พังผืดในโพรงมดลูก (Uterine synechiae)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ภาวะพังผืดในโพรงมดลูกคือโรคอะไร?

ในภาวะปกติ โพรงมดลูกจะเป็นโพรงที่ปิด(Potential space) โดยจะมีการขยายตัวเปิดออกได้เมื่อมีการตั้งครรภ์, มีเลือดคั่ง/เลือดตกค้างในโพรงมดลูก(เช่น เลือดประจำเดือน), หรือมีก้อนเนื้อมาอยู่ในโพรงมดลูก(เช่น เนื้องอกมดลูก), แต่หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ เยื่อบุโพรงมดลูกจะแฟบเข้าหากัน,  ในกรณีที่มี“พังผืดหรือมีภาวะพังผืดในโพรงมดลูก(Uterine synechiae)”จะทำให้โพรงมดลูก 2 ด้านมายึดติดกัน  โพรงมดลูกขยายตัวไม่ได้  หรือขยายตัวได้ไม่ดี  ซึ่งจะมีผลต่อการมีประจำเดือน และต่อการตั้งครรภ์  

อนึ่ง: ภาวะนี้สามารถเรียกกันได้หลายชื่อ เช่น “Asherman syndrome”,    “Intrauterine adhesions”, “Uterine synechiae”

พังผืดในโพรงมดลูกทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?

 

ภาวะพังผืดในโพรงมดลูกทำให้เกิดปัญหาหรือผลข้างเคียง ดังนี้ เช่น

  • ทำให้ไม่มีประจำเดือน
  • ทำให้มีประจำเดือนออกปริมาณน้อย หรือ กะปริดกะปรอย(เลือดออกกระปริบกะปรอยทางช่องคลอด)หากยังพอมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่ทำงานได้และยังมีช่องทางไหลออกของประจำเดือน
  • ทำให้ปวดประจำเดือนหากมีการการอุดตันของช่องทางไหลออกของประจำเดือนหรือทำให้ประจำเดือนไหลไม่สะดวก
  • ทำให้เกิดแท้งซ้ำซาก/การแท้งซ้ำ(Recurrent miscarriage)
  • ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

พังผืดในโพรงมดลูกมีสาเหตุจากอะไร?

ทั่วไป พังผืดในโพรงมดลูกมีสาเหตุได้จาก

  • การขูดโพรงมดลูก/การขูดมดลูก: ทั้งในการขูดเพื่อรักษาการแท้งไม่ครบ(Incomplete abortion), หรือขูดมดลูกจากมีเศษรกค้างหลังคลอด, หรือเพื่อการชักนำให้แท้งเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ (Induced abortion), หรือเพื่อช่วยวินิจฉัยในกรณีที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก, ซึ่งหากมีการขูดมดลูกอย่างรุนแรง  ขูดลึกมากเกินไป จนไปทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกชั้นที่อยู่ลึกที่เรียกว่า Basal layer หรือบางครั้งขูดลึกเข้าไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อมดลูก จนทำให้มดลูกไม่สามารถสร้างเสริมเยื่อบุโพรงมดลูกชั้นที่เรียกว่า Functional layer ที่หลุดลอกเป็นเลือดประจำเดือนในแต่ละรอบเดือนขึ้นมาทดแทน แต่จะเกิดเป็นพังผืดในโพรงมดลูกจากกลไกการซ่อมแซมเยื่อบุโพรงมดลูก/ผนังมดลูกบริเวณที่เกิดเป็นบาดแผลจนเกิดเป็นพังพืดขึ้นมาแทน  
    • อนึ่ง: สตรีที่ได้รับการขูดมดลูกหลายครั้ง จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดภาวะพังผืดในโพรงมดลูก
  • การติดเชื้อในโพรงมดลูก: เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ, อุ้งเชิงกรานอักเสบ/การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน, การติดเชื้อวัณโรคในเยื่อบุโพรงมดลูก

ภาวะพังผืดในโพรงมดลูกพบได้มากเพียงใด?

อุบัติการณ์ภาวะพังผืดในโพรงมดลูกพบได้ประมาณ 1.5% ในสตรีที่ทำเอกซเรย์การฉีดสี/สารทึบแสงดูความผิดปกติของโพรงมดลูกและของท่อนำไข่ (Hysterosalingography) ในสตรีที่มีบุตรยาก, และพบประมาณ  5-39 % ในสตรีที่มีภาวะแท้งซ้ำซาก/การแท้งซ้ำ

ใครที่เสี่ยงต่อการเกิดพังผืดในโพรงมดลูก?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดพังผืดในโพรงมดลูก ทั่วไป คือ

  • ผู้ที่ได้รับการขูดมดลูก: จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด  และการได้รับการขูดมดลูกหลายครั้ง ยิ่งทำให้มีโอการเกิดพังผืดในโพรงมดลูกมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะการขูดมดลูกภายใน 4 สัปดาห์หลังการแท้งบุตร  หรือการขูดมดลูกในระยะหลังคลอด
  • ผู้ที่ถูกขูดมดลูกซ้ำหลายครั้ง จะมีความเสี่ยงในการเกิดพังผืดในโพรงมดลูกมากขึ้น
  • ผู้ที่มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก (เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ)
  • ผู้ที่ผ่าตัดภายในโพรงมดลูก: เช่น เนื้องอกมดลูกชนิดที่อยู่ในโพรงมดลูก (Submucosal myoma) หรือ มีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial polyp)

ภาวะพังผืดในโพรงมดลูกมีอาการอย่างไร?

