ฟูราโซลิโดน (Furazolidone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone) เป็นยาในกลุ่มไนโตรฟูแรน (Nitrofuran antibacterial agent, ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ผลิตจากการสังเคราะห์สารเคมี) ทางคลินิกนำมาใช้ต่อต้านเชื้อโรคประเภทแบคทีเรียชนิดแกรมบวกและแกรมลบ รวมถึงเชื้อประเภทโปรโตซัว (Protozoa, สัตว์เซลล์เดียว) อย่างเช่นจากเชื้อแบคทีเรียเช่น ชนิด Clostridium perfringens, Corynebacterium pyogenes, Streptococci Staphylococci, Escherichia coli, Salmonella dublin, Salmonella typhimurium และจากเชื้อสัตว์เซลล์เดียวเช่น ชนิด Giardia lamblia, Eimeria species และ Histomonas meleagridis

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาฟูราโซลิโดนจะเป็นยาชนิดรับประทาน และออกฤทธิ์ในลำไส้ ด้วยยานี้มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ต่ำมาก ทางคลินิกจึงนำมาใช้บำบัดอาการลำไส้ใหญ่อักเสบและท้องเสียโดยสามารถใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นได้ด้วย

การรับประทานยาฟูราโซลิโดนร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดอาการหน้าแดง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และเป็นลม ดังนั้นควรเว้นระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 4 วันในการรับประทานยานี้กับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ หรือการรับประทาน ยาฟูราโซลิโดนร่วมกับอาหารที่มีส่วนประกอบของ Tyramine (สารธรรมชาติที่สามารถกระตุ้นการทำงานของสมองได้ มีมากในอาหารหลายประเภทเช่น เบียร์ เนยแข็ง ปลารมควัน เนื้อสัตว์แปรรูป) สามารถทำให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้นได้

มีข้อระวังโดยทั่วๆไปที่ผู้บริโภคควรทราบและถือเป็นข้อจำกัดของการใช้ยาฟูราโซลิโดนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาฟูราโซลิโดน
  • ไม่ใช้ในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 เดือน
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรถือเป็นกลุ่มเสี่ยงซึ่งการจะใช้ยาใดๆกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ยาฟูราโซลิโดนสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้หลายรายการ ก่อนใช้ยาฟูราโซลิโดนผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่าใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อนหน้านี้
  • การใช้ยากับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) อาจให้เกิดภาวะโลหิตจางในระดับความรุนแรงต่ำๆขึ้นได้

จากข้อจำกัดข้างต้นและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การใช้ยาฟูราโซลิโดนในการรักษาโรคจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ฟูราโซลิโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ฟูราโซลิโดน

ยาฟูราโซลิโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • รักษาอาการท้องเสีย/ท้องร่วงจากเชื้อแบคทีเรียหรืออหิวาตกโรค
  • รักษาอาการท้องเสียจากเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว Giardia lamblia

ฟูราโซลิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฟูราโซลิโดนมีกลไกออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรียและ/หรือในเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียวที่ก่อโรค นอกจากนี้ยังรบกวนการจำลองสารพันธุกรรมที่เรียกว่า DNA ในกลุ่มเชื้อโรคดังกล่าว ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัวไม่สามารถเจริญเติบโต หยุดการแพร่พันธุ์ และตายลงในที่สุด

ฟูราโซลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟูราโซลิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น
    • Furazolidone 50 มิลลิกรัม + Kaolin 3 กรัม + Pectin 75 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร
    • Furazolidone 50 มิลลิกรัม + Kaolin 3 กรัม + Pectin 150 มิลลิกรัม/15 มิลลิลิตร
    • Furazolidone 60 มิลลิกรัม + Pectin 150 มิลลิกรัม + Kaolin 3 กรัม/15 มิลลิลิตร
    • Furazolidone 500 มิลลิกรัม + Pectin 225 มิลลิกรัม + Kaolin 3 กรัม/15 มิลลิลิตร

ฟูราโซลิโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาฟูราโซลิโดนมีขนาดรับประทานเช่น

ก. สำหรับรักษาอาการท้องเสียจากเชื้อแบคทีเรียหรืออหิวาตกโรค:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้งหลังอาหารเป็นเวลา 5 - 7 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 1.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 4 ครั้งหลังอาหารเป็นเวลา 5 - 7 วัน

