก  ด้วยตัวยาสามารถสร้างผลข้างเคียงที่    รุนแรงตามมา เช่น เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว  กล้ามเนื้อสั่น  กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ  คลื่นไส้ อาเจียน และทำให้มีไข้

  1. ยากระตุ้น(Stimulants หรือStimulant drugs) ในที่นี้จะหมายถึงกลุ่มยาที่ช่วยบำบัดการรับรู้ของสมอง รักษาอาการป่วยของโรคพาร์กินสัน ในบางกรณีก็นำมาใช้รักษาอาการโรคสมาธิสั้น ตัวอย่างที่โดดเด่นของยากระตุ้นที่ยังคงมีใช้อยู่ ได้แก่ Caffeine, Ephedrine, Methylphenidate และ Amphetamine
  2. ยาประเภทนูโทรปิก(Nootropic drugs) บางทีเราจะเรียกว่าเป็นยาบำรุงสมอง

ซึ่งรวมถึงสารประกอบหรืออาหารเสริมที่บำรุงสมองก็ถูกจัดอยู่ในนูโทรปิกเช่นเดียวกัน  การออกฤทธิ์จะเป็นลักษณะทำให้สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองดีขึ้น  การใช้ยานี้จะเริ่มที่ขนาดความแรงต่ำๆเพื่อมิให้เกิดการกระตุ้นหรือส่งผลกระทบต่อสมองเร็วเกินไป  ตัวอย่างยาของหมวดนี้ เช่น  Xanthines, และ Nicotine  สำหรับนูโทรปิกที่ถูกระบุว่าเป็นยา จะต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้ที่ตรวจรักษาอาการเท่านั้น และห้ามประชาชนทั่วไปซื้อหายานูโทรปิกมาใช้ด้วยตนเอง

  1. เออร์โกเจนิก เอดส์ (Ergogenic aids) เป็นสารที่ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ส่งผลให้เกิดความอดทนต่อการออกกำลัง เช่น การเล่นกีฬา ในด้านการตลาดมักจะผลิตออกมาในรูปแบบอาหารเสริม เช่น

- Creatine เป็นกรดอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์มีกระดูกสันหลัง  ช่วยทำให้ร่างกายนำสารต้นกำเนิดพลังงานอย่าง ATP (Adenosine triphosphate) มาใช้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเซลล์ในร่างกายได้รับพลังงานจาก ATP   จะทำให้สมรรถนะการทำงานดีขึ้น  มีกำลัง และทำให้อาการอ่อนเพลียลดน้อยลง

- Bupropion ใช้เป็นยาต้านเศร้า แต่ก็มีกลไกเพิ่มกำลังให้ร่างกายในช่วงระยะสั้นๆ ด้วยตัวยามีฤทธิ์ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทอย่าง Norepinephrine และ Dopamine หรือที่เรียกว่า Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor ซึ่งช่วยปกป้องผู้ป่วยจากความรู้สึกซึมเศร้า  ยานี้ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และมีความสอดคล้องต่อการเผาผลาญอาหารของร่างกาย จึงช่วยลดน้ำหนักได้ในระดับหนึ่ง

  1. สารชีวะโมเลกุล(Human biomolecules) มักจะพบเห็นสารประกอบเหล่านี้ในร่างกายมนุษย์ การสังเคราะห์ขึ้นและใช้เป็นสารเสริมสมรรถภาพ จะถูกผลิตออกมาในลักษณะอาหารเสริม  ตัวอย่างสารชีวะโมเลกุลในกลุ่มนี้ ได้แก่ Beta-hydroxy beta-methylbutyrate(HMB) ซึ่งพบได้ในร่างกายมนุษย์ HMB จะช่วยปกป้องการทำลายของมวลกล้ามเนื้อ ทำให้มวลกล้ามเนื้อแข็งแรง  HMB ได้รับการยอมรับว่าเป็นสารเพิ่มสมรรถภาพของร่างกายที่นักกีฬาสามารถใช้ได้  เนื่องจากเป็นสารที่เกิดในธรรมชาติร่างกายของมนุษย์อยู่แล้ว             
  2. อะแด็บโตเจน(Adaptogens) เป็นสารประกอบที่ได้จากพืช มีหน้าที่ช่วย ปรับสมดุลเคมีในร่างกายให้เกิดความเหมาะสม และส่งผลออกมากทำให้ร่างกาย  ดูแข็งแรงและมีสมรรถนะ  ตัวอย่างของสารประเภทนี้พบในพืชจำพวกโสม
  3. กลุ่มยาแก้ปวด(Painkillers) จำพวก NSAIDs ที่ช่วยลดอาการเจ็บปวดจากการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อก็ถือเป็นยาเพิ่มสมรรถนะของร่างกายได้อีกหนึ่งกลุ่ม
  4. ยาสงบประสาทและยาคลายความวิตกกังวล/ยาคลายเครียด(Sedatives & Anxiolytics) เป็นกลุ่มยาที่ใช้กับวงการกีฬายิงธนู โดยระบุว่าทำให้นักกีฬามีสมาธิที่ส่งผลต่อการขึ้นคันธนูทำได้นิ่งและก่อให้เกิดความแม่นยำ บางพื้นที่ใช้สุราหรือกัญชามาช่วยสงบประสาทก่อนเล่นกีฬาประเภทนี้ก็มี
  5. ยากระตุ้นเม็ดเลือด(Blood boosters) เป็นกลุ่มยาที่เพิ่มความสามารถทำให้ เม็ดเลือดแดงนำออกซิเจนส่งไปยังเซลล์ต่างๆของร่างกาย ก่อให้เกิดความสดชื่น และมีพลัง  ตัวอย่างของสารประเภทนี้ที่รู้จักกันดีในทางการแพทย์ คือ Erythropoietin ที่นำมาใช้รักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไต
  1. การโด๊ปด้วยยีน/จีน(Gene doping) เป็นการปลูกถ่ายยีนหรือสารพันธุกรรมที่ช่วยสร้างสารกระตุ้นในยีนของนักกีฬา ซึ่งปัจจุบันเทคนิคแบบนี้ไม่ได้เกินความสามารถ ของนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่  อย่างไรก็ตามวิธีการการโด๊ปด้วยยีนไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล  มีการแอบใช้กับนักกีฬาบางประเทศเท่านั้น

