ยากระตุ้น (Stimulant drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยากระตุ้น(Stimulant drugs) เป็นหมวดยาในกลุ่มสารเพิ่มสมรรถภาพ(Performance-enhancing substances) อาจให้ความหมายอย่างกว้างๆและครอบคลุมว่า ยากระตุ้น เป็นสารใดๆที่ทำให้ร่างกายมีความกระตือรือร้น มีความกระปรี้กระเปร่า รู้สึกสนุก เพลิดเพลิน หรือในทางยาจะหมายถึงกลุ่มยาที่แสดงกลไกการทำงานเป็นลักษณะซิมพาโทมิเมติค(Sympathomimetic effect) โดยมีการออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ปลายเส้นประสาท ตา หัวใจ หลอดเลือด หลอดลม ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันโรค/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ในอดีตที่ผ่านมา ได้มีประชาชนบางกลุ่มนำยาหรือสารกระตุ้นมาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น Amphetamine ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยได้ระงับการใช้ และระบุให้เป็นยาเสพติดในประเภทที่ 1 การใช้ยากระตุ้นชนิดใดได้อย่างเหมาะสม ผู้บริโภคต้องเข้าพบและขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้ยากระตุ้นนั้นๆ ควรทำความเข้าใจว่า หลังได้รับยากระตุ้นในรูปแบบต่างๆ จะมีความเปลี่ยนแปลงทาง ร่างกายแบบชั่วคราวหรือไม่ก็ถาวร และต้องหลีกเลี่ยงการทดลองใช้ยากระตุ้นใดๆโดยอาศัยการคาดเดา การบอกต่อ หรือจำมาใช้อย่างผิดๆ ต้องใช้เฉพาะเป็นคำสั่งใช้จากแพทย์เท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสืบค้นสอบถามข้อมูลของยากระตุ้นได้จากแพทย์ เภสัชกร หรือจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซด์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ยากระตุ้นมีการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากระตุ้น

ยากระตุ้น มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อร่างกายมนุษย์ได้อย่างมากมาย และส่วนมากจะมีกลไกที่สัมพันธ์ต่อสารสื่อประสาทประเภท Dopamine , Norepinephrine, และ Serotonin โดยยากระตุ้นจะทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อประสาทดังกล่าวออกมามาก กรณีของ Dopamine และ Norepinephrine จะช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่ Serotonin สามารถกระตุ้นให้เห็นภาพหลอน นอกจากนี้ยาบางประเภทอย่างเช่น Ephedrine จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Recepror)ของสารสื่อประสาทอย่าง Norepinephrine และ Epinephrine ทำให้เพิ่มการทำงานของระบบประสาทซิมพาโทมิเมติค(Sympathetic nervous system)ของร่างกาย ส่งผลสนับสนุนศูนย์ควบคุมความอิ่มให้ทำงานดีขึ้น และช่วยเพิ่มความดันโลหิต ตลอดจนกระทั่งลดอาการคั่งของน้ำมูก/น้ำมูกมาก การออกฤทธิ์ของยากระตุ้นหลายประเภทมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เป็นเพราะคุณสมบัติทางเคมี และการตอบสนองของร่างกายคนเราที่มีไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล

ยากระตุ้นแบ่งได้กี่ประเภท อะไรบ้าง?

ยากระตุ้น ที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันและถูกกล่าวถึงบ่อยๆมีดังต่อไปนี้

1. แอมเฟตามีน(Amphetamine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางหรือสมอง ถูกนำมาใช้บำบัดโรคสมาธิสั้น(Attention deficit hyperactivity disorder)และโรคลมหลับ มีการนำยาแอมเฟตามีนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์เช่น ใช้กระตุ้นสมองให้ตื่นตัวและเพิ่มความทนทานต่อระยะเวลาทำงานได้ยาวนานขึ้น การใช้ยาดังกล่าวเป็นเวลานาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้ติดยา นอกจากนี้ ยานี้ยังแสดงฤทธิ์และส่งผลเสียต่อระบบประสาท เช่น มีอาการสับสน การตอบสนองต่อสิ่งเร้าผิดปกติ เกิดอาการชักกระตุก มีอาการปวดกล้ามเนื้อ เกิดอาการประสาทหลอน และมีความหวาดระแวง ปัจจุบันเราจะไม่พบเห็นการใช้ยาชนิดนี้ในประเทศไทย ด้วยถูกจัดให้เป็นยาเสพติดที่มีพิษร้ายแรง

