ยาขยายหลอดเลือด (Vasodilators)

บทความที่เกี่ยวข้อง


ยาขยายหลอดเลือด

ยาขยายหลอดเลือดหมายความว่าอะไร?

ยาขยายหลอดเลือด(Vasodilators หรือ Vasodilator drug หรือ Vasodilator agent) หมายถึง ยาที่มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือดดำ และ/หรือหลอดเลือดแดง โดยทำให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อของหลอดเลือดและทำให้ท่อของหลอดเลือดขยายตัว จึงลดแรงต้านทานภายในหลอดเลือดลง ส่งผลทำให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ดีขึ้น จึงส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ในทางคลินิก จึงใช้ยาขยายหลอดเลือดเป็นยาลดความดันโลหิตสูง

ยาขยายหลอดเลือดแบ่งเป็นกี่ประเภท?

ยาขยายหลอดเลือด แบ่งออกเป็นกลุ่ม/ประเภทได้ ดังนี้

ก. ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง (Direct-acting vasodilators): ได้แก่

  • ยาปิดกั้นฤทธิ์แคลเซียม (Calcium channel blockers,ย่อว่า CCBs): เช่นยา แอมโลดิปีน (Amlodipine), ฟีโลดิปีน (Felodipine), มานิดิปีน (Manidipine), ไนเฟดิปีน (Nifedipine), ไนคาร์ดิปีน (Nicardipine), เวอราพามิล (Verapamil), ดิลไทอะเซม (Diltiazem)
  • ยากลุ่มไนเตรท (Nitrates): เช่นยา กลีเซอริลไตรไนเตรท (Glyceryl trinitrate) หรือ ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin), ไอโซซอร์ไบด์โมโนไนเตรต (Isosorbide mononitrate), ไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate)
  • ยาขยายหลอดเลือดอื่นๆที่ใช้ลดความดันโลหิต (Vasodilator antihypertensive drugs): เช่นยา ไฮดราลาซีน (Hydralazine), โซเดียมไนโตรพลัสไซด์ (Sodium nitroprusside)

ข. ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vasodilators): เช่นยา ซินนาริซีน (Cinnarizine) , ฟลูนาริซีน (Flunarizine), ไนเซอร์โกไลน์ (Nicergoline), สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo Biloba Extract), โคเดอโกคราย มิซิเลท (Co-dergocrine mesylate)

ค. ยาขยายหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary vasodilators): ได้แก่

  • อนุพันธ์ของพรอสตาไซคลิน (Prostacyclin analogues): เช่นยา อีโพพรอสทีนอล (Epoprostenol), ทรีพรอสทินิล (Treprostinil), ไอโลพรอส (Iloprost), อัลพรอสตาดิล (Alprostadil), บีราพรอส (Beraprost)
  • ยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ฟอสโฟไดเอสเทอร์เรส (Phosphodiesterase type 5 inhibitors, PDE-5 inhibitors): เช่นยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil), ทาดาลาฟิล (Tadalafil), วาร์เดนาฟิล (Vardenafil)

ยาขยายหลอดเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาขยายหลอดเลือดมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้

  • ยาเม็ด (Tablet)
  • ยาแคปซูล (Capsule)
  • ยาอมใต้ลิ้น (Sublingual tablet)
  • ยาสเปรย์พ่นใต้ลิ้น (Sublingual spray)
  • ยาผงปราศจากเชื้อ (Sterile powder)
  • ยาน้ำใสปราศจากเชื้อ (Sterile solution)
  • ยาสูดพ่นเข้าปอด (Inhalation)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของยาแผนปัจจุบัน บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม

มีข้อบ่งใช้ยาขยายหลอดเลือดอย่างไร?

มีข้อบ่งใช้ยาขยายหลอดเลือด ดังนี้ เช่น

ก. ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง (Direct-acting vasodilators):

1.ยากลุ่ม Calcium channel blockers: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension), ภาวะเจ็บเค้นหน้าอกคงที่ (Stable angina), ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่เร็วและสม่ำเสมอ (Supraventricular tachycardia, SVT)

2.ยากลุ่ม Nitrates: ใช้รักษาภาวะเจ็บเค้นหน้าอก/ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจชาดเลือด (Angina pectoris), กล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction), หัวใจล้มเหลว (Heart failure)

3.ยาHydralazine และยา Sodium nitroprusside: ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤต (Hypertensive emergency)

ข. ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vasodilators):

1. ยา Cinnarizine และยา Flunarizine ใช้รักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดส่วนปลาย เช่น Raynaud’s phenomenon ซึ่งเป็นภาวะที่นิ้วมือซีดเขียวง่ายเมื่อโดนความเย็น, ใช้รักษาอาการ มึนงง เวียนศีรษะ อันมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวในหูชั้นใน, ป้องกันการปวดศีรษะชนิดไมเกรน, ป้องกันอาการ เมารถเมาเรือ

2. Co-dergocrine mesylate, Nicergoline และ Ginkgo Biloba Extract ใช้รักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือดส่วนปลาย, เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในสมอง จึงใช้รักษาภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ในผู้สูงอายุ และภาวะสมองเสื่อมในโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) ที่มีสาเหตุมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

ค.ยาขยายหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary vasodilators):

1. ยากลุ่ม Prostacyclin analogues ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary arterial hypertension, PAH)

2. ยากลุ่ม PDE-5 inhibitors ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary arterial hypertension, PAH) และใช้รักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย/นกเขาไม่ขัน (Erectile dysfunction)

มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดเลือดอย่างไร?