นักวิชาการบางกลุ่มอาจมีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ทำให้สารเพิ่มสมรรถภาพ 1 ตัว ถูกระบุและวางตำแหน่งไว้ได้มากกว่า 1 ประเภท เช่น

Methylphenidate สามารถจัดอยู่ในประเภทยากระตุ้น หรือ Creatine อาจจัดเป็นสาร เออร์โกเจนิก เอดส์ หรือไม่ก็เป็น สารชีวโมเลกุล ในแง่มุมของผู้บริโภค การจะเลือกสารเพิ่มสมรรถภาพตัวใดที่เหมาะกับตนเองนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการดำเนินชีวิต เช่น นักธุรกิจมักจะติดกาแฟ  กรณีนี้ประชาชนสามารถเลือกใช้กาแฟยี่ห้อใดก็ได้  หากเป็นนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บก่อนที่จะได้รับยาแก้ปวดอาจต้องตรวจร่างกายส่วนที่บาดเจ็บก่อนและต้องอาศัยทีมแพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาจึงจะปลอดภัยและเหมาะสม

มีหลักการอะไรในการเลือกใช้สารเพิ่มสมรรถภาพ?

อาจจำแนกแบ่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการใช้สารเพิ่มสมรรถภาพพร้อมกับข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

         - กรณีเป็นเยาวชนที่มีการเจริญเติบโตช้า ควรพบกุมารแพทย์/หมอเด็กเพื่อขอคำปรึกษาเรื่องการพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ  ซึ่งมีทั้งข้อมูลด้านการบริโภค 

การพักผ่อน  การออกกำลังกาย  โดยการพึ่งยาประเภท Growth hormone  แพทย์จะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย

         - กลุ่มนักกีฬาที่ต้องการเสริมสร้างและพัฒนาร่างกายให้มีสมรรถนะเพิ่มขึ้น ควร

ปรึกษาแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา

         - กลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านความจำ  มีสภาพจิตที่ซึมเศร้า  ป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน 

ให้ขอคำปรึกษาจากอายุรแพทย์ทางระบบประสาท

         - ควรต้องมีการสนทนาระหว่างผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการใช้สารเพิ่มสมรรถภาพเพื่อสร้างความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายหลังการใช้สารเพิ่ม          สมรรถภาพ  เรียนรู้ และเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากวิธีการต่างๆโยเฉพาะจากการใช้ยา ร่วมกับเตรียมการป้องกันในเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อรองรับสิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นหลังการบำบัดรักษา

         - หลีกเลี่ยง/ไม่ใช้สารกระตุ้นสมรรถภาพที่ผิดกฎหมายอย่างเช่น Amphetamine

         - สร้างวินัยของตนเอง และยืนยันการใช้สารเพิ่มสมรรถภาพตามคำแนะนำของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่ปรับแต่งขนาดรับประทาน ร่วมกับมารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ

สารเพิ่มสมรรถภาพมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง? 

