ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (Intrauterine growth restriction)

สารบัญ

ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์คืออะไร?

ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ (ภาวะทารกโตช้าในครรภ์) ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Intrauterine growth restriction หรือ Intrauterine growth retardation ย่อว่า IUGR หมาย ถึง การที่ทารกในครรภ์ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น ทารกจะมีน้ำหนักน้อยกว่าที่ควรจะเป็นในอายุครรภนั้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่เจริญเติบโตปกติ ทารกกลุ่มนี้จะจัดว่าเป็นทารกที่มีขนาด/น้ำหนักตัวน้อยกว่าอายุครรภ์จริง ซึ่งโดยทั่วไปใช้เกณฑ์น้ำหนักตัวน้อยกว่าเปอร์เซนไทล์ (Percentile) ที่ 10 ของอายุครรภ์นั้นๆ แต่ทารกที่น้ำหนักน้อยหรือตัวเล็ก ไม่ได้หมายความว่าจะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ทั้งหมด ทารกที่พ่อและแม่ตัวเล็ก ทารกก็จะมีขนาดเล็กด้วย แม้ว่าจะเจริญเติบโตปกติ ทั้งนี้ ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์แบ่งเป็น 2 ประ เภท คือ

  • ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์แบบได้สัดส่วน (Symmetrical IUGR) ทารกกลุ่มนี้จะมีขนาดเล็กเหมือนเด็กตัวเล็ก (จากการวัดสัดส่วนจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น) ทั้งขนาดศีรษะ เส้นรอบท้อง และ/หรือความสูง สัดส่วนจึงไม่แตกต่างจากเด็กปกติที่ตัวเล็ก สาเหตุของกลุ่มนี้ มักเกิดจากความผิดปกติที่ตัวทารกเอง เช่น มีโครโมโซม (Chromosome) ผิดปกติ, การติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ทำให้เซลล์ร่างกายไม่เจริญเติบโต เป็นต้น
  • ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์แบบไม่ได้สัดส่วน (Asymmetrical IUGR) พบความผิด ปกติชนิดนี้ได้บ่อยกว่าชนิดแรก การเติบโตช้าจะเกิดช่วงหลังๆของการตั้งครรภ์ เช่น มารดาช่วง แรกของการตั้งครรภ์ปกติดี ทารกก็เจริญเติบโตตามปกติ แต่เมื่อช่วงอายุครรภ์มากขึ้นหรือใกล้คลอด มารดาเกิดมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ การเจริญเติบ โตของทารกจึงไม่เต็มศักยภาพ ทำให้ตัวเล็ก ซึ่งเมื่อทำการตรวจท้องด้วยอัลตราซาวด์ ขนาดศีรษะทารกจะเป็นไปตามอายุครรภ์นั้นๆ แต่ขนาดของท้องทารกมักจะเล็กกว่าอายุครรภ์ที่แท้ จริง เนื่องจากร่างกายทารกมีการปรับตัวที่จะส่งอาหารไปยังส่วนที่สำคัญที่สุด นั่นคือ สมอง นั่น เอง

ทำไมทารกจึงเจริญเติบโตช้าในครรภ์?

ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์

อุบัติการณ์ทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ พบได้ประมาณ 3-10% โดยสาเหตุที่ทำให้ทา รกในครรภ์เจริญเติบโตช้า แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • สาเหตุจากมารดา
    • มารดามีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะซีด โรคหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การส่งออกซิเจนไปยังลูกไม่เพียงพอ
    • ดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ทารกผิดปกติ พิการ ปัญญาอ่อนได้ (Fetal alcohol syndrome)
    • สูบบุหรี่ ซึ่งจะมีผลทำให้รกเสื่อมเร็ว
    • ขาดอาหาร
    • น้ำหนักตัวน้อย
  • สาเหตุจากทารก
    • โครโมรโซมผิดปกติ เช่น กลุ่ม ดาวน์ซินโดรม (Down's syndrome, Trisomy 21) นอกจากนั้นพวกผิดปกติชนิด Trisomy 13 หรือชนิด Trisomy 18 ทารกก็มีการเจริญเติบโตช้าเช่นกัน
    • มีความพิการแต่กำเนิด ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่
    • ครรภ์แฝด โดยเฉพาะแฝดที่เกิดจากไข่ใบเดียว ที่มีการเชื่อมต่อผิดปกติของหลอด เลือด ทำให้มีการถ่ายเทเลือดระหว่างเด็กแฝดผิดปกติ ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กแฝดผิดปกติ
    • มีการติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมัน ส่งผลให้เซลล์ของร่าง กายถูกทำลาย ทารกจึงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ทำให้ทารกตัวเล็ก
  • สาเหตุจากมดลูก รก และ/หรือ สายสะดือ
    • มดลูกรูปร่างผิดปกติ เช่น มีผนังกั้นในโพรงมดลูก (ปกติจะไม่มีผนังกั้นในโพรงมด ลูก) ขนาดโพรงมดลูกจึงแคบผิดปกติ ทารกจึงเจริญเติบโตได้ไม่ดี, มีเนื้องอกมดลูกทำให้โพรงมดลูกบิดเบี้ยว รกฝังตัวไม่ดี
    • รกเสื่อม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ภาวะรกเสื่อม)
    • รกลอกตัวบางส่วน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง รกลอกตัวก่อนกำหนด)
    • รกเกาะต่ำ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง ภาวะรกเกาะต่ำ)
    • มีเนื้องอกของรก
    • สายสะดือพันกัน หรือผูกเป็นปม

อนึ่ง ความผิดปกติทั้งหมดเหล่านี้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ ทารกจึงไม่สา มารถเจริญเติบโตได้เต็มที่

การเจริญเติบโตช้าในครรภ์มีผลของต่อทารกอย่างไร?

การเจริญเติบโตช้าในครรภ์มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับน้อยๆไม่ค่อยรุนแรง จนถึงระดับรุน แรงมาก ซึ่งหากรุนแรงมาก สามารถทำให้ทารกเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นสาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น มารดาที่มีโรคประจำตัว และได้รับการรักษาแก้ไขทันท่วงที ทา รกอาจสามารถกลับมาเจริญเติบโตเต็มตามศักยภาพได้ แต่หากเป็นสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้ เช่น มีความพิการแต่กำเนิดของทารก หรือเป็นโรคทางพันธุกรรม ก็จะเป็นการยากที่ทารกจะเจริญเติบ โตได้เต็มที่ หรือในกรณีที่ทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะมีผลต่ออวัยวะอื่นๆด้วย ทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ทารกผลิตปัสสาวะได้น้อย ทำให้ปริมาณปัสสาวะที่ขับออกมาเป็นน้ำคร่ำมีปริมาณน้อยไปด้วย หากรุนแรงมากอาจไม่มีน้ำคร่ำเลย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ จะส่งเสริมให้สายสะดือถูกกดทับมากขึ้นอีก ในเวลาที่มีการหดรัดตัวของมดลูก ทารกก็ยิ่งขาดเลือดมากขึ้น ทารกมีโอกาสถูกผ่าคลอดก่อนกำหนดสูงมากๆ เพราะหัวใจทารกเต้นผิดจังหวะ การคลอดในอายุครรภ์ที่อ่อนมากๆนั้น ระบบต่างๆในร่างกายทารกยังไม่สามารถทำงานได้ดี ทำให้เสี่ยงต่อภาวะปอดไม่ขยายตัว ไม่สามารถหายใจเองได้เมื่อคลอดออกมา มีโอกาสเลือดออกในสมอง มีโอกาสลำไส้ขาดเลือด ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกพิการ ติดเชื้อ และ/หรือเสีย ชีวิตได้

สตรีตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่าทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์?

เป็นการค่อนข้างยากที่สตรีตั้งครรภ์จะสังเกตได้ว่า ทารกในครรภ์ตนเองเจริญเติบโตช้า แต่หากทารกเจริญเติบโตน้อยมาก มารดาอาจจะสังเกตได้ว่าขนาดครรภ์ไม่โตขึ้น หรือยอดของครรภ์/มดลูกไม่สูงขึ้น หรือน้ำหนักตัวมารดาไม่เพิ่มขึ้น

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์?

การวินิจฉัยทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และหาสาเหตุได้ตั้งแต่ระยะแรก จะมีผลต่อการรักษามาก ทั้งนี้แพทย์จะวินิจฉัยว่าทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าได้จาก

  • ประวัติ: ในการมาฝากครรภ์ แพทย์จะทำการสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆของมารดา เพื่อหาความเสี่ยงต่างๆ (ดังกล่าวในหัวข้อ ทำไมทารกในครรถ์จึงเจริญเติบโตช้า) เช่น สอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัวของสตรีตั้งครรภ์ ประวัติการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ประวัติความพิการของคนในครอบครัว หรือบุตรคนก่อน ประวัติการคลอดทารกน้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักสตรีก่อนตั้งครรภ์ หรือน้ำหนักที่เพิ่มระหว่างตั้งครรภ์ ประวัติการขาดประจำเดือนเพื่อคำนวณอายุครรภ์ที่ถูกต้อง เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย: เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ของมารดา ความดันโลหิต ภาวะซีด ความสม บูรณ์ต่างๆของมารดา ขนาดของครรภ์สัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ เป็นต้น
  • การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจที่มีประโยชน์อย่างมาก แพทย์จะทำการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ ในกรณีที่ขนาดความสูงของยอดมดลูกเล็กกว่าที่ควรจะเป็นจากการคำนวณอายุครรภ์ เพื่อดูขนาดทารก รก ปริมาณน้ำคร่ำว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือ ไม่ ในกรณีที่มีปัญหา ทารกไม่เจริญเติบโตไปตามเกณฑ์ จะมีการตรวจอัลตราซาวด์ของครรภ์เป็นระยะๆทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารก
  • การตรวจเลือด เพื่อดูการติดเชื้อ และภาวะซีด
  • ตรวจคัดกรองโรคทางกรรมพันธุ์ต่างๆในสตรีที่มีความเสี่ยงสูง หรือตั้งครรภ์ตอนอายุมาก (มากกว่า 35 ปี) เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • การตรวจพิเศษติดตามสุขภาพทารกอื่นๆ เช่น ตรวจคลื่นหัวใจทารก, ตรวจการไหลเวียนของเลือด และแรงต้านในเส้นเลือด เป็นต้น

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์?

การดูแลตนเองของมารดา เมื่อทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า คือ

  • รักษา ควบคุมโรคประจำตัว และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) ในปริมาณตามคำ แนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • พักผ่อนให้มาก งดทำงานหนัก
  • สังเกตและจดบันทึกการดิ้นของทารกตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล

แพทย์ดูแลรักษาภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์อย่างไร?

แพทย์ดูแลรักษาภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ โดย

  • ตรวจสืบค้น เพื่อหาสาเหตุ และให้การรักษาโรค/ภาวะนั้นๆ
  • นัดมาตรวจครรภ์ถี่กว่าครรภ์ปกติทั่วไป
  • ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เป็นระยะอย่างเหมาะสม ทั้งการตรวจร่าง กายมารดา และการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์
  • พิจารณาให้คลอดเมื่อ อายุครรภ์ครบกำหนด หรือเมื่อตรวจพบว่าทารกไม่มีการเจริญเติบ โตในครรภ์อีกต่อไป หรือกรณีที่ทารกมีอาการแสดงผิดปกติจากการขาดออกซิเจนรุนแรงจนทำให้หัวใจทารกเต้นผิดจังหวะ

หากทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ควรจะให้คลอดทางช่องคลอดหรือผ่าท้องคลอด?

โดยทั่วไป การคลอดทางช่องคลอดจะปลอดภัยสำหรับมารดามากกว่าการผ่าท้องคลอด อย่างไรก็ตามคงต้องดูสภาพทารกเป็นหลัก หากทารกไม่มีอาการผิดปกติระหว่างดำเนินการคลอด แพทย์จะพิจารณาให้คลอดทางช่องคลอด เพราะทารกเหล่านี้น้ำหนักตัวน้อย จะคลอดได้ง่าย แต่หากทารกขาดออกซิเจนเรื้อรัง จนร่างกายทารกไม่สามารถปรับตัวทนกับการขาดออกซิเจนได้ (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ) หรือกรณีมีปริมาณน้ำคร่ำน้อย เมื่อเวลามดลูกหดรัดตัวจะทำให้สายสะดือถูกกด ทารกจะขาดออกซิเจนเพิ่มขึ้น ทารกมักทนไม่ได้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จึงต้องช่วยชีวิตทารกแบบรีบด่วนด้วยการผ่าท้องคลอด

