วิธีดูแลเด็กดื้อ ต่อต้าน (How to care oppositional defiant disorder child)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะดื้อต่อต้านคืออะไร?

ภาวะดื้อต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder ย่อว่า ODD) เป็นความผิดปกติในเด็กที่มีลักษณะเด่น คือ ดื้อ ต่อต้าน ไม่เป็นมิตร โมโหง่าย ไม่ควบคุมอารมณ์ จนพ่อแม่ทนไม่ ได้ หรือ จนมีผลกระทบต่อการเรียน เป็นอยู่นานติดต่อกันเกิน 6 เดือน แต่พฤติกรรมข้างต้นต้องไม่มีเรื่องที่เด็กถูกละเมิดสิทธิ หรือกฎเกณฑ์ทางสังคมอย่างรุนแรง และไม่ได้เกิดในช่วงเด็กดื้อตามปกติในเด็กอายุ 2-3 ปี

 

ในประเทศไทยมีเด็กกี่เปอร์เซ็นต์ที่มีภาวะดื้อต่อต้าน?

วิธีดูแลเด็กดื้อ

จากเกณฑ์การวินิจฉัยโรคตามระบบ DSM-IV (Diagnostic and statistical manual to mental disorders-IV) พบภาวะเด็กดื้อในทั่วโลกได้ ประมาณ 2-16% หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 6%

 

อายุน้อยที่สุดที่พบคือ 3 ปี ส่วนมากเริ่มเป็นก่อนอายุ 8 ปี และไม่เกินวัยรุ่น แต่โดยเฉลี่ยจะเริ่มแสดงอาการตอนอายุ 6 ปี ซึ่งช่วงก่อนวัยรุ่นจะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าในเด็กผู้หญิง ในอัตราส่วนชายต่อหญิงเท่ากับ 2 ต่อ 1 และเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้วพบในเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงพอๆกัน

 

สำหรับประเทศไทย พบภาวะนี้ได้ประมาณ 3% ของเด็กที่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -5 เมื่อแยกตามภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีความชุกสูงสุด 5.5% โดยพบในเด็กชาย 8% และเด็กหญิง 3% ด้วยอัตราส่วนเด็กชายต่อเด็กหญิง คือ 2.6 : 1

 

อะไรเป็นสาเหตุของภาวะดื้อต่อต้าน?

ภาวะดื้อ ต่อต้านในเด็ก มีสาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายประการที่ซับซ้อน และมีผลกระทบต่อกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยด้านชีวภาพและจิตใจ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ระหว่างการตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนในระยะแรกเกิดของเด็ก การเลี้ยงดู ครอบครัว เพื่อน โรงเรียน เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งมีทั้งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยที่เป็นด้านบวกหรือปัจจัยป้องกัน และผลกระทบของแต่ละปัจจัย ยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาที่เกิดขึ้น ระยะเวลา และความรุนแรง ซึ่งปัจ จัยหลัก รวมได้เป็น 3 ปัจจัย คือ

