ยาโอทีซี (OTC Drugs) ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์ (Over-the-counter drugs)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาโอทีซี

ยาโอทีซีคือยาอะไร?

ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์(Over-the counter drugs ย่อว่า OTC drugs) หรือมักเรียกว่า “ยาโอทีซี (OTC drugs)” หมายถึง ยาที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อได้เองจากร้านค้าหรือร้านขายยาทั่วๆไป โดยที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์

ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์ทุกชนิดมีข้อมูลสำคัญทางยา ได้แก่ ตัวยาสำคัญ ข้อบ่งใช้ ข้อห้ามใช้ ข้อระวัง และคำแนะนำต่างๆ อยู่บนฉลากยา ดังนั้นประชาชนควรอ่านข้อมูลเหล่านี้เพื่อที่จะได้เลือกใช้ยาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับอาการของโรค

ยาโอทีซีแบ่งเป็นกี่กลุ่ม?

ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์/ยาโอทีซี แบ่งตามกลุ่มยา/ประเภทยาได้ดังนี้

1. ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้ท้องอืด/ท้องขึ้น ยาแก้ท้องเฟ้อ ที่รวมอยู่ในกลุ่มยา Antacids และ Drug for indigestion: เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide), ยาเม็ดโซดามินท์ (Soda mint), ยาขับลม (Compound Cardamom Mixture), ยาธาตุน้ำแดง (Stomachic Mixture),ยาไซเมทิโคน (Simethicone), ยา ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ (Asafoetida Tincture)

2. ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrhea drugs): เช่น ผงน้ำตาลเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts, ORS), ยาผงถ่าน (Activated Charcoal)

3. ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก(Laxatives): เช่น กลีเซอรินชนิดเหน็บทวารหนัก (Glycerin suppositories), ยาระบายแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium hydroxide, Milk of magnesia, MOM), ยาระบายมะขามแขก (Senna), โซเดียมคลอไรด์ชนิดสวนทวาร (Saline enemas)

4. ยาถ่ายพยาธิ (Antihelminthic drugs): เช่น มีเบนดาโซล (Mebendazole)

5. ยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวด และยาลดไข้ (Pain relievers and Fever reducers): เช่นยา พาราเซตามอล (Paracetamol), พลาสเตอร์บรรเทาปวด (Analgesic plaster)

6. ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก (Antihistamines): เช่นยา คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine)

7. ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ (Expectorants): เช่น ยาแก้ไอและยาขับเสมหะสำหรับเด็ก (Ammonium Carbonate and Glycyrrhiza mixture), ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown mixture)

8. ยาดมหรือทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก (Inhaler หรือ Inhalant): เช่น เหล้าแอมโมเนียหอม (Aromatic Ammonia Spirit), ยาทาระเหยบรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง (Cold Vapourizing Ointment), ยาดมแก้วิงเวียน แก้คัดจมูก (Cold Inhalant)

9. ยาแก้เมารถเมาเรือ (Anti-motion sickness drugs): ได้แก่ ไดเมนไฮดริเนท (Dimenhydrinate)

10. ยาสำหรับโรคตา (Eye drops): เช่น ซัลฟาเซตาไมด์ (Sulfacetamide), ยาล้างตา (Sodium Chloride Eye wash)

11. ยาสำหรับโรคปากและลำคอ (Topical mouth and throat products): เช่น ยากวาดคอ (Mandl's Paint), เยนเชี่ยนไวโอเลต (Gentian Violet Solution), ยาแก้ปวดฟัน (Toothache drops), ยาลูกอม (Soothing Lozenges)

12. ยาใส่แผล ยาล้างแผล (Antiseptics): เช่น ทิงเจอร์ไอโอดีน (Iodine Tincture), ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล (Thimerosal Tincture), โพวิโดน ไอโอดีน (Povidone Iodine Solution), ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol), เอทิล แอลกอฮอล์ (Ethyl Alcohol), น้ำเกลือ (Normal Saline Solution)

13. ยารักษาแผลติดเชื้อ แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก (Antiseptics for burns): เช่นยา ซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน (Silver Sulfadiazine)

14. ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย (Ointment for pain relief and insect bites): เช่น ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง (Analgesic Balm)

15. ยาสำหรับโรคผิวหนัง (Medication for skin conditions): เช่น เบนซิล เบนโซเอต (Benzyl Benzoate), ขี้ผึ้งกำมะถัน (Sulphur Ointment), ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s Ointment), น้ำมันดิน (Coal Tar), คาลาไมน์ (Calamine), โซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate)

16. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplement): เช่น วิตามินบีรวม (Vitamin B complex), วิตามินซี (Vitamin C), เฟอรัส ซัลเฟต (Ferrous sulfate), น้ำมันตับปลา (Cod liver oil)

ยาโอทีซีมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไรบ้าง?

ยาโอทีซี มีรูปแบบจำหน่ายได้ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาผง (Powder)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาอม (Lozenge)
  • ยาอิมัลชั่น (Emulsion)
  • ยามิกซ์เจอร์ (Mixtures)
  • ยาป้าย (Paint)
  • ยาดม (Inhalant)
  • ยาเหน็บทวารหนัก (Suppository)
  • ทิงเจอร์ (Tincture)
  • โลชั่น (Lotion)
  • ขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ครีม (Cream)
  • พลาสเตอร์ (Plaster)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาโอทีซีอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาโอทีซี เช่น

1. ยาแก้ ปวดท้อง ท้องอืด/ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ: ใช้บรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากมีกรดเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้ จุกเสียด แน่นท้อง

2. ยาแก้ท้องเสีย: ใช้รักษาอาการท้องเสีย และผงน้ำตาลเกลือแร่/ORS ใช้ทดแทนการเสียน้ำในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย

3. ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก: ใช้บรรเทาอาการท้องผูก และช่วยในการขับถ่าย

4. ยาถ่ายพยาธิ: ใช้ถ่ายพยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวกลม

5. ยาบรรเทาปวด ลดไข้: ใช้ลดไข้เนื่องจากโรคหวัด บรรเทา/แก้อาการปวดในระดับอ่อนถึงปานกลาง ปวดศีรษะทั่วไป ปวดกล้ามเนื้อ

6. ยาแก้แพ้/ ยาลดน้ำมูก: ใช้บรรเทาอาการแพ้ เช่น ลมพิษ และน้ำมูกไหล

7. ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ: ช่วยให้เสมหะมีความหนืดลดลงและถูกร่างกายขับออกมาได้ง่ายขึ้น

8. ยาดมหรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก: ใช้สูดดมเพื่อบรรเทาอาการหวัด วิงเวียนศีรษะ เป็นลม

9. ยาแก้เมารถเมาเรือ: ใช้ป้องกันอาการ เมารถเมาเรือ/เมาเครื่องบิน ป้องกันอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน

10. ยาสำหรับโรคตา: เช่นยา Sulfacetamide ใช้รักษาอาการตาแดง เยื่อตาอักเสบจากโรคติดเชื้อ, ยาล้างตา ใช้ล้างตาที่อักเสบ ตาเจ็บ ตาแดง ตาแฉะ เปลือกตา/หนังตาอักเสบ และทำให้ตาสะอาด

11. ยาสำหรับโรคปากและลำคอ: เช่น ยากวาดคอ ใช้บรรเทาอาการอักเสบและเจ็บคอ, ยาเยนเชี่ยนไวโอเลต(Gentian violet)ใช้รักษาฝ้าขาวที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม, ยาแก้ปวดฟัน ใช้บรรเทาอาการปวดฟัน, ยาเม็ดลูกอม ใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ ระคายคอ

12. ยาใส่แผล ยาล้างแผล: เช่นยา ทิงเจอร์ไอโอดีน, ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล, และโพวิโดน ไอโอดีน ใช้รักษาแผลสด, ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ หรือ เอทิล แอลกอฮอล์ หรือ น้ำเกลือ ใช้ทำความสะอาดบาดแผล

13. ยารักษาแผลติดเชื้อ แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก: เช่นยา Silver Sulfadiazine ใช้ทาภายนอก เพื่อรักษาอาการติดเชื้อจากแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก

14. ยาหม่อง: ใช้บรรเทาอาการ ปวด บวม อักเสบ เนื่องจากแมลงกัดต่อย หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

15. ยาสำหรับโรคผิวหนัง: เช่นยา เบนซิล เบนโซเอต ใช้รักษาโรค หิด เหา โลน, ยาขี้ผึ้งกำมะถัน ใช้รักษาโรคหิด, ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ ใช้รักษาโรคกลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า, น้ำมันดิน ใช้รักษาโรคผิวหนังเรื้อรังบางชนิด เช่น เรื้อนกวาง, ยาคาลาไมน์ ใช้บรรเทาอาการคันเนื่องจาก ผด ผื่นคัน ลมพิษ, ยาโซเดียมไทโอซัลเฟต ใช้รักษาเกลื้อน

16. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร: ใช้ป้องกันการขาดวิตามิน และใช้บำรุงร่างกาย

มีข้อห้ามใช้ยาโอทีซีอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาโอทีซี เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือในผู้ที่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง/ไวเกิน ต่อยานั้นๆ (Hypersensitivity)

2. ยาโอทีซีบางชนิด เป็นยาที่ใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามนำมารับประทาน เช่นยา ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ เหล้าแอมโมเนีย ยาหม่อง ยาล้างตา ยาคาลาไมน์ เป็นต้น

3. หากผู้ป่วยใช้ยาโอทีซีแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

4. หากจะรับประทานยาผงถ่านกัมมัน ควรเว้นระยะห่าง 2 ชั่วโมงจากการรับประทานยาชนิดอื่นๆ เพื่อไม่ให้ยาผงถ่านไปดูดซึมยานั้นๆจนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยานั้นๆลดลง

5. ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดที่ระบุไว้บนฉลากยา และห้ามใช้ติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาโอทีซีอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโอทีซี เช่น

1. ไม่ควรใช้ยาลดกรดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยาลดกรดบางชนิดมีส่วนประกอบของ Aluminium hydroxide อาจทำให้เกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ

2. ไม่ควรใช้ยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้ร่างกายทน/ดื้อต่อยา ทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาขึ้นเรื่อยๆ หรือส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถขับถ่ายเองได้

3. ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก และยาแก้เมารถ เมาเรือ มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

4. ยาในรูปแบบของยาน้ำแขวนตะกอน(Suspension) เช่น ยาธาตุน้ำแดง และยาลดกรด ต้องเขย่าขวดก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อให้ยากระจายตัวสม่ำเสมอ

การใช้ยาโอทีซีในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการใช้ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอ/ยาโอทีซีในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์มีทั้งยาที่มีความปลอดภัยสูงและยาที่มีอันตรายต่อหญิงมีครรภ์และทารก ดังนั้นหากมีแผนตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งเภสัชกรทุกครั้งเมื่อมารับบริการที่ร้านยา หรือในกรณีที่กำลังให้นมบุตร อาจจำเป็นต้องงดการให้นมบุตรชั่วคราวเมื่อใช้ยาที่สามารถขับผ่านทางน้ำนมมารดาได้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกได้

การใช้ยาโอทีซีในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโอทีซีในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ควรระวังการใช้ยา Paracetamol ในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคตับ และระวังการใช้ยาลดกรดในผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ เพราะยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์/ยาโอทีซีเหล่านี้อาจทำให้อาการของโรคดังกล่าวแย่ลง

การใช้ยาโอทีซีในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาโอทีซีในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. การใช้ยาจำหน่ายหน้าเคาเตอร์/ยาโอทีซีในเด็ก ผู้ปกครองควรอ่านฉลากยาให้ละเอียด เพื่อพิจารณาว่ายานั้นมีความปลอดภัยในเด็กตั้งแต่อายุเท่าใด การใช้ยาที่ถูกต้องคือใช้ยาในขนาดและความถี่เท่าใด

2. ควรระวังการใช้ยาน้ำชนิดรับประทานที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ เพราะหากเด็กได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก อาจทำให้เด็กมีความผิดปกติของพัฒนาการทางสติปัญญา

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโอทีซีเป็นอย่างไร?

