ยารักษาฝ้า (Melasma medications)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยารักษาฝ้า

ยารักษาฝ้าหมายความว่าอย่างไร?

ยารักษาฝ้า หรือ ยาแก้ฝ้า หรือ ยาฝ้า (Melasma medications) เป็นยาที่ใช้ยับยั้งการสร้างเม็ดสีและรอยฝ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นราบน้ำตาลที่ใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด เช่น แก้ม จมูก หน้าผาก คาง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาฝ้าให้หายขาด ดังนั้นนอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ผู้ป่วยควรป้องกันและหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดฝ้า ได้แก่

  • แสงแดด โดยการทาครีมกันแดดเป็นประจำ เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแดดจัด สวมหมวกหรือกางร่มเมื่อออกแดด
  • ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก Phenytoin ที่ทำให้ผิวหนังไวต่อแสง, ยาฮอร์โมนทดแทน และยาคุมกำเนิด โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปพบแพทย์เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา หรือเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ถุงยางอนามัยชาย
  • สารแต่งกลิ่นบางชนิดที่ถูกผสมอยู่ในเครื่องสำอางหรือน้ำหอม เช่น สารฟูราโนคูมารินส์ (Furanocoumarins)

ยารักษาฝ้าแบ่งเป็นประเภทใดบ้าง?

ยารักษาฝ้า แบ่งตามประเภทของยาได้ดังนี้

1. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone ย่อว่า HQ)

2. ยาทากลุ่มที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Topical retinoids) เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin)

3. ยาทากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น เดกซาเมธาโซน (Dexamethasone), ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone), โมเมนทาโซน (Mometasone), ฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone), ฟลูติคาโซน (Fluticasone), เบทาเมธาโซน (Betamethasone), คลอเบทาซอล (Clobetasol)

4. กรดอะเซเลอิค (Azelaic acid)

5. ยาสูตรผสม (Triple combination) ประกอบด้วยยา 3 ชนิดรวมกัน ได้แก่ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone), เตรทติโนอิน (Tretinoin) และฟลูโอซิโนโลน (Fluocinolone) ยาสูตรนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลาในการรักษา และลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา

6. ยารักษาเสริม (Adjunctive therapies) เช่น กรดทรานเนซามิก (Tranexamic acid), กรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี (Ascorbic acid), กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid), กรดโคจิก (Kojic acid), ไนอาซินาไมด์หรือวิตามินบี 3 (Niacinamide), สารสกัดจากชะเอมเทศ (Licorice extract)

ยารักษาฝ้ามีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยารักษาฝ้ามีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาครีม (Cream)
  • ยาเจล (Gel)
  • ยาขี้ผึ้ง (Ointment)
  • ยาโลชั่น (Lotion)
  • ยาอิมัลชั่น (Emulsion)
  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาน้ำใสชนิดปราศจากเชื้อ (Sterile Solution)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยารักษาฝ้าอย่างไร?

ข้อบ่งใช้ยารักษาฝ้า เช่น

1. ยา Hydroquinone, ยากลุ่ม Corticosteroids, Azelaic acid ออกฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสี จึงช่วยให้รอยฝ้าจางลง

2. ยา Tretinoin ช่วยเร่งการหลุดลอกของเซลล์ผิวหนังชั้นบน จึงช่วยให้รอยฝ้าดูจางลงได้

3. Tranexamic acid เป็นยาที่มีข้อบ่งใช้คือห้ามเลือดในผู้ที่เลือดหยุดไหลยาก หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ เช่น เลือดออกมากระหว่างการผ่าตัด เลือดออกรุนแรงหลังประสบอุบัติเหตุ นอกจากนี้ Tranexamic acid ยังมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการสร้างเซลล์เม็ดสี จึงอาจนำมาใช้ในการรักษาฝ้าได้ด้วย

4. ยารักษาเสริมชนิดอื่นๆ เช่น Ascorbic acid มักจะถูกนำมาผสมในครีมหรือเครื่องสำอางสูตรที่ทำให้ผิวขาวกระจ่างใส มีขายทั่วไปตามท้องตลาด จึงสามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาฝ้าสำหรับผู้ป่วยที่เป็นฝ้าชนิดตื้น และไม่สามารถทนอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทาฝ้าชนิดอื่นๆ ได้

มีข้อห้ามใช้ยารักษาฝ้าอย่างไร?

