สภาพผัก (Vegetative State)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า เจ้าชายนิทรา เจ้าหญิงนิทรา ซึ่งทางแพทย์เรียกว่าสภาพผัก (Vegetative state) จากข่าวต่างๆเป็นประจำ และสภาพผักคืออะไร แตกต่างจากภา วะโคม่าอย่างไร ผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสหายหรือไม่ การดูแลที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร และมีคำถามอีกมากมายที่ต้องทำความเข้าใจ ลองติดตามรายละเอียดจากบทความนี้ครับ

สภาพผักคืออะไร?

สภาพผัก

สภาพผัก คือ ภาวะที่สมองได้มีความเสียหายอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงบางส่วน ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นทั้ง หมดจึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

สภาพผักต่างจากภาวะโคม่าอย่างไร?

สภาพผักต่างจากภาวะโคม่าดังนี้

  • สภาพผัก: เป็นภาวะที่สมองสูญเสียความสามารถในการรับรู้ ความเข้าใจ การตอบ สนองต่อสิ่งเร้า แต่ยังคงสามารถหลับตา ลืมตา ได้เอง โดยอาจไม่รับรู้ และไม่มีความหมายใดๆ อาจหัวเราะ ร้องไห้ แต่ไม่มีความหมายโดยตรงกับการแสดงออกเหล่านั้น ความเสียหายของสมองที่ได้รับ คือ ส่วนสมองใหญ่ (Cerebrum) แต่ก้านสมอง (Brain stem) ยังทำงานได้บาง ส่วน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงสามารถหายใจเองได้ ไอได้ ลืมตาได้ และสามารถกลับบ้านไปดูแลต่อ เนื่องที่บ้านได้

    สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยสภาพผักที่พบบ่อย คือ ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้าง เคียงที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้ (เช่น ในสภาพผัก) คือ การติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อที่ปอด เนื่อง จาก ผู้ป่วยไม่สามารถไอเอาเสมหะออกมาได้ จากสำลักน้ำลายตนเอง และจากสำลักอาหารจากให้อาหารไม่ถูกวิธี และ/หรือจากการขย้อนอาหารขึ้นมาแล้วสำลัก การติดเชื้ออื่นๆที่พบได้ คือ แผลกดทับ การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อจากการเข้านอนในโรงพยา บาล (ติดเชื้อจากโรงพยาบาล) ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนในการรักษาผู้ป่วยสภาพผัก ผู้ ป่วยสามารถมีชีวิตได้นานมากกว่า 10 ปี ถ้าไม่มีการติดเชื้อหรือมีภาวะแทรกซ้อน ก็สามารถมีชี วิตที่ยาวนานมากได้ โดยสภาพผักนั้นมีโอกาสหายน้อยมากๆ

  • ภาวะโคม่า: ผู้ป่วยจะมีความเสียหายต่อสมองใหญ่ และ/หรือก้านสมอง ทำให้ไม่สามารถลืมตาได้แม้ถูกทำให้เจ็บ ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวแบบมีวัตถุประสงค์ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพราะไม่สามารถหาย ใจเองได้ และมีโอกาสหายได้เป็นปกติหรือดีขึ้นได้ถ้าสาเหตุนั้นถูกรักษา และกำจัดให้หมดไปได้

    ผู้ป่วยโคม่ามักจะเสียชีวิตเร็วกว่าผู้ป่วยสภาพผัก เพราะผู้ป่วยโคม่าต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลตลอดเวลา และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ จึงส่งผลให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้ง่ายกว่าผู้ป่วยสภาพผัก จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการดูแลผู้ ป่วยโคม่า การเสียชีวิตขึ้นกับสาเหตุของการเกิดโคม่า ถ้าสาเหตุนั้นสงบลงไม่มีการดำเนินของโรค ผู้ป่วยก็สามารถมีชีวิตได้นาน ประกอบกับการดูแลที่ดี ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็สามารถมีชี วิตได้หลายปี ที่เคยพบสามารถมีชีวิตได้นานมากกว่า 5 ปี

สภาพผักจัดแบ่งเป็นกี่ระยะ?

