ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ (Cervical dysplasia)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติคืออะไร?

ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ หรือ เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ หรือ ภาวะเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ (Cervical dysplasia หรือ Cervical intraepithelial neoplasia ย่อว่า CIN หรือ Squamous intraepithelial lesion) เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงเจริญผิดปกติที่ระดับเซลล์ที่ปากมดลูก ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ขยายดูลักษณะของนิวเคลียส(Nucleus,ส่วนประกอบทางพันธุกรรมของเซลล์ที่รวมตัวกันอยู่ในเยื่อหุ้ม มักมีรูปร่างค่อนข้างกลม และมักอยู่ตรงส่วนกลางของเซลล์) และ ของไซโตปลาสซึม(Cytoplasm, สารต่างๆทุกชนิดที่อยู่ในเซลล์ ส่วนที่ไม่ใช่นิวเคลียส)ของเซลล์ ซึ่งจะมีความแตกต่างไปจากเซลล์ปกติ การมีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ/เจริญผิดปกติถือว่าเป็นระยะก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก(Precancerous lesion of cervix) โดยในขั้นตอน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะมีการใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อป้ายเซลล์บริเวณปากมดลูกมาทำการย้อมเซลล์แล้วตรวจดูว่าผิดปกติหรือไม่ ซึ่งสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของปากมดลูกได้ตั้งแต่ยังไม่สามารถมองเป็นพยาธิสภาพที่ปากมดลูกได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกชนิดสเควมัส(Squamous intraepithelial lesion) มีหลายระดับและเรียกกันหลายชื่อ ได้แก่

  • Mild dysplasia หรือ Cervical intraepithelial lesion I (CIN I) หรือ Low-grade squamous intraepithelial lesion (LSIL) หรือ Dysplasia grade I: เป็นระยะมีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ระดับน้อย มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้น้อย มีรายงานพบได้ประมาณ 1%ของผู้ป่วยที่เซลล์ระยะนี้พัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ประมาณ 11%พัฒนาไปเป็น Severe dysplasia และในผู้ป่วยบางรายเซลล์อาจเจริญกลับเป็นปกติได้เอง
  • Moderate dysplasia หรือ Cervical intraepithelial lesion II (CIN II)หรือ Dysplasia grade II: มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ระดับปานกลางที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้สูงกว่าใน Grade I คือ ประมาณ5%ของผู้ป่วย และพัฒนาไปเป็น Severe dysplasia ได้ประมาณ 22%
  • Severe dysplasia หรือ Cervical intraepithelial lesion III (CIN III) หรือ Dysplasia grade III หรือ High-grade squamous intraepithelial lesion (HSIL) หรือ Cervial carcinoma in situ(CIS): ระยะนี้มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติในระดับมาก และมีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากประมาณ 12%ของผู้ป่วย
  • Squamous cell carcinoma: เซลล์มีความผิดปกติมาก และชัดเจนเหมือนเป็นเซลล์มะเร็ง แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ได้หมายความว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกจริง เพราะเป็นการตรวจทางเซลล์วิทยาเท่านั้น ต้องมีการตัดเอาชิ้นเนื้อมาตรวจเพื่อยืนยันก่อนเสมอ

อนึ่ง:

  • ภาวะนี้พบได้ในสตรีทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก ทั่วไปมักพบในช่วงอายุ 25-35 ปี
  • ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบภาวะนี้ได้ในสตรีประมาณ 250,000-1ล้านคน ในแต่ละปี
  • จากการศึกษาพบว่า การที่เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกตินี้จะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูกใช้เวลาเฉลียประมาณ 15 ปี (ช่วงเวลาที่มีรายงาน คือ 3-40ปี)

 

 

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ?

ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ

สาเหตุหลักที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ คือ การติดเชื้อไวรัส Human papilloma virus (HPV)ของปากมดลูกจากการมีเพศสัมพันธ์ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การติดเชื้อเอชพีวีอวัยวะเพศหญิง, เรื่อง เอชพีวี: โรคติดเชื้อเอชพีวี, และเรื่อง วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เอชพีวีวัคซีน) ซึ่งเชื้อ HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ย่อย สายพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่พบมากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ18 และในหญิงไทย คือ สายพันธ์ย่อย 52 การติดเชื้อ HPV พบได้บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธ์ แต่ส่วนมากร่างกายสามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีออกได้หากสุขภาพแข็งแรง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เชื้อเอชพีวีคงอยู่ แล้วเหนี่ยวนำให้เกิดความผิดปกติของการเจริญของเซลล์บริเวณปากมดลูก จนเกิดเป็นการเจริญของเซลล์ที่ผิดปกติ และเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ?

สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ได้แก่

1. มีคู่นอนหลายคน

2. คู่นอนมีการติดเชื้อ HPV

3. คู่นอนมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่นหลายคน

4. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย

5. สูบบุหรี่

6. มีภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายบกพร่อง เช่น โรคเอดส์

7. ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ในรายที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

 

อาการของการมีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติมีอะไรบ้าง?

อาการของการมีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ได้แก่

1. ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ มักเป็นการตรวจพบโดยบังเอิญจากการไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

2. ตกขาวผิดปกติ

3. มีเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย

4. มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์

 

แพทย์วินิจฉัยภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และที่ให้ผลแน่นอน คือ จากการรายงานผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นการตรวจทางเซลล์วิทยา ในขั้นตอนการตรวจ จะสามารถเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูก (โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของเซลล์สเควมัสและเซลล์คอลัมนา(Squamo-columna junction)ได้เฉพาะบริเวณผิวๆ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกรายงานว่ามีเซลล์เจริญผิดปกติ แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติม โดยต้องได้ชิ้นเนื้อเยื่อจากการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกมาตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อยืนยันพยาธิสภาพจริงๆร่วมด้วยเสมอ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง หากมีแผลหรือร่องรอย/รอยโรคผิดปกติที่ปากมดลูกที่แพทย์สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า แพทย์ก็จะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม ในกรณีที่ไม่เห็นแผลหรือเห็นก้อนเนื้อ หรือความผิดปกติที่ปากมดลูกชัดเจน แพทย์จะทำการส่งผู้ป่วยไปตรวจด้วยกล้องขยาย Colposcopy ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อ บริเวณที่ผิดปกติ ด้วยขดลวดไฟฟ้า (Loop electrosurgical excision procedure –LEEP) เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งให้ผลตรวจที่แม่นยำกว่า และหากแพทย์ยังสงสัยว่าอาจมีพยาธิสภาพที่รุนแรงกว่าผลที่ได้จากการตัดชิ้นเนื้อชิ้นเล็กๆ แพทย์ก็จำเป็นที่ต้องตัดปากมดลูกด้วยมีดเป็นรูปกรวย(Cold knife conization)เพื่อให้ได้ชิ้นเนื้อใหญ่เพียงพอต่อการวินิจฉัยโรค ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ต้องตรวจหลายขั้นตอนเพื่อให้ทราบว่ามีส่วนใดของปากมดลูกที่พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ เพราะหากมีเซลล์มะเร็งแล้ว การดูแลรักษาจะแตกต่างกันไป

 

รักษาภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติอย่างไร?

จุดประสงค์ในการรักษาภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ก็เพื่อเป็นการตัดตอนไม่ให้โรคพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก การรักษาภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ขึ้นกับความรุนแรงของพยาธิสภาพที่ได้จากการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมจากการตรวจทางเซลล์วิทยาแล้ว นอกจากนี้ยังขึ้นกับ อายุผู้ป่วย และความต้องการมีบุตรด้วย

ในกรณีที่พยาธิสภาพไม่รุนแรง หลังจากการส่องกล้องขยายและตัดชิ้นเนื้อแบบ LEEP แล้ว (ซึ่งการทำ LEEPสามารถใช้เป็นการวินิจฉัยและรักษาโรคไปด้วยพร้อมกัน) แพทย์สามารถตรวจติดตามการพัฒนาของโรคได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะๆตามที่แพทย์กำหนด

ในกรณีที่พยาธิสภาพรุนแรงขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นมะเร็ง แพทย์ อาจรักษาด้วยวิธี LEEP หรือการจี้เย็น(Cryotherapy)ปากมดลูก หรือ การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวย (Cold knife conization )หรือพิจารณา ผ่าตัดมดลูก หากมีบุตรเพียงพอแล้ว ซึ่งหลังการรักษาแล้ว แพทย์จะยังต้องนัดผู้ป่วยมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ ๆ ต่อไป

ในกรณีผลชิ้นเนื้อออกมาเป็นมะเร็งปากมดลูก การรักษาจะแตกต่างไปจากที่กล่าวมา อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง มะเร็งปากมดลูก

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ได้แก่

1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

2. ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

3. ปฏิบัติตัวและไปตรวจตามที่แพทย์แนะนำ/แพทย์นัด

4. สังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ตกขาวมีกลิ่นผิดปกติ ตกขาวปนเลือด มีเลือดออกผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

 

การป้องกันภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติทำได้อย่างไร?

ภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติสามารถป้องกันได้โดย

1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

2. ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่อวัยวะเพศสตรี ที่รวมถึง อวัยวะเพศภายนอก ช่องคลอด และปากมดลูก

3. ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อHPV ตามแพทย์แนะนำ

4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

 

สตรีที่มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติตั้งครรภ์ได้ไหม?

หากแพทย์ตรวจพบว่ามีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติในกรณีที่ยังไม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมจนถึงที่สุดว่า ไม่ใช่มะเร็งปากมดลูกก่อน แล้วจะรักษาจนหาย จึงจะแนะนำการตั้งครรภ์

แต่หากมาตรวจพบความเจริญผิดปกติของเซลล์ฯหลังจากตั้งครรภ์แล้ว การดูแลจะแตกต่างออกไปในแต่ละผู้ป่วย แต่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ฯไปในทางแย่ลงของสตรีตั้งครรภ์จะไม่แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ แพทย์จะมีการตรวจปากมดลูกด้วย Colposcopy เพื่อดูความรุนแรงของพยาธิสภาพก่อน ส่วนการตัดชิ้นเนื้อที่ปากมดลูกเพิ่มเติม จะขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ และในส่วนการตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยจะมีการทำกันน้อยมาก แพทย์จะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป

 

เมื่อวางแผนตั้งครรภ์ควรปฏิบัติตนอย่างไร?

หากผลการตรวจปากมดลูกด้วยวิธี Colposcopy ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อแล้ว พยาธิสภาพไม่รุนแรง สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ โดยแพทย์จะนัดมาตรวจเป็นระยะๆ ทุก 2 เดือน จนกระทั่งหลังคลอดจะมีการตรวจปากมดลูกประเมินอีกครั้ง แล้วจึงจะพิจารณาว่า แพทย์ ควรทำหัตถการอย่างอื่นเพิ่มเติมและสามารถเก็บมดลูกไว้ได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกออก ทั้งนี้การดูแลตนเอง/การปฏิบัติตนให้ขึ้นกับการแนะนำของแพทย์ที่จะเป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละคนตามพยาธิสภาพของปากมดลูก

 

เมื่อตั้งครรภ์ควรดูแลตนเองอย่างไร?

กรณีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองโดย ไปตรวจติดตามเป็นระยะตามคำแนะนำของแพทย์ และสังเกตอาการผิดปกติเกี่ยวกับ ตกขาว เลือดออกทางช่องคลอด มีก้อนผิดปกติที่ขาหนีบ/ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบหรือไม่ และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดกรณีมีความผิดปกติดังกล่าว

 

หลังคลอดควรดูแลตนเองอย่างไร?

ในระยะหลังคลอด แพทย์จะทำการตรวจประเมินปากมดลูกด้วย Colposcopy อีกครั้งที่ประมาณหลังคลอด 3 เดือน แล้วจึงจะพิจารณาว่า จะต้องทำหัตถการอย่างอื่นเพิ่มเติมและสามารถเก็บมดลูกไว้ หรือจำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกออก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ

 

สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติควรคลอดด้วยวิธีการใด?

สตรีตั้งครรภ์ที่มีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ สามารถคลอดทางช่องคลอดได้เช่นเดียวกับการคลอดในสตรีทั่วไป การมีภาวะเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติ ไม่ได้เป็นเหตุผลในการผ่าตัดคลอด

 

บุตรที่เกิดจากสตรีที่มีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติจะเกิดปัญหาอะไรได้บ้าง?

การมีเซลล์ปากมดลูกเจริญผิดปกติของมารดา ไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่รวมถึงทารกหลังคลอด ทารกฯจะมีการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับทารกของสตรีทั่วไป

 

ทารกมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีจากมารดาไหม?

ทารกหลังคลอด มีรายงานติดเชื้อเอชพีวีขณะคลอดจากมารดาได้แต่พบได้น้อย ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลทารกกับมารดาเป็นกรณีๆไป ขึ้นกับพยาธิสภาพของปากมดลูกของมารดาแต่ละคน ทั่วไปการดูแลทารกฯจะเช่นเดียวกับการดูแลทารกที่คลอดจากสตรีทั่วไป

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.uptodate.com/contents/cervical-intraepithelial-neoplasia [2018,Feb3]
  2. https://www.webmd.com/cancer/cervical-cancer/cervical-dysplasia-symptoms-causes-treatments#1 [2018,Feb3]
  3. https://www.medicinenet.com/cervical_dysplasia/article.html [2018,Feb3]
  4. https://www.healthline.com/health/cervical-dysplasia#diagnosis [2018,Feb3]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cervical_intraepithelial_neoplasia [2018,Feb3]