อาการและความรุนแรงของอาการจากมีพังผืดในโพรงมดลูกจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยอาจมีพังผืดเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงมีพังผืดมากจนปิดโพรงมดลูกไปเลย อาการต่างๆจึงขึ้นกับความรุนแรงของการมีพังผืด ซึ่งอาการที่อาจพบได้ เช่น

  • มีประจำเดือนออกน้อย หรือ  ออกกะปริบกะปรอย(เลือดออกน้อย เป็นๆหายๆ):  หากยังพอมีเยื่อบุโพรงมดลูกหลงเหลืออยู่ที่พอจะทำงานได้, และ/หรือยังเหลือช่องทางออกของประจำเดือนได้บ้าง
  • มีอาการปวดประจำเดือน: หากมีพังผืดมากจนเกิดการอุดตันของช่องทางไหลออกของประจำเดือน, หรือทำให้ประจำเดือนไหลไม่สะดวก(ถ้าโพรงมดลูกอุดตันทั้งหมดจากพังผืด ก็จะไม่มีประจำเดือน และจะไม่ปวดท้อง)
  • ทำให้เกิดการแท้งซ้ำซาก/การแท้งซ้ำ คือ เกิดการแท้งบุตรบ่อยเนื่องจากรกเกาะตัวที่โพรงมดลูกได้ไม่ดีเพราะมีพังผืดเกิดขึ้น
  • ทำให้มีภาวะบุตรยาก

แพทย์วินิจฉัยภาวะพังผืดในโพรงมดลูกอย่างไร?

ทั่วไป แพทย์วินิจฉัยภาวะพังผืดในโพรงมดลูกได้โดย

ก. ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย: ที่สำคัญ เช่น มีประวัติขูดมดลูกชัดเจน จากที่มีภาวะ/การแท้งบุตร   การแท้งไม่ครบ  หรือการแท้งค้าง   นอกจากนั้นคือประวัติหลังจากการขูดมดลูกแล้ว ปริมาณประจำเดือนมีน้อยลงมาก หรือ ประจำเดือนหายไปหลังขูดมดลูก ซึ่งประวัตินี้จะช่วยในการวินิจฉัยภาวะนี้ได้มาก  หรือมีประวัติขาดประจำเดือน/ประจำเดือนขาด แล้วได้รับการรักษาโดยได้รับประทานยาฮอร์โมนเพศซึ่งเมื่อหยุดรับประทานยาฮอร์โมนนี้ กลับไม่มีประจำเดือนมาตามที่แพทย์คาดไว้

ข. การตรวจร่างกาย: การตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจภายใน มักปกติ เนื่องจากปัญหาเกิดอยู่เฉพาะในโพรงมดลูก

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: การตรวจเลือดดูค่าฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนอื่นๆ(เช่น ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์)มักไม่พบความผิดปกติไม่ต่างจากสตรีทั่วไป 

ง. การตรวจอื่นๆที่ช่วยในการวินิจฉัยฯ: เช่น    

  • เอกซเรย์: โดยฉีดสารทึบแสงเข้าโพรงมดลูก(Hysterosalpingography)เพื่อดูลักษณะในโพรงมดลูกที่พบว่า
    • สารทึบแสงจะผ่านเข้าไปในโพรงมดลูกได้น้อยหรือไม่ได้เลย   
    • เมื่อดูจากภาพถ่ายรังสีจะพบว่าโพรงมดลูกไม่เรียบ มีสารทึบแสงที่ฉีดเข้าไป ขังอยู่เป็นหย่อมๆในโพรงมดลูก   
  • นอกจากนี้ มีวิธีการตรวจอัลตราซาวด์พร้อมกับการฉีดน้ำเกลือเข้าไปในโพรงมดลูก(Sonohysterography)เพื่อดูพยาธิสภาพในโพรงมดลูก พบว่า การขยายตัวของโพรงมดลูกทำได้น้อย หรือไม่สามารถฉีดน้ำเกลือเข้าไปได้ หรือโพรงมดลูกมีลักษณะผิดปกติ
  • แต่การตรวจที่ให้ผลชัดเจนที่สุด คือ   การส่องกล้องเข้าไปดูพยาธิสภาพโดยตรงในโพรงมดลูก(Hysteroscopy)  วิธีนี้มีข้อดีคือสามารถให้การรักษาไปพร้อมกับการวินิจฉัยได้เลย  แต่ตองมีอุปกรณ์และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้วิธีนี้

การรักษาพังผืดในโพรงมดลูกทำได้อย่างไร?

