มะเร็งปอด (Lung cancer)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

มะเร็งปอด (Lung cancer) คือ โรคเกิดจากเซลล์ปอดเจริญแบ่งตัวมากมายผิด ปกติตลอดเวลา และร่างกายควบคุมการแบ่งตัวนี้ไม่ได้ จึงทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้าย/ก้อนมะเร็งในปอด และเกิดมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ที่ส่งผลให้เนื้อปอดปกติเสียหายจนก่ออาการผิดปกติต่างๆ ที่พบบ่อย คือ ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หายใจลำบาก น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย

มะเร็งปอดเป็นโรคของผู้ใหญ่ พบบ่อยมากทั้งในคนไทยและทั่วโลก พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 ถึง 3 เท่า โดยทั่วไปพบโรคได้สูงตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป

ทั่วโลกรายงานในปีค.ศ. 2020 ในประเทศพัฒนา พบมะเร็งปอดสูงเป็นลำดับ1ของมะเร็งในเพศชาย ส่วนในเพศหญิงมะเร็งปอดพบบ่อยเป็นลำดับ 4 โดยมีมะเร็งเต้านมเป็นลำดับ1, มะเร็งปากมดลูกเป็นลำดับ2

มะเร็งปอดมีความรุนแรงโรคสูงมาก ทั่วโลกรายงานปีค.ศ. 2020 เป็นสาเหตุการตายเป็นอันดับ2ของมะเร็งทั้งหมดรองจากมะเร็งเต้านม

ส่วนในประเทศไทยช่วง ค.ศ.2013-2015 รายงานในปี ค.ศ.2018 พบโรคนี้ใน เพศหญิง 10.9 รายต่อประชากรหญิงไทย 1 แสนคน และในเพศชาย 23.0ราย ต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน

มะเร็งปอดมีหลากหลายชนิดย่อย ทั้งกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) แต่เกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมาชนิดที่เรียกว่า Squamous cell carcinoma, Adenocarcinoma, Undifferentiated carcinoma, และ Small cell carcinoma

นอกจากนี้ มะเร็งปอดส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเกิดที่ผนังหลอดลม(Bronchial tree) ทางการแพทย์โรคมะเร็งจึงเรียกโรคมะเร็งปอดว่า ‘Bronchogenic carcinoma หรือ Brochogenic cancer’ ซึ่งในบทความนี้ จะกล่าวถึง ‘มะเร็งปอดกลุ่มนี้เท่านั้น’

มะเร็งปอด ที่พบบ่อยมี 2 ชนิดหลัก คือ มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต (หรือ เซลล์ตัวใหญ่ หรือ มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์ตัวเล็ก / Non-small cell carcinoma) และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก (Small cell carcinoma)

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต: พบบ่อยกว่าชนิดเซลล์ตัวเล็ก มักลุกลามอยู่ในปอดและในเนื้อเยื่อข้างเคียงก่อน ต่อจากนั้นจึงลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด และในช่องอก แล้วจึงแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด

มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก: พบน้อยกว่าชนิดเซลล์ตัวโต แต่รุนแรงกว่า เมื่อตรวจพบ โรคมักลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง และแพร่กระจายสู่กระแสเลือดแล้ว

มะเร็งปอดทั้ง 2 ชนิด/กลุ่ม เมื่อแพร่กระจาย มักเข้าสู่ เนื้อเยื่อปอดในส่วนอื่นๆ รวมถึงปอดอีกข้าง สู่เยื่อหุ้มปอดจนก่อให้เกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, กระดูก สมอง, ต่อมหมวกไต, และตับ

โรคมะเร็งปอดเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งปอด

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งปอด แต่ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด คือ

  • การสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่ (สูบบุหรี่มือสอง) โดยเฉพาะเมื่อสูบจัดต่อเนื่อง ตั้งแต่วันละ 1 ซองขึ้นไป

นอกจากนั้น: ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่สำคัญน้อยกว่า บุหรี่ เช่น

  • จากได้รับ ฝุ่นแร่ ควันพิษ บางชนิดต่อเนื่องทางการหายใจ เช่น จากการทำเหมืองแร่ต่างๆ เช่น แร่ใยหิน(Asbestos) แร่ยูเรเนียม (Uranium) ควันจากการเผาไหม้สารดีเซล
  • ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารหนูในปริมาณสูงต่อเนื่อง
  • จากมีพันธุกรรมบางชนิดผิดปกติ

