โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ และเป็นโรคติดต่อไหม?

สะเก็ดเงิน (Psoriasis/ซอริอะสิส) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งจากผิวหนังขึ้นผื่นเป็นปื้น แดง หนา คัน เจ็บ ตกสะเก็ดเป็นมันและมีสีเงิน จึงได้ชื่อว่า ‘โรคสะเก็ดเงิน’ ซึ่งโรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูนที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตานทานโรคต่อต้านเซลล์/เนื้อเยื่อผิวหนังจึงส่งผลให้เนื้อเยื่อผิวหนังเกิดการอักเสบเรื้อรัง(ชนิดไม่ติดเชื้อ)ดังกล่าว

โรคสะเก็ดเงินพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ตำแหน่งที่พบบ่อยคือ

  • ผิวหนังส่วนข้อศอก (ด้านนอกไม่ใช่ด้านในข้อพับ)
  • เข่า (ด้านนอกไม่ใช่ส่วนในข้อพับ)
  • ผิวหนังส่วน ด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า
  • หนังศีรษะ และใบหน้า

*โรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นคนที่สัมผัสคนเป็นโรคสะเก็ดเงิน หรือสัมผัสผิวหนังส่วนเกิดโรค/รอยโรค หรือแม้แต่สะเก็ดของผิวหนังส่วนเกิดโรค จึงไม่เกิดเป็นโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังพบทั่วโลกที่พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมาก ผู้หญิงและในผู้ชายพบใกล้เคียงกัน

  • พบโรคนี้ได้ประมาณ 2-3%ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก
  • พบในทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ
    • โดยพบบ่อยในช่วงอายุ15-35ปี
    • 10-15%พบก่อนอายุ10ปี และ
    • พบน้อยมากในเด็กแรกเกิด

โรคสะเก็ดเงินเกิดได้อย่างไร?

สะเก็ดเงิน

ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินจัดอยู่ในกลุ่มโรคออโตอิมมูน แต่อาจมีหลายปัจจัยร่วมกระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติต่อการสร้างเซลล์/เนื้อเยื่อผิวหนัง ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบของผิวหนังที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อ จึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือ เป็น แผ่นหนา แดง คัน และตกสะเก็ด

มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินไหม?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคสะเก็ดเงินที่พบบ่อย ได้แก่

  • เชื้อชาติ: บางเชื้อชาติพบเกิดโรคนี้ได้สูงกว่า เช่น คนผิวขาวพบโรคนี้ได้ประมาณ3.6%ของประชากร แต่พบได้น้อยในคนเอเซีย และคนอัฟริกัน
  • พันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงในคนมีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้ พบน้อย
  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติหรือบกพร่อง เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนกลุ่มนี้ เช่น ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์
  • อาจติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดบ่อยๆ: เช่น โรคต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อ สเตร็ปโตคอกคัส (โรคสเตร็ปโธรท/Strep throat)
  • ภาวะมีความเครียด: เพราะความเครียดส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำหรือ ผิดปกติได้
  • ในคนอ้วนหรือโรคอ้วน: ซึ่งยังไม่ทราบว่าทำไม
  • ในคนสูบบุหรี่ ซึ่งอาจจากสารพิษต่างๆในควันบุหรี่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ เพราะมีความเครียดจึงสูบบุหรี่
  • ผลข้างเคียงจากกินยาบางชนิดต่อเนื่อง : เช่น
    • ยาลดความดันโลหิตบางชนิด
    • ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด
    • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์

โรคสะเก็ดเงินมีอาการอย่างไร?อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการ/อาการรุนแรง?

อาการพบบ่อยของโรคสะเก็ดเงิน ได้แก่

  • การเกิดผื่นเป็นปื้นผิดปกติบนผิวหนัง โดยเกิดได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกายที่รวมถึงหนังศีรษะ(พบบ่อย) หนังตา และที่อวัยวะเพศ
  • โดยผื่น/ปื้นมีลักษณะ หนา แห้ง แตก แดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเงิน
  • เมื่อมีอาการมาก อาจมีเลือดออกในปื้นนี้ได้ และ/หรือ
    • ลุกลามเข้าไปในเล็บ และ/หรือ
    • ลุกลามให้เกิดข้ออักเสบร่วมด้วย ที่เรียกว่า ‘ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน(Psoriasis arthritis)’

ปัจจัยกระตุ้นให้อาการรุนแรง:

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหรือให้อาการรุนแรง ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยจึงต้องคอยสังเกตุความเกี่ยวพันด้วยตนเอง เช่น

  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่
  • กินยาบางชนิดดังได้กล่าวแล้ว(เป็นได้ทั้งปัจจัยเสี่ยงและตัวกระตุ้นให้อาการรุนแรง)ใน ’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ ’
  • อากาศหนาว
  • ความเครียด
  • การติดเชื้อต่างๆในขณะเกิดอาการ เช่น เป็นโรคหวัด และ
  • การเกิดบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น มีดบาด ฉีดยา
  • อาหารบางชนิด เช่น
    • เนื้อแดง
    • นม และผลิตภัณฑ์จากนม
    • อาหารแปรรูป
    • น้ำตาลที่ขัดสี

อนึ่ง: โรคสะเก็ดเงิน อาจพบเกิดร่วมกับโรคเรื่อรังอื่นๆ เช่น

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไต
  • โรคหัวใจ

เมื่อไรควรพบแพทย์?

