ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Nondepolarizing neuromuscular blocker)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาหย่อนกล้ามเนื้อ หรือยาคลายกล้ามเนื้อประเภท Nondepolarizing neuromuscular blocker เป็นยาประเภทยับยั้งกระแสประสาท โดยตัวยาจะเข้าแข่งขันกับสารสื่อประสาทชื่อ Acetylcholine (สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) ของร่างกายที่บริเวณตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Acetylcholine receptors โดยไม่ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนศักย์ไฟ ฟ้าในบริเวณเซลล์ประสาทที่ตัวยาเข้าไปออกฤทธิ์ ยาหย่อนกล้ามเนื้อประเภทนี้มักถูกนำไปใช้ในการผ่าตัดและการใส่ท่อช่วยหายใจ อาจแบ่งและจำแนกยาในหมวดนี้ออกเป็นรายการดังนี้

  • Rapacuronium: หลังจากนำมาใช้ทางคลินิกเพียงปีเศษ ทางประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เพิกถอนยานี้ออกจากระบบสาธารณสุขของประเทศด้วยยาก่อให้เกิดภาวะหลอดลมเกร็งตัว
  • Mivacurium: เป็นยาที่ใช้เวลาในการออกฤทธิ์เร็วเพียงประมาณ 90 วินาที ช่วงเวลาการออกฤทธิ์นานอยู่ที่ 12 - 18 นาที ผลข้างเคียงที่โดดเด่นคือทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ
  • Atracurium: มีการใช้กว้างขวางในวงการแพทย์ โดยองค์การอนามัยโลกรับรองให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน ออกฤทธิ์เร็วภายในประมาณ 90 วินาที ระยะเวลาการออกฤทธิ์นานประมาณ 30 นาที ผลข้างเคียงที่พบได้คือ มีภาวะความดันโลหิตต่ำ และนับเป็นยาตัวหนึ่งที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ
  • Doxacurium: เคยมีการใช้ยานี้ในหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง ด้วยมีการออกฤทธิ์นานและไม่สะดวกต่อการทำหัตถการทางการแพทย์
  • Cisatracurium: มีเวลาการออกฤทธิ์เร็วภายในประมาณ 90 วินาที ระยะเวลาของการออกฤทธิ์นานอยู่ที่ประมาณ 60 - 80 นาที ผลข้างเคียงที่โดดเด่นเช่น มีอาการหัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ รวมถึงอาจเกิดอาการเกร็งตัวของหลอดลมร่วมด้วย เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
  • Vecuronium: มีการใช้อย่างกว้างขวางทางคลีนิก การออกฤทธิ์ใช้เวลาเพียงประมาณ 60 วินาที มีผลข้างเคียงน้อย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีผลข้างเคียงคือมีอาการเป็นอัมพาตได้นาน และอาจมีภาวะกล้ามเนื้อลีบตามมา
  • Rocuronium: ออกฤทธิ์โดยใช้เวลาเพียงประมาณ 1 - 2 นาที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์นานประมาณ 30 นาที และเป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
  • Pancuronium: มีการใช้อย่างกว้างขวาง ยาออกฤทธิ์ภายใน 90 - 120 วินาที ระยะเวลาในการออกฤทธิ์นานมากกว่า 3 ชั่วโมง ผลข้างเคียงที่โดดเด่นคือ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เป็นยาอีกหนึ่งรายการที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
  • Tubocurarine: ไม่ค่อยพบเห็นการใช้ในทางคลินิกมากนัก ผลข้างเคียงที่พบได้แก่ มีความดันโลหิตต่ำ และทำให้หลอดลมเกร็งตัว
  • Gallamine: ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่พบเห็นการจำหน่ายแล้ว
  • Pipecuronium: อาการข้างเคียงเด่นได้แก่ การเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ แต่ไม่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ

