ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง (Hormone replacement therapy for menopause)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

วัยหมดประจำเดือน หรือ ภาวะหมดประจำเดือน ทั่วไป เป็นภาวะของสตรีที่ไม่มีรอบเดือน/ประจำเดือนติดต่อกันยาวนาน 12 เดือนในแต่ละปี มักเกิดกับสตรีที่มีอายุในช่วง 40–50 ปีขึ้นไป ระยะหมดประจำเดือนเราอาจสังเกตอาการที่ผิดปกติอื่นๆตามมา เช่น ช่องคลอดแห้ง รู้สึกร้อนวูบวาบตามร่างกาย หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน หรือหงุดหงิดบ่อย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย มีเส้นผมบางลง ผิวแห้ง อาการเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่บุคคล

สำหรับสาเหตุที่ทำให้มี ภาวะหมดประจำเดือน พอจะสรุปได้ดังนี้

1. ร่างกายของเพศหญิงมีการสร้างฮอร์โมนเพศน้อยลง รังไข่ของสตรีเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน(Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน(Progesterone) ฮอร์โมนดังกล่าวจะทำงานอย่างสอดคล้องกัน ในช่วงครึ่งแรกของการมีรอบเดือน/ประจำเดือน (วันที่ 1–14) รังไข่จะผลิตเอสโตรเจนออกมาเพื่อกระตุ้นการเจริญของเส้นเลือด/หลอดเลือดฝอยภายในผนังโพรงมดลูกส่วนเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งจะใช้เป็นที่รองรับและเลี้ยงดูไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิ ส่วนโปรเจสเตอโรนจะค่อยๆเพิ่มปริมาณสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของการมีรอบเดือน (วันที่ 15–28) โดยมีหน้าที่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่มีเส้นเลือดฝอยมาหล่อเลี้ยงอย่างมากมายให้คงสภาพไว้ เมื่อไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน นอกจากนี้ ยังมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน(Testosterone)ที่เป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีการผลิตจากรังไข่(ผลิตในปริมาณน้อยมาก)และที่ต่อมหมวกไต(Adrenal glands) เทสโทสเตอโรนในสตรีจะหลั่งสูงขึ้นมาเล็กน้อยในวันที่มีการตกไข่คือ ประมาณวันที่ 14–15 ของรอบเดือน จากนั้นเทสโทสเตอโรนจะค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆจนกระทั่งมีรอบเดือน เทสโทสเตอโรนจะช่วยทำให้คงสภาพมวลกล้ามเนื้อ และคงความแข็งแรงของกระดูกในร่างกาย สตรีวัย 30 ปีขึ้นไป รังไข่จะเริ่มผลิตฮอร์โมนเพศทั้ง 3 ชนิดน้อยลงไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงวัยหมดประจำเดือนก็จะเป็นจังหวะเดียวกันที่ร่างกายสตรีหยุดผลิตไข่ ส่งผลให้หยุดการสร้างผนังหลอดเลือดฝอยในโพรงมดลูก และไม่มีรอบเดือนไปจนตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

2. การตัดมดลูก(Hysterectomy) เป็นเหตุที่ทำให้สตรีไม่สามารถมีประจำเดือนได้ตามปกติ แต่รังไข่ของสตรีท่านนั้นก็ยังสามารถผลิตไข่และสร้างฮอร์โมนเพศได้ นอกจากเรื่องที่ไม่มีรอบเดือนแล้ว ปกติจะไม่ส่งผลกระทบให้มีอาการเหมือนกับสตรีวัยหมดประจำเดือน เช่น เกิดอาการร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้งหรือมีอารมณ์แปรปรวนแต่อย่างใด

แต่ถ้าสตรีท่านนั้นถูกตัดมดลูกพร้อมกับรังไข่ทั้ง 2 ข้าง(Hysterectomy and bilateral salpingo-oophorectomy) หรือตัดเฉพาะรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง(Bilateral oophorectomy) จะส่งผลให้มีอาการเหมือนสตรีวัยหมดประจำเดือน