มีข้อห้ามใช้ยาขยายหลอดเลือด เช่น

1. ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยานั้นๆ

2. ห้ามใช้ยากลุ่ม Calcium channel blockers ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart failure, CHF), ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ, ผู้ที่มีความผิดปกติในการทำงานของตับและของไตขั้นรุนแรง, ผู้ป่วยที่ใช้ยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme inhibitors) เช่นยา Ketoconazole, Cyclosporin

3.ห้ามใช้ยากลุ่ม Nitrates ร่วมกับยากลุ่ม PDE-5 inhibitors เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

4.ห้ามใช้ยา Cinnarizine และ Flunarizine ในผู้ที่มีประวัติโรคพาร์กินสัน และโรคซึมเศร้า

5. ห้ามใช้ยากลุ่ม Prostacyclin analogues ในผู้ที่มีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ (Bleeding) เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร)

มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดเลือดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาขยายหลอดเลือด เช่น

1.ระวังการใช้ยาขยายหลอดเลือด ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดเช่นกัน จึงอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไปจนเกิดอันตรายได้

2.ระวังการใช้ยากลุ่ม Calcium channel blockers ในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติแบบ Sick sinus syndrome, ผู้ที่มีความผิดปกติของการทำงานของตับและของไต, ผู้ที่มีภาวะเจ็บเค้นหน้าอก/กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)

3.การใช้ยากลุ่ม Nitrates ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะดื้อยา (Nitrate tolerance) ได้ ดังนั้นควรต้องมีการเว้นช่วงเวลาให้ผู้ป่วยมีช่วงที่ปลอดยาอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงต่อวัน

4.ไม่ควรหยุดยากลุ่ม Nitrates ทันทีในผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ขนาดสูงๆติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น เจ็บหน้าอกมาก

5.ระวังการใช้ยา Cinnarizine และยา Flunarizine ในผู้ที่ขับขี่ยานยนต์, ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง เนื่องจากยามีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม

6.ไม่ควรรับประทาน Cinnarizine และ Flunarizine ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์ง่วงซึมจากยา

7.ระวังการใช้ยากลุ่ม Prostacyclin analogues ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจผิดปกติ เช่น หัวใจล้มเหลว

8.ระวังการใช้ยากลุ่ม PDE-5 inhibitors ร่วมกับยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ (Enzyme inhibitor) เช่น Ketoconazole, Itraconazole, Clarithromycin, Ritonavir เพราะอาจทำให้ระดับของยากลุ่ม PDE-5 inhibitors เพิ่มสูงขึ้นจนเกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากยานี้ได้

การใช้ยาขยายหลอดเลือดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขยายหลอดเลือดในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรเป็นดังนี้ เช่น

ก.ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง (Direct-acting vasodilators):

1.หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ยากลุ่ม Calcium channel blockers ได้ โดยแพทย์มักเลือกใช้ยา Nifedipine และ Verapamil เป็นยาทางเลือกแรก

2.ยากลุ่ม Nitrates เป็นยาที่ต้องระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น

3.ยาHydralazine เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงวิกฤต (Hypertensive emergency) ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ไม่ควรใช้ยา Sodium nitroprusside รักษาภาวะนี้ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ข.ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vasodilators):

1.ยาCinnarizine, ยาFlunarizine และยา Co-dergocrine mesylate เป็นยาที่ต้องระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น

2.ยาNicergoline เป็นยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น

3.ยาGinkgo Biloba Extract เป็นยาที่ยังมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในหญิงตั้งครรภ์ไม่เพียงพอ จึงยังไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์

ค.ยาขยายหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary vasodilators):

1.ยากลุ่ม Prostacyclin analogues: ควรใช้ยา Epoprostenol เป็นยาตัวเลือกแรก, ส่วนยาTreprostinil เป็นยาที่ต้องระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ควรใช้ยานี้ก็ต่อเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยา Beraprost, Iloprost และ Alprostadil เป็นยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เพราะทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์

2.ยากลุ่ม PDE-5 inhibitors เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยควรใช้ยานี้เมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น

การใช้ยาขยายหลอดเลือดในผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขยายหลอดเลือดในผู้สูงอายุควรเป็น ดังนี้ เช่น

1.ผู้สูงอายุที่ได้รับยาขยายหลอดเลือด ควรระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)จากยา คือ ภาวะ Orthostatic hypotension ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากความดันโลหิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากนอนเป็นลุกยืน ทำให้เกิดอาการ หน้ามืด เป็นลม ซึ่งอาจเกิดอันตรายได้จากการล้ม ควรป้องกันโดยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ

2.ผู้สูงอายุควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรว่า กำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา และป้องกันการได้รับยาขยายหลอดเลือดหลายชนิดร่วมกัน เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมากเกินไปจนเกิดอันตรายได้

3.ระวังการใช้ยา Cinnarizine และยา Flunarizine ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน

การใช้ยาขยายหลอดเลือดในเด็กควรเป็นอย่างไร?