  • ปัจจัยทางชีวภาพ ประกอบด้วย
    • พันธุกรรม โดยครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชโดยเฉพาะด้านอารมณ์ จะมีโอกาส พบ ODD ในครอบครัวได้เพิ่มขึ้น
    • ฮอร์โมนเพศทั้ง androgens, estrogens และ enzyme ที่เกี่ยวข้อง มีผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของสมองตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ทำให้สมองของเพศชายและเพศหญิงแตก ต่างกันในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าว ความกลัว และความยับยั้งชั่งใจ
    • การผิดปกติของระบบสารสื่อประสาท ทั้งสาร Dopamine สาร Norepinephrine และ สาร Serotonin มีความสัมพันธ์กับการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวทั้งในคนและสัตว์ทดลอง
    • รวมทั้งพัฒนาการของสมองส่วน Amygdala, Hypothalamus, และบริเวณอื่นของสมองส่วน Limbic system ซึ่งเป็นสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว
  • ปัจจัยด้านจิตใจ พื้นฐานทางอารมณ์ไม่ดี (Difficult temperament) รู้สึกไม่ปลอด ภัยกับความผูกพันของพ่อแม่ (Insecure attachment) ในเด็กเล็กสัมพันธ์กับการเกิด ODD รู้ สึกคุณค่าในตัวเองต่ำ รวมทั้งเด็กและวัยรุ่นที่ขาดทักษะชีวิตในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการแก้ไขความขัดแย้ง ทักษะการพูด แสดงอารมณ์ และความต้องการของตนเอง ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และทักษะสังคม
  • ปัจจัยสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดูแบบใช้ความรุนแรง ทั้งด้านร่างกายและคำพูด ด้วยการลงโทษ ข่มขู่ ด่าว่ารุนแรง หรือการเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลย ขาดความเข้าใจความต้องการพื้นฐานของเด็ก ครอบครัวที่มีความรุนแรง มีความขัดแย้งสูง ครอบครัวแตกแยก คบกลุ่มเพื่อนที่เกเรที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ในแวดล้อมของสื่อที่มีความรุนแรง ทำให้เกิดความชินชาต่อความรุนแรง มองว่าเป็นเรื่องปกติ การเล่นวิดีโอเกมที่มีความรุนแรง ความยากจน การอยู่กันอย่างแออัด การพักอาศัยในถิ่นที่มีอาชญากรรมสูง ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิด ODD

 

ภาวะดื้อต่อต้านมีอาการและผลกระทบอะไรบ้าง?

พ่อแม่มักพาเด็กมาพบแพทย์ด้วยเรื่อง ดื้อมาก ไม่เชื่อฟัง จงใจก่อกวนคนอื่น โทษคนอื่นทั้งๆที่เป็นความผิดของตนเอง มักโต้เถียงกับผู้ใหญ่ อารมณ์เสียง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ พฤติ กรรมเหล่านี้มักเกิดในบ้าน ดังนั้น เมื่อเด็กมาพบแพทย์ในครั้งแรกๆ อาจไม่แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ นอกจากนี้ เด็กที่เป็น ODD มักมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เด็กไม่ค่อยมีเพื่อน และมีปัญหาการเรียน ถึงแม้เด็กมีสติปัญญาดี แต่ผลการเรียนมักไม่ดีหรืออาจสอบตก เนื่องจากเด็กไม่ยอมทำตามคำสั่งของครู ต่อต้านไม่ยอมเรียน ไม่ยอมทำแบบฝึกหัด เด็กพวกนี้ยังมีรู้สึกคุณค่าในตัวเองต่ำ ไม่อดทน ระเบิดอารมณ์ง่าย และอาจมีอารมณ์ซึมเศร้า ถ้าเป็นวัยรุ่นอาจใช้สารเสพติด และส่วนหนึ่งของเด็ก ODD จะกลายเป็น ความประพฤติผิดปกติ (Conduct disorder) หรือ อารมณ์แปรปรวนผิดปกติ (Mood disorder) หากไม่ได้รับการรักษาและดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จะกลายเป็นบุคลิกภาพแบบอันธพาล (Antisocial personality dis order)

 

ธรรมชาติของภาวะนี้ คือ เด็กที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น ODD เมื่อติดตามไป 3 ปี พบว่า

  • มี 50% ยังคงเป็น ODD -25% สามารถกลับเป็นปกติได้
  • มีเพียง 25% ของ ODD จะกลายเป็น Conduct disorder
  • และ 10% ของ Conduct disorder จะกลายเป็น Antisocial personality disorder

 

วิธีรักษาภาวะดื้อต่อต้านมีอะไรบ้าง?