สารเพิ่มสมรรถภาพ สามารถสร้างผลข้างเคียงโดยแบ่งตามประเภทของสารฯได้ดังนี้   

         - กลุ่ม Anabolic steroid อาจทำให้มีภาวะหน้าอก/เต้านมโต  ศีรษะล้าน  ลูกอัณฑะมีการหดเกร็ง  ต่อมลูกหมากโต  มีภาวะขนดกตามร่างกาย  เกิดสิวอย่างรุนแรง  มีภาวะเอ็นแตก/เอ็นบาดเจ็บหรือเอ็นอักเสบ  เกิดเนื้องอกตับชนิดไม่ใช่มะเร็ง  ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ   ปริมาณไขมันดี(HDL)ในเลือดลดลง  ไขมันตัวร้าย/ไขมันไม่ดี(LDL)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น  มีความดันโลหิตสูง  ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานผิดปกติ  อาจมีอาการซึมเศร้าและติดยาประเภท Anabolic steroid

         - กลุ่ม Human growth hormone สามารถกระตุ้นให้มีอาการ  ปวดข้อ  กล้ามเนื้อ อ่อนแรง  มีอาการบวมน้ำ  เกิดปัญหาต่อการมองเห็น  ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดผิดปกติ  คอเลสเตอรอลในเลือดสูง  มีภาวะ/โรคเบาหวานเล่นงาน และมีความดันโลหิตสูง

         - Erythropoietin อาจก่อให้มี ภาวะหลอดเลือดดำอุดตันจากลิ่มเลือด/ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ  หัวใจล้มเหลว  อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดปอด

         - Creatine สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นตะคริวที่หน้าท้อง  ตะคริวที่กล้ามเนื้อ  น้ำหนักตัวเพิ่ม/น้ำหนักตัวเกิน  การใช้ Creatine เกินขนาดจะส่งผลเสียต่อการทำงานของไต/ ไตวาย และของตับ/ ตับอักเสบ

         - ยากระตุ้น(Stimulants) ก่อให้เกิดอาการ กระสับกระส่าย  หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นผิดปกติ  น้ำหนักตัวลดลง  ตัวสั่น  ความดันโลหิตสูง  ประสาทหลอน หลอดเลือดสมองตีบ  หัวใจวาย

         - ยาแก้ปวด(Painkillers) สามารถกระตุ้นให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน  ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก  ทำให้เบื่ออาหาร  วิงเวียน  ปวดศีรษะ  ง่วงนอน  ไตวาย  ตับวาย เกิดแผลในกระเพาะอาหาร  ทำให้การแข็งตัวของเลือดช้าลงกว่าปกติ/เลือดออกง่าย

มีข้อควรระวังการใช้สารเพิ่มสมรรถภาพอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้สารเพิ่มสมรรถภาพ เช่น             

         - ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา/แพ้สารเพิ่มสมรรถภาพ

         - ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง

         - ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับสารเพิ่มสมรรถภาพโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

         - กรณีพบอาการแพ้สารเพิ่มสมรรถภาพ เช่น มีผื่นคัน  ผิวหนังบวมแดง  ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก  หายใจขัด/หายใจลำบาก  ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่าแพ้ยาต้องหยุดใช้สารเพิ่มสมรรถภาพทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

         - ห้ามใช้สารเพิ่มสมรรถภาพกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์  สตรีในช่วงให้นมบุตร 

         - มาพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญตามที่นัดหมายทุกครั้ง เพื่อทำการประเมินสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปว่า เหมาะสมและมีความปลอดภัยเพียงใด

         - ห้ามแบ่งสารเพิ่มสมรรถภาพให้ผู้อื่นใช้

         - ห้ามใช้สารเพิ่มสมรรถภาพที่หมดอายุ

         - ห้ามเก็บสารเพิ่มสมรรถภาพที่หมดอายุ

         ***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมสารเพิ่มสมรรถภาพด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ควรเก็บรักษาสารเพิ่มสมรรถภาพอย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์สารเพิ่มสมรรถภาพแต่ละประเภทตามข้อกำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์/ตามเอกสารกำกับยา/กำกับผลิตภํณฑ์แต่ละชนิด  ห้ามเก็บสารเพิ่มสมรรถภาพในช่องแช่แข็งตู้เย็น  เก็บสารฯให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง  ตัวผลิตภัณฑ์ควรเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บตัวผลิตภัณฑ์ไว้ในห้องน้ำหรือในรถยนต์   

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Performance-enhancing_substance [2017,Dec16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Growth_hormone [2017,Dec16]
  3. https://www.deadiversion.usdoj.gov/drug_chem_info/clenbuterol.pdf [2017,Dec16]
  4. http://www.dc.mahidol.ac.th/th/index.php/2013-04-01-04-20-50/2013-04-02-04-10-50/52-30 [2017,Dec16]
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4528343/ [2017,Dec16]
  6. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/fitness/in-depth/performance-enhancing-drugs/art-20046134 [2017,Dec16]
  7. https://www.medicinenet.com/nonsteroidal_antiinflammatory_drugs/article.htm#what_are_the_side_effects_of_nsaids [2017,Dec16]