ยาแก้สะอึก (Hiccups Medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาแก้สะอึก

ยาแก้สะอึกหมายความว่าอย่างไร?

ยาแก้สะอึก หรือมักเรียกกันว่ายาสะอึก(Hiccup medication หรือ Hiccup drug หรือ Hiccup agent)เป็นยาที่ใช้รักษาอาการสะอึกเมื่อผู้ป่วยมีอาการ “สะอึกแบบเรื้อรัง (สะอึกนานกว่า 48 ชั่วโมง)” หรือมี อาการ”สะอึกแบบรุนแรง (สะอึกนานกว่า 2 เดือน)” เนื่องจากการสะอึกส่งผลต่อการพูด สมาธิ การกินของผู้ป่วย และอาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล เหนื่อยล้า และนอนไม่หลับได้ ส่วนอาการสะอึกที่เกิดนอกเหนือจากดังได้กล่าว มักหายไปเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรืออาจใช้วิธีการอื่นๆที่ไม่ใช่ยา(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง สะอึก)

ยาแก้สะอึกมีกี่ประเภท?

ยาที่ใช้รักษาอาการสะอึก แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ดังนี้

1. ยารักษาโรคจิต (Antipsychotic medications): เช่นยา คลอร์โปรมาซีน (Chlorpromazine), ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol)

2. ยากันชัก (Anticonvulsants): เช่นยา เฟนิโทอิน (Phenytoin), กรดวาลโพรอิก (Valproic acid), คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine), กาบาเพนติน (Gabapentin)

3. ยาลดฟองแก๊สในระบบทางเดินอาหาร (Defoaming agents): เช่นยา ไซเมททิโคน (Simethicone)

4. ยาช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร/กระเพาะอาหารและลำไส้ (Motility stimulant): เช่นยา ดอมเพอริโดน (Domperidone), เมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide)

5. ยายับยั้งการขับโปรตอน (Proton pump inhibitors, PPIs): เช่นยา โอเมพราโซล (Omeprazole), แพนโทพราโซล (Pantoprazole), อีโซมีพราโซล (Esomeprazole), แลนโซพราโซล (Lansoprazole), ราบีพราโซล (Rabeprazole)

6. ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle relaxants): เช่นยา บาโคลเฟ่น (Baclofen), ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine)

7. ยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง(Central nervous system stimulant ย่อว่า CNS stimulant): เช่นยา เมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate)

ยาแก้สะอึกมีรูปแบบจำหน่ายอย่างไร?

ยาแก้สะอึกมีรูปแบบจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาเม็ดเคี้ยว (Chewable tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใส (Solution)
  • ยาน้ำเชื่อม (Syrup)
  • ยาน้ำแขวนตะกอน (Suspension)
  • ยาผงปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
  • ยาน้ำใสปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาฉีด(Injection solution)

มีข้อบ่งใช้ยาแก้สะอึกอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาแก้สะอึก ดังนี้

1. ใช้รักษาอาการสะอึกแบบเรื้อรัง (Persistent hiccups)

2. ใช้รักษาอาการสะอึกแบบรุนแรง (Intractable hiccups)

มีข้อห้ามใช้ยาแก้สะอึกอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาแก้สะอึก ดังนี้

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ

2.ห้ามใช้ยา Chlorpromazine และ Haloperidol ในผู้ป่วยที่มีภาวะโคม่า มีโรคที่ระบบประสาทส่วนกลางถูกกดการทำงาน (เช่น โรคทางสมอง) มีโรคตับ แล/หรือโรคไตที่ตับและ/หรือไตทำงานผิดปกติขั้นรุนแรง

3. ห้ามใช้ยา Carbamazepine ในผู้ป่วยที่มีประวัติไขกระดูกถูกกดการทำงาน(เช่น ได้รับยาเคมีบำบัด) พอร์ฟีเรีย (Porphyria, โรคทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก ที่เม็ดเลือดแดงมีการทำงานผิดปกติ) และห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านเศร้ากลุ่ม Tricyclic Antidepressants (TCAs)

4. ห้ามใช้ยา Valproic acid ในผู้ป่วย โรคตับ และ โรคพอร์ฟีเรีย (Porphyria)

5. ห้ามใช้ยา Domperidone และ Metoclopramide ในผู้ป่วยโรคลมชัก หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาที่อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms)คือโรคที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ เพราะอาจทำให้อาการทั้ง 2 อย่างรุนแรงขึ้นได้

6. ห้ามใช้ยา Methylphenidate ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจ/โรคหัวใจ วิตกกังวล ซึมเศร้าขั้นรุนแรง ติดยา หรือติดแอลกอฮอล์ และห้ามใช้ร่วมกับยาต้านเศร้ากลุ่ม Monoamine oxidase inhibitors, MAOIs)

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้สะอึกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแก้สะอึก ดังนี้

1. ระวังการใช้ยา Chlorpromazine, Haloperidol, Baclofen และ Cyclobenzaprine ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์, ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล, หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เนื่องจากยาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม และควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยาดังกล่าว