สภาพผัก แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

  • สภาพผัก (Vegetative state) หมายถึง ระยะเวลา 4 สัปดาห์แรกของภาวะผิดปกติดัง กล่าว
  • สภาพผักเรื้อรัง (Persistent vegetative state) หมายถึง ระยะเวลาอยู่ในสภาพผักนาน 4 สัปดาห์ถึง 1 ปี และ
  • สภาพผักถาวร (Permanent vegetative state) หมายถึง ระยะเวลาอยู่ในสภาพผักนานตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ การแบ่งระยะ จะมีประโยชน์ในแง่ของการประเมินว่า ผู้ป่วยจะมีโอกาสฟื้นตัวจากสภาพผักหรือไม่ เพราะโดยธรรมชาติการฟื้นตัวของสมองในผู้ที่สามารถฟื้นตัวได้ พบว่า

  • 50% ของสมองฟื้นตัวภายใน 3 เดือน
  • 75% ของสมองฟื้นตัวภายใน 6 เดือน
  • และ 100% ของสมองฟื้นตัวภายใน 12 เดือน

*ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าที่ 12 เดือนขึ้นไปแล้ว ผู้ป่วยยังอยู่ในสภาพผัก ผู้ป่วย/สมองผู้ป่วยก็ไม่น่าจะมีการฟื้นตัวได้อีกหรือถ้ามีก็น้อยมากๆ จึงใช้คำว่า สภาพผักถาวร

ผู้ป่วยสภาพผักมีอาการผิดปกติอย่างไร?

ผู้ป่วยสภาพผัก จะอยู่ในสภาวะที่

  • ไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ
  • ไม่สามารถสื่อสารกับญาติได้อย่างสมบูรณ์ แต่อาจหลับตา ลืมตา กำมือ เคลื่อนไหวได้ แต่อาจไม่ตรงตามวัตถุประสงค์
  • ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องมีผู้ช่วยเหลือเกือบทั้งหมด เช่น การขับถ่าย การทานอาหารซึ่งต้องให้อาหารทางสายยางผ่านทางจมูก (Nasogastric tube : NG tube)
  • อาจกลอกตาไปมาได้ หรือบางราย ตาจะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีการตื่นและหลับเป็นวงจร แต่อาจไม่ตรงกับคนปกติ
  • อาจกัดฟัน หรือส่งเสียงร้อง กรณีต้องการแสดงออกบางอย่าง
  • หายใจเองได้ กรณีก้านสมองยังทำงานได้

มีภาวะผิดปกติอื่นอะไรบ้างที่ต้องแยกกับสภาพผัก?

มีภาวะผิดปกติอื่นที่ต้องแยกกับสภาพผัก คือ

  • ภาวะอัมพาตแขนและขา ที่ไม่สามารถขยับได้เลย พูดไม่ได้ หายใจไม่ได้ แต่มีความรู้สึกตัวปกติ สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างโดยการกลอกตา และหลับตา ลืมตาเท่านั้น โดยภาวะนี้มีรอยโรคบริเวณสมองส่วน Pons (สมองส่วน ท้าย) ภาวะดังกล่าวเรียกว่า Lock-in syndrome ภาวะนี้มีสาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งเกิดจากเลือดมาเลี้ยงสมองไม่พอ หรือเลือดออกในสมองบริเวณ Pons ซึ่งภาวะนี้ เป็นภาวะที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเสียชีวิตภายใน 6 เดือน แต่บางคนเป็นส่วนน้อยอาจอยู่ได้นานกว่านี้และมีรายงานว่า ฟื้นตัวได้
  • นอกจากนี้ ยังต้องแยกจาก ภาวะเปลี่ยนแปลงของระดับเกลือแร่อย่างรวดเร็วในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการสูญเสียหน้าที่ของเซลล์ประสาทอย่างเฉียบพลัน (Acute demyelinating process) ผลการรักษาภาวะนี้ ส่วนใหญ่ไม่หายขาด โดยผู้ป่วยอาจฟื้นตัวได้ แต่มักมีความผิดปกติทางสมองหลงเหลืออยู่ เช่น อาการชัก ปัญหาความจำ และความสามารถในการเรียนรู้ลดลง

สภาพผักมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

สาเหตุของสภาพผักเกิดจาก 3 กลุ่มหลัก คือ

  • อุบัติเหตุต่อสมอง (Acute traumatic brain injury)
  • ความพิการแต่กำเนิดของสมอง (Congenital anomaly)
  • อื่นๆ เช่น
    • ภาวะติดเชื้อสมอง (สมองอักเสบ)
    • ฝีในสมอง
    • เนื้องอกสมอง
    • หลอดเลือดสมอง
    • สมองขาดออกซิเจน (Hypoxic ischemic encephalopathy)
    • สารพิษต่างๆต่อสมอง
    • การชักชนิดรุนแรงและ ชักต่อเนื่อง (Status epilepticus)
    • เกลือแร่ผิดปกติ (Electrolyte imbalanced)
    • ภาวะตับวาย
    • ภาวะไตวาย
    • การติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
    • หรือ ภาวะที่เกิดขึ้นภายหลังกู้ชีพได้จากหัวใจหยุดเต้น (Post cardiac arrest)

สภาพผักวินิจฉัยได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยสภาพผักจาก

  • ประวัติอาการต่างๆ รวมประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุ
  • จากการตรวจร่างกาย (อาการแสดง)
  • ซึ่งโดยทั่วไปในทางปฏิบัติ ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือด หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง หรือ เอมอาร์ไอสมอง เพื่อวินิจฉัยภาวะสภาพผัก
  • การวินิจฉัยผู้ป่วยสภาพผักนั้น ถ้าแพทย์ได้ประวัติสาเหตุที่แน่นอน โอกาสการวินิจฉัยผิด พลาดจะยากมาก เพราะการวินิจฉัยใช้อาการแสดงที่ผิดปกติร่วมกับสาเหตุ และลักษณะการดำ เนินโรคของผู้ป่วยเป็นหลัก ดังนั้นถ้าทีมแพทย์ได้ให้การรักษาและประเมินผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้สามารถวินิจฉัยอาการดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ การวินิจฉัยสภาพผัก ไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยเหมือนในการวินิจฉัยภาวะสมองตาย

การรักษาผู้ป่วยสภาพผักทำอย่างไร?

การรักษาจะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1. การรักษาขณะผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล 2. เมื่อให้ผู้ ป่วยกลับบ้าน

  • การรักษาภายในโรงพยาบาล: แพทย์และทีมสุขภาพจะรักษาภาวะหรือสาเหตุจนเรียบร้อยและเตรียมความพร้อมของญาติในการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน
  • เมื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและญาติแล้ว แพทย์ก็จะอนุญาตให้ญาตินำผู้ป่วยกลับ ไปพักต่อดูแลที่บ้าน (จะกล่าวในหัวข้อต่อไป)

การเตรียมความพร้อมก่อนกลับบ้านผู้ป่วย ต้องมีความพร้อมอย่างไรบ้าง?

ก่อนแพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปรับการดูแลต่อที่บ้าน แพทย์และทีมสุขภาพจะต้องให้การรักษาจนอย่างน้อยผู้ป่วยต้องหายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (Respirator) โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักอยู่ในสภาพที่เจาะคอใส่ท่อที่เรียกว่า ท่อลม (Tracheotomy tube) เพื่อให้คนดูแลผู้ป่วยใช้เป็นช่องทางในการกำจัดเสมหะออกจากท่อลม (หลอดลมส่วนคอ) และจากปอดของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ พยาบาลต้องสอนคนดูแลผู้ป่วย จนแพทย์-พยาบาล และคนดูแลมั่นใจว่า สามารถดูแลผู้ป่วยในภาวะนี้ได้ รวมทั้งการ ถอด-ใส่ และล้างทำความสะอาดท่อลมด้วย

นอกจากนั้น คือ

  • เตรียมความพร้อมด้านการให้อาหารทางสายอาหารผ่านทางจมูก (NG-tube) หรือทางช่องท้อง (Gastrostomy tube)
  • เตรียมความพร้อมด้านการขับถ่าย ผู้ป่วยมักจะมีปัญหาการขับถ่ายเองไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมได้และไม่รู้ตัว จำเป็นต้องฝึกให้ญาติทราบวิธีการดูแลที่ถูกต้อง เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ การใส่ถุงยางอนามัย และการสวนถ่ายอุจจาระ
  • เตรียมความพร้องเรื่องการพลิกตัวผู้ป่วย เพื่อป้องกันแผลกดทับ (Pressure sore)
  • เตรียมความพร้อมเรื่องระบบการหายใจ คือ การดูดเสมหะ การเคาะปอดเพื่อป้องกันภาวะปอดแฟบและระบายเสมหะง่ายขึ้น เพื่อป้องกันภาวะปอดติดเชื้อ ซึ่งได้แก่ การสอนผู้ดู แลผู้ป่วยจนสามารถปฏิบัติดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้อง

การเตรียมความพร้อมที่บ้านผู้ป่วย ต้องทำอย่างไรบ้าง?