*อนึ่ง: ผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่

  • ผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ หรือที่เคยสูบบุหรี่ต่อเนื่องที่หยุดมานานแต่ยังไม่เกิน15ปี โดยทั้ง2กลุ่ม สูบต่อเนื่องตั้งแต่20-30ซองขึ้นไป/ปี และอยู่ในอายุช่วง 50-74ปี

โรคมะเร็งปอดมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งปอด แต่มีอาการคล้ายกับอาการทั่วไปของโรคปอดจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งอาการพบบ่อยของมะเร็งปอด ได้แก่

ก. ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค

ข. ต่อเมื่อโรคลุกลามจึงเกิดอาการ ที่พบบ่อย คือ

  • ไอเรื้อรัง อาจมีเสมหะปนเลือด หรือ ไอเป็นเลือด
  • อาจมีเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย โดยเฉพาะเมื่อมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
  • อาจมีเสียงแหบเรื้อรังเมื่อโรคลุกลามเข้าเส้นประสาทกล่องเสียงส่วนที่อยู่ในช่องอก
  • ผอมลง น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมักลดลงเกิน10%ของน้ำหนักตัวเดิมในระยะเวลา6เดือน
  • ใบหน้า ลำคอ แขนบวม มักพบเกิดกับแขนด้านขวามากกว่าด้านซ้าย ร่วมกับหอบเหนื่อย เมื่อโรคลุกลาม หรือ ก้อนมะเร็งกดเบียดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องอก
  • อาการจากโรคแพร่กระจาย ซึ่งขึ้นกับอวัยวะที่มีโรคแพร่กระจาย เช่น
    • ปวดหลังมาก กรณีโรคแพร่กระจายเข้ากระดูกสันหลัง
    • ปวดหัวรุนแรง ต่อเนื่อง อาจร่วมกับอาเจียนรุนแรง และ/หรือ แขน/ขาอ่อนแรง เมื่อมีโรคแพร่กระจายสู่สมอง

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปอดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งปอด ได้จาก

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติสูบบุหรี่ อาชีพ การงาน ถิ่นที่พักอาศัย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ธรรมดา และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน)
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ
    • การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปอด หรือ ในหลอดลม เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • หรือ เจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อ หรือ น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • ทั้งนี้รวมถึง
      • การส่องกล้องตรวจหลอดลมในปอดซึ่งขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
      • หรือการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า หรือที่ลำคอ กรณีมะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองนี้ จนต่อมน้ำเหลืองโตและตรวจคลำได้

โรคมะเร็งปอดมีกี่ระยะ?

มะเร็งปอดแบ่งเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่นๆ และแต่ละระยะหลัก สามารถแบ่งเป็นระยะย่อยๆได้อีกเพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ระยะย่อยๆเหล่านี้ช่วยพิจารณาวิธีรักษา, ให้การพยากรณ์โรค, และเพื่อการศึกษาวิจัย

ระยะหลัก 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะ 1 : ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน4ซม. และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะ 2: ก้อนฯขนาดโตมากกว่า4 ซม.แต่ไม่เกิน7ซม. และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดด้านเดียวกับรอยโรค
  • ระยะ 3: ก้อนฯโตมากกว่า7ซม. และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และ/หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่ ขั้วปอด ในช่องอก เหนือไหปลาร้า และ/หรือที่ลำคอ อาจด้านเดียวกับรอยโรคหรือไม่ก็ได้
  • ระยะ 4: ระยะแพร่กระจาย:
    • มะเร็งแพร่กระจายเกิดภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
    • และ/หรือ แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ เยื่อหุ้มปอด ตัวปอดเอง กระดูก สมอง ต่อมหมวกไต และตับ
    • และ/หรือ แพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปต่อมน้ำเหลืองนอกช่องอก เช่น ช่องท้อง ลำคอ รักแร้

อนึ่ง: ถ้าเซลล์มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อบุผิวของผนังหลอดลม เรียกว่า เป็นมะเร็งระยะยังไม่มีการรุกราน(Preinvasive หรือ Preinvasive cancer) จัดเป็น ‘มะเร็งระยะศูนย์ (Stage 0)’ แพทย์หลายท่านจึงยังไม่จัดโรคระยะ0เป็นมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะมะเร็งแท้จริงต้องมีการรุนราน(Invasive) ซึ่งมะเร็งปอดระยะนี้ พบน้อยมากๆ

มีแนวทางรักษาโรคมะเร็งปอดอย่างไร?