3. การใช้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน ในการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ระยะที่มีการใช้ยาเคมีบำบัดหรือฉายรังสีฯสามารถทำให้รังไข่และมดลูกถูกปิดกั้นการทำหน้าที่ของตัวเอง เกิดอาการประจำเดือนหายไป และอาจมีอาการรู้สึกร้อนวูบวาบเกิดขึ้น อาการประจำเดือนขาดนี้มักจะเกิดแค่ชั่วคราวเท่านั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดเมื่อเสร็จสิ้นการรักษามะเร็งก็สามารถมีประจำเดือนกลับมาใหม่ตามปกติ หรือในผู้ป่วยหลายราย จะเกิดประจำเดือนขาด/หมดประจำเดือนถาวร

4. รังไข่หยุดทำงานก่อนกำหนด/รังไข่เสื่อมก่อนกำหนด(Primary ovarian insufficiency) มีสถิติทางคลินิกพบว่า ประชากรสตรีทั่วไปประมาณ 1% จะมีภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี ด้วยรังไข่หมดสภาพที่จะผลิตฮอร์โมนเพศและไม่สามารถผลิตไข่ได้อีกต่อไป นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่ทราบสาเหตุกรณีนี้อย่างชัดเจน แต่มีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากพันธุกรรมของสตรีท่านนั้น หรืออาจมาจากโรคทางระบบทางภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค กรณีนี้ การใช้ยาฮอร์โมนเพศทดแทนเพื่อบำบัดอาการพร่องฮอร์โมนเพศจะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญ และอาจต้องใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องไปจนกระทั่งมีอายุถึงวัยหมดประจำเดือน เช่น หมดประจำเดือนเมื่ออายุ 40 ปี ต้องใช้ยาฮอร์โมนทดแทนไปจนกระทั่งอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นวัยปกติของการหมดประจำเดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมสภาพของ สมอง หัวใจ และกระดูก ก่อนวัยอันควรนั่นเอง

ภาวะแทรกซ้อนหลังหมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง

ภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)ที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากหมดประจำเดือน มีดังนี้

ก. มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด การป้องกันทำได้โดยการออกกำลังกายตามสมควรแก่สุขภาพ ควบคุมการบริโภคอาหารตามหลักโภชนาการที่เหมาะกับวัยของตนเอง ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มาก/น้ำหนักตัวเกินหรือน้อยจนเกินไป และตรวจร่างกายประจำปีเพื่อดู สภาพการทำงานของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับไขมันในเลือด เป็นต้น

ข. เกิดภาวะกระดูกพรุน เป็นภาวะที่มวลกระดูกมีความอ่อนแอ บางลง จึงเสี่ยงต่อการแตกหัก/กระดูกหักง่าย ในช่วงปีแรกของการหมดประจำเดือน อัตราการลดลงของมวลกระดูกจะสูงที่สุด สำหรับกระดูกที่มีความเสี่ยงต่อการแตกหัก ได้แก่ กระดูกไขสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกตามข้อต่อต่างๆ การป้องกันอาจเริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนของเกลือแร่และวิตามินที่ช่วยบำรุงกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างเหมาะสม ออกกำลังกายประเภทที่ไม่มีความเสี่ยงของ การล้ม การ กระแทก เช่น ว่ายน้ำ รำมวยจีน

ค. มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้/กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี ด้วยสภาพของเนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดและท่อปัสสาวะสูญเสียความยืดหยุ่น และการบังคับกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะทำได้ลำบาก ส่งผลให้สตรีวัยหมดประจำเดือนมีอาการปัสสาวะบ่อย หรือมี ปัสสาวะหลุดรอดออกมาเมื่อมีอาการไอ ตลอดจนกระทั่งมีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยมากขึ้น การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณเชิงกราน การฝึกกระชับช่องคลอดหรือการขมิบช่องทวารเบา(การขมิบช่องคลอด)และใช้ยาทาช่องคลอดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิงจะช่วยเพิ่มความกระชับและการบังคับปัสสาวะได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

ง. เกิดอุปสรรคต่อการมีเพศสัมพันธ์ ด้วยสตรีวัยนี้จะมีช่องคลอดที่แห้ง สูญเสียการยืดหยุ่น จึงเป็นเหตุให้เกิดเลือดออกผิดปกติขณะมีเพศสัมพันธ์ และส่งผลทำให้ความรู้สึกทางเพศถดถอย การใช้สารหล่อลื่นประเภทครีมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณช่องคลอดจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้พอสมควร

