มะเร็งโคนลิ้น (Base of tongue cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งโคนลิ้น (Base of tongue cancer) คือโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อที่เรียกว่า เนื้อเยื่อโคนลิ้น (Base of tongue) โดยเซลล์ของโคนลิ้นที่จุดใดก็ได้ เกิดกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็ง คือมีการแบ่งตัวเจริญมากผิดปกติและยังมีความสามารถที่จะรุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อตัวมันเอง เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง ต่อมน้ำเหลือง ระบบน้ำเหลือง และในที่สุดแพร่กระจายทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วตัว พบบ่อย คือ ปอด กระดูก และตับ

โคนลิ้น (Base of tongue หรือ Posterior tongue หรือ Posterior one third of tongue) เป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งที่อยู่ในระบบหูคอจมูก (Ear Nose Throat system) หรือ ระบบศีรษะและลำคอ (Head and Neck system) เป็นเนื้อเยื่อในลำคอช่วงที่เป็นรอยต่อระหว่างช่องปากและช่องคอ ที่เรียกทางการแพทย์ว่า ‘คอหอยส่วนปาก (Oropharynx, เนื้อเยื่อในส่วนนี้คือ โคนลิ้น ทอนซิล เพดานอ่อน และลิ้นไก่)’ โดยโคนลิ้น จะอยู่ต่อจากลิ้นส่วนหน้าลึกลงไปในลำคอ มองเห็นเป็นส่วนที่ขรุขระเป็นตะปุ่มตะป่ำจากมีต่อมรับรส(Taste bud) และต่อมสร้างน้ำลายชนิดที่ช่วยย่อยไขมัน (Von Ebner's glands) อยู่เป็นจำนวนมาก

มะเร็งโคนลิ้น เป็นโรคของผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป พบในอายุน้อยกว่านี้รวมถึงในเด็กได้ประปราย พบในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณ 4 - 5 เท่า

เนื่องจากมะเร็งโคนลิ้น จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ (Head and neck cancer) ที่รวมอยู่ในกลุ่มมะเร็งคอหอยส่วนปาก และเป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ไม่บ่อยมาก ดังนั้นอุบัติการณ์การเกิดโรคจึงมักรวมอยู่ในอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ หรือ มะเร็งคอหอยส่วนปาก มักไม่มีการแยกศึกษาเฉพาะ

ทั่วโลกพบโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอได้ประมาณครึ่งล้านคนต่อปี ในสหรัฐอเมริกา พบโรคมะเร็งในระบบศีรษะและลำคอเป็นประมาณ 3% ของโรคมะเร็งทุกระบบอวัยวะ

ประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2553 - 2555 มีรายงานจากทะเบียนมะเร็งแห่งชาติ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข(รายงานในปี พ.ศ. 2558) พบโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (นับรวมโรคมะเร็งโคนลิ้น แต่ไม่นับรวมโรคมะเร็งต่อมทอนซิล) ในเพศชาย 0.3 รายต่อประชากรชายไทย 1แสนคน และในเพศหญิง 0.1รายต่อประชากรหญิงไทย 1แสนคน

โรคมะเร็งไตมีกี่ชนิด?

มะเร็งโคนลิ้น

โรคมะเร็งโคนลิ้นมีหลากหลายชนิด แต่ประมาณ 90 - 95% เป็นมะเร็งในกลุ่ม มะเร็งคาร์ซิโนมาที่เป็นชนิดสความัส (Squamous cell carcinoma) โดยพบชนิดอื่นๆได้บ้างประปรายรวมกันแล้วประมาณ 5 - 10% เช่น มะเร็งกลุ่ม มะเร็งซาร์โคมา /Sarcoma, มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำลายที่โคนลิ้น( เช่น Adenocarcinoma), หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่เกิดจากเซลล์ต่อมน้ำเหลืองที่มีอยู่ในโคนลิ้นเช่นกัน ดังนั้น ทั่วไปเมื่อกล่าวถึง ‘โรคมะเร็งโคนลิ้น’ จึงหมายถึงโรคมะเร็งชนิดสความัส ดังนั้นในบทความนี้จึงกล่าวถึง “โรคมะเร็งโคนลิ้นชนิดสความัส” เท่านั้น

