ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี (HIV-associated opportunistic infections of the CNS)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยเอชไอวี มีความผิดปกติทางด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อในกลุ่มที่เรียกว่า เชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection)

ระบบประสาทเป็นอวัยวะระบบหนึ่งที่มีโอกาสติดเชื้อฉวยโอกาสได้ง่าย ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทได้บ่อย และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อฉวยโอกาสของระบบประสาท หรือ “ภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี (HIV-associated opportunistic infection)” ที่ควรทราบมีหลายภาวะ ซึ่งที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง อ่านได้จากบทความนี้ครับ

ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีหมายถึงอะไร?

ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี

ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี หมายถึง การที่ผู้ป่วยเอชไอวี เป็นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค จึงส่งผลให้ระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสชนิดต่างๆได้ง่าย(ซึ่งการติดเชื้อเหล่านี้ มักไม่พบในคนทั่วไป) เช่น จาก เชื้อรา วัณโรค ไวรัสชนิด JC (John Cunningham virus) และ เชื้อปรสิตชนิด Toxoplasma เป็นต้น

อาการจากระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีมีอะไรบ้าง?

อาการผิดปกติจากระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุจากเอชไอวี ที่พบมีหลายกลุ่มอาการ ดังนี้

  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis): ผู้ป่วยมีอาการไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง อาเจียน ตาพร่า/ตามัว ซึ่งเชื้อที่มักก่อโรค ได้แก่ วัณโรค เชื้อรา และแบคทีเรีย
  • สมองอักเสบ (Encephalitis): ผู้ป่วยมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ซึม สับสน ชัก อ่อนแรง ซึ่งเชื้อที่มักก่อโรค ได้แก่ วัณโรค เชื้อรา ไวรัสชนิดซีเอมวี(CMV: Cytomegalovirus)
  • ฝีสมอง (Brain abscess, Mass lesion): ผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง ชัก ปวดศีรษะ ซึม สับสน ซึ่งเชื้อที่มักก่อโรค ได้แก่ เชื้อปรสิตชนิดToxoplasma gondii, เชื้อไวรัส JC , อีบีวีไวรัส (EBV: Epstein-Barr virus)
  • รากประสาทและไขสันหลังอักเสบ (Polyradiculomyelitis): ผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง ปวดร้าวมาที่ขา ชาขา ขาอ่อนแรง อุจจาระ- ปัสสาวะไม่ได้/ไม่ออก

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' โดยเฉพาะ

  • เมื่อมีประวัติติดเชื้อเอชไอวี
  • หรือเมื่อมีอาการที่รุนแรง เช่น
  • มีไข้ต่อเนื่อง
  • ปวดศีรษะ/ ปวดหัวต่อเนื่อง
  • ระดับการรู้สึกตัวลดลง
  • และ/หรือเมื่ออาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง/เป็นมากขึ้นเมื่อให้การรักษาเบื้องต้นที่บ้าน เช่น การทานยาแก้ปวด ยาลดไข้ และโดยเฉพาะเมื่อมีอาการชัก และ/หรือ การอ่อนแรง

แพทย์วินิจฉัยภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุจากเอชไอวี ได้โดย

  • ใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่าง ประวัติการติดเชื้อเอชไอวี อาการผิดปกติต่างๆของผู้ป่วยว่าเข้าได้กับลักษณะทางคลินิกของกลุ่มอาการใดตามที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
  • การตรวจร่างกาย
  • ร่วมกับผลการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ ซีทีสแกน หรือเอมอาร์ไอภาพสมอง
    • การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (การเจาะหลัง)
    • การตรวจเชื้อด้วยเทคนิคเฉพาะของเชื้อแต่ละชนิด
    • รวมทั้งดูการตอบสนองของอาการต่างๆต่อการรักษา(Therapeutic diagnosis)

รักษาภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีอย่างไร?

การรักษาภาวะติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุจากเอชไอวีแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ: การรักษาขึ้นกับชนิดเชื้อที่ก่อโรค ได้แก่

  • เชื้อวัณโรค รักษาด้วยการให้ยาต้านวัณโรค 6-9 เดือนเหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป และหลังจากให้การรักษาครบแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ยาป้องกันการเป็นซ้ำ
  • เชื้อแบคทีเรีย ให้การรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ/ยาปฏิชีวนะเหมือนกับผู้ป่วยทั่วไปนาน 2-3 สัปดาห์ ขึ้นกับการตอบสนองและชนิดชองเชื้อที่ก่อโรค
  • เชื้อราชนิด Cryptococcal meningitis นั้น การรักษาโดยให้ยาต้านเชื้อราเหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป แต่เมื่อรักษาครบแล้ว ต้องให้การรักษาต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำด้วยยาต้านเชื้อราชนิดทานไปตลอดชีวิต
  • ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว การรักษาภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบมักตอบสนองต่อการรักษาดี ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด ยกเว้นผู้ป่วยมีภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ก็จำเป็นต้องให้การผ่าตัด เพื่อวางสายระบายน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังลงสู่ช่องท้อง (Ventriculoperitoneal shunt: VP shunt) เพื่อเป็นการลดความดันในกะโหลกศีรษะ