นอกจากอาการไม่พึงประสงค์จากยาชนิดรุนแรงของยาโอทีซีที่อาจพบได้ คือกดการหายใจแล้ว ยากลุ่มนี้ยังพบอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆได้ ดังนี้ เช่น

1. ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ทำให้เกิดอาการท้องผูก ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เป็นต้น

2. ผงน้ำตาลเกลือแร่/ORS ทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือโซเดียมในเลือดสูง ,ยาผงถ่านกัมมันทำให้ท้องผูก

3. ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก(Laxatives) ทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย ไม่สามารถขับถ่ายเองได้

4. ยาถ่ายพยาธิ ทำให้มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดท้อง

5. ยาพาราเซตามอล ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม สับสน และทำให้การทำงานของตับผิดปกติ, พลาสเตอร์บรรเทาปวด ทำให้เกิดผื่นคันบริเวณที่ติดพลาสเตอร์

6. ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ไม่สบายท้อง ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ใจสั่น

7. ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มึนงง สับสน

8. ยาโอทีซีที่มีผลต่อระบบประสาท อาจทำให้เกิดการเสพติดได้ และอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อจมูก

9. ยาแก้เมารถเมาเรือ ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ไม่สบายท้อง ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก ใจสั่น

10. ยาสำหรับโรคตา เช่นยา Sulfacetamide , ยาล้างตา: ทำให้คันตา แสบตา ตาแดง ตามองไม่เห็นชั่วคราว

11. ยาสำหรับโรคปากและลำคอ เช่น ยากวาดคอ ทำให้เกิดแผล เกิดการติดเชื้อในลำคอ กระตุ้นให้เกิดการอาเจียน, ยาเยนเชี่ยนไวโอเลต(Gentian violet)และยาแก้ปวดฟัน ทำให้เกิดอาการบวมแดง ระคายเคืองบริเวณที่ทา

12. ยาใส่แผล ยาล้างแผล (Antiseptics): ทำให้แสบแผล เกิดการระคายเคืองบริเวณแผลและบริเวณผิวหนังที่สัมผัสยา

13. ยารักษา แผลติดเชื้อ แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก เช่น Silver Sulfadiazine อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง คือ กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)

14. ยาที่ใช้สูดดม(Inhaler) อาจทำให้ระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อจมูกเมื่อสูดดม

15. ยาสำหรับโรคผิวหนัง อาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน หรือแสบในบริเวณผิวหนังที่ทายา

16. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจทำให้มีสารเหล่านั้น สะสมอยู่ในร่างกายหากรับประทานในปริมาณมากเกินไป และส่งผลให้ทำให้ตับหรือไตทำงานหนัก เพราะต้องขับสารเหล่านั้นออกจากร่างกาย จนอาจเกิด ตับอักเสบ และ/หรือไตอักเสบ

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโอทีซี) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. U.S. Food and Drug Administration. What are over-the-counter (OTC) drugs and how are they approved? http://www.fda.gov/AboutFDA/Transparency/Basics/ucm194951.html [2017,Feb4]
  2. American Academy of Family Physicians. OTC Medicines and Pregnancy. https://familydoctor.org/otc-medicines-and-pregnancy/?adfree=true [2017,Feb4]
  3. สำนักยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ยาสามัญประจำบ้าน. 2554. แหล่งที่มา: http://drug.fda.moph.go.th/zone_drug/dru001.asp?title=1&display=a01b01*a02b02*a03b03*a04b04*a05b05*a06b06*a07b07*a08b08*a09b09*a10b10*a11b11*a12b12*a13b13*a14b14*a15b15*a16b16* [2017,Feb4]
  4. กระทรวงบริการด้านสุขภาพและมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. ยาในบ้านของฉัน. http://www.fda.gov/downloads/Drugs/ResourcesForYou/Consumers/BuyingUsingMedicineSafely/UnderstandingOver-the-CounterMedicines/UCM449619.pdf [2017,Feb4]
  5. ยุวดี วงษ์กระจ่าง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาดมมีอันตรายหรือไม่. แหล่งที่มา: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/106/ยาดมมีอันตรายหรือไม่ pdf [2017,Feb4]