การเตรียมความพร้อมที่บ้านของผู้ป่วย ประกอบด้วย

  • การเตรียมสถานที่ในบ้าน ส่วนที่จะให้ผู้ป่วยอยู่ ต้องโล่ง สะอาด มีการระบายอากาศที่ดี ไม่มีมด แมลง มีแสงแดดส่องเข้าถึงได้ดี มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ควรอยู่ชั้นล่างสุดและมีทางลาดเพื่อเข็นรถเวลาเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
  • อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับดูแลผู้ป่วย ได้แก่ เตียงนอน (ถ้าให้ดี ควรเป็นเตียงที่ปรับเปลี่ยนความสูงต่ำของทั้งเตียงได้ ร่วมกับปรับหัวเตียงได้ เหมือนเตียงผู้ป่วยที่โรงพยาบาล) มีเครื่อง ดูดเสมหะ มีอุปกรณ์ทำความสะอาดเครื่องทางการแพทย์ที่ใช้กับผู้ป่วย มีอุปกรณ์การทำความสะอาดผู้ป่วย สายให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ ถุงยางอนามัย และผ้าอ้อมอนามัย สำหรับผู้ป่วย
  • ฝึกผู้ดูแลให้รู้จักดูแลผู้ป่วย เช่น การให้อาหาร และการดูแลผู้ป่วยในข้อข้างต้น
  • ควรมีผู้ดูแลผู้ป่วยอย่างน้อย 2 คน เพราะต้องดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา จึงต้องมีการเปลี่ยนเวรกัน

ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นหรือหายเป็นปกติหรือไม่?

ถ้ามีการฟื้นตัว การฟื้นตัวใน 3 เดือนแรกหลังเกิดอาการ จะเป็นตัวบอก ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้ดีที่สุดเป็นอย่างไร กล่าวคือ การฟื้นตัวได้ดีที่สุด คือ ประมาณ 2 เท่าของการฟื้นตัวที่พบในระยะเวลาที่ 3 เดือน และถ้า 1 ปีผ่านไป การฟื้นตัวนั้นมักเป็นไปได้ยากมาก ส่วนใหญ่แล้วผู้ ป่วยที่อยู่ในสภาพผัก มักมีโอกาสฟื้นตัวยากมาก

อนึ่ง การที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ปัจจัยหลัก คือ

  • สาเหตุของการเกิดสภาพผัก
  • อายุผู้ป่วย
  • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • และโรคประจำตัวของผู้ป่วยที่พบร่วมด้วย

กรณีที่ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อของสมอง รักษาหายดีแล้ว และอายุน้อย การดูแลที่บ้านก็พร้อม มีการทำกายภาพบำบัดกระตุ้นสมองอย่างต่อเนื่อง และไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น รวม ทั้งผู้ป่วยก็มีการพัฒนาการที่ดีขึ้น กรณีแบบนี้ มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้สูง แต่ถ้าผู้ป่วยสูง อายุ มีโรคประจำตัวหลายโรค ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้น้อยมากๆ

ทั้งนี้ผู้ป่วยสภาพผักแต่ละคน จะมีความสามารถที่แตกต่างกัน เช่น หายใจได้เองโดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนช่วย ทานอาหารได้ทางปาก หลับตา ลืมตา การขับถ่ายที่เป็นเวลาเมื่อได้รับการฝึกที่ดี

ผู้ดูแลผู้ป่วยควรให้การดูแลผู้ป่วยอย่างไรบ้าง?