แนวทางการรักษามะเร็งปอด คือ

  • การผ่าตัดเมื่อยังผ่าตัดได้: หลังผ่าตัด แพทย์จึงพิจารณารักษาต่อเนื่องด้วย ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา อย่างไรก็ตามปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดก้าวหน้าอย่างมากด้วยการรักษาด้วย ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง แต่ยากลุ่มหลังนี้ยังมีค่าใช้จ่าย/ค่ายาสูงมากในบ้านเรา
  • แต่เมื่อโรคลุกลามมากตั้งแต่แรกและผ่าตัดไม่ได้: การรักษามักเป็นยาเคมีบำบัด อาจร่วมกับรังสีรักษา และ/หรือ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง
  • ส่วนเมื่อโรคแพร่กระจายสู่อวัยวะต่างๆ:
    • การรักษามักเป็นการรักษาตามอาการ อาจด้วย ยาเคมีบำบัด รังสีรักษา วิธีใดวิธีเดียว หรือ ทั้งสองวิธีร่วมกันแต่ให้ในขนาดการรักษาที่ต่ำที่ไม่ก่อผลข้างเคียงมากต่อผู้ป่วย
    • และ/หรือ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง
    • และ/หรือ ร่วมกับการรักษาตามอาการทางอายุรกรรมทั่วไป เช่น การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินทางปากได้น้อย และการให้ยาบรรเทาปวด/ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวดต่างๆ เป็นต้น

อนึ่ง: การใช้ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง และยาภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง ถึงแม้ในประเทศไทยจะมีการนำมาใช้ทางคลินิกแล้วก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดทางการใช้ยามากจากราคายายังแพงมาก ซึ่งเมื่อผู้ป่วยต้องการทราบถึงการรักษาด้วยยากลุ่มเหล่านี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลรักษา

*อย่างไรก็ตาม ทั่วไปในการรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาจาก ระยะโรค, ชนิดของเซลล์มะเร็ง, อายุ, สุขภาพผู้ป่วย, และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเสมอ

มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้างจากการรักษาโรคมะเร็งปอด?

ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งปอดขึ้นกับวิธีรักษา และผลข้างเคียงจะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน และ/หรือ
  • เมื่อผู้ป่วยสูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคที่ก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคภูมิต้านตนเอง และในผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่ต่างกันในแต่ละวิธีรักษา เช่น

ก. การผ่าตัด: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การสูญเสียอวัยวะ ต้องตัดเนื้อเยื่อปอดออก บางครั้งอาจต้องตัดปอดทั้งข้าง แผลผ่าตัดเลือดออก แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ

ข. รังสีรักษา: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ คือ ผลข้างเคียงต่อ ผิวหนังตรงส่วนที่ฉายรังสี และต่อเนื้อเยื่อเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสี ซึ่งคือในบริเวณปอด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่องผลข้างเคียงและการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณปอด)

ค. ยาเคมีบำบัด: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด การมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง)

ง. ยารักษาตรงเป้า: ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลต่างๆติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ผนังลำไส้ทะลุได้(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง)

โรคมะเร็งปอดรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

มะเร็งปอดเป็นมะเร็งชนิดรุนแรงมาก/มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ทั้งนี้อัตรารอดที่ห้าปีหลังการรักษารายงานจากข้อมูลปี 2010-2016 ของสหรัฐอเมริกา

ก.มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต:

  • ระยะโรคจำกัดเฉพาะที่ คือ ระยะ1 หรือ ระยะต้นๆของระยะ2 ที่โรคยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง: อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 50%-60%
  • ระยะโรคลุกลามจำกัดอยู่เฉพาะต่อมน้ำเหลืองในช่องอก(ระยะ2,3): อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 30%
  • ระยะโรคแพร่กระจาย(ระยะ4): อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 0-10%

