ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าและต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดแกรมลบที่มักจะทำให้เกิดการติดเชื้อตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น การติดเชื้อที่กระดูก (กระดูกอักเสบ) ข้อ ผิวหนัง ระบบทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่ต่อมลูกหมาก(ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ), ที่หู(หูติดเชื้อ), ที่หลอดลม (หลอดลมอักเสบ), และยังใช้รักษา โรคปอดบวม, วัณโรค, รวมไปถึงโรคบางชนิดที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)

ยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ไม่เพียงแต่ใช้เพื่อการรักษาแต่ยังสามารถใช้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น การผ่าตัดท่อทางเดินน้ำดี/ระบบทางเดินน้ำดี, หรือการผ่าตัดตา, และยังมีการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอื่น

ลักษณะหรือรูปแบบของยากลุ่มนี้ที่แพทย์มักจะสั่งจ่ายให้ผู้ป่วยบ่อยๆจะเป็นประเภทยาเม็ดและยาฉีด ตัวอย่างของยาในหมวดฟลูออโรควิโนโลนที่พบเห็นการใช้งานทางคลินิกบ่อยๆได้แก่ยา Moxifloxacin, Ciprofloxacin, Levofloxacin, Ofloxacin, Lomefloxacin, Norfloxacin, Enoxacin, Gatifloxacin และ Sparfloxacin

เพื่อมิให้เกิดการสับสนระหว่างยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน กับ ยาควิโนโลน (Quinolones) อาจกล่าวว่า กลุ่มยาควิโนโลนเป็นหมวดยาที่เป็นสมาชิกของยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนอีกทีหนึ่งก็ได้

สำหรับการกระจายตัวของยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลนแต่ละตัวในร่างกายมนุษย์พบว่า มีความแตกต่างกันในแง่ของเวลาการดูดซึมและเวลาในการกำจัดยาออกจากร่างกาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครง สร้างทางเคมีของยาที่มีแตกต่างกันออกไป

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุยาบางตัวของกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย เช่นยา Ciprofloxacin, Norfloxacin, Ofloxacin, และ Levofloxacin

การจะเลือกใช้ยากลุ่มนี้ตัวใดที่เหมาะสมปลอดภัยมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ฟลูออโรควิโนโลนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ฟลูออโรควิโนโลน

ยาฟลูออโรควิโนโลนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • บำบัดรักษาการติดเชื้อของต่อมลูกหมาก/ ต่อมลูกหมากอักเสบติดเชื้อ
  • รักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  • รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • รักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
  • รักษาโรคติดเชื้อผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน (Skin and soft tissue infections)
  • บำบัดรักษาการติดเชื้อของตา
  • บำบัดรักษาหูติดเชื้อ

ฟลูออโรควิโนโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มฟลูโอโรควิโนโลนคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Topoisomerase II และ Topoisomerase IV มีผลให้แบคทีเรียไม่สามารถจำลองและสร้างสารพันธุกรรม (DNA) ของตัวมันเอง จึงเกิดการชะลอการเจริญเติบโตและตายลงในที่สุด

ฟลูออโรควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฟลูออโรควิโนโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยาหยอดหู
  • ยาหยอดตา

ฟลูออโรควิโนโลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

เนื่องจากยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลนมีหลายรายการ ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคจึงมีความแตกต่างและหลากหลาย หากผู้ป่วยมีการทำงานของไต - ตับผิดปกติก็ต้องมีการปรับขนาดการรับประทานเป็นกรณีไป การใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจึงขึ้นกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา ซึ่งขอยกตัวอย่างขนาดรับประทานในผู้ใหญ่ของยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เช่น

  • Norfloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละ2ครั้ง
  • Lomefloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • Enoxacin: รับประทานครั้งละ 200 - 400 มิลลิกรัมวันละ2ครั้ง
  • Ofloxacin: รับประทานครั้งละ 200 - 400 มิลลิกรัมวันละ2ครั้ง
  • Ciprofloxacin: รับประทานครั้งละ 250 - 750 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง
  • Levofloxacin: รับประทานครั้งละ 250 - 500 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • Sparfloxacin: รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • Gatifloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • Moxifloxacin: รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
  • Trovafloxacin: รับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมต่อวัน

*อนึ่ง:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาเหล่านี้แต่ละชนิดขึ้นกับชนิดของโรค, ชนิดของแบคทีเรียที่ก่อโรค, อวัยวะที่เกิดโรค, สุขภาพและโรคร่วมต่างๆของผู้ป่วย, ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัดถึงการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็ก ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาฟลูออโรควิโนโลน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาฟลูออโรควิโนโลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาฟลูออโรควิโนโลนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ฟลูออโรควิโนโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฟลูออโรควิโนโลนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • วิงเวียน
  • ง่วงนอน
  • ปวดหัว
  • สับสน
  • นอนไม่หลับ
  • ซึมเศร้า
  • อ่อนเพลีย
  • ชัก
  • ตัวสั่น
  • ประสาทหลอน
  • ผื่นคัน
  • ผิวแพ้แสงแดด
  • ผิวเป็นจ้ำแดง
  • กลืนลำบาก
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • มีไข้
  • ใบหน้า-คอ-ขาบวม
  • เกิดความเสียหายของเส้นเอ็น/เอ็นอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออโรควิโนโลนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ฟลูออโรควิโนโลน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับ เด็ก วัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร นอกจากมีคำสั่งจากแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • หากเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงจากยานี้ที่รบกวนการดำรงชีวิตประจำวัน ให้รีบกลับมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินปรับแนวทางการรักษา
  • ระหว่างการใช้ยากลุ่มนี้ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดโดยตรงโดยเฉพาะช่วงเวลา 10 - 15 นาฬิกา ด้วยอาจเกิดการกระตุ้นให้ผิวแพ้แสงแดดได้ง่าย
  • ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชัก เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช่
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาฟลูออโรควิโนโลนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ฟลูออโรควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฟลูออโรควิโนโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยาลดกรดที่มีเกลืออะลูมิเนียม (Aluminium: เช่น ยา Aluminium hydroxide) และแมกนีเซียม (เช่น ยา Magnesium trisylicate) เป็นส่วนผสม จะลดการดูดซึมของยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันควรเว้นระยะเวลาการรับ ประทานยาให้ห่างกัน 2 - 4 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) อาจทำให้เกิดการกระตุ้นสมองจนเกิดภาวะลมชักติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin จะทำให้ฤทธิ์ของยา Warfarin เพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การรับประทานยากลุ่มฟลูออโรควิโนโลน ร่วมกับ ยารักษาโรคหืด เช่นยา Theophyline จะทำให้ร่างกายกำจัดยา Theophyline ได้น้อยลงจนอาจส่งผลต่อการเกิดข้างเคียง/ผลข้างเคียงของยา Theophyline เพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาฟลูออโรควิโนโลนอย่างไร?