จ. น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจะมาพร้อมกับวัยหมดประจำเดือน ด้วยระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกายที่ต่ำลง ก่อให้เกิดการสะสมของไขมันในร่างกายได้มากขึ้น การรับประทานอาหารที่มีการควบคุมพลังงาน การออกกำลังกาย จะเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าการใช้ยาลดน้ำหนัก

สำหรับอาการแทรกซ้อนที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อ่านสามารถรับคำแนะนำได้จากแพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะทางได้ตามสถานพยาบาลทั่วประเทศ และไม่แนะนำการซื้อยาประเภทฮอร์โมนเพศมาใช้เอง

การบำบัดรักษาภาวะหมดประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

การดูแลบำบัดรักษาอาการหลังจากหมดประจำเดือน จะไม่ได้มุ่งเน้นการใช้ยาในการบำบัดเท่าใดนัก ปกติทางการแพทย์จะดูแลปฏิบัติกับสตรีที่หมดประจำเดือนตามอาการที่เกิดขึ้นซึ่งมีอยู่หลายประการดังนี้

  • ใช้ฮอร์โมนเพศ (ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง หรือ ยาฮอร์โมนทดแทนสำหรับวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง หรือ เสริมฮอร์โมนเพศหญิง/Hormone replacement therapy for menopause หรือ Menopause hormone therapy หรือ Menopausal hormone therapy หรือ บ่อยครั้งเรียกว่า Hormone replacement therapy ย่อว่า HRT หรือ Estrogen replacement therapy)มาบำบัดอาการ โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนจะช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ ตลอดจนกระทั่งใช้เอสโตรเจนแบบทาบริเวณช่องคลอดเพื่อบำบัดภาวะช่องคลอดแห้ง การใช้เอสโตรเจนนั้น แพทย์อาจเริ่มต้นที่ระดับขนาดยาต่ำก่อน และใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ในกรณีที่สตรีหมดประจำเดือนท่านใดยังมีมดลูกอยู่ แพทย์จะให้ฮอร์โมนโปรเจนติน(Progestin)ร่วมกับเอสโตรเจนในการบำบัด

    ทั้งนี้ การใช้ยาฮอร์โมนเพศเป็นเวลานานๆเพื่อมาบำบัดอาการหลังหมดประจำเดือนเป็นสิ่งที่ต้อง หลีกเลี่ยง ด้วยสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็งเต้านมตามมา ไม่แนะนำและห้ามให้สตรีหลังหมดประจำเดือนไปหาซื้อยาฮอร์โมนเพศทดแทนมาใช้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

  • การใช้ยาต้านเศร้าที่มีขนาดความแรงน้อยๆ เช่น ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) อาจช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ และมักจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ไม่สามารถใช้ยาประเภทฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • การใช้ ยาGabapentin ซึ่งเป็นยารักษาอาการชัก ก็สามารถลดอาการร้อนวูบวาบในสตรีหลังหมดประจำเดือนได้เช่นกัน เหมาะกับสตรีวัยหมดประจำเดือนที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนและมีอาการร้อนวูบวาบในช่วงกลางคืน
  • ยาลดความดันโลหิตสูงอย่าง Clonidine ได้ถูกบันทึกข้อมูลทางคลินิกว่า อาจช่วยลดภาวะร้อนวูบวาบของสตรีวัยหมดประจำเดือนได้เช่นเดียวกัน
  • ยาป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน เป็นยาอีกหนึ่งกลุ่มที่ช่วยลดภาวะการสูญเสียมวลกระดูก และลดความเสี่ยงการแตกหักของกระดูก/กระดูกหักตามร่างกาย อย่างเช่น วิตามินดี ซึ่งจัดว่าเป็นยาอันตราย การใช้ยาในกลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เช่นเดียวกับยากลุ่มอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น
  • การแพทย์ทางเลือก เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้การแพทย์ แผนปัจจุบัน อาทิ การรับประทานฮอร์โมนเอสโตรเจนจากพืช(Phytoestrogens) หรือการทำโยคะ ฝึกสมาธิ การฝังเข็ม ตลอดจนกระทั่งการสะกดจิต ซึ่งผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณเชิงวิทยาศาสตร์มาร่วมพิจารณาว่า ทางเลือกใดที่เหมาะกับตนเอง มากที่สุด

หมายเหตุ ในบทความนี้จะมุ่งประเด็นสำคัญที่ “ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง”

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีกี่หมวดหมู่อะไรบ้าง?

เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ อาจแบ่งยาฮอร์โมนทดแทนในหญิงวัยหมดประจำเดือนดังนี้ โดย อ้างอิงจาก The North American Menopause Society

  • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบรับประทาน(Oral estrogen products)ที่ โครงสร้างโมเลกุลของเอสโตรเจนในยาหมวดนี้จะมีความแตกต่างกันตามส่วนประกอบ เช่น 17 beta-estradiol, Estropipate, Conjugated estrogens และ Synthetic conjugated estrogens B (มีตัวยาอนุพันธ์ของเอสโตรเจน 10 ตัวผสมรวมกัน แต่ถ้าผสมรวมกัน 9 ตัวเรียก Synthetic conjugated estrogens A), ซึ่งยาฮอร์โมนเอสโตรเจนเหล่านี้ยามีชื่อการค้าที่จัดจำหน่ายในท้องตลาดยา เช่น Estrace , Premarin, Enjuvia , Menest และ Estragyn
  • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดดูดซึมทางผิวหนัง(Transdermal estrogen products)ซึ่งมีทั้งเป็น ประเภทพลาสเตอร์ แผ่นฟิล์มปิดทับผิวหนัง รูปแบบเจล และสเปรย์ฉีดพ่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนของสูตรตำรับนี้ ได้แก่ 17 beta-estradiol และมียาชื่อการค้าต่างๆ เช่น Alora, Climara, Estraderm, Estradot, Minivelle Oesclim , Vivelle-Dot, Divigel, EstroGel, Elestrin, และ Evamist
  • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ใช้บริเวณช่องคลอด(Vaginal estrogen products) มีชนิดเป็น ครีมทาช่องคลอด ยาเม็ดสอด/เหน็บช่องคลอด และวงแหวนสำหรับสอดในช่องคลอด ซึ่งใช้เอสโตรเจนชนิดต่างๆดังนี้ 17 beta-estradiol, Conjugated estrogens, Estrone, Estradiol acetate, และ Estradiol hemihydrate ใช้ชื่อการค้าในท้องตลาด เช่น Estrace vaginal cream, Premarin vaginal cream, Estragyn vaginal cream, Estring, Femring และ Vagifem
  • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนผสมร่วมกับโปรเจสเตอโรน(Combination estrogen-progestogen products) ซึ่งมีทั้งแบบ ยารับประทาน และยาดูดซึมผ่านทางผิวหนัง โดยมีชนิดของฮอร์โมนที่เป็นองค์ประกอบดังนี้ เช่น Conjugated estrogens + Medroxyprogesterone acetate, Ethinyl estradiol + Norethindrone acetate, 17β-estradiol + Norethindrone acetate, 17β-estradiol + Drospirenone, 17β-estradiol + Norgestimate, 17β-estradiol + Norethindrone acetate, 17β-estradiol + Levonorgestrel ตัวอย่างยาชื่อการค้าของยาฮอร์โมนในหมวดนี้ ได้แก่ Premphase, Prempro, Activella, Angeliq, Prefest, Combi Patch, Estalis, และ Climara Pro
  • ยาฮอร์โมนที่มีแต่ โปรเจสโตเจน(Progestogen) ตัวยาหลักได้แก่ Medroxyprogesterone acetate, Micronized Progesterone มียาชื่อการค้า คือ Provera และ Prometrium

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ดังนี้ เช่น

  • บำบัดอาการรู้สึกร้อนวูบวาบ มีภาวะเหงื่อออกเวลากลางคืน (Vasomotor symptoms)
  • ป้องกันและชะลอภาวะกระดูกพรุน
  • บรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง และ
  • ช่วยทำให้มีความรู้สึกทางเพศดีขึ้น

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือ อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง สามารถรับประทาน/ใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานยา/ใช้ยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยา/ใช้ยาที่ขนาดปกติ

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เหงื่อออกมาก เอสโตรเจนบางชนิดอาจทำให้ใบหน้ามีสีคล้ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการชาตามร่างกาย ปวดศีรษะ เกิดไมเกรน พูดไม่ชัด ความจำแย่ลง
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น อาจมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด คันช่องคลอด
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก มือ-เท้าบวม ขาบวม
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น คลำที่หน้าอก/เต้านม อาจพบลักษณะเป็นก้อน/ก้อนในเต้านม เจ็บหน้าอก/เจ็บเต้านม
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เกิดดีซ่าน

มีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างไร?