โรคมะเร็งโคนลิ้นเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุที่แน่นอนชัดเจนของการเกิดโรคมะเร็งโคนลิ้น ยังไม่ทราบ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยงซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดคือ การสูบบุหรี่ (เพิ่มปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าคนไม่สูบประมาณ 20 เท่า), และการดื่มสุรา (เพิ่มปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าคนไม่ดื่มประมาณ 5 เท่า), แต่ถ้าทั้งสูบบุหรี่และดื่มสุรา ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเป็นประมาณ 50 เท่า

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่น

  • ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะ วิตามิน เกลือแร่ จากบริโภคผัก ผลไม้ น้อย
  • การติดเชื้อเอชพีวี (HPV)ที่โคนลิ้น: เช่น จากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก
  • เพศ: เพราะพบโรคได้สูงกว่าในผู้ชาย แต่อาจจากผู้ชายสูบบุหรี่และดื่มสุราสูงกว่าผู้หญิงก็ได้
  • อาจจากพันธุกรรม: เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะ เร็งต่างๆ

โรคมะเร็งโคนลิ้นมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งโคนลิ้น แต่เป็นอาการเหมือน คออักเสบ จากสาเหตุทั่ว ไป โดยอาการที่พบบ่อย ได้แก่

  • เจ็บคอเรื้อรัง
  • มีน้ำลายหรือเสมหะ/เสลดปนเลือดเรื้อรัง
  • มีกลิ่นปากเรื้อรัง
  • มีแผลเรื้อรังหรือมีก้อนเนื้อที่โคนลิ้น
  • เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นอาจมี
    • เสียงพูดเปลี่ยนไปเหมือนอมสิ่งใดอยู่
    • มีปัญหาในการกลืน หรือ ในการการหายใจจากก้อนเนื้อที่โตจึงอุดกั้นช่องคอ
    • ต่อมน้ำเหลืองลำคอโตคลำพบได้ (ปกติคลำไม่พบ) อาจโตได้เป็นหลายๆเซนติเมตร อาจคลำพบเพียง ลำคอด้านเดียวหรือทั้ง 2 ด้าน และอาจคลำพบเพียงต่อมน้ำเหลืองต่อมเดียวหรือ หลายต่อม
    • อาการจากโรคมะเร็งแพร่กระจาย เช่น
      • ปวดกระดูกสันหลัง/ปวดหลังมาก จากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง
      • แน่นอึดอัดท้องโดยเฉพาะด้าน ขวาตอนบนจากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าตับ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งโคนลิ้นได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งโคนลิ้นได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ประเภทอาหารที่บริโภคเป็นประจำ ประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจช่องปากและลำคอ และ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ
  • การตรวจภาพลำคอด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/ หรือ เอมอาร์ไอ
  • แต่ที่วินิจฉัยได้แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ/แผลที่โคนลิ้นเพื่อ การตรวจทางพยาธิวิทยา

อนึ่ง ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นโรคมะเร็งโคนลิ้นแล้ว จะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรค และสุขภาพผู้ป่วย เช่น

  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC)
  • การตรวจปัสสาวะ
  • การตรวจเลือดดูค่าน้ำตาล (โรคเบาหวาน), ดูการทำงานของ ตับ ไต และค่า เกลือแร่ในเลือด
  • ตรวจภาพลำคอด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ ดูการลุกลามของโรคเมื่อยังไม่ได้ตรวจในช่วงวินิจฉัยโรค
  • ตรวจเอกซเรย์ปอด ดูโรคปอด โรคหัวใจ และ ดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
  • อาจมีการตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และการตรวจภาพกระดูกทั้งตัวที่เรียกว่า การสะแกนกระดูก (Bone scan) เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคเข้าสู่ตับ และเข้าสู่กระดูก ตามลำดับ ทั้งนี้การตรวจเพิ่มเติมดังกล่าว จะขึ้นกับความรุนแรงของโรค, อาการผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์

โรคมะเร็งโคนลิ้นมีกี่ระยะ?