2. แคฟเฟอีน/กาเฟอีน/คาเฟอีน(Caffeine) เป็นสารเคมีที่สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมอง อาจจัดเป็นกลุ่มยาที่ใช้บำบัดอาการทางจิตอีกชนิดหนึ่งและไม่ใช่สารเสพติด ประชาชนจะให้ความนิยมชมชอบกับฤทธิ์ที่ช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวทำให้รู้สึกสดชื่น ไม่ง่วงนอน ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างกระฉับกระเฉง แต่ต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม การได้รับสารแคฟเฟอีนที่มากเกินไป จะทำให้มีอาการใจสั่น และนอนไม่หลับ สำหรับผู้ที่บริโภคหรือได้รับสารแคฟเฟอีนทุกวัน หากวันใดไม่ได้บริโภค อาจพบอาการที่เราเรียกกันว่าถอนยา เช่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ หงุดหงิด เป็นต้น

3. เอฟีดรีน (Ephedrine) ตามบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 นำมาใช้ในสถานพยาบาลด้วยวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือ ใช้รักษาความดันโลหิตต่ำ และลดอาการคั่งของน้ำมูก ยานี้มีคุณสมบัติเป็นสารประเภท Sympathomimetic amine(Sympathetomimetic drug) มีฤทธิ์ในการลดน้ำหนัก แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับหากจะใช้เป็นยาลดน้ำหนัก ทั้งนี้เป็นเพราะผลข้างเคียงทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา

4. เอมดีเอมเอ(MDMA, Methylenedioxymethamphetamine) มีฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้รู้สึกสบายใจ เคลิบเคลิ้มเป็นสุข กระตุ้นทำให้ ไม่รู้สึกอยากอาหาร เกิดความรู้สึกว่ามีกำลัง ลดอาการง่วงนอน ปัจจุบันจะไม่ค่อยพบเห็นข่าวคราวของยาเอมดีเอมเอในแง่มุมของยาเสพติดแต่อย่างใด

5. เอมดีพีวี(MDPV, Methylenedioxypyrovalerone) จัดเป็นยารักษาอาการทางจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวชตัวหนึ่ง มีการออกฤทธิ์แบบเดียวกับกลุ่มยา Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor/NDRI ยาเอมดีพีวีถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยใช้เป็นยาทำให้สนุกสนาน กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ทำให้มีความตื่นตัว ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย เอมดีพีวียังสามารถสร้างอันตรายต่อผู้ที่ใช้ยาแบบผิดวิธีได้หลายประการ เช่น กระตุ้นให้ใจสั่น มีเลือดกำเดาไหล ความดันโลหิตสูง ตาพร่า มีไข้ อาเจียน ตลอดจนเกิดการติดยา นอกจากนี้การเสพเอมดีพีวีมากเกินไป สามารถทำให้หัวใจหยุดเต้น สมองขาดเลือด มีอาการโคม่า อยากทำร้ายตนเองและถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

6. เมฟีโดรน(Mephredrone) เป็นยากระตุ้นที่สังเคราะห์ขึ้นและถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับยาAmphetamine และ Cathinone รูปแบบที่ถูกนำมาใช้จะเป็นลักษณะเม็ดหรือเป็นผง โดยผู้ที่ใช้ยานี้สามารถกลืน สูดเข้าจมูก หรือใช้วิธีฉีด ก็ได้ เมฟีโดรนมีฤทธิ์ใกล้เคียงกับยาMDMA, Amphetamine และ Cocaine ในปีค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้ เมฟีโดรนเป็นยาที่ผิดกฎหมาย และห้ามใช้กับประชาชนทั่วไป

7. เมทแอมเฟตามีน(Methamphetamine) จัดเป็นยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอย่างแรง หากใช้อย่างถูกต้อง จะทำให้ร่างกายรู้สึกกระตือรือร้น ทางคลินิกได้นำยานี้มารักษาอาการโรคสมาธิสั้น รวมถึงใช้เป็นยาลดน้ำหนักเมื่อผู้ป่วยใช้การอดอาหารหรือใช้ยาลดน้ำหนักชนิดอื่นแล้วไม่ได้ผล การรับประทานยาเมทแอมเฟตามีนเกินขนาด สามารถส่งผลให้มีอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะ รู้สึกสับสน ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีความดันโลหิตสูง หรือไม่ก็ความดันโลหิตต่ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนอาจเป็นอันตราย/มีไข้สูง หายใจเร็ว ปวดกล้ามเนื้อ เกิดอาการตัวสั่น มีภาวะช็อก เลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว มีภาวะ Serotonin syndrome เกิดมีความเสียหายต่อสมอง อาจมีอาการชักจนเข้าขั้นโคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