การดูแลผู้ป่วยจากญาติ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย การดูแลที่ดีนั้นจะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสดีขึ้นที่จะฟื้นตัวและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนโอกาสเสียชีวิตสูงมาก และทุกครั้งที่มีภาวะแทรก ซ้อน อาการทางสมองก็จะทรุดลงอย่างมาก

การดูแลที่ดีคือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ -พยาบาลอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ เช่น

  • การพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง
  • การให้อาหารทางสายยางอย่างถูกวิธี ไม่ให้ผู้ป่วยสำลักอาหาร
  • การขับถ่าย อย่าปล่อยให้มีปัสสาวะ อุจจาระราด และแช่อยู่กับผู้ป่วย เพราะก่อให้เกิดภาวะแผลกดทับง่ายขึ้น
  • การเคาะปอดและดูดเสมหะ
  • การป้องกันกระจกตาอักเสบ เพราะผู้ป่วยอาจหลับตา-ลืมตาไม่ปกติ
  • ให้ยาต่างๆ (ให้ทางสายให้อาหาร) ตรงเวลาเสมอ
  • ทำกายภาพฟื้นฟู โดยการเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ เพื่อป้องกันข้อยึดติด

ควรพาผู้ป่วยพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด เมื่อ

  • ผู้ป่วยมีไข้
  • มีเสมหะเขียว ข้นมาก มีกลิ่นเหม็น
  • มีแผลกดทับ
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • ตาอักเสบ
  • ระดับการรู้สึกตัวลดลง
  • ซึมมากขึ้น
  • มีอาการชัก

การดูแลผู้ป่วยที่บ้านกับที่โรงพยาบาล ที่ไหนดีกว่ากัน?

การดูแลที่บ้าน น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะจะลดโอกาสการติดเชื้อได้มาก และการที่ผู้ ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ใกล้ชิดญาติพี่น้อง จะส่งผลต่อการฟื้นตัว แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ญาติไม่มีความพร้อม แพทย์-พยาบาลก็ต้องเตรียมญาติให้ดีก่อน

ยาบำรุงสมองและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นหรือไม่?

จากหลักฐานทางการแพทย์ ไม่พบว่า มียาบำรุงสมองหรือยาใดๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และ/หรือ สมุนไพร ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสภาพผักมีอาการดีขึ้น

ผู้ป่วยสภาพผักสามารถทำธุรกรรมต่างๆได้หรือไม่?

ผู้ป่วยสภาพผักไม่สามารถทำธุรกรรมต่างๆได้ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจใดๆ ไม่มีสติสัมปชัญญะปกติ ดังนั้น การทำธุรกรรมต้องทำโดยญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ ลูก ซึ่งต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ผู้ป่วยเป็นผู้ไร้สมรรถภาพ และมีผู้ดูแลที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ครอบครัวควรดูแลคนในครอบครัว/คนที่ดูแลผู้ป่วยอย่างไร?

การดูแลคนในครอบครัวที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะผู้ดูแลนั้นจะเหนื่อยทั้งกายที่ไม่ได้พักผ่อนหรือการนอนไม่เป็นเวลา และยังเหนื่อยใจที่ต้องเครียดกับการดู แลผู้ป่วยซึ่งก็มักจะเป็น พ่อ แม่ ลูก พี่ น้อง หรือญาติสนิท จึงเกิดความเครียด และถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการดูแลที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นนั้น ผู้ดูแลยิ่งมีความเครียดมากขึ้น

การดูแลที่ดีนั้น ควรมีผู้ดูแลอย่างน้อย 2 คนที่ดูแลร่วมกัน เพื่อให้มีการพักผ่อนที่พอ และสำรองกรณีที่ผู้ดูแลติดธุระด่วน จากประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ พบว่าผู้ป่วยจะมีภา วะแทรกซ้อนได้ง่ายช่วงที่เปลี่ยนผู้ดูแล หรือผู้ดูแลหลักติดธุระ เนื่องจากผู้ดูแลช่วงนั้นขาดประ สบการณ์และไม่แม่นยำในการดูแลผู้ป่วย

นอกจากนั้น ครอบครัวต้องให้กำลังใจผู้ดูแล และหาเวลาให้ผู้ดูแลได้มีช่วงเวลาพักผ่อนและผ่อนคลายบ้าง ซึ่งการดูแลผู้ดูแลก็จะส่งผลดีสะท้อนกลับมาถึงการดูแลผู้ป่วยด้วย

สรุป

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพของตนเองให้ดี อย่างน้อยที่ สุด คือ การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)