ควรเก็บยาฟลูออโรควิโนโลน: เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ฟลูออโรควิโนโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาฟลูออโรควิโนโลน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Avelox (เอวีล็อกซ์)Bayer HealthCare Pharma
Ciflex (ซิเฟล็กซ์)Suphong Bhaesaj
Ciflo (ซิโฟล)Masa Lab
Ciflolan (ซิโฟลแลน)Olan-Kemed
Cifloxin (ซิโฟลซิน)Siam Bheasach
Cifloxno (ซิฟล็อกซ์โน) Milano
Cifolox (ซิโฟล็อกซ์)L. B. S.
Cifran (ซิฟราน)Ranbaxy
Cinfloxine (ซินโฟลซิน)Medicine Products
Cipflocin (ซิพโฟลซิน)Asian Pharm
Cipon (ซิพอน)Unison
Cipro I.V. (ซิโปร ไอ.วี)L. B. S.
Ciprobay (ซิโปรเบ)Bayer HealthCare Pharma
Ciprobid (ซิโปรบิด)Zydus Cadila
Ciprocep (ซิโปรเซพ)T.O. Chemicals
Ciprofex (ซิโปรเฟ็กซ์)The United Drug (1996)
Ciprofin (ซิโปรฟิน)Utopian
Ciprofloxacin Injection Fresenius Kabi (ไซโปรฟล็อกซาซิน อินเจ๊กชั่น ฟรีซีเนีส กะบี่)Fresenius Kabi
Ciprogen (ซิโปรเจน)General Drugs House
Ciprohof (ซิโปรฮอฟ)Pharmahof
Ciprom-M (ซิพร็อม-เอ็ม)M & H Manufacturing
Ciproquin (ซิโพรควิน)Claris Lifesciences
Ciproxan (ซิโปรแซน)Pond’s Chemical
Ciproxin (ซิโปรซิน)Osoth Interlab
Ciproxin-500 (ซิโปรซิน-500)T. Man Pharma
Ciproxin-T.M. (ซิโปรซิน-ที่.เอ็ม) T. Man Pharma
Ciproxyl (ซิโปรซิล)Farmaline
Cobay (โคแบย์)Millimed
Cravit (คราวิต)Daiichi Sankyo
Cravit IV (คราวิต ไอวี)Daiichi Sankyo
Crossa-200 (ครอสซา-200)T. Man Pharma
Crossa-400 (ครอสซา-400)T. Man Pharma
Cyflox (ไซฟล็อกซ์)Greater Pharma
Darflox (ดาร์ฟล็อกซ์)Meiji
Enoxin (อีโนซิน)Charoon Bheasaj
Floxcipro 500 (ฟล็อกซ์ซิโปร 500)Medicpharma
Floximed (ฟล็อกซิเมด)Burapha
Gonorcin (โกนอร์ซิน)General Drugs House
Gracevit (กราซีวิต)Daiichi Sankyo
Hyflox (ไฮฟล็อกซ์)Masa Lab
Loxof (โลซอฟ)Ranbaxy
Manoflox (มาโนฟล็อกซ์)March Pharma
Mifloxin (มิฟล็อกซ์ซิน)Community Pharm PCL
Lexfor (เล็กซ์ฟอร์)Thai Nakorn Patana
Loxof (เล็กซ์ออฟ)Ranbaxy
Norfloxacin Community Pharm (นอร์ฟล็อกซาซิน คอมมูนิตี้ ฟาร์ม)Community Pharm PCL
Norfloxin (นอร์ฟล็อกซิน)T.O. Chemicals
Norxacin (นอร์ซาซิน)Siam Bheasach
Ofloxa (โอฟล็อกซา)L. B. S.
Ofloxin (โอฟล็อกซิน)Siam Bheasach
Peflacine (พีฟลาซิน)Aventis
Qinolon (ควิโนโลน)Great Eastern
Uroflox (ยูโรฟล็อกซ์)Eurodrug
Uroxin (ยูโรซิน)Unison
Xyrocin-250 (ไซโรซิน-250)V S Pharma
Zinor 400 (ซีนอร์ 400)Patar Lab
Vigadexa (ไวกาเดกซา)Alcon
Vigamox (ไวกามอกซ์)Alcon

บรรณานุกรม

  1. https://www.encyclopedia.com/medicine/drugs/pharmacology/fluoroquinolones [2021,Oct9]
  2. https://www.aafp.org/afp/2000/0501/p2741.html [2021,Oct9]
  3. https://www.medscape.com/viewarticle/418295_4 [2021,Oct9]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=norfloxacin [2021,Oct9]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=ofloxacin%20 [2021,Oct9]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Quinolone_antibiotic [2021,Oct9]