พาคลิแทคเซล (Paclitaxel)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพาคลิแทคเซล หรือ แพคลิแทคเซล (Paclitaxel ย่อว่า PTX หรือ Pac)เป็นยาเคมีบำบัด(Chemotherapy)ประเภทแอลคาลอยด์ ที่สกัดได้จากเปลือกของต้นยู(Bark from the Pacific yew, พืชในกลุ่มทุเรียนเทศหรือทุเรียนน้ำ) ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาพาคลิแทคเซล เป็นสารละลายปราศจากเชื้อ แบบฉีด ตัวยามีระยะเวลาของการเสื่อมสลายภายในร่างกายยาวนานเฉลี่ย 5.8 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องมารับการให้ยาทุกๆ 3 สัปดาห์ จนกระทั่งครบเทอมของการรักษา ปกติการรักษามะเร็งมักจะใช้ยารักษามะเร็งตัวอื่น เช่นยา Cisplatin , Carboplatin, หรือ Trastuzumab ร่วมในการรักษาพร้อมกับยาพาคลิแทคเซล

ระหว่างที่ได้รับยาพาคลิแทคเซล ยังมีข้อควรระวังและคำเตือนต่างๆที่ต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ เช่น

  • ยาพาคลิแทคเซล สามารถกดการสร้างเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด ไขกระดูกได้ชั่วคราว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกง่ายเพิ่มขึ้น
  • มีอาการปวดข้อ และปวดกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นชั่วคราว 2-3 วันหลังจากได้รับยาพาคลิแทคเซล แต่อาการเหล่านี้มักจะหายได้เองภายในไม่กี่วัน
  • เกิดอาการทางระบบประสาทส่วนปลาย เช่น ชามือและเท้า ซึ่งอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงภายในเวลาต่อมา
  • ผมร่วง ซึ่งเราจะพบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดทุกชนิดรวมถึงยาพาคลิแทคเซล แต่การงอกของเส้นผมจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยาพาคลิแทคเซล
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย เกิดแผลในช่องปาก ทั่วไปจะไม่ค่อยรุนแรงเท่าใดนัก และสามารถหายได้เอง
  • หากมีอาการบวมที่เท้า-ข้อเท้า หรือมีภาวะบวมน้ำ เกิดผื่นคัน อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ต้องรีบให้แพทย์ตรวจประเมินอาการของร่างกายเพิ่มเติมว่า มีภาวะแพ้ยา หรืออาการแทรกซ้อนอื่นใดร่วมด้วยหรือไม่
  • ยาพาคลิแทคเซลสามารถทำให้เกิดพิษ(ผลข้างเคียงรุนแรง)ต่อการทำงานของตับได้เหมือนกับยารักษามะเร็งต่างๆ แพทย์จึงจำเป็นต้องตรวจการทำงานของตับเป็นระยะๆตลอดการรักษาด้วยยาชนิดนี้
  • อาการความดันโลหิตต่ำสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงประมาณ 3 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยาพาคลิแทคเซลเข้าทางหลอดเลือด ผู้ป่วยจะต้องนอนพักเพื่อดูอาการจนกระทั่ง ความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติเสียก่อน แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
  • มีอาการหมองคล้ำของผิวหนัง ซึ่งเคยเกิดจากการทำรังสีรักษาก่อนที่จะได้รับตัวยาพาคลิแทคเซล อาการนี้จะค่อยๆทุเลาลงเมื่อหยุดใช้ยานี้

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงข้างต้นอาจจะเกิดขึ้นไม่เกิน 10% จากจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้ อย่างไรก็ตามหากพบอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลผู้ดูแลรักษาห้ทราบ เพื่อขอคำแนะนำและเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาได้ทันเวลา

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ยาพาคลิแทคเซลเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลด้านโรคมมะเร็งควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย และคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยาพาคลิแทคเซลเป็นยาควบคุมพิเศษ ซึ่งต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์แต่ผู้เดียว เราจึงพบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาพาคลิแทคเซล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้

พาคลิแทคเซลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พาคลิแทคเซล

ยาพาคลิแทคเซลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาหรือเป็นยาสนับสนุนการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต

พาคลิแทคเซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาพาคลิแทคเซล มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไมโครทิวบูล(Antimicrotubule agents)ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การยับยั้งโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถขยายขนาด หยุดการเจริญเติบโต และตายลงในที่สุด

พาคลิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพาคลิแทคเซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Paclitaxel ขนาด 100 มิลลิกรัม/17 มิลลิลิตร, 260 มิลลิกรัม/43.4 มิลลิลิตร 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตรม, 300 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร

พาคลิแทคเซลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาพาคลิแทคเซลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ น้ำหนักตัวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงอายุ และประวัติการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัวต่างๆ แพทย์อาจใช้ยา Cisplatin หรือ Carboplatin มาเป็นยาร่วมสนับสนุนการรักษามะเร็งให้หายเร็วขึ้น

อย่างไรก็ตามระหว่างที่ได้รับยาพาคลิแทคเซล แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น

  • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเป็นไข้หนาวสั่น
  • อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก และ/หรือมีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น
  • เจ็บปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยามาก
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
  • อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
  • ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • อุจจาระมีสีดำคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • เกิดแผลในช่องปากและคอ
  • มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • เกิดอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • บวมตามเท้า ข้อเท้า หรือมีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • มีอาการคล้ายกับภาวะติดเชื้อ เช่น เกิดอาการไอ เจ็บขณะถ่ายปัสสาวะ

ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับพาคลิแทคเซล?

การดูแลตนเองขณะได้รับ ยาพาคลิแทคเซล ที่สำคัญ มีดังนี้

  • ยาชนิดนี้/ยานี้อาจทำให้รู้สึก วิงเวียน หรือง่วงซึม ขณะเกิดอาการดังกล่าวห้ามผู้ป่วยทำงานกับเครื่องจักรกลหรือขับขี่ยานพาหนะต่างๆด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • เพื่อช่วยป้องกันการเกิดแผลในช่องปาก ให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม และกลั้วคอวันละประมาณ 3ครั้งด้วยน้ำเกลือที่ผสมเองโดยใช้เกลือแกงครึ่ง-หนึ่งช้อนชาผสมกับ น้ำเปล่าสะอาด 240 ซีซี
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้/ยาแก้คลื่นไส้ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และผู้ป่วยสามารถ ปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆแต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออก
  • ยาพาคลิแทคเซลสามารถทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง จึงควรสวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดดให้มิดชิด หรือทาผิวด้วยครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่ แพทย์/พยาบาลแนะนำ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพาคลิแทคเซล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาพาคลิแทคเซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาพาคลิแทคเซลตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/บุคคลกรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยทราบ และทำการนัดหมายการให้ยาครั้งต่อไปโดยเร็ว

พาคลิแทคเซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพาคลิแทคเซลเป็นยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยารักษาตรงเป้าจึงทำให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อเซลล์ปกติที่สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้ตัวยาพาคลิแทคเซลล์สร้างผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดภาวะปอดบวม มีพังผืดในปอด การหายใจล้มเหลว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดพิษต่อระบบประสาท เช่น มีอาการวิงเวียน ชาตามมือและเท้า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตัน มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่เรียกว่า Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นช้าหรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง มีผื่นคัน ผิวคล้ำขึ้น อาจมีลมพิษ หรือผิวหนังบวม
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ
  • ผลต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่น: เช่น อาจทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด Acute myeloid leukemia
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน

อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล

มีข้อควรระวังการใช้พาคลิแทคเซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพาคลิแทคเซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลบ.มม.
  • ขณะที่ได้รับยานี้ ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หากพบอาการ อึดอัดหายใจไม่ออก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่า เกิดอาการแพ้ยา และต้องให้แพทย์รีบช่วยเหลือโดยเร็ว
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล/เภสัชกรอย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกายจากแพทย์รวมถึงการตรวจหาภาวะแทรก ซ้อนต่างๆ และรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพาคลิแทคเซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พาคลิแทคเซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพาคลิแทคเซล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาพาคลิแทคเซลร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น
  • ห้ามใช้ยาพาคลิแทคเซลร่วมกับ ยาClozapine เพราะทำให้เกิดภาวะกดไขกระดูก สูงขึ้นจนเป็นเหตุให้มีระดับเม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำลง
  • การใช้ยาพาคลิแทคเซล ร่วมกับยา Amprenavir , Telaprevir จะทำให้ระดับยาพาคลิแทคเซลในเลือดเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมาสูงขึ้นจากยาพาคลิแทคเซล กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาพาคลิแทคเซลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาพาคลิแทคเซลดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

พาคลิแทคเซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพาคลิแทคเซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Intaxel (อินแทคเซล)Fresenius Kabi
Paclitero (พาคลิเทโร)Camber
Paxoll (พาซอล)Venus Remedies
Sindaxel (ซินดาเซล)SC Sindan

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Taxol, Onxol

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020262s049lbl.pdf [2018,aug18]
  2. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Paclitaxel.aspx [2018,aug18]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Paclitaxel [2018,aug18]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/intaxel/?type=brief [2018,aug18]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/paclitaxel/?type=brief&mtype=generic [2018,aug18]
  6. https://www.drugs.com/sfx/paclitaxel-side-effects.html [2018,aug18]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/paclitaxel-index.html?filter=3&generic_only= [2018,aug18]