ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) หรือบางคนเรียกง่ายๆว่า โรคปอดแตก หรือบางคนเรียกว่า ภาวะมีลมในเยื่อหุ้มปอด คือ ภาวะที่โพรงเยื่อหุ้มปอด (เป็นช่องว่างที่มีของเหลวเพียงเล็กน้อย) เกิดมีอากาศเข้าไปอยู่ในช่องว่างนี้ จึงทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่เวลาหายใจเข้า ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณของอากาศที่เข้าไปอยู่ในช่องว่างนี้ และพยาธิสภาพของปอด ทั้งนี้ การรักษาภาวะนี้มีหลายวิธี ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ

พบภาวะนี้ได้ในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ และทุกวัย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดจะแตกต่างกันออกไป

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ?

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ

สามารถแบ่งภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศออกได้ตามสาเหตุดังนี้

1. ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ (Primary spontaneous pneumothorax ย่อว่า PSP) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ไม่ได้มีโรคปอดที่ชัดเจน ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่ โดยมีความสัมพันธ์กับจำนวนบุหรี่ที่สูบ เช่น หากสูบ 1-10 มวนต่อวัน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 7 เท่า แต่หากสูบมากกว่า 20 มวนต่อวันจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า เป็นต้น ผู้ที่มีลักษณะรูปร่างผอมสูงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมากกว่าคนรูปร่างอื่นๆ ในผู้หญิงตั้งครรภ์ก็พบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นบ้าง พบว่าประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีประวัติของคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้ป่วยเหล่านี้แม้ไม่มีโรคปอดที่ชัดเจน แต่หากนำไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ของปอด จะพบลักษณะของถุงลมที่พองตัวผิดปกติ (Blebs หรือ Bullae) ซึ่งจะเกิดเฉพาะที่ ถุงลมที่พองตัวนี้เมื่อแตกออก จะทำให้อากาศเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้ แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่เผอิญตรวจพบว่ามีถุงลมพองนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดภาวะนี้ขึ้นทุกราย

โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยจากสาเหตุนี้พบมากในช่วงอายุ 20 ปี ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงประมาณ 6 เท่า

2. ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองจากการมีโรคในปอด (Secondary spontaneous pneumothorax ย่อว่า SSP) ผู้ป่วยจะมีโรคปอดอยู่ หรือมีโรคอื่นๆที่ทำให้ปอดทำงานผิดปกติ ที่พบเป็นสาเหตุบ่อยที่สุด คือโรคทางเดินปอดอุดกั้นเรื้อรัง สาเหตุอื่นๆ เช่น

  • โรคหืด
  • โรคปอดติดเชื้อวัณโรค
  • โรคปอดติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Pneumocystic jiroveci (ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี )
  • โรคมะเร็งของอวัยวะอื่นแล้วกระจายมาที่ปอด
  • ส่วนมะเร็งของปอดเองพบเป็นสาเหตุได้น้อยกว่ามาก
  • โรคพังผืดในปอด (Idiopathic pulmonary fibrosis) และ
  • โรคทางพันธุกรรมชื่อ Cystic fibrosis (ปอดอักเสบติดเชื้อจากปอดสร้างน้ำเมือกที่เหนียวข้นจนไม่สามารถไอออกได้) เป็นต้น

โดยภาพรวมแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะพบมากในช่วงอายุ 60 ปี ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3 เท่า ในผู้หญิงอาจเกิดจากเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งมาเจริญอยู่ในปอด และทำให้ถุงลมแตกได้ เรียกภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากสาเหตุนี้ว่า Catamenial pneumothorax ภาวะนี้พบได้น้อยมาก โดยจะพบในช่วงอายุ 30-50 ปี และมักเกิดในขณะที่มีประจำเดือน

3. ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากการบาดเจ็บ (Traumatic pneumothorax) การบาดเจ็บที่ทำให้มีอากาศเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด อาจเกิดจากถูกของมีคมแทงทะลุผ่านผิวหนังและผนังทรวงอกเข้าไปยังโพรงเยื่อหุ้มปอด อากาศจากภายนอกจึงเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด หรืออาจเกิดจากกระดูกซี่โครงหักแล้วทิ่มแทงถุงลมและแขนงหลอดลมของปอด หรือได้รับแรงกระแทกอย่างแรงที่หน้าอก รวมถึงถูกแรงระเบิดใส่ ซึ่งจะทำให้ถุงลมและแขนงของหลอดลมฉีกขาดได้ อากาศจากถุงลมและหลอดลมจึงเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด กิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความกดดันอากาศอย่างรวดเร็ว เช่น การดำน้ำ การบินผาดโผน ก็อาจทำให้ถุงลมเกิดการฉีกขาดและอากาศเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้ ส่วนการนั่งเครื่องบินปกติไม่ได้ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากภายในห้องโดยสาร ความกดดันอากาศจะถูกปรับให้เหมาะสมอยู่แล้ว

4. ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากการทำหัตถการทางการแพทย์ (Iatrogenic pneumothorax) เช่น

  • การใช้เข็มเจาะทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปยังปอด เพื่อตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา หรือเพื่อดูดเซลล์จากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
  • หรือใช้เข็มเจาะทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปยังโพรงเยื่อหุ้มปอดเพื่อนำน้ำไปตรวจ แต่เข็มอาจเจาะทะลุเข้าไปโดนถุงลมหรือแขนงหลอดได้
  • การทำหัตถการแทงหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณคอเพื่อให้สารน้ำ เข็มที่ใช้แทงอาจทิ่มถุงลมและแขนงหลอดลมได้
  • การใส่ท่อช่วยหายใจ หากใส่ลึกไป ปลายท่ออาจแทงทะลุแขนงหลอดลมใหญ่ได้
  • หรือในการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีการปรับความกดดันอากาศให้สูงกว่าปกติ อาจทำให้ถุงลมและแขนงหลอดลมเล็กๆ แตกทะลุได้

5. ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน (Tension pneumothorax) เป็นภาวะที่อากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดมีแรงกดดันสูง ทำให้ปริมาณอากาศเพิ่มขึ้นตลอดเวลาที่หายใจ ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและแย่ลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการการเป็น Traumatic pneumothorax และ Iatrogenic pneumothorax ส่วน Secondary spontaneous pneumothorax และ Primary spontaneous pneumothorax โอกาสกลายมาเป็น Tension pneumothorax ได้น้อยมาก

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศมีพยาธิสภาพอย่างไร?

ปอด มีเยื่อหุ้มอยู่ 2 ชั้น ชั้นในจะคลุมติดอยู่กับตัวปอด ชั้นนอกจะอยู่ติดกับผนังทรวงอก ช่องว่างระหว่างเยื่อหุ้ม 2 ชั้นนี้คือโพรงเยื่อหุ้มปอด ซึ่งจะมีปริมาณของเหลวอยู่เพียงเล็กน้อย เพื่อช่วยในการหล่อลื่นขณะที่ปอดมีการขยายตัวตามการหายใจเข้า-ออก เนื่องจากช่องว่างนี้ปกติไม่มีอากาศอยู่ เมื่อเทียบความกดดันอากาศกับปอดแล้ว ช่องว่างนี้จึงมีความกดอากาศเป็นลบ ซึ่งทำให้ปอดขยายตัวออกได้ เมื่อผนังทรวงอกขยายตัวขณะที่เราหายใจเข้านั่นเอง

เมื่อผิวหนังและผนังทรวงอกเกิดทะลุ เช่น จากการบาดเจ็บ หรือจากหัตถการในการตรวจรักษาต่างๆดังกล่าวแล้ว อากาศจากภายนอกก็จะไหลเข้าไปอยู่ภายในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่มีความกดดันอากาศเป็นลบนี้ หรือหากถุงลมหรือแขนงหลอดลมเกิดการฉีกขาดแตกทะลุ อากาศที่อยู่ในถุงลมและแขนงหลอดลมเหล่านี้ ก็จะไหลเข้าสู่โพรงเยื่อหุ้มปอดเช่นกัน