แพทย์พิจารณาทำการรักษาภาวะพังผืดในโพรงมดลูกในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ  เช่น  ปวดประจำเดือนมาก  หรือต้องการมีบุตร เช่น  

  • การผ่าตัดพังผืดในโพรงมดลูกโดยผ่านทางกล้องส่องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopic resection), หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาฮอร์โมนเพศเพื่อกระตุ้นการทำงานของเยื่อบุโพรงมดลูก 
  • บางครั้งอาจมีการใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือ ใส่กระเปาะสายสวนปัสสาวะค้างไว้ในโพรงมดลูกนานประมาณ 3  เดือนหลังผ่าตัด  เพื่อช่วยขยายโพรงมดลูก
  • บางครั้ง อาจมีการใส่สารหรือแผ่นฟิล์มไปเคลือบในโพรงมดลูกหลังหัตถการการผ่าตัดพังผืดในโพรงมดลูก  เช่น Hyaluronic acid  เพื่อป้องกันการกลับมายึดติดกันและ/หรือเกิดพังผืดของผนังโพรงมดลูกอีก

มีวิธีป้องกันพังผืดในโพรงมดลูกหรือไม่?

สามารถป้องกันพังผืดในโพรงมดลูกได้ แต่ไม่ได้ 100% เพราะพังพืดอาจเกิดซ้ำได้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นอีกเช่นที่ได้กล่าวใน 'หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ'

วิธีป้องกันการเกิดพังพืดในโพรงมดลูก ทั่วไป เช่น  

  • หลีกเลี่ยงการขูดมดลูก
  • หากจำเป็นต้องทำการขูดมดลูก ต้องไม่ขูดมดลูกลึกเกินไป
  • หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ เช่น จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • เมื่อมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์แนะนำ

พังผืดในโพรงมดลูกสามารถเกิดเป็นซ้ำได้หรือไม่?

พังผืดในโพรงมดลูกสามารถกลับเป็นซ้ำได้  เพราะในการผ่าตัดในโพรงมดลูก/การขูดมดลูกก็ทำให้เกิดแผลได้,  หากผ่าตัด/ขูดมดลูกลึกมากเกินไปก็จะทำให้เกิดพังผืดในโพรงมดลูกอีกได้, หรือมีการติดเชื้อในโพรงมดลูก/เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบซ้ำก็เป็นสาเหตุให้เกิดพังผืดในโพรงมดลูกซ้ำได้เช่นกัน

หลังการรักษาแล้วประจำเดือนมาปกติหรือไม่  และสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?

หลังการรักษาพังผืดในโพรงมดลูกแล้ว ส่วนใหญ่ประจำเดือนจะมามากขึ้น  สำหรับโอกาสสำเร็จของการตั้งครรภ์หลังผ่าตัดรักษา ประมาณ 30-70% ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงของพยาธิสภาพของพังผืดในโพรงมดลูก  

อนึ่ง: ทารกที่เกิดจากมารดาที่ได้รับการรักษาภาวะพังผืดในโพรงมดลูกแล้ว จะมีการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับทารกทั่วไปที่เกิดจากมารดาที่ไม่มีภาวะนี้

ภาวะพังผืดในโพรงมดลูกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของการมีพังผืดในโพรงมดลูก คือ ภาวะนี้เป็นภาวะที่ไม่ทำให้ถึงตาย  เป็นภาวะที่รักษาได้ โดยผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของการเกิดพังผืดว่าเป็นมากหรือน้อย,  และภาวะนี้เป็นภาวะที่เกิดซ้ำได้เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงที่ได้กล่าวใน 'หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ'

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะพังผืดในโพรงมดลูก เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ดูแลตนเองโดยทั่วไปให้เป็นปกติ เช่นเดียวกับสตรีทั่วไปที่ไม่มีภาวะนี้
  • เมื่อประสงค์จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเสมอ
  • พบสูตินรีแพทย์ตามนัดควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อมีภาวะพังผืดในโพรงมดลูก ควรพบสูตินรีแพทย์ก่อนนัดเมื่อ

  • ปวดประจำเดือนมากขึ้น 
  • เกิดภาวะขาดประจำเดือน
  • มีประจำเดือนผิดปกติไปจากเดิม
  • ต้องการมีบุตร
  • เมื่อกังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Asherman's_syndrome [2023,Jan7]
  2. https://www.uptodate.com/contents/intrauterine-adhesions-clinical-manifestation-and-diagnosis [2023,Jan7]