พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ : กายภาพบำบัด (Physical Therapy for Plantar Fasciitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบคืออะไร?

การอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า คือโรค/ภาวะ/อาการที่เกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น

  • การใช้งานซ้ำๆที่มากเกินไปของฝ่าเท้า ซึ่งส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บสะสมซ้ำๆของพังผืดฯ อย่างเช่น
    • การเดิน หรือ ยืนนานๆ
    • การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสม
    • การเลือกใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะสม
    • น้ำหนักตัวมาก/โรคอ้วน
  • นอกจากนี้ยังมักพบร่วมกับ ภาวะที่มีกล้ามเนื้อน่อง ตึงผิดปกติด้วย

ทั้งนี้ โดยมากมักพบจุดที่กดเจ็บที่สุดใกล้กับส้นเท้า หรือบริเวณกลางฝ่าเท้าด้านใน มักพบอาการนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งในหมู่นักวิ่งหรือนักกีฬามักเรียกโรคนี้ว่า ‘รองช้ำ’

อนึ่ง พังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar fasciitis) เป็นพังผืด/เอ็นกระดูกแผ่นบางๆที่แผ่ปกคลุมฝ่าเท้าทั้งหมด โดยมีจุดเกาะจากกระดูกส้นเท้า (Calcaneus) ยาวไปจนถึงโคนนิ้วเท้าทุกนิ้ว (Metatarsal bones) ทำหน้าที่ช่วยลดแรงกระแทกที่เกิดกับโครงสร้างของเท้าขณะมีการลงน้ำหนักที่เท้า เช่น การเดิน วิ่ง หรือยืนทรงตัว

อาการของพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบมีอะไรบ้าง?

พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ

อาการหลักของภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบคือ พบจุดกดเจ็บใต้ฝ่าเท้าบริเวณใกล้กับส้นเท้า หรือกลางฝ่าเท้า

ลักษณะสำคัญอีกประการที่พบได้บ่อย ๆ คือ

  • อาการเจ็บนี้จะเป็นมากที่สุดหลังจากตื่นนอน แล้วลงมาเดินในก้าวแรกๆ แต่อาการจะทุเลาขึ้นเมื่อเดินหรือทำกิจกรรมไปสักระยะ
  • นอกจากนี้เมื่อนั่งพัก อาการจะยิ่งดีขึ้น แต่เมื่อทำกิจกรรมที่มีการลงน้ำหนักเท้า เช่น ยืน เดิน หรือวิ่งนานๆ อาการก็จะค่อยๆ กลับมาแย่ลงอีก

การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของอาการพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบมีอะไรบ้าง?

การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดสำหรับภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบนี้ นักกายภาพบำบัดมักให้ความสำคัญไปที่การซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ เช่น

  • ถามถึงกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
  • อาการที่เกิดขึ้นหลังจากตื่นนอน
  • การเปลี่ยนแปลงของอาการที่เกิดขึ้นขณะพังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกยืดออกในท่ากระดกข้อเท้าและนิ้วเท้า (Ankle dorsiflexion and toe extension)

นอกจากนี้ การตรวจร่างกายก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อยืนยันอาการ โดยวิธีการที่นักกายภาพบำบัดมักใช้เพื่อตรวจยืนยันอาการนี้ ได้แก่

  • การคลำหาจุดกดเจ็บบนพังผืดใต้ฝ่าเท้า
  • และการยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าออกในท่ากระดกข้อเท้าและนิ้วเท้า เพื่อยืนยันว่าอาการนั้นเกิดจากพังผืดใต้ฝ่าเท้า ไม่ใช่จากโครงสร้างอื่นๆในฝ่าเท้า เช่น กล้ามเนื้อ

การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?

อาการพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ ที่นำผู้ป่วยมาพบนักกายภาพบำบัดนั้น ส่วนมากมักจะเป็นระยะเรื้อรัง การรักษาจึงจะมีเป้าหมายเพื่อ ลดความเจ็บปวด, เพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดใต้ฝ่าเท้า, และเพื่อป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำ

โดยวิธีการทางกายภาพบำบัด ที่ใช้บ่อยในคลินิกกายภาพบำบัด คือ

1. การใช้คลื่นกระแทก (Shockwave Therapy): นักกายภาพบำบัดจะใช้เครื่องมือที่ให้ความสั่นสะเทือนกดลงบริเวณจุดที่กดเจ็บที่สุด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมตัวเองใหม่อีกครั้งของเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบเรื้อรัง (Regeneration and reparative process) ขณะรักษา ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดตื้อ ๆ ในบริเวณที่ทำการรักษา

2. การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ในการรักษา (Ultrasound therapy): เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดความปวด ขณะทำการรักษาด้วยวิธีผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกใด ๆ หรือในบางรายอาจรู้สึกอุ่นสบายเท่านั้น

3. การรักษาด้วยมือ (Manual Therapy): นักกายภาพบำบัดอาจจะเลือกใช้เทคนิคการรักษาต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การกดและคลึงที่จุดกดเจ็บเบาๆ (Deep friction)

4. การออกกำลังกายเพื่อการรักษา (Exercise Therapy): มีด้วยกันหลายวิธี เช่น

  • การยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่องถ้าหากตรวจพบว่ามีความตึงตัวมากกว่าปกติ (Stretching exercise)
  • นอกจากนี้การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในฝ่าเท้า(Strengthening exercise)ก็มีประโยชน์มากในผู้ป่วยบางราย

5. การรักษาด้วยการติดเทป (Taping): เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬา นักกายภาพบำบัดให้การรักษาโดยการใช้เทปติดเพื่อเพิ่มหรือยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังสามารถลดการบวมและเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่มีการบาดเจ็บได้ด้วย ซึ่งเทคนิคและวิธีการขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายไป รวมถึงดุลพินิจของนักกายภาพบำบัด

นอกจากนี้ ยังมีวิธีรักษาวิธีอื่นๆอีกมากมายที่นักกายภาพบำบัดสามารถเลือกใช้ได้ แต่เป็นวิธีได้รับความนิยมน้อย ผลการรักษาไม่เห็นชัดเจนนัก หรือมีข้อจำกัดเยอะ จึงขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ ซึ่งวิธีรักษาอื่นๆเหล่านั้น เช่น

  • LASER
  • การรักษาด้