มะเร็งโคนลิ้น มี 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ(ทั่วไป นิยมแบ่งระยะโรคตามคำแนะนำขององค์กรแพทย์ด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา/ American Joint Committee on Cancer ย่อว่า AJCC) และจะเช่นเดียวกับ มะเร็งคอหอยส่วนปาก โดยแต่ละระยะ ยังอาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น A, B, C ทั้งนี้เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยเป็นแนวทางในวิธีรักษา การพยากรณ์โรค และในการศึกษา ซึ่งทั้ง 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1: ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตไม่เกิน 2 เซนติเมตร(ซม.)
  • ระยะที่ 2: ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 2 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 4 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 3: ได้แก่
    • ก้อน/แผลมะเร็งมีขนาดโตมากกว่า 4 ซม. และ/หรือลุกลาม/รุกรานเข้าฝาปิดกล่องเสียง
    • และ/หรือ มีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอ 1 ต่อมที่ขนาดโตไม่เกิน 3 ซม.และอยู่ข้างเดียวกับรอยโรค
  • ระยะที่ 4: แบ่งเป็น 3 ระยะย่อย คือ
    • ระยะ4A: ได้แก่
      • ก้อน/แผลมะเร็งโตมากกว่า4ซม.
      • และ/หรือ ลุกลามเข้ากล่องเสียง และ/หรือ ลิ้น เพดานแข็ง เหงือก กระดูก
      • และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอคอ 1 ต่อมด้านเดียวกับรอยโรคแต่มีขนาดโตกว่า 3 แต่ไม่เกิน6ซม.
      • และ/หรือโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองลำคอหลายต่อม, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองลำคอทั้ง2ข้าง, และ/หรือต่อมน้ำเหลืองเฉพาะด้านตรงข้าม, แต่ต่อมน้ำเหลืองแต่ละต่อมต้องโตไม่เกิน6ซม.
    • ระยะ4B: ได้แก่
      • ก้อน/แผลมะเร็งลุกลามเข้า โพรงหลังจมูก กระดูกฐานสมอง และ/หรือกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยวอาหาร และ/หรือเข้าผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ
      • และ/หรือต่อมน้ำเหลืองคอโตมากกว่า 6 ซม.
    • ระยะ4C: ได้แก่
      • โรคแพร่กระจายเข้าระบบน้ำเหลืองทำลายต่อมน้ำเหลืองนอกลำคอ เช่น รักแร้ หรือ ช่องอก หรือขาหนีบ
      • และ/หรือแพร่กระจายเข้ากระแสเลือด (โลหิต)ไปทำลายอวัยวะอื่นๆได้ทั่วตัว ที่พบได้บ่อยคือ ปอด ตับ และกระดูก

อนึ่ง มะเร็งระยะศูนย์(ระยะ0) หรือ Carcinoma in situ ย่อว่า CIS เป็นระยะที่แพทย์โรคมะเร็งหลายท่านยังไม่จัดให้เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะโรคยังไม่มีการรุกราน(Non invasive)ทะลุผ่านชั้นเยื่อบุผิว/ เยื่อเมือก เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก ถ้าผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ90%ขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม เป็นโรคระยะที่พบน้อยมาก

โรคมะเร็งโคนลิ้นรักษาอย่างไร?

โคนลิ้น เป็นอวัยวะอยู่ลึกและติดต่อกับลิ้นทางด้านหน้า ส่วนด้านหลังจะติดต่อลงไปยังกล่องเสียง ดังนั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดจึงมักยุ่งยาก และส่งผลถึงการทำงานของลิ้น และของกล่องเสียงได้ ประกอบกับการรักษาด้วยรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดให้ผลการรักษาได้ไม่แตกต่างจากการผ่าตัด ดังนั้นในบ้านเราจึงไม่นิยมรักษาโรคมะเร็งโคนลิ้นด้วยการผ่าตัด ยกเว้นเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก

ดังนั้นการรักษาโรคมะเร็งโคนลิ้นส่วนใหญ่ในบ้านเรา จึงเป็นการรักษาร่วมกันระหว่าง รังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แต่ในผู้ป่วยบางรายที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กและโรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง การรักษาอาจเป็นเพียงรังสีรักษาวิธีการเดียว หรือการผ่าตัด