2. ภาวะสมองอักเสบ: การรักษาขึ้นกับชนิดเชื้อที่ก่อโรค กรณีเกิดจาก เชื้อรา เชื้อวัณโรค รักษาเหมือนกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบข้างต้น กรณีเกิดจากเชื้อไวรัส CMV นั้นซึ่งเกิดขึ้นในผู้ป่วยเอชไอวีระยะสุดท้าย คือเม็ดเลือดขาว ชนิด ซีดี 4(CD4)ต่ำมาก การรักษาด้วยาต้านไวรัส Ganciclovir และ Foscarnet ชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ การรักษาส่วนใหญ่ได้ผลไม่ค่อยดี แต่ถ้าตอบสนองต่อการรักษาดีก็ต้องให้ยาต้านไวรัสชนิดทานต่อระยะยาว คือยา Valganciclovir และเป็นโรคไม่จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการผ่าตัด

3. ฝีสมอง การรักษาขึ้นกับเชื้อก่อโรค กรณีเกิดจากเชื้อ Toxoplasma การรักษาด้วยยา Pyrimethamine และ Sulfadiazine ไปในระยะยาวตลอดชีวิต ส่วน JC ไวรัสนั้น ไม่มีการรักษาด้วยยาเฉพาะ การรักษาคือให้ยาต้านไวรัส (ARV, Antiretroviral drug) ส่วนไวรัส EBV ที่ก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของสมอง (CNS lymphoma) นั้น การรักษาคือการให้ยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา ซึ่งตอบสนองต่อการรักษาไม่ดี

4. รากประสาทและไขสันหลังอักเสบ ซึ่งมักเกดจากเชื้อไวรัส การรักษา คือการให้ยาต้านไวรัส ซึ่งเมื่อรักษาได้ผล จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัสต่อเนื่อง แต่โดยทั่วไปการรักษา มักได้ผลไม่ดี

ภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ผลการรักษาภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี ขึ้นกับสาเหตุ

  • กรณีเป็นการติดเชื้อ แบคทีเรีย วัณโรค หรือเชื้อรา การรักษามักได้ผลดี
  • แต่ถ้าเป็นจากเชื้อไวรัส การรักษามักได้ผลไม่ดี ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือนหลังการวินิจฉัย เพราะส่วนใหญ่การติดเชื้อไวรัสที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษานั้น มักเกิดขึ้นในระยะสุดท้ายของผู้ป่วยเอชไอวี

อนึ่ง ในภาพรวม ผู้ป่วยเอชไอวีที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสที่ระบบประสาทส่วนกลางมี ‘การพยากรณ์โรคที่ไม่ดี’ เมื่อเทียบกับผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสที่อวัยวะในระบบดังกล่าว

ภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

การติดเชื้อฉวยโอกาสที่ระบบประสาทก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ เช่น

  • อาการ แขน ขาอ่อนแรง
  • อาการชัก
  • โรคสมองเสื่อม และ
  • มีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษา เช่น ไตวาย

ผู้ป่วยภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองของผู้ป่วยภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • รักษาสุขภาพกายสุขภาพจิตให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ทานยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับสุขภาพ
  • ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • และ/หรือมีอาการใหม่ๆที่ผิดไปจากเดิม
    • และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีได้อย่างไร?

การป้องกันภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวี ทำได้โดย

  • การรักษา ควบคุม โรคติดเชื้อเอชไอวีให้ดี
  • ทานยาต้านเอชไอวี และยาป้องกันการติดเชื้อต่างๆตามแพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ร่วมกับการดูแลตนเองให้แข็งแรงด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)

อนึ่ง การป้องกันภาวะระบบประสาทติดเชื้อฉวยโอกาสเหตุเอชไอวีให้ได้เต็มร้อย คือ ‘การดูแลตนเอง ไม่ให้เกิดการติดเชื้อแอชไอวี’ (แนะนำอ่านเพิ่มเติม เรื่อง เอชไอวี รวมทั้งวิธีป้องกัน ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เอชไอวี และเรื่อง โรคเอดส์)