การรักษาภาวะดื้อ ต่อต้าน ที่ได้ผลดีต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ประกอบด้วย

  • ด้านบิดามารดา (Parent management training) คือ การให้คำปรึกษาและฝึกบิดามารดาแบบตัวต่อตัว หรือแบบกลุ่มก็ได้ ในเรื่องการปฏิบัติกับเด็กอย่างถูกต้อง โดยใช้หลักพฤติ กรรมบำบัด เช่น การให้รางวัล คำชมเชย แก่เด็กในเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสม หลีกเลี่ยงการลงโทษที่รุนแรง หรือการปฏิบัติกับเด็กแบบไม่คงเส้นคงวา
  • ด้านเด็ก (Child problem-solving skills training) เป็นการฝึกหรือช่วยเด็กให้รู้จักยับยั้งใจ รู้จักวิธีอื่นๆในการแก้ปัญหา เห็นถึงผลต่างๆที่จะได้รับจากการแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้นๆ และรู้จักประเมินพฤติกรรมของตนเอง รวมทั้งการให้กำลังใจตนเอง
  • จิตบำบัดกับผู้ป่วยเด็ก โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวและบุคคลใกล้ชิดกับเด็ก และเสริมคุณค่าในตนเองของเด็ก ขณะเดียวกัน ค่อยๆช่วยให้เด็กรู้จักควบคุมตนเอง และแสดงออกอย่างเหมาะสม
  • ครอบครัวบำบัด ช่วยลดความขัดแย้งของบิดามารดาและลูก โดยให้มีการแสดงออก และการสื่อสารอย่างเหมาะสมในครอบครัว ให้มากขึ้น

 

มีวิธีดูแลช่วยเหลือลูกที่มีภาวะดื้อต่อต้านอย่างไรดี?

พ่อแม่ ผู้ปกครอง มีวิธีดูแลช่วยเหลือลูกที่มีภาวะดื้อ ต่อต้าน ดังนี้

  • ต้องจัดการกับความรู้สึกคับข้องใจ หรือความรู้สึกโกรธ โมโหของตนเองด้วย จะต้องใช้ความอดทน ไม่ใช่การเอาชนะเด็ก ควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก
  • ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดื้อต่อต้าน และยอมรับธรรมชาติของเด็กในแต่ละวัย
  • ไม่ควรบังคับ และไม่ควรตามใจลูกมากเกินไป ควรบอกและยืนยันด้วยเหตุผลอย่างจริงจัง การกระทำอย่างอ่อนโยนแต่เด็ดขาดชัดเจน เป็นวิธีหนึ่งที่แสดงให้เด็กรู้ว่า มีคนรักและเอาใจใส่ความรู้สึกของเด็ก
  • ไม่เอาชนะเด็กตรงๆ ควรมีเทคนิคการจูงใจให้เด็กอยากทำ การบอกซ้ำๆ หรือคะยั้นคะ ยอ จะทำให้เด็กต่อต้าน ผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังให้เด็กทำตามทันที ควรให้เวลาแก่เด็กบ้าง
  • หลีกเลี่ยงการต่อล้อต่อเถียง ซึ่งจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาท
  • ไม่พูดถึงเด็กในทางลบบ่อยๆ เด็กจะรู้สึกเป็นจริงตามที่ผู้ใหญ่พูด เช่น “หนูเป็นเด็กดื้อไม่ฟังใคร” แต่ควรส่งเสริมให้เด็กเห็นข้อดีด้านบวกของตนเอง เช่น “หนูเป็นเด็กมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น”
  • สร้างสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีอยู่เสมอ การที่เด็กรู้ว่ามีคนรักและเข้าใจเขา เด็กจะรู้สึกมั่นคงว่ามีความรักตอบสนอง ทำให้เคารพและเชื่อฟัง
  • เมื่อลูกดื้อหรือไม่เชื่อฟัง แต่ยังไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ควรลงโทษโดยวิธี การใช้เวลานอก ให้แยกเด็กอยู่ลำพัง นั่งเข้ามุมสงบ โดยไม่ให้ความสนใจเด็กเป็นระยะเวลา นานเท่ากับอายุเด็กเป็นนาที เช่น ถ้าเด็กอายุ 5 ปี ก็ให้นั่งนานประมาณ 5 นาที เพื่อฝึกให้ลูกรู้ จักควบคุมอารมณ์ตนเอง จนกว่าลูกจะสงบลง
  • พ่อแม่ต้องปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูกอย่างสม่ำเสมอ จริงจัง ค่อยเป็นค่อยไป และต่อเนื่อง จะทำให้ลูกพัฒนาทักษะทางอารมณ์ และเรียนรู้ได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด หรือสิ่งใดทำได้ สิ่งใดทำไม่ได้ ซึ่งเป็นรากฐานให้เด็กมีการพัฒนาคุณธรรมที่เหมาะสมต่อไป
  • กรณีที่เด็กดื้อรั้น ต่อต้าน ร้องไห้โวยวาย วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดในขณะนั้นคือ ต้องใจเย็น อย่ายอมให้สิ่งที่เด็กต้องการในขณะที่เด็กเกิดพฤติกรรมเช่นนั้น อย่าแสดงอาการวิตกกังวลกับพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้น เด็กจะค่อยๆสงบและเงียบลง เมื่อเด็กเงียบควรเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่น การดื้อรั้นจะลดลง
  • การแจ้งครูประจำชั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากเด็กอยู่ในช่วงวัยเรียน คุณแม่ควรขอเอกสารการวินิจฉัย และความรู้เกี่ยวกับภาวะดื้อต่อต้านจากแพทย์ที่ดูแล ประกอบกับการขอความร่วมมือจากครูประจำชั้น ในการปรับพฤติกรรมไปในแนวทางเดียวกับที่บ้าน โดยผ่านสมุดบันทึกพฤติกรรม
  • กรณีที่ครอบครัวมีลูกหลายคน พ่อแม่ควรทำข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดกฎและวินัยในบ้านให้เข้าใจตรงกัน เปิดโอกาสให้ลูกทุกคนได้ระบาย และซักถามเกี่ยวกับความคับข้องใจในปัญหาพฤติกรรมของลูกที่เป็นภาวะดื้อต่อต้าน เพื่อสร้างความเข้าใจ เห็นใจ และช่วยเหลือกันระหว่างพี่น้อง