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังดังนี้ เช่น

  • สตรีวัยหมดประจำเดือนและยังมีมดลูกอยู่ ไม่ควรใช้ยาฮอร์โมนฯชนิดที่มีเอสโตรเจนเพียงตัวเดียว ด้วยจะเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ง่ายยิ่งขึ้น
  • ห้ามใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนเดี่ยวๆ หรือสูตรที่มีการผสมฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) กับผู้ป่วย โรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตในสมอง/หลอดเลือดสมองอุดตัน โรคความจำเสื่อม ด้วยฮอร์โมนเพศหญิงกลุ่มนี้ สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการ หัวใจวาย หลอดเลือดสมองอุดตัน เกิดมะเร็งเต้านม รวมถึงเกิดการก่อตัวของลิ่มเลือดตามผนังหลอดเลือด
  • ขณะที่ใช้ยากลุ่มยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง แล้วมีอาการหลงลืม ความจำเสื่อม ควรหยุดใช้ยานั้นๆ แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • การใช้ยากลุ่มเอสโตรเจน ต้องเริ่มที่ขนาดความแรงที่ต่ำที่สุดก่อน มีระยะเวลาการใช้ยาไม่นาน และต้องใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • หยุดใช้ยานี้ที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนเมื่อพบอาการดังต่อไปนี้ ได้แก่ มองเห็นภาพไม่ชัดเจน มีภาวะตับอ่อนอักเสบ เกิดปัญหาการทำงานของตับ/ตับอักเสบ ผู้ป่วยควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วเมื่อพบอาการดังกล่าว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกายตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยา ทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ ยาConjugated estrogen ร่วมกับ ยาCarfilzomib(ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง) เพราะจะก่อให้เกิดลิ่มเลือดรวมตัวกันได้ง่ายในหลอดเลือด ซึ่งความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวจะเกิดมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่ติดบุหรี่หรือป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง
  • ห้ามใช้ ยา Estropipate ร่วมกับ ยาRitonavir เพราะจะทำให้ระดับยาEstropipate ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนทำให้ด้อยประสิทธิภาพการรักษาตามมา
  • ห้ามใช้ ยาEstradiol ร่วมกับ ยาDantrolene ด้วยจะก่อให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของตับ/ตับอักเสบอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษายาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิงอย่างไร?

ควรเก็บยาฮอร์โมนทดแทนวัยขาดฮอร์โมนเพศหญิง ตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

บรรณานุกรม

  1. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menopause/symptoms-causes/syc-20353397 [2017,Dec23]
  2. https://womeninbalance.org/about-hormone-imbalance/ [2017,Dec23]
  3. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menopause/diagnosis-treatment/drc-20353401 [2017,Dec23]
  4. https://www.menopause.org/publications/clinical-practice-materials/government-approved-drugs-for-menopause [2017,Dec23]
  5. http://www.menopause.org/docs/default-source/professional/nams-ht-tables.pdf [2017,Dec23]
  6. https://www.rxlist.com/enjuvia-drug/patient-images-side-effects.html [2017,Dec23]
  7. https://www.premarin.com/about-premarin [2017,Dec23]
  8. http://www.obgyn.net/menopause/managing-menopause-part-1-vasomotor-symptoms [2017,Dec23]
  9. https://www.drugs.com/drug-interactions/carfilzomib-with-premarin-3404-0-2360-381.html [2017,Dec23]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/dasabuvir-ombitasvir-paritaprevir-ritonavir-with-estropipate-3581-0-1028-0.html [2017,Dec23]
  11. https://www.drugs.com/drug-interactions/dantrolene-with-estradiol-779-0-1019-0.html [2017,Dec23]