8. เมทิลเฟนิเดต(Methylphenidate) เป็นยาที่นำมารักษาโรคสมาธิสั้น และโรคลมหลับ ฤทธิ์กระตุ้นที่โดดเด่นของเมทิลเฟนิเดต ได้แก่ ช่วยเพิ่มสมาธิ กระตุ้นให้มีความตื่นตัว ลดความอยากอาหาร ลดความต้องการการนอนหลับ บางกรณีนำมาใช้เป็นยาลดน้ำหนัก แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกายควบคู่กันไป กฎหมายของประเทศไทย ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภทที่ 2 ทำให้ไม่สามารถซื้อหายานี้ตามร้านขายยาทั่วไป จะมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

9. นิโคติน(Nicotine)จัดเป็นสารประเภท Parasympathomimetic alkaloid/ Parasympathomimetic drug พบมากในบุหรี่ การได้รับสารนิโคตินเป็นเวลานานต่อเนื่องเป็นปริมาณมากๆ สามารถก่อให้เกิดการเสพติด และเป็นพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อร่างกาย ฤทธิ์ของนิโคตินที่โดดเด่น คือ กระตุ้นสมองให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็มีข้อเสียที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับนิโคตินหลายประการ เช่น กระตุ้นการเจริญของเนื้องอกต่างๆ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ และใช้กิจกรรมการออกกำลังกาย กีฬา ดนตรี มาทำให้สมองผ่อนคลาย และไม่ก่อโรคเหมือนนิโคติน

10. ฟีนิลโพรพาโนลามีน (Phenylpropanolamine) มีโครงสร้างเคมีใกล้เคียงกับ Norephedrine และ Norpseudoephedrine ยานี้สามารถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้ นอกจากจะมีฤทธิ์ลดอาการคัดจมูกแล้ว ยังทำให้รู้สึกเบื่ออาหารด้วย มักพบเห็นยานี้ในสูตรตำรับยาแก้หวัดที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ในต่างประเทศ ยาฟีนิลโพรพาโนลามีน จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์จึงจะซื้อจากร้านขายยาได้ ด้วยตัวยาจะทำให้เกิดภาวะเส้นเลือด/หลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งพบมากในสตรีที่มีอายุน้อย ในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียได้ทยอยยกเลิกสูตรตำรับของยาชนิดนี้แล้ว

11. โพรพิลเฮกซิดรีน (Propylhexedrine) เคยจัดจำหน่ายภายใต้สรรพคุณเป็นยาแก้หวัด และยังมีฤทธิ์กดความรู้สึกหิวอาหาร ผลการกระตุ้นร่างกายจากยานี้สามารถทำให้ตาเห็นภาพซ้อน ซึ่งจะเป็นเพียงชั่วคราวระหว่างที่ใช้ยานี้ และยังทำให้การทำงานของก้านสมองผิดปกติไป

12. ซูโดอีเฟดรีน(Pseudoephedrine) มีฤทธิ์ของซิมพาโทมิเมติค(Sympathomimetic drug) ใช้เป็นยาลดน้ำมูก บรรเทาอาการโรคไข้หวัด มีฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย โดยทำให้มีความตื่นตัวและไม่อยากนอนหลับ เคยมีกลุ่มบุคคลนำเอาซูโดอีเฟดรีนไปเป็นสารตั้งต้นเพื่อแอบผลิตเป็น Methamphetamine ในประเทศไทย ได้ระบุให้ซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทในประเภทที่ 2 และยังพบเห็นการใช้ซูโดอีเฟดรีนในสูตรตำรับยาผสมที่ใช้รักษาอาการโรคหวัด ยาแก้แพ้ และยาแก้ไอ

13. คัต(Khat หรือ Catha edulis) เป็นพืช ประเภทดอก มีถิ่นกำเนิดในแถบแอฟริกาและคาบสมุทรอาหรับ สาระสำคัญที่พบในพืชประเภทนี้ คือ สารเคมีชนิด โมโนเอมีน อัลคาลอยด์ (Monoamine alkaloid) ที่มีชื่อเรียกว่า คาทิโนน(Cathinone) ซึ่งเป็นคีโต-แอมเฟตามีน (Keto-amphetamine) องค์การอนามัยโลกจัดให้ “คัต” เป็นพืชที่ทำให้เสพติดได้ แต่น้อยกว่าบุหรี่ หรือแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ คัต ด้วยสารคาทิโนน/Nicotine จะออกฤทธิ์กระตุ้นทำให้เบื่ออาหารและมีอารมณ์เคลิ้มตามมา