ข้อห้ามใช้ยารักษาฝ้า เช่น

1. ห้ามใช้ยาแต่ละชนิดในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง (Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ Tranexamic acid ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง มีความเสี่ยงหรือมีประวัติเป็นโรคที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เช่น ลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาฝ้าอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยารักษาฝ้า เช่น

1. หากผู้ป่วยต้องการรักษาฝ้า ไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะยาที่ใช้รักษาฝ้ามีหลายชนิด มีความแรงและระยะเวลาที่ใช้แตกต่างกัน ซึ่งหากใช้ผิดวิธีอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ดังนั้นควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของตนเอง และต้องเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆเหล่านั้น ซึ่งจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ควรหลีกเลี่ยงการซื้อครีมหรือเครื่องสำอางที่มีโฆษณาอวดอ้าง มีสรรพคุณเกินจริง เพราะครีมเหล่านี้อาจผสม สารปรอท ยา Hydroquinone หรือยากลุ่ม Corticosteroid ที่มีความแรงมากเกินไป เพื่อทำให้เห็นผลเร็ว แต่หลังจากนั้นอาจทำให้เกิดพิษ เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ทำให้ผิวเป็นรอยด่าง หรืออาการของฝ้าแย่ลงกว่าเดิม

3. ยา Tretinoin บางสูตรตำรับ เป็นยาที่สลายตัวได้เมื่อถูกแสงแดด ดังนั้นควรทายานี้ก่อนนอน

4. ในขณะที่ใช้ยา Tretinoin การถูกแสงแดดหรือแสงไฟจากหลอดยูวี อาจทำให้ผิวหนังไวต่อแสง และทำให้เกิดการระคายเคืองมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ที่มีอาการผิวไหม้จากแสงแดด (Sunburn) ควรหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด หรือถูกแสงแดดให้น้อยที่สุด หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรทาครีมกันแดด หรือกางร่มเพื่อบังแสงแดดบริเวณที่ทายา

5. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Corticosteroids บริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อและยังไม่ได้รับการรักษา โรคโรซาเซีย (Rosacea) สิว และอาการคันที่ไม่มีการอักเสบ เพราะอาจทำให้อาการโรคแย่ลง

6. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Corticosteroids ติดต่อกันเป็นเวลานาน ระวังการใช้ยานี้ในบริเวณกว้าง บริเวณผิวที่แตก หรือทายาแล้วปิดคลุมบาดแผล เพราะอาจเพิ่มการดูดซึมของยาผ่านทางผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยานี้ทั่วร่างกายได้

7. Tranexamic acid เป็นยาที่ยังไม่มีข้อบ่งใช้ที่แน่นอนในการรักษาฝ้า และยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นไม่ควรซื้อยานี้มาใช้เองเพื่อหวังผลในการรักษาฝ้า เพราะอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

การใช้ยารักษาฝ้าในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาฝ้าในหญิงมีครรภ์/ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

1. ในขณะที่ตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนต่างๆในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้สีผิวเข้มขึ้น และอาจทำให้มีกระหรือฝ้าขึ้นบริเวณใบหน้าได้ แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทาใช้ยารักษาฝ้าใดๆ เพราะหลังจากคลอดแล้ว สีของฝ้าจะจางลงเอง อย่างไรก็ตามหญิงมีครรภ์สามารถทาครีมกันแดดได้เป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการของฝ้ารุนแรงหรือแย่ลงกว่าเดิม

2. หลีกเลี่ยงการใช้ยา Tretinoin ในหญิงมีครรภ์ เพราะถ้ายาถูกดูดซึมเช้าสู่ร่างกายมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์

3. ยากลุ่ม Corticosteroids เป็นยาที่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์ก็ต่อเมื่อประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ ควรเลือกใช้ยาที่มีความแรงต่ำหรือแรงปานกลาง และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน

การใช้ยารักษาฝ้าในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาฝ้าในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ คือ ผู้สูงอายุสามารถใช้ยารักษาฝ้าได้เช่นเดียวกันกับวัยอื่นๆ แต่อาจพบอาการไม่พึงประสงค์จากยา เช่น ระคายเคืองผิวหนัง ผิวแห้ง แดง คัน จากการใช้ยาทาได้มากกว่า เนื่องจากวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผิวหนัง ส่งผลให้มีผิวที่แห้งและบางลงกว่าวัยผู้ใหญ่ ดังนั้นการใช้ยาแก้ฝ้า ควรเริ่มจากความแรงต่ำและใช้ความถี่น้อยที่สุดที่จะให้ผลการรักษาได้