การใช้ยาขยายหลอดเลือดในเด็กควรเป็นดังนี้ เช่น

ก.ยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโดยตรง (Direct-acting vasodilators):

1.ยากลุ่ม Calcium channel blockers เป็นยาที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีในเด็ก โดยแพทย์มักเลือกใช้ยา Nifedipine และ Nicardipine เป็นยาตัวเลือกแรก

2.ยากลุ่ม Nitrates, Hydralazine และ Sodium nitroprusside เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในเด็ก โดยแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละราย

ข.ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vasodilators):

1.ยา Cinnarizine, ยาGinkgo Biloba Extract และ Co-dergocrine mesylate เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในเด็ก โดยแพทย์จะปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเด็กแต่ละราย

2. ยาNicergoline เป็นยาที่ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากเพียงพอในผู้ป่วยเด็ก จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในเด็ก

ค.ยาขยายหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary vasodilators):

1.ยาEpoprostenol เป็นยาที่แพทย์เลือกใช้เป็นตัวเลือกแรกในผู้ป่วยเด็ก นอกจากนี้สามารถใช้ยา Iloprost ในรูปแบบพ่นเป็นละอองฝอย แต่เด็กเล็กที่หายใจหอบเหนื่อยอาจมีแรงสูดยาเข้าร่างกายได้น้อย

2.ยากลุ่ม PDE-5 inhibitors เป็นยาที่สามารถใช้ได้ในเด็ก โดยแพทย์มักพิจารณาใช้ยา Sildenafil เป็นยาตัวเลือกแรก

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาขยายหลอดเลือดมีอะไรบ้าง?

ยาขยายหลอดเลือดทุกชนิด อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง)ซึ่งที่พบบ่อยที่สุดคือ “ภาวะความดันโลหิตต่ำ” และผลข้างเคียงอื่นๆที่อาจพบได้ ดังต่อไปนี้ เช่น

ก.ยากลุ่ม Calcium channel blockers: อาจทำให้ ปวดศีรษะ เท้าและข้อเท้าบวม และยาVerapamil ทำให้ท้องผูก

ข.ยากลุ่ม Nitrates: อาจทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มึนงง

ค.ยาHydralazine: อาจทำให้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ใจสั่น เบื่ออาหาร เหงื่อออกมาก หน้าแดง หัวใจเต้นเร็วจากการที่หลอดเลือดคลายตัว (Reflex tachycardia)

ง.ยาSodium nitroprusside: อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับพิษจากการถูกร่างกาย Metabolite ยานี้ไปเป็นสารไซยาไนด์ (Cyanide) จึงเกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic acidosis), หัวใจเต้นผิดปกติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้

จ.ยาCinnarizine และยา Flunarizine: อาจทำให้ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย เหนื่อยล้า การเคลื่อนไหวผิดปกติ

ฉ. ยาNicergoline: อาจทำให้ระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดต่ำ ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ระดับกรดยูริคในเลือดสูง มึนงง นอนไม่หลับ

ช.ยาCo-dergocrine mesylate: อาจทำให้ปวดศีรษะ ไม่สบายท้อง มองเห็นภาพไม่ชัด

ซ.ยาGinkgo Biloba Extract: อาจทำให้ไม่สบายท้อง ผิวหนังเกิดผื่นคัน ปวดศีรษะ

ฌ.ยากลุ่ม Prostacyclin analogues: อาจทำให้หน้าแดง ร้อนวูบวาบ ปวดศีรษะ คลื่นไส้

ญ.ยากลุ่ม PDE-5 inhibitors: อาจทำให้ปวดศีรษะ หน้าแดง ร้อนวูบวาบ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดแขนขา

สรุป

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาขยายหลอดเลือด) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บรรณานุกรม

  1. กิติยศ ยศสมบัติ. Comprehensive Pharmacy review. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: นานนะภงค์; 2554.
  2. คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ. คู่มือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลตามบัญชียาหลักแห่งชาติ ยาระบบประสาทส่วนกลาง เล่ม 1. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/sites/default/files/tnf_2010_central_nervous_system_vol1.pdf [2016,Nov26]
  3. สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชาชูปถัมภ์. แนวทางปฏิบัติเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงในประเทศไทย พ.ศ.2556 http://www.thaiheart.org/images/column_1385016166/PAH_guideline_2013.pdf. [2016,Nov26]
  4. จันทพร อิ่มบำรุง. Sildenafil Citrate 20 mg for Pulmonary Arterial Hypertension. วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า 29. (ตุลาคม-ธันวาคม 2555) : 343-347
  5. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Pulmonary hypertensionhttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pulmonary-hypertension/diagnosis-treatment/treatment/txc-20197485 [2016,Nov26]
  6. Schaefer, C., Peters, P. and Miller, R. K. Drug During Pregnancy and Lactation, 2. USA: Elsevier, 2007.