14. โคเคน(Cocaine) เป็นสารประเภท Serotonin-norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (SNDRI) ตามกฎหมายไทย ระบุให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 โคเคนมีฤทธิ์กระตุ้นสมองอย่างแรงในระยะสั้น ทำให้รู้สึกสนุกและมีแรง แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ หลังการใช้โคเคนที่ไม่ได้เป็นการรักษาจากแพทย์ จะทำให้เกิดการเสพติด วิธีการเสพโคเคนมีทั้ง สูดดมผ่านทางจมูก หรือละลายน้ำแล้วฉีดเข้าร่างกาย ผลเสียที่มีต่อร่างกายนั้นมากมายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ทีเดียว อาการหลังจากที่ร่างกายได้รับโคเคน เริ่มจากหลอดเลือดเกิดการหดตัวซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูงจนทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก รูม่านตาขยายจนอาจเป็นอันตรายต่อประสาทตา อุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้น มีอาการปวดท้อง และคลื่นไส้ การใช้โคเคนเป็นเวลานานๆ จะทำให้เบื่ออาหาร และทำให้สุขภาพทรุดโทรม ระดับความรุนแรงที่สุดของโคเคน จะทำให้เกิดอาการหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิต

อนึ่ง ยังมีรายการยากระตุ้นอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมากล่าวถึงได้ทั้งหมดแต่ยากระตุ้นดังตัวอย่างข้างต้น เป็นกลุ่มที่โดดเด่นและมีกล่าวถึงในปัจจุบัน

ยากระตุ้นมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ยากระตุ้นหลายชนิด มักจะมีฤทธิ์ทำให้เกิดการเสพติดในระดับที่แตกต่างกัน ผลการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางมากจนเกินไป สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียง(อาการข้างเคียง/ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา) เช่น อาการทางจิตประสาท/จิตเวช เห็นภาพหลอน คลุ้มคลั่ง มีอาการตื่นเต้น ตื่นตัว การเคลื่อนที่ของร่างกายทำได้ไม่ดี หัวใจเต้นเร็ว เกิดความรู้สึกเร้าอารมณ์ ความดันโลหิตสูง ตัวร้อน/มีไข้ ในกรณีอาการรุนแรงเมื่อได้รับยากระตุ้นเกินขนาด อาจทำให้การทำงานของหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตในที่สุด

การเลือกใช้ยากระตุ้นมีหลักเกณฑ์อย่างไร?

การเลือกใช้ยากระตุ้น มีความสัมพันธ์กับอาการทางร่างกาย ผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยยากระตุ้น ต้องผ่าน การคัดกรองที่รวมถึงการตรวจร่างกายจากแพทย์ว่า เหมาะสมจะได้รับยากระตุ้นประเภทใด มีความเสี่ยงต่อการติดยาหรือไม่ ขนาดและระยะเวลาการใช้ยากระตุ้นต่างๆต้องอยู่ภายในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สารกระตุ้นที่มีใช้โดยทั่วไปและเราแทบจะไม่นึกถึงเลยว่าสารดังกล่าวจัดเป็นยากระตุ้นเหมือนกัน เช่น สารแคฟเฟอีน/Caffeine ในกาแฟ หรือนิโคติน/Nicotineจากบุหรี่ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการเสพยากระตุ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล อยากทดลอง หรือถูกบังคับให้ใช้ยากระตุ้น การได้รับยากระตุ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม ผู้บริโภคควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อค้นหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นและแพทย์รีบแก้ไขโดยเร็ว การรับรู้ การศึกษาข้อมูล ของยากระตุ้น และทำความเข้าใจกับสรกระตุ้น เป็นการป้องกันในเบื้องต้นต่อการใช้สารกระตุ้นที่ผิด การไม่เสพ ไม่ทดลอง ไม่เกี่ยวข้อง สามารถป้องกันตนเองจากการติดยากระตุ้นในลำดับถัดมา แจ้งข่าวการใช้ยากระตุ้นในพื้นที่ชุมชนต่อเจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้อง เป็นแนวทางป้องกันเชิงรุก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชน โดยยึดประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Stimulant [2017,Dec23]
  2. http://www.narconon.org/drug-abuse/mdpv-effects.html [2017,Dec23]
  3. http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2015/11/table-PHYCHO-list-update-21.12.2015.pdf [2017,Dec23]