ข. สำหรับรักษาอาการท้องเสียจากเชื้อโปรโตซัว/สัตว์เซลล์เดียว Giardia lambia:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้งหลังอาหารเป็นเวลา 7 - 10 วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 1.25 - 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 4 ครั้งหลังอาหารเป็นเวลา 7 - 10 วัน

*อนึ่ง

  • เด็กอายุต่ำกว่า 1 เดือน: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 เดือน

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาฟูราโซลิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาฟูราโซลิโดนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟูราโซลิโดนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาฟูราโซลิโดนตรงเวลา

ฟูราโซลิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟูราโซลิโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีไข้ เกิดผื่นคัน ปวด/เจ็บข้อ ปวดท้อง ปวดศีรษะ เกิดท้องเสีย คลื่นไส้และอาเจียน

มีข้อควรระวังการใช้ฟูราโซลิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาฟูราโซลิโดนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาฟูราโซลิโดน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารที่มีส่วนประกอบของสาร Tyramine เช่น อาหารประเภทชีส/เนยแข็ง/Cheese น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ต่างๆ
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์หรือแม้แต่ยาน้ำประเภทอิลิกเซอร์ (Elixir)/ยาดองซึ่งมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสารกาเฟอีนเช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เครื่องดื่มประเภทโคล่า หรือแม้แต่การสูบบุหรี่
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) ด้วยจะกระตุ้นให้เกิดภาวะโลหิตจาง
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกรอย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟูราโซลิโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟูราโซลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟูราโซลิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟูราโซลิโดนร่วมกับยา Phenylephrine ด้วยอาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและอาจถึงขั้นกับเสียชีวิต (ตาย) ผู้ป่วยควรเว้นระยะเวลาของการใช้ยาทั้ง 2 รายการนี้ห่างกันอย่างน้อย 14 วัน
  • การใช้ยาฟูราโซลิโดนร่วมกับยา Codeine, Hydrocodone อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมาเช่น กดการหายใจ มีความดันโลหิตต่ำ เป็นลม มีภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัยผู้ป่วยควรเว้นระยะเวลาการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มห่างกัน 14 วันเป็นอย่างต่ำ
  • การใช้ยาฟูราโซลิโดนร่วมกับยา Carbamazepine, Ergotamine อาจก่อให้เกิดภาวะ Seroto nin syndrome ได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาฟูราโซลิโดนร่วมกับยา Zolmitriptan ด้วยจะทำให้ระดับยา Zolmitriptan ในกระแสเลือดเพิ่มสูงจนทำให้ได้รับผลข้างเคียงของยา Zolmitriptan ติดตามมาเช่น ทำให้หลอดเลือดหดตัว ลดการไหลเวียนของโลหิตที่ไปเลี้ยงยังอวัยวะต่างๆของร่างกาย เสี่ยงกับการเกิดความ ดันโลหิตสูง และหัวใจล้มเหลว

ควรเก็บรักษาฟูราโซลิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟูราโซลิโดนในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ฟูราโซลิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟูราโซลิโดนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Difuran (ไดฟูแรน)The Forty-Two
Disento PF (ไดเซนโต พีเอฟ) Nakornpatana
Furion (ฟูริออน) Chew Brothers
Furamed (ฟูราเมด) Medicpharma
Furasian (ฟูราเซียน) Asian Pharm
Furazolidone A.N.H. (ฟูราโซลิโดน เอ.เอ็น.เฮช)ANH Products
Furopectal Syrup (ฟูโรเพคทอล ไซรัป) SSP Laboratories
Furopectin (ฟูโรเพคติน)PP Lab
Profura (โพรฟูรา) Medicine Products
Patarlin (พาทาร์ลิน) Patar Lab
Suratin (ซูราทิน) Suphong Bhaesaj

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยาฟูราโซลิโดนที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Furoxone, Dependal-M, Diafuron, Medaron

บรรณานุกรม

  1. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/furazolidone-oral-route/precautions/drg-20063994 [2016,Jan30]
  2. http://www.drugs.com/cons/furazolidone.html [2016,Jan30]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Furazolidone [2016,Jan30]
  4. http://mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Furazolidone [2016,Jan30]
  5. http://www.drugs.com/drug-interactions/furazolidone-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan30]