รูปแบบยาแผนปัจจุบันในแทบทุกรายการยาที่ได้กล่าวมาจะเป็นยาฉีดซึ่งมีขนาดการใช้ที่แตกต่างกันออกไป วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้กำหนดระบุขนาดการใช้ได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด อนึ่ง สามารถใช้ยากลุ่ม Acetylcholinesterase inhibitors, Neostigmine, Edrophonium กระตุ้นให้ร่างกายผู้ป่วยมีสภาพกลับคืนมาอย่างเป็นปกติหลังจากได้รับยาหย่อนกล้ามเนื้อ และปัจจุบันมีการพัฒนาและค้นพบว่า ยา Sugammadex สามารถช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสภาพร่างกายได้รวดเร็วขึ้นหลังจากได้รับยา Rocuronium ทางคลินิกได้ระบุให้ Sugammadex เป็นยาทางเลือกแรกๆที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นสภาพจากยาหย่อนกล้ามเนื้อหลังเข้ารับการผ่าตัด

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อ

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีสรรพคุณดังนี้

  • ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวระหว่างการผ่าตัด
  • ช่วยให้การสอดท่อช่วยหายใจเข้าท่อลมทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อจะออกฤทธิ์ยับยั้งคำสั่งจากกระแสประสาทที่ส่งไปยังกล้ามเนื้อ โดยตัวยาจะแย่งการจับตัวของสารสื่อประสาท ชื่อ Acetylcholine (สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) กับตัวรับ (Receptor) ที่มีอยู่ตามอวัยวะของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้เป็นเหตุให้เกิดการคลายตัว และทำให้เกิดฤทธิ์ตามสรรพคุณ

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อทุกตัวยามีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นรูปแบบยาฉีด

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มยาหย่อนกล้ามเนื้อนี้มีหลายรายการ ขนาดการใช้จึงขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ผู้รักษาว่าจะใช้ยารายการใดที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาหย่อนกล้ามเนื้อกลุ่มนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาหย่อนกล้ามเนื้อ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้ดังนี้เช่น เกิดอาการผื่นคัน หรือบวมเป็นจ้ำๆ/เป็นจุดๆ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็เต้นช้า ความดันโล หิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หน้าแดง เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหลอดเลือดที่มาหล่อเลี้ยงบริเวณหัวใจ ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ/ECG ผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดลมเกร็งตัว อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

อนึ่ง ยาในกลุ่มนี้บางรายการอาจกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร Histamine และเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำตามมา และ

การได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาดอาจทำให้เกิดภาวะหยุดการหายใจ ด้วยกะบังลมและกล้าม เนื้อช่วงซี่โครงเกิดอัมพาต

มีข้อควรระวังการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้ออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคปอดต่างๆ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยด้วยโรคท่อน้ำดี ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีบาดแผลบริเวณกะโหลกศีรษะ ผู้ที่มีภาวะสมองบวม
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับเด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาหย่อนกล้ามเนื้อด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับยาบางตัวจะทำให้ฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น การจะใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป ยากลุ่มดังกล่าวคือ Lithium, Procainamide, Quinidine, Polymyxin B, Spironolactone, และ Vanco mycin
  • การใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อร่วมกับ Carbamazepine หรือ Phenytoin จะทำให้ฤทธิ์ของยาหย่อนกล้ามเนื้อลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษายาหย่อนกล้ามเนื้ออย่างไร

ควรเก็บยากลุ่มนี้ที่อุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือเก็บตามคำแนะ นำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง แดด ความร้อน และความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ยาหย่อนกล้ามเนื้อมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาหย่อนกล้ามเนื้อที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Esmeron (เอสมีรอน)NV Organon
ZEMURON (ซีมูรอน) Organon (Ireland) Ltd.
Pancuronium Lisapharma (แพนคูโรเนียม ลิซาฟาร์มา) Lisapharma
Notrixum (โนทริซัม)Novell Pharma
Tracrium (ทราเครียม)GlaxoSmithKline
Nimbex (นิมเบกซ์)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Neuromuscular-blocking_drug#Depolarizing_blocking_agents[2017,Oct7]
  2. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/194#item-9075[2017,Oct7]
  3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Pancuronium%20Lisapharma/?type=brief[2017,Oct7]
  4. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Nimbex/?type=brief[2017,Oct7]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Notrixum/?type=brief[2017,Oct7]
  6. https://clinicaltrials.gov/ct2/show/NCT01672606[2017,Oct7]
Updated 2017,Oct7