ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ (Drugs help passing urinary tract stones)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะหมายความว่าอย่างไร?

ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ/ยาขับนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ(Drugs help passing urinary tract stones หรือ Medical expulsion therapy/ MET in urology) เป็นยาที่ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบบริเวณท่อไต จึงทำให้นิ่วในท่อไตหลุดออกจากระบบทางเดินปัสสาวะได้เร็วขึ้น มีอาการปวดท้อง และ/หรือปวดหลัง และ/หรือปวดเอว จากโรคลดลง ลดอัตราการเข้าผ่าตัดและอัตราการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยได้อีกด้วย

ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม?

ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆได้ดังนี้

ก. ยาปิดกั้นฤทธิ์อัลฟ่า (Alpha-adrenergic blockers, Alpha blockers) เช่นยา แทมซูโลซิน (Tamsulosin), ดอกซาโซซิน(Doxazosin), อัลฟูโซซิน (Alfuzosin), เทราโซซิน (Terazosin), ไซโลโดซิน (Silodosin), นาฟโทพิดิล (Naftopidil)

ข. ยาปิดกั้นฤทธิ์แคลเซียม (Calcium channel blockers) เช่นยา ไนเฟดิปีน (Nifedipine)

ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะมีจำหน่ายในรูปแบบใด?

ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้ เช่น

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)

อนึ่ง แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของยาต่างๆได้จากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”

มีข้อบ่งใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers ใช้คลายกล้ามเนื้อเรียบบริเวณท่อไต ทำให้นิ่วในท่อไตหลุดออกจากทางเดินปัสสาวะเองได้ โดยการขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะ

มีข้อห้ามใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ หรือมีปฏิกิริยาตอบสนองที่รุนแรง(Hypersensitivity)ต่อยานั้นๆ
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม Calcium channel blockers ในผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ลิ้นหัวใจตีบ/โรคลิ้นหัวใจ หรือเพิ่งมีภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

มีข้อควระวังในการใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะอย่างไร?

มีข้อควระวังในการใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ เช่น

1. ควรหยุดใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อ มีอาการปวดท้อง อย่างรุนแรง มีการทำงานของไตผิดปกติ

2. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Alpha blockers ในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยานี้ครั้งแรกๆ เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หน้ามืด หรือเป็นลมได้

3. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Alpha blockers ในผู้ป่วย โรคตับ โรคหัวใจ และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

4. ควรระวังการใช้ยากลุ่ม Calcium channel blockers ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มีการทำงานของตับหรือของไตผิดปกติ

5. ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิตได้ด้วย ดังนั้นควรระวังการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกัน รวมทั้งระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตกลุ่มอื่นๆ

6. ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หรือง่วงซึม ดังนั้นควรระวังการใช้ยานี้ในขณะที่ขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

7. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม Alpha blocker ร่วมกับยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศกลุ่ม Phosphodiesterase-5 (PDE-5) inhibitor เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิต อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง

8. ยากลุ่ม Calcium channel blockers เป็นยาที่มีอันตรกิริยากับยาหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ยาต้านเชื้อรา (เช่น Ketoconazole, Itraconazole), ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย/ยาฆ่าเชื้อ (เช่นยา Rifampicin), และน้ำผลไม้เกรปฟรุต (Grapefruit Juice) เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังใช้ยา/ดื่มเครื่องดื่มชนิดใดอยู่บ้าง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา

การใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือให้นมบุตร ควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ในขณะที่ตั้งครรภ์ ร่างกายของผู้หญิงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง คือทำให้ท่อไตคลายตัวมากขึ้นแล้ว ดังนั้นการใช้ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers จึงอาจมีประโยชน์เพียงเล็กน้อยในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ปัจจุบันยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers เพื่อขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะไม่มากเพียงพอในกลุ่มผู้ป่วยหญิงมีครรภ์

การใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในผู้สูงอายุควรเป็นดังนี้ เช่น

  • ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ (Orthostatic hypotension, Postural hypotension) ในผู้สูงอายุได้มากกว่าวัยอื่น ดังนั้นควรติดตามระดับความดันโลหิตของผู้สูงอายุในท่านั่งหรือท่านอน เปรียบเทียบกับท่ายืน และควรระวังการเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนั่งหรือนอนเป็นยืนช้าๆ เพราะอาจทำให้ หน้ามืด หกล้ม หรือกระดูกหักได้

การใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

  • การใช้ยากลุ่ม Alpha blocker และ Calcium channel blockers ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก ถูกใช้เพื่อช่วยขับก้อนนิ่วหลังจากที่ผู้ป่วยเข้ารับการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy, ESWL) ซึ่งจะช่วยให้ก้อนนิ่วแตกเป็นขนาดเล็กลง อย่างไรก็ตามการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยเด็ก ยังต้องศึกษาข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการใช้ยากลุ่มนี้เพิ่มเติมต่อไป

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะเป็นอย่างไร?

อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากการใช้ยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ มีดังนี้ เช่น

  • ยากลุ่ม Alpha blockers ทำให้เกิดอาการ เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า รู้สึกไม่สบาย นอนไม่หลับ ความดันโลหิตต่ำ ใจสั่น หน้ามืด มีการหลั่งอสุจิย้อนกลับเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ(Retrograde ejaculation) เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ไม่สบายท้อง ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ปวดท้อง และอาจเกิดผื่นบริเวณผิวหนัง
  • ยากลุ่ม Calcium channel blockers ทำให้เกิดอาการ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม รู้สึกไม่สบาย ใบหน้าแดง ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ บวมบริเวณเท้าและข้อเท้า ท้องผูก คลื่นไส้ ผื่นบริเวณผิวหนัง

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. ธนาวุฑฒ์ โสภักดี. การรักษานิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะด้วยยา Alpha blockers.http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=917#.W6eRxmgzbIU [2018,Sept29]
  2. ปิยะรัตน์ โตสุโขวงศ์ และคนอื่นๆ. โรคนิ่วไต : พยาธิสรีระวิทยา การรักษาและการสร้างเสริมสุขภาพ. Chula Med J 50 (2549) : 103-123
  3. Atan, A. and Balc, M. Medical expulsive treatment in pediatric urolithiasis. Turkish Journal of Urology 41 (2015) : 39-42.
  4. European Association of Urology. EAU Guidelines on Urolithiasis 2016. https://uroweb.org/wp-content/uploads/EAU-Guidelines-Urolithiasis-2016-1.pdf [2018,Sept29]
  5. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Alpha blockers. 2016. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/in-depth/alpha-blockers/art-20044214 [2018,Sept29]
  6. Valovska, M.T., and Pais, V.M. Contemporary best practice urolithiasis in pregnancy. Therapeutic Advances in Urology 10 (2018) : 127-138