ลมชักชนิดเหม่อ (Absence seizure)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ลมชัก หรือโรคลมชัก คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าผู้ที่มีอาการโรคนี้ต้องมีการชักแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัว หมดสติ หรือชักแบบลมบ้าหมู (Generalised tonic-clonic seizure) แต่จริงแล้วการชักมีหลายรูปแบบได้แก่

  • การชักเฉพาะส่วนของร่างกายและผู้ป่วยรู้สึกตัวดี (Simple motor seizure)
  • การชักแบบสะดุ้ง (Myoclonic seizure)
  • รวมทั้ง “การชักแบบ/ชนิดเหม่อ หรือโรคลมชักแบบ/ชนิดเหม่อ (Absence seizure หรือ Petit mal seizure)”

การชัก/ลมชักแบบเหม่อนี้มีลักษณะอย่างไร มีภาวะอะไรที่มีลักษณะคล้ายกัน เกิดจากอะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นการชัก/ลมชักแบบเหม่อ รักษาหายหรือไม่ ผมจะขอเล่าที่ละประเด็นดังนี้

โรคลมชักชนิดเหม่อคืออะไร?

ลมชักชนิดเหม่อ

โรคลมชักแบบ/ชนิดเหม่อคือ การชักรูปแบบหนึ่งซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการเหม่อนิ่งเป็นระยะ เวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วระยะเวลาที่มีอาการจะนานประมาณ 15 - 30 วินาทีไม่เกิน 45 วินาที และไม่มีการเสียการทรงตัวหรือล้มลง แต่อาจมีอาการกระพริบตาบ่อยๆช่วงมีอาการ

อนึ่ง โรคลมชักชนิดเหม่อเป็นลมชักชนิดพบได้น้อย มักพบเกิดในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่มาก และพบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง สถิติที่มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาคือพบโรคนี้ได้ประ มาณ 1.9 - 8 รายต่อประชากร 1 แสนคน

อาการชักชนิดเหม่อมีลักษณะคล้ายกับอาการอะไรบ้าง?

อาการชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อนั้นมีลักษณะคล้ายกับการนั่งเหม่อลอยทั่วๆไป และ/หรือคล้ายกับการนั่งหลับ ซึ่งลักษณะที่ต่างกันของทั้ง 3 อาการได้แก่

ดังนั้นการวินิจฉัยโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อจะเริ่มจากข้อมูลของอาการดังกล่าว ร่วมกับอาการและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเกิดอาการชักชนิดเหม่อ

เมื่อใดควรพบแพทย์?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยเร็วเสมอ ถ้าผู้ปกครองเห็นว่าลูกหรือเด็กหรือผู้มีอา การในบ้านมีอาการผิดปกติสงสัยว่าจะเป็นลมชักชนิดเหม่อ เพราะอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจมีอา การได้วันละหลายๆครั้ง ดังนั้นถ้าสงสัยก็ให้พาเด็ก/ผู้มีอาการพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลได้เลย เพราะถ้าได้รับการรักษาล่าช้า อาจเกิดผลเสียต่อระดับสติปัญญาของผู้ป่วยได้

แพทย์ให้การวินิจฉัยโรคลมชักชนิดเหม่อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลมชักชนิดเหม่อได้โดยการพิจารณาจากอาการผิดปกติของผู้ป่วยอย่างละเอียด และถ้ามีการบันทึกภาพที่เกิดอาการมาให้แพทย์ดูด้วยก็จะทำให้วินิจฉัยได้แน่นอนมากขึ้น

กรณีไม่มีอาการขณะแพทย์ตรวจและแพทย์สงสัย แพทย์ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการชักนี้ได้ด้วยการให้ผู้ป่วยหายใจแรงๆลึกๆติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง (Hyperventilation) และถ้าเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองได้ แพทย์ก็จะส่งตรวจ ซึ่งจะพบความผิดปกติที่มีลักษณะเฉพาะคือ คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติแบบมีอาการชักชนิด 3 ครั้งต่อวินาที (3 Hz spike and wave)

แพทย์ต้องส่งตรวจอะไรเพิ่มเติมอีกนอกจากคลื่นไฟฟ้าสมอง?

ในการวินิจฉัยโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อ นอกจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองแล้ว แพทย์อาจส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองหรือเอมอาร์ไอสมองเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติในสมอง นอกจากนั้น กรณีวินิจฉัยได้แล้วว่าเป็นโรคลมชักชนิดเหม่อ แพทย์จะมีการตรวจเลือด เช่น เพื่อตรวจการทำงานของตับ ของไต ก่อนให้ยากันชัก

การรักษาด้วยยากันชักที่ได้ผลคือยาอะไร?

แนวทางการรักษาโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อคือ การกินยากันชักและการปฏิบัติตนตามแพทย์พยาบาลแนะนำ

ก. ยากันชัก: ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อเช่น ยากันชักที่ชื่อว่า โซเดียมวาวโปเอต (Sodium valproate)

ข. การปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์: ที่สำคัญคือ

  • กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • ไม่หยุดยาเอง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสิ่งทำให้เกิดการขาดสติที่ส่งผลถึงการรักษา
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ผู้ป่วยโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

  • มีอาการชักรุนแรงขึ้นคือ ชักบ่อยขึ้น เกิดอุบัติเหตุจากการชัก การชักเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม (เช่น เปลี่ยนเป็นชักกระตุก)
  • ทานยากันชักแล้วมีอาการผิดปกติหรือสงสัยแพ้ยา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com 2 บทความคือ เรื่อง ยากันชัก และเรื่อง ยา Valproate)
  • เมื่อกังวลในอาการ

การรักษาต้องทานยานานเท่าใด?