การใช้ยารักษาฝ้าในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยารักษาฝ้าในเด็กควรเป็นดังนี้ คือ ฝ้าพบได้ค่อนข้างน้อยในเด็ก ยาที่ผู้ป่วยเด็กสามารถใช้ได้ คือ ยาทาฝ้าชนิดเดียวกับผู้ใหญ่ เช่น Hydrocortisone, Tretinoin แต่ควรเลือกใช้ยาที่มีความแรงต่ำและใช้ความถี่น้อยที่สุดที่ให้ผลการรักษาก่อน เพราะเด็กมีอัตราส่วนพื้นที่ผิวของร่างกายต่อน้ำหนักตัวที่สูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และมีผิวหนังที่บาง ส่งผลให้ยาต่างๆถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย จึงอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต่างๆได้ง่ายที่รวมถึงยารักษาฝ้า

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยารักษาฝ้าเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยารักษาฝ้า เช่น

1. Hydroquinone: ทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง แสบร้อน บวม แดง เกิดจุดด่างขาวที่หน้า ผิวหน้าดำ เป็นฝ้าถาวรรักษาไม่หาย (Ochronosis)

2. ยา Tretinoin: ทำให้ระคายเคือง เจ็บบริเวณผิวหนัง ผิวหนังแดง คัน ผื่นผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ แห้ง ลอก แสบร้อน ผิวมีสีเข้มขึ้นหรือซีดลง

3. ยากลุ่ม Corticosteroids: อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์เฉพาะที่ ได้แก่ คัน ติดเชื้อแบคทีเรีย รูขุมขนอักเสบ ฝี สิว ผิวหนังเหี่ยว ผิวหนังไหม้พอง ระคายเคือง ผิวแห้ง ขนขึ้นดก ผิวหนังซีด ผิวหนังรอบปากอักเสบ ผิวหนังอักเสบจากอาการแพ้ ผิวหนังเปื่อย มีการติดเชื้อแทรกซ้อนของร่างกาย ผิวแตกลาย

4. Azelaic acid: พบอาการไม่พึงประสงค์ฯได้น้อย และได้ส่วนใหญ่พบเมื่อเริ่มใช้ยา ได้แก่ คัน ระคายเคือง แสบร้อนบริเวณผิวหนัง

5. ยาสูตร Triple combination: อาจทำให้เกิดอาการ แดง คัน ระคายเคือง ผิวแห้ง ลอก ผิวมีสีเข้มขึ้นหรือซีดลง สิว โรซาเซีย (Rosacea)

6. Tranexamic acid: อาจทำให้เกิด อาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นไม่ชัด มองเห็นสีผิดปกติ ชัก เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดในบริเวณต่างๆของร่างกาย ซึ่งหากอุดตันบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด ไต อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

7. ยารักษาเสริมชนิดอื่นๆ ที่มักจะถูกนำมาผสมในครีมหรือเครื่องสำอาง พบอาการไม่พึงประสงค์ฯได้น้อย เช่น แสบ คัน ระคายเคือง ผิวไหม้ แห้ง ลอก

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยารักษาฝ้า) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. Lyford, W.H., and others. Melasma Treatment & Management. https://emedicine.medscape.com/article/1068640-treatment [2018,Feb10]
  2. Shankar, K., and others. Evidence-Based Treatment for Malasma. Dermatol Ther 4 (2014) : 165-186.
  3. กนกวลัย กุลทนันทน์. ฝ้า. http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=303 [2018,Feb10]
  4. ปนัดดา ลีลาอุดมลิปิ. ฝ้า. http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=129&csid=9&cid=23#.WmxgYTcxXIU [2018,Feb10]
  5. ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. Tranexamic acid กับการรักษาฝ้า (Melasma). http://mdcupharm.blogspot.com/2016/02/tranexamic-acid.html [2018,Feb10]
  6. สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย. รักษาฝ้าอย่างไรให้จางลงและปลอดภัย. Medical Focus 8 (2552) : 29-31.