ส่วนการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา และตัวยายังมีราคาแพงมาก และยังมักต้องใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นดังได้กล่าวแล้ว รวมถึงยังไม่รวมอยู่ในสิทธิการรักษาทุกระบบของไทย

อย่างไรก็ตาม ในการรักษาว่าจะใช้วิธีการใดในการรักษา แพทย์จะประเมินจาก ระยะโรคมะเร็ง, ชนิดเซลล์มะเร็ง, โรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย, อาย, และสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย, รวมถึงดุลยพินิจของแพทย์

อนึ่ง ในผู้ป่วยที่ สุขภาพร่างกายอ่อนแอ หรือ สูงอายุมาก ผู้ป่วยมักไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากวิธีรักษาต่างๆได้ แพทย์จึงอาจแนะนำเพียงการรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น รังสีรักษาเทคนิคที่ปริมาณรังสีต่ำที่จะลดผลข้างเคียงจากรังสีรักษาลงได้อย่างมาก, ยาแก้ปวด, การใส่ท่อให้อาหารผ่านทางหน้าท้องกรณีกินได้น้อย, หรือใส่ท่อช่วยหายใจกรณีก้อนเนื้ออุดกั้นช่องคอ เป็นต้น

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งโคนลิ้นอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งโคนลิ้นขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

ก. การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ

ข. รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนที่ได้รับรังสีรักษา (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)

ค. ยาเคมีบำบัด : เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ง. ยารักษาตรงเป้า : เช่น เกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาฯบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย, แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล, และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง: ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิดรวมทั้งโรคมะเร็งโคนลิ้น ขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งผลข้างเคียงจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

โรคมะเร็งโคนลิ้นรุนแรงไหม?

โรคมะเร็งโคนลิ้น มีการพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคปานกลาง มีโอกาสรักษาได้หายทั้งนี้ขึ้นกับ ระยะโรค, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, อายุ, และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดย อัตรารอดที่ห้าปีหลังการรักษาของมะเร็งโคนลิ้นจะเช่นเดียวกับในโรคมะเร็งของเนื้อเยื่อต่างๆในส่วนคอหอยส่วนปาก (มะเร็งคอหอยส่วนปาก)

อัตรารอดที่ห้าปีของโรคมะเร็งคอหอยส่วนปากซึ่งรวมทั้งโรคมะเร็งโคนลิ้น คือ

  • โรคระยะที่ 1 ประมาณ 60 - 70%,
  • ระยะที่ 2 ประมาณ 50 - 65%,
  • ระยะที่ 3 ประมาณ 30 - 40%, และ
  • ระยะที่ 4 ประมาณ 0 - 30%

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งโคนลิ้นส่วนปากไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งโคนลิ้นให้พบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ การรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อมีอาการผิดปกติดัง กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคแต่ในระยะต้นๆที่จะให้ผลการรักษาได้ดีขึ้น

ป้องกันโรคมะเร็งโคนลิ้นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งโคนลิ้น แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่หลีกเลี่ยงได้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้ โดยเฉพาะ

  • การเลิกบุหรี่และเลิกสุราเมื่อบริโภคอยู่ หรือการไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด
  • การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยเพิ่ม ผัก ผลไม้ มากๆ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงโรคมะเร็งโคนลิ้นจะคล้ายกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา /ใช้ยาที่แพทย์สั่ง ให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ไม่หยุดการรักษาไปเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

อนึ่ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆมากขึ้น เช่น เจ็บก้อน/แผลมะเร็งมากขึ้นจนยาแก้ปวดที่แพทย์ให้ไว้ใช้ไม่ได้ผล
  • มีไข้ โดยเฉพาะร่วมกับอาการท้องเสีย
  • สายให้อาหารหลุด
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องผูกมาก
  • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. AJCC cancer staging manual, 8th.ed
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers.
  4. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
  6. Saman,D. (2012). A review of the epidemiology of oral and pharyngeal carcinoma: update. Head and Neck Oncology.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3292826/ [2019,May11]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Head_and_neck_cancer#Epidemiology [2019,May11]
  8. https://www.cancer.org/cancer/oral-cavity-and-oropharyngeal-cancer/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,May11]