 

บรรณานุกรม

  1. ชาญวิทย์ เงินศรีตระกูล. (2550). Disruptive Behavior Disorders. ใน: วินัดดา ปิยะศิลป์, พนม เกตุมาน, บรรณาธิการ. จิตเวชเด็กและวัยรุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: ธนาเพลส; 191-93.
  2. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน และคณะ. (2555). ความชุกของโรคสมาธิสั้นและภาวะดื้อต่อต้านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาในประเทศไทย. สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.
  3. รัตโนทัย พลับรู้การ. (2551). พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก. ใน นิชรา เรืองดารกานนท์, ชาคริยา ธีรเนตร, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ และทิพวรรณ หรรษคุณาชัย, บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก. กรุงเทพฯ: โฮลิสติกพับลิสชิ่ง; 286-96.
  4. ศรีเรือน แก้วกังวาล. (2550). จิตวิทยาเด็กที่มีลักษณะพิเศษ. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
  5. อรวรรณ เลาห์เรณู. (2551). ครอบครัวที่ทำหน้าที่ไม่เหมาะสม. ใน นิชรา เรืองดารกานนท์, ชาคริยา ธีรเนตร, รวิวรรณ รุ่งไพรวัลย์ และทิพวรรณ หรรษคุณาชัย บรรณาธิการ. ตำราพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก. กรุงเทพฯ: โฮลิสติกพับลิสชิ่ง; 327-37.
  6. Bezdjian S, Krueger RF, Derringer J, Malone S, McGue M, Lacono WG. (2011). The structure of DSM-IV ADHD, ODD, and CD criteria in adolescent boy: A hierachical approach. Psychiatric Research; 3: 411-21.
  7. Charles E. and Micheal H. (2002). Preschoolers at risk for Attention-Deficit Hyperactivity Disorders and Oppositional Defiant Disorders: Family, Parenting, and Behavioral Correlates. Journal of A Abnormal Psychology; 30: 555-69.
  8. Lyons-Ruth K. (1996). Attachment relationships among children with aggressive behavior problems: the role of disorganized early attachment patterns. J Consult Clin Psychol; 64: 64-73.