ข. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็ก:

  • ระยะโรคจำกัดเฉพาะที่ คือ ระยะ1 หรือระยะต้นๆของระยะ2 ที่ยังไม่มีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง: อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 20-30%
  • ระยะโรคลุกลามจำกัดอยู่เฉพาะต่อมน้ำเหลืองในช่องอก(ระยะ2,3): อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 15%
  • ระยะโรคแพร่กระจาย(ระยะ4): อัตรารอดที่ห้าปีประมาณ 0-3%

มีวิธีคัดกรองโรคมะเร็งปอดไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพสำหรับคนทั่วไปที่จะช่วยให้พบโรคมะเร็งปอดตั้งแต่เริ่มเป็นโรคที่ไม่มีอาการ ซึ่งนี่เองเป็นเหตุผลให้เมื่อตรวจพบ โรคมะเร็งปอดมักลุกลามแล้ว ทั้งนี้เพราะในระยะ0-2 มักเป็นโรคในระยะยังไม่มีอาการ

ปัจจุบัน สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำการตรวจคัดกรองฯแต่ก็เฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยงสูงเกิดมะเร็งปอด ได้แก่

  • ผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ต่อเนื่อง หรือเคยสูบบุหรี่ต่อเนื่องแต่ปัจจุบันหยุดสูบแล้วแต่ยังนานไม่ถึง15 ปี โดยทั้ง2กลุ่ม สูบต่อเนื่องตั้งแต่20ซองขึ้นไป/ปี และมีอายุช่วง 50-80ปี นอกจากนั้น ยังต้องเป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรงที่สามารถได้รับการรักษามะเร็งปอดเพื่อการหายขาดได้ทุกวิธีการ เช่น ผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา, ฯลฯ
  • การคัดกรองฯ จะด้วยวิธีตรวจคัดกรองภาพปอดด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์/ซีทีสแกนชนิดเทคนิคพิเศษรังสีเอกซ์ต่ำ ที่เรียกว่า ‘Low dose helical CT’ ที่จะช่วยให้ผู้รับการตรวจได้ปริมาณรังสีฯน้อยกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วไป เพราะการตรวจคัดกรองจะต้องทำทุกปี
  • นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรต้องทราบจากแพทย์ว่า การตรวจวิธีนี้มีข้อจำกัด ไม่สามารถวินิจฉัยได้แม่นยำ100%, เป็นสาเหตุให้ร่างกายได้รับรังสีเอกซ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี, และต้องยอมรับการรักษากรณีตรวจพบความผิดปกติที่แพทย์สงสัยว่าเป็นรอยโรค

มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งปอดไหม?

วิธีป้องกันโรคมะเร็งปอดที่ดีที่สุด คือ

  • ไม่สูบบุหรี่ และ เลิกสูบบุหรี่ (เมื่อสูบบุหรี่)
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ที่หลีกเลี่ยงได้

เมื่อไรจึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจโรคมะเร็งปอด ?

ควรพบแพทย์เพื่อ ตรวจสุขภาพประจำปีทุกปีสม่ำเสมอ อาจเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี และแจ้งแพทย์ให้ทราบเรื่อง สูบบุหรี่ นอกจากนั้น คือ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึง ‘มะเร็งปอด’ จะคล้ายกัน นำมาปรับใช้ด้วยกันได้ แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด
  • และควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง เช่น ไอเป็นเลือดมากขึ้น
    • มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น มีไข้ ท้องเสียมาก
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับทุกคืน คลื่นไส้อาเจียนมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. AJCC Cancer staging manual, 8th ed.
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Gunderson, L., and Tepper, J. (2007). Clinical Radiation Oncology (second edition). Philadelphia: Elsevier Churchill Livingstone.
  4. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX , 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Lung_cancer [2021,Sept11]
  6. https://www.cancer.org/cancer/lung-cancer/causes-risks-prevention/risk-factors.html [2021,Sept11]
  7. https://acsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.3322/caac.21660 [2021,Sept11]
  8. https://www.cancer.org/cancer/lung-cancer/detection-diagnosis-staging.html [2021,Sept11]