เมื่อเกิดผื่น ทั้งผื่นคัน หรือผื่นที่ไม่คัน ที่อาการไม่ดีขึ้นหรืออาการเลวลงภายหลังการดูแลตนเองภายใน 1 สัปดาห์ หรือมีสิ่งผิดปกติต่างๆ เช่น แผลเรื้อรัง เป็นๆหายๆ เกิดซ้ำในที่เดียวกันตลอด หรือผิวหนังมีก้อนเนื้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมออย่างน้อยภายใน 1-2 สัปดาห์หลังพบความผิดปกติเพื่อแพทย์วินิจฉัยแยกโรคว่าไม่ใช่เกิดจากโรคสะเก็ดเงิน หรือโรคมะเร็งผิวหนัง เพื่อการรักษาโรคแต่เนิ่นๆที่จะได้ประสิทธิผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาโรคในระยะลุกลาม

แพทย์วินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคสะเก็ดเงินได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วย การใช้ยาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติในครอบครัว ประวัติที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยกระตุ้นต่างๆ
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจดู ลักษณะความผิดปกติของรอยโรคที่ผิวหนัง
  • การตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังที่เกิดโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ
  • อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมทั้ง นี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด(CBC), ดูค่าน้ำตาลในเลือด(โรคเบาหวาน) เป็นต้น

รักษาโรคสะเก็ดเงินอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงิน มีหลายวิธี และอาจใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, การตอบสนองของอาการต่อวิธีรักษาต่าง, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • การใช้’ยาทา’ต่างๆ เช่นยา Salicylic acid, ยาสเตียรอด์, Retinoid, Anthralin, Vitamin D และรวมถึงการใช้ครีม/โลชั่นบำรุงผิวชนิดที่อ่อนโยน
  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ดังที่ได้กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ และ ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • การฉายแสงรอยโรคด้วย แสงยูวี เอ หรือ ยูวี บี จากแสงแดด (UV-A หรือ UV B)
  • การกินยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดบางชนิด
  • การฉายรังสีรักษาที่รอยโรค
  • การป้องกัน ควบคุม รักษา โรคต่างๆที่มักเกิดร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ, โรคไต
  • บางครั้ง/บางรายที่ดื้อต่อการรักษาวิธีต่างๆ อาจมีการผ่าตัดต่อมทอนซิล กรณีแพทย์เชื่อว่าเป็นต้นเหตุการติดเชื้อเรื้อรังที่ส่งผลกระตุ้นอาการของสะเก็ดเงิน

มีผลข้างเคียงจากโรคสะเก็ดเงินไหม?

ผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากโรคสะเก็ดเงิน เช่น

  • โรคข้ออักเสบ ที่พบได้ประมาณ 10-15% และ
  • อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด
    • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ
    • โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา

โรคสะเก็ดเงินรักษาหายไหม?

โรคสะเก็ดเงินมีการพยากรณ์โรค โดยเป็นโรคไม่รุนแรงเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนน้อยมีอาการรุนแรง แต่ไม่ทำให้เสียชีวิต

สะเก็ดเงิน เป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆหายๆตลอดชีวิตแม้จะรักษาอย่างถูกต้องแล้วก็ตาม และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า ข้ออักเสบสะเก็ดเงิน, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, และโรคมะเร็งผิวหนัง นอกจากนั้นคือ การเสียภาพลักษณ์ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพชีวิตสำหรับบางคนได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงิน? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคสะเก็ดเงินที่สำคัญ ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
  • อาบน้ำโดยใช้สบู่เด็กอ่อน อาจใช้สบู่สำหรับผิวแห้งมาก (สบู่ผสมน้ำมัน) ในบริเวณผิว หนังส่วนเกิดโรค
  • ทายา กินยา ตามแพทย์แนะนำอย่างถูกต้อง อย่าขาดยา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยต่อความรุนแรงของโรคดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ และหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นอาการฯ’ โดยเฉพาะ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความเครียด
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน และ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยง/ลดปริมาณอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นอาการ
  • ตากแดดอ่อนๆทุกวันตาม แพทย์/พยาบาล แนะนำ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • เมื่อมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นห้อเลือดตามตัว เบื่ออาหารมาก คลื่นไส้/อาเจียนมาก
    • เมื่อกังวลกับอาการ

ป้องกันโรคสะเก็ดเงิน ได้ไหม?

เนื่องจากเป็นโรคในกลุ่มโรคออโตอิมมูน การป้องกันเต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงฯ/ปัจจัยกระตุ้นฯ (ดังกล่าวใน หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ, และหัวข้อ ปัจจัยกระตุ้นอาการฯ)ที่หลีกเลี่ยงได้ ร่วมกับรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สูขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Luba, K., and Stulberg, D. (2006). Chronic plaque psoriasis. Am Fam Physician, 73, 636-644.
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Psoriasis [2019, March16]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/1943419-overview#showall [2019, March16]
  5. https://www.psoriasis.org/about-psoriasis [2019, March16]