การพยากรณ์โรคของทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์เป็นอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของทารกที่เจริญเติบโตช้าในครรภ์ ขึ้นกับสาเหตุของการที่ทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า เช่น ถ้าเกิดจากรกเสื่อม หรือมารดามีความดันโลหิตสูง หรือตั้งครรภ์เกินกำ หนด หรือทารกมีภาวะขาดออกซิเจนไม่นาน การพยากรณ์โรคของทารกมักจะดี คือ เมื่อคลอดออกมา และได้รับอาหารที่เพียงพอ ก็สามารถเจริญเติบโตได้เหมือนเด็กปกติ

หากทารกมีความผิดปกติของโครโมโซม การพยากรณ์โรคของทารกจะขึ้นกับความรุน แรงของความผิดปกตินั้นๆ ซึ่งความผิดปกติฯบางชนิด ทารกอาจสามารถมีชีวิตหลังคลอดได้ แต่ก็เกิดความผิดปกติจากความผิดปกติของโครโมโซมนั้นๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม หรือความผิด ปกติฯบางชนิดก็ส่งผลให้ทารกไม่สามารถมีชีวิตหลังคลอดได้

หากทารกมีการติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์ อาจมีความพิการแต่กำเนิดได้ เช่นการติดเชื้อหัดเยอรมัน สามารถทำให้ทารกหูหนวก ตาบอด และปัญญาอ่อนได้

ดูแลสตรีหลังคลอดที่มีทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์อย่างไร?

หากไม่มีโรคประจำตัว ก็ดูแลสตรีที่มีทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์เหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป แต่หากมีโรคประจำตัว ก็จำเป็นต้องรักษาควบคุมโรคเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม สามารถให้นมทารกได้เหมือนปกติ หากทารกไม่มีปัญหาในการดูดนม หรือแพทย์ไม่แนะนำ จากการที่น้ำ นมอาจปนเปื้อนยาที่ใช้รักษาควบคุมโรคของมารดา ที่จะส่งผลข้างเคียงของยาต่อทารกได้

หากครรภ์แรกมีทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเกิดซ้ำอีกหรือ ไม่?

การที่ทารกในครรภ์ต่อไป จะมีภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์เหมือนครรภ์แรกหรือไม่ ขึ้น กับปัจจัยหรือสาเหตุที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในหัวข้อ ทำไมทารกจึงเจริญเติบโตช้าฯ กล่าวคือ หากเป็นภาวะที่สามารถรักษาหายได้ ครรภ์ต่อไปก็ไม่มีปัญหา/มีโอกาสเกิดทารกในครรภ์เจริญ เติบโตช้าได้น้อยไม่ต่างจากหญิงทั่วไป แต่หากทารกครรภ์แรกมีความผิดปกติของโครโมโซม โอกาสทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าก็อาจเกิดซ้ำได้

ดังนั้น หญิงที่มีทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ก่อนการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

สามารถป้องกันทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ได้หรือไม่?

การป้องกันภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ให้เต็มร้อย เป็นไปไม่ได้ เพราะสาเหตุมีทั้งสาเหตุที่ป้องกันได้และสาเหตุที่ป้องกันไม่ได้ อย่างไรก็ตามสามารถลดโอกาสเกิดภาวะนี้ลงได้อย่างมาก จากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ นอกจากนั้น คือ ระมัดระวังเรื่องการติดเชื้อต่างๆ และหากมีโรคประจำตัวก็ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อรักษาควบคุมโรคเหล่านั้นให้ได้ดี

ทารกที่เจริญเติบโตช้าในครรภ์หลังคลอด จะเจริญปกติไหม?

การเจริญเติบโตหลังคลอดของทารกขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากทารกไม่มีโครโมโซมผิดปกติ มีเพียงการขาดเลือดไปเลี้ยงก่อนคลอดเล็กน้อย หลังคลอดหากให้อาหารหรือน้ำนมแม่ให้เพียง พอ เด็กจะโตเร็วมาก เท่าเด็กปกติ แต่หากทารกผิดปกติแต่กำเนิด การเจริญเติบโตหลังคลอดก็จะมีปัญหาตามไปด้วย ซึ่งขึ้นกับความผิดปกตินั้นๆ

บรรณานุกรม

  1. http://www.accessmedicine.com/content.aspx?aid=6036563 [2013,Dec22].
  2. http://emedicine.medscape.com/article/261226-overview [2013,Dec22].