2. ยา Phenytoin, Valproic acid, และ Carbamazepine เป็นยาที่มีดัชนีในการรักษาแคบ (Narrow therapeutic index,คือขนาดยาที่ใช้รักษากับที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงใกล้เคียงกัน) ทำให้มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยาสูงและอันตราย ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้ยานี้อย่างเคร่งครัด ไม่ควรเพิ่ม ลดขนาดยา หรือหยุดยาเอง โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

3. ยา Phenytoin, Valproic acid และ Carbamazepine เป็นยาที่เกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆได้หลายชนิด ดังนั้นผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรว่า กำลังรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างยาที่ใช้ร่วมกัน

4. ระวังการใช้ยา Baclofen ในผู้ที่มีการทำงานของไตล้มเหลว เนื่องจากยานี้เป็นพิษต่อไต (Nephrotoxicity) รวมทั้งระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือมีประวัติบาดเจ็บที่ศีรษะ เพราะจะทำให้อาการโรคเหล่านั้นแย่ลง

5. นอกจากการใช้ยาเพื่อรักษาอาการสะอึกแล้ว หากผู้ป่วยมีโรคที่เป็นสาเหตุของอาการสะอึก เช่น กรดไหลย้อน ต้องพยายามรักษาควบคุมโรคนั้นๆ ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการสะอึกอีก

การใช้ยาแก้สะอึกในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้สะอึกในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรเป็นดังนี้ เช่น

1. หากผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร มีอาการสะอึก สามารถใช้ยา Domperidone และ Metoclopramide เพื่อรักษาอาการนี้ได้ แต่ควรใช้ในระยะสั้นๆ และอยู่ในความดูแลของแพทย์เคร่งครัด

2. ยา Chlorpromazine และ Baclofen เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาอาการสะอึก แต่หญิงตั้งครรภ์ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าประโยชน์ที่ได้รับ มีมากกว่าความเสี่ยง(ความพิการ)ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์

3. หญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยากันชักที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการสะอึก เช่นยา Phenytoin, Valproic acid, Carbamazepine เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย(ความพิการ)ต่อทารกในครรภ์

การใช้ยาแก้สะอึกในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้สะอึกในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้สูงอายุควรเริ่มใช้ยาแก้สะอึกในขนาดต่ำก่อน แล้วจึงค่อยๆปรับขนาดยาขึ้น และควรเฝ้าติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากยา เพราะเป็นวัยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆได้ง่าย เช่น กลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms) และความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง (Orthostatic hypotension) โดยเฉพาะจากการใช้ยา Chlorpromazine, Haloperidol และจะอาการง่วงซึมอย่างมาก จากการใช้ยา Chlorpromazine, Haloperidol, Baclofen และ Cyclobenzaprine

การใช้ยาแก้สะอึกในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาแก้สะอึกในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ยา Chlorpromazine และ Baclofen เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาอาการสะอึก ซึ่งสามารถใช้ได้ในเด็ก แต่ไม่ควรใช้ยา Chlorpromazine ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 6 เดือน รวมถึงเด็กที่กำลังป่วย เช่น ติดเชื้องูสวัด โรคอีสุกอีใส เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาดังกล่าว คือ กลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms)

2. ระวังการใช้ยา Methylphenidate ในเด็กที่เป็นโรคจิต เพราะอาจทำให้มีพฤติกรรมวุ่นวาย ทำให้อาการโรคจิตแย่ลง ดังนั้นผู้ปกครองควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กอยู่เสมอ และถ้าใช้ยานี้เป็นเวลานาน ควรตรวจติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการของผู้ป่วยเสมอเพื่อแจ้งแพทย์ทราบ

มีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแก้สะอึกอย่างไร?

มีอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยาแก้สะอึก เช่น

1. ยารักษาโรคจิต ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม กลุ่มอาการเอ็กซ์ทราพีรามิดัล (Extrapyramidal symptoms) ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ

2. ยากันชัก ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ง่วงซึม มึนงง

3. ยา Simethicone ทำให้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาการเรอ

4. ยาช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ทำให้เกิด อาการสั่น กล้ามเนื้อหดตัว/ตะคริว การเคลื่อนไหวของตาผิดปกติ เช่น ตาจ้องเขม็ง (Oculogyric crisis)

5. ยากลุ่ม PPIs ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องผูก หรือ ท้องเสีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ

6. ยาคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ สับสน หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง

7. ยา Methylphenidate ทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ ง่วงซึม เวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง ไอ กล้ามเนื้อกระตุก

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแก้สะอึก) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1.http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf [2016,Nov26]
  2. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เล่ม 1 ยาระบบทางเดินอาหาร. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/final_tnf_2008-phimphkhrangthii_2.pdf [2016,Nov26]
  3. Chang, F. and Lu, C. Hiccup: Mystery, Nature and Treatment. J Neurogastroenterol Motil 18 (April 2012) : 123-130
  4. Woelk. C.K. Managing hiccups. Canadian Family Physician 57 (June 2011) : 672-675
  5. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.