ในโรคลมชักชนิดเหม่อ ต้องทานยากันชักอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่งเพื่อควบคุมอาการให้ได้นานอย่างน้อย 2 ปี และแพทย์จะค่อยๆลดยากันชักลง จนอาจหยุดใช้ยาได้เหมือนการรัก ษาในโรคลมชักชนิดอื่นๆทุกชนิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคลมชัก)

ใครมีโอกาสเป็นโรคลมชักชนิดเหม่อได้บ่อย?

โรคลมชักชนิด/แบบเหม่อพบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มักพบในช่วงอายุ 4 - 10 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เด็กที่มีประวัติไข้ชักและ/หรือมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว มีโอกาสมากกว่าเด็กอื่นๆที่ไม่มีประวัติดังกล่าวที่จะเกิดโรคนี้

อนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนี้

โรคลมชักชนิดเหม่อมีอันตรายต่อสมองหรือไม่?

เนื่องจากโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนั้นสามารถมีอาการได้บ่อยๆหลายครั้งต่อวัน ถึงแม้อาการจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ (เป็นวินาที) แต่เมื่อเป็นบ่อยก็จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาต่อสมองในการเรียนรู้และระดับสติปัญญาอาจลดต่ำลงได้

ส่วนโอกาสการเกิดอุบัติเหตุนั้นพบได้ไม่บ่อย ยกเว้นเกิดอาการชักฯขณะขับรถและสูญ เสียการควบคุมตัวเองและรถ

นอกจากนี้ โรคนี้อาจส่งผลต่อพฤติกรรมเช่น การแยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนๆได้

โรคลมชักชนิดเหม่อรักษาได้ผลหรือไม่? มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อ โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคที่ดี สามารถรักษาควบคุมโรคได้ดี แต่อย่างไรก็ตาม การพยากรณ์โรคขึ้นกับการที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์เร็วหรือช้า ความสม่ำเสมอของการกินยารักษาตามแพทย์สั่ง และการดำเนินชีวิตประ จำวันตามคำแนะนำของแพทย์หรือไม่

ทั้งนี้ ผลการรักษาประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยตอบสนองดีต่อยา แต่ผู้ป่วย 1 ใน 3 มีอา การต่อเนื่องไปจนถึงผู้ใหญ่ และอาจเกิดการชักแบบชักเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมาได้ถ้าขาดยา หรือตอบสนองต่อยาได้ไม่ดี

นอกจากนั้น ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อันตรายต่อสมอง ถ้ารักษาควบคุมโรคได้ไม่ดี หรือพบแพทย์ล่าช้า ก็อาจทำให้มีระดับสติปัญญาลดต่ำลงได้

ผู้ป่วยห้ามทำกิจกรรมใดบ้าง?

โรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อมีอันตรายไม่มากนัก เพราะมีการเสียความรู้สึกตัวเพียงระยะเวลาสั้นๆ (เป็นวินาที) และไม่เสียการทรงตัว แต่ก็ไม่ควรขับรถหรือเล่นกีฬาผาดโผน และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ในขณะมีอาการ

ดูแลเด็กโรคลมชักชนิดเหม่ออย่างไร?

การดูแลเด็กโรคลมชักชนิดเหม่อ/แบบเหม่อที่สำคัญคือ

  • การเตือน/การดูแลให้เด็กทานยากันชักให้สม่ำเสมอ
  • ดูแลเด็กไม่ให้อดนอน
  • ดูแลเด็กให้เล่นกีฬาตามความเหมาะสม
  • แจ้งคุณครูและโรงเรียนให้ทราบและร่วมมือกันในการดูแลเด็ก
  • ถ้าเด็กมีอาการผิดปกติมากขึ้นหรืออาการผิดไปจากเดิมหรือการชักเปลี่ยนรูปแบบไป(เช่น ชักกระตุก) ควรรีบพาไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

ดูแลตนเองอย่างไร?

เมื่อเป็นโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อ การดูแลตนเองได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • กินยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • พักผ่อนให้เพียงพอโดยเฉพาะนอนหลับให้เพียงพอ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ระวังในเรื่องการขับขี่ยวดยาน ประเภทงาน และประเภทกีฬา
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ การพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
  • ป้องกันเกิดโรคลมชักชนิดเหม่อได้อย่างไร?

    ปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของโรคลมชักชนิด/แบบเหม่อ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้

    สรุป

    โรคลมชักชนิด/แบบเหม่อนี้พบบ่อยในเด็ก จึงต้องฝากผู้ปกครองคุณครูให้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็กๆทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่มีผลการเรียนแย่ลงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม (เช่น การแยกตัว ขาดสมาธิ) ควรนำเด็กปรึกษาแพทย์ เพราะการวินิจฉัยโรคได้เร็วจะทำให้เด็กไม่ได้รับผลเสียมากนักต่อสมอง/สติปัญญา และสามารถหายเป็นปกติได้