เมื่อมีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด จึงมีความกดดันอากาศเกิดขึ้น (เป็นบวก) ปอดจึงไม่สามารถขยายตัวได้เท่าปกติ ทำให้อากาศจากภายนอกจากการหายใจ ไหลเข้าสู่ปอดได้ไม่เต็มที่ การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดก็ลดลง เป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการขึ้นมา ยิ่งมีปริมาณอากาศที่เข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาก ยิ่งทำให้ปอดขยายตัวได้น้อย ผู้ป่วยก็จะมีอาการมากขึ้นด้วย

อากาศที่ไหลเข้าสู่โพรงเยื่อหุ้มปอดจะหยุดไหลเมื่อความกดดันอากาศภายในโพรงเยื่อหุ้มปอดเท่ากับภายนอกร่างกาย หรือภายในทางเดินหายใจของปอด แต่หากช่องทางเข้าของอากาศมีลักษณะเหมือนลิ้นที่ปิดเปิดทางด้านเดียว (One-way valve effect) อากาศก็จะไหลเข้าสู่โพรงเยื่อหุ้มปอดอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการไหลออกของอากาศเลย ความกดดันของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีความกดดันมากกว่าอากาศภายในทางเดินหายใจของปอด ปอดก็จะไม่สามารถขยายตัวเมื่อเราหายใจเข้าได้เลย ในทางกลับกัน ปอดจะถูกกดจากแรงกดดันอากาศที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนแฟบตัวลง และปอดที่แฟบลง และแรงกดดันนี้ยังจะไปกดเบียดหลอดลมใหญ่ที่อยู่ตรงกลางทรวงอก หลอดเลือดดำใหญ่ และปอดอีกข้างได้ ภาวะนี้คือภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน (Tension pneumothorax) ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศมีอาการอย่างไร?

อาการของผู้ป่วยภาวะนี้ ขึ้นกับปริมาณของอากาศที่เข้าสู่ปอดที่จะไปเพิ่มอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด และสภาพของปอดว่ามีโรคร่วมอยู่หรือไม่ รวมทั้งสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย

อาการหลักของภาวะนี้คือ อาการเจ็บหน้าอกในตำแหน่งของปอด (ไม่มีอาการเจ็บร้าวไปอวัยวะใด) และหายใจเหนื่อยหอบ/หายใจลำบากที่เกิดขึ้นฉับพลัน โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกด้านที่มีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด เจ็บแบบแปล๊บๆ หรือเจ็บเหมือนถูกแทง อาจร้าวไปที่ไหล่ข้างเดียวกับที่เจ็บ อาการเจ็บจะเป็นมากขึ้นเวลาหายใจเข้า

  • ผู้ป่วยที่เป็นภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ อาการจะไม่รุนแรง โดยอาการเจ็บหน้าอกมักจะดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง อาการหายใจเหนื่อยมักเป็นเพียงเล็กน้อย จนผู้ป่วยอาจไม่รู้สึก และมีผู้ป่วยเกือบ 10% ที่จะไม่มีอาการใดๆ
  • ผู้ป่วยที่เป็นภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองจากการมีโรคในปอดจะมีอาการรุนแรงกว่าโดยเฉพาะอาการหายใจเหนื่อย เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอาการของโรคของปอดที่มีอยู่แล้วร่วมด้วย อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น อาการไอ อ่อนเพลีย วิตกกังวล เป็นต้น

การตรวจร่างกายจะพบว่า มีอัตราการหายใจที่เร็วขึ้นกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ เมื่อฟังเสียงปอดข้างที่เกิดภาวะนี้จะได้ยินเสียงหายใจเข้าเบาลง การฟังเสียงสะท้อนจากปอด (Vocal resonance) ก็ได้ยินลดลงเช่นกัน ส่วนการเคาะปอดจะได้ยินเสียงก้องกว่าปกติ

  • ผู้ป่วยภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากการบาดเจ็บ อาการ ของการบาดเจ็บมักจะชัดเจนกว่าและอาจจะบดบังอาการของภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศได้ เช่น ผู้ป่วยถูกมีดแทงที่หน้าอก ก็จะมีอาการเจ็บจากบาดแผลที่ถูกแทงอยู่ ทำให้บอกไม่ได้ว่ามีอาการเจ็บหน้าอกหรือเปล่า เป็นต้น
  • ผู้ป่วยภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน จะมีอาการหายใจเหนื่อยมาก เนื่องการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ผู้ป่วยอาจจะเกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมา ทำให้มีอาการซึมจนถึงขั้นหมดสติ การที่หลอดเลือดดำในช่องทรวงอกถูกกดจากปอดที่แฟบลง ทำให้มีเลือดไหลเข้าสู่หัวใจได้น้อย ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตลดต่ำ ตามมาด้วยอาการช็อก และหัวใจหยุดเต้น หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร่งด่วน ก็จะเสียชีวิตในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศได้อย่างไร?

ในผู้ป่วยที่ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บ แพทย์วินิจฉัยภาวะนี้ได้โดยอาศัยประวัติอาการ และการตรวจร่างกายเป็นหลัก แล้วใช้การเอกซเรย์ปอดมายืนยันการวินิจฉัย ซึ่งจะเห็นอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด

ในผู้ป่วยที่ได้รับการทำหัตถการทางการแพทย์ จะได้รับการเฝ้าระวังอาการ และเอกซเรย์ปอดยืนยันการวินิจฉัยเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นครั้งแรก หากยังไม่เคยมีประวัติเป็นโรคปอดมาก่อน จะต้องได้รับการประเมินและตรวจเพิ่มเติม เพื่อหาว่ามีโรคปอดหรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้ปอดทำงานผิดปกติหรือไม่

ส่วนผู้ป่วยที่ได้บาดเจ็บทางทรวงอกที่ชัดเจน ไม่ว่าจะถูกของมีคมแทงที่หน้าอก ถูกยิง ถูกกระแทกที่หน้าอกอย่างแรง หรือถูกแรงระเบิดใส่ ต้องได้รับการเอกซเรย์ปอดทุกราย เนื่องจากบางครั้งอาการอื่นๆ จากการบาดเจ็บอาจบดบังอาการของโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศอยู่ หากผู้ป่วยไม่สามารถอยู่ในท่ายืนหรือนั่งเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดได้ อาจต้องใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แทน เนื่องจากการตรวจเอกซเรย์ธรรมดาในท่านอน มีโอกาสตรวจไม่พบอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดได้

สำหรับภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน ต้องรีบวินิจฉัยให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยอาศัยจากอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก การรอทำเอกซเรย์ธรรมดาหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์อาจช้าเกินไป เช่น หากผู้ป่วยมีการใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ แล้วเกิดอาการเหนื่อยขึ้นมากระทันหัน ความดันโลหิตลดต่ำลง ค่าความกดดันอากาศภายในตัวเครื่องมีค่าสูงผิดปกติ จะต้องรีบนึกถึงภาวะนี้ หรือหากเป็นผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุ หากบาดแผลดูไม่รุนแรง ศีรษะไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้ป่วยซึม ความดันโลหิตต่ำ หรือช็อก แพทย์ก็มักนึกถึงภาวะนี้ และให้การรักษาโดยเร็ว

มีแนวทางรักษาโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ

1. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ หากกะประมาณปริมาณอากาศจากภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดแล้วพบว่ามีปริมาณน้อยกว่า 50% ของปริมาตรปอด และผู้ป่วยไม่มีอาการหายใจหอบเหนื่อย จะให้การรักษาแบบสังเกตอาการ ไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้สังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ก็ให้รีบมาโรงพยาบาล แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเอกซเรย์ปอดซ้ำ เพื่อดูว่าอากาศภายในโพรงเยื่อหุ้มปอดถูกร่างกายดูดซึมจนหมดไปหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดนี้ จะค่อยๆถูกดูดซึมกำจัดออกไปประมาณวันละ 2% ของปริมาตรทั้งหมด ดังนั้นต้องใช้เวลานานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป กว่าที่อากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดนี้จะถูกดูดซึมจนหมด

ในผู้ป่วยที่มีปริมาณอากาศมากกว่า 50% ของปริมาตรปอด หรือมีอาการหายใจหอบเหนื่อย การรักษาอาจใช้เข็มแทงทะลุผ่านผิวหนังและผนังทรวงอกเข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด และเจาะดูดเอาอากาศออกมา ซึ่งจะดูดเอาอากาศออกมาได้ปริมาณหนึ่งเท่านั้น อากาศที่เหลืออยู่ ให้ใช้วิธีการสังเกตอาการต่อไป ซึ่งสามารถให้ผู้ป่วยกลับไปสังเกตอาการที่บ้านได้ นอกจากวิธีใช้เข็มเจาะดูดแล้ว อาจใช้มีดกรีดผิวหนังและผนังทรวงอกเพื่อเปิดเป็นช่อง แล้วใส่ท่อให้เข้าไปอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Chest tube thoracostomy) ท่อนี้จะถูกต่อกับขวดซึ่งมีน้ำ และทำหน้าที่เหมือนวาล์ว/ลิ้นปิดเปิดเพียงด้านเดียว คือปล่อยให้อากาศไหลออกจากโพรงเยื่อหุ้มปอดโดยไม่ไหลย้อนกลับเข้ามา ซึ่งจะทำให้อากาศถูกกำจัดออกได้จนหมดและรวดเร็วกว่าวิธีใช้เข็มเจาะและสังเกตอาการ แต่ต้องนอนโรงพยาบาลและเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่า เช่น มีดอาจกรีดโดนหลอดเลือดของผนังทรวงอก ทำผู้ป่วยเสียเลือดมากได้ หรือหากนำขวดไปต่อเครื่องดูดเพื่อเพิ่มความเร็วในการดูดอากาศ อาจทำให้เกิดปอดบวมน้ำได้

2. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองจากการมีโรคในปอด และที่เกิดจากหัตถการทางการแพทย์ หากมีปริมาณอากาศไม่มาก และไม่มีอาการหายใจเหนื่อย จะใช้วิธีเข็มเจาะดูดเอาอากาศออก และให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ จะไม่ได้ให้ผู้ป่วยกลับบ้านเหมือนกับผู้ป่วยกลุ่มแรก และอาจให้ออกซิเจนช่วยในการหายใจ เพื่อให้อากาศถูกดูดซึมได้เร็วขึ้น แต่หากมีปริมาณอากาศมากหรือมีอาการเหนื่อย ต้องใส่ท่อเพื่อดูดเอาอากาศออก

ผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศซ้ำบ่อยๆ หรือมีภาวะนี้พร้อมกันที่ปอดทั้ง 2 ข้าง (ซึ่งมักพบในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ที่เป็นโรคปอดติดเชื้อ Pneumocystic jiroveci) เมื่อรักษาจนอากาศถูกกำจัดออกจากโพรงเยื่อหุ้มปอดหมดแล้ว จะรักษาต่อโดยการปิดโพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อไม่ให้มีอากาศเข้าไปอยู่ได้อีก ซึ่งอาจทำได้โดยการใส่สารเคมีบางชนิด เช่น Talc หรือยา Tetracycline ผ่านท่อ Chest tube เข้าไป ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับผนังเยื่อหุ้มปอด ทำให้ผนังเยื่อหุ้มปอดทั้ง 2 ชั้นมายึดติดกัน จนทำให้ไม่มีโพรงเยื่อหุ้มปอดอีก หรืออาจใช้วิธีผ่าตัดเปิดผนังทรวงอก และตัดเยื่อหุ้มปอดชั้นนอกออก พร้อมกับขูดเยื่อหุ้มปอดชั้นในให้เกิดแผล เมื่อเยื่อหุ้มปอดชั้นในเกิดการสมานแผล จะเกิดเป็นพังผืดและไปยึดติดกับผนังทรวงอก โพรงเยื่อหุ้มปอดก็จะไม่มีอีกต่อไป วิธีนี้มีโอกาสประสบผลสำเร็จมากกว่าการวิธีใช้สารเคมีใส่เข้าไป

3. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะมีอากาศปริมาณมาก อีกทั้งมีโอกาสกลายเป็นภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน การรักษาจึงต้องใส่ท่อ Chest tube นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักเกิดเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มปอดร่วมด้วย ผู้ป่วยต้องใส่ท่อ Chest tube เพื่อระบายเลือดเพิ่มอีก 1 ตำแหน่ง

4. ผู้ป่วยที่ทีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดัน ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หากผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลและเกิดภาวะนี้ขึ้นมา การรักษาคือการใส่ท่อ Chest tube แต่โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะนี้มักเกิดจากการบาดเจ็บที่ทำให้มีอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด ผู้ป่วยจึงมักอยู่ภายนอกโรงพยาบาล การรักษาในเบื้องต้นจึงตกเป็นหน้าที่ของหน่วยกู้ชีพ ที่จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้ ซึ่งทำได้โดยการใช้เข็มขนาดใหญ่เจาะทะลุผ่านผิวหนังและผนังทรวงอกเข้าไปที่โพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อให้เกิดช่องทางเชื่อมต่อระหว่างอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดกับอากาศภายนอกเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางนอกจากช่องทางที่เกิดจากกการบาดเจ็บ จะได้ไม่เกิดปรากฏการณ์ของลักษณะวาล์ว/ลิ้นปิดเปิดด้านเดียว และช่วยลดแรงกดดันของอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอดลงได้

ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศมีผลข้างเคียงและความรุนแรงอย่างไร?

ผลข้างเคียงและความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของภาวะนี้ คือ

1. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ จะมีการพยากรณ์โรคดี/ความรุนแรงโรคต่ำ มีโอกาสเสียชีวิต(ตาย)ได้น้อยมาก โอกาสจะเกิดภาวะนี้ซ้ำในช่วง 5 ปี หลังจากเป็นครั้งแรกมีประมาณ 30%

2. ผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดที่เกิดจากการมีโรคในปอด การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคขึ้นอยู่กับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ โดยเฉลี่ยโอกาสการเกิดซ้ำจะสูงกว่าผู้ป่วยกลุ่มแรก

3. ผู้ป่วยที่มีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศที่เกิดจากการบาดเจ็บ การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงโรคจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บที่ผู้ป่วยได้รับ แต่หากเกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศชนิดเกิดแรงดันขึ้นมา โอกาสเสียชีวิตจะสูงมาก หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที

ป้องกันและการดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ?

การป้องกันภาวะนี้ และการดูแลตนเองเมื่อเกิดภาวะนี้ คือ

1. ผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศทั้งชนิดเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และชนิดที่เกิดจากการมีโรคในปอด ควรหลีกเลี่ยงการโดยสารเครื่องบิน เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะนี้ซ้ำขึ้นได้ขณะที่อยู่บนเครื่องบิน รวมทั้งห้ามการดำน้ำลึกด้วย

2. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทั้งในภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศทั้งชนิดเกิดเองโดยไม่ทราบสาเหตุ และชนิดที่เกิดจากการมีโรคในปอด ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ยังไม่เคยป่วยจึงต้องเลิกสูบบุหรี่/ไม่สูบบุหรี่

3. แพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังในการทำหัตถการต่างๆ ที่อาจทำให้ถุงลมปอดหรือแขนงหลอดลมฉีกขาด การใช้เทคนิคบางอย่างก็จะช่วยลดการเกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศลงได้ เช่น การใช้อัลตราซาวน์มาช่วยในการเจาะดูดน้ำจากโพรงเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

หากมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมาเฉียบพลัน ร่วมกับหายใจเหนื่อยหอบ ควรไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที

บรรณานุกรม

  1. http://emedicine.medscape.com/article/424547-overview[2017,May13]
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Pneumothorax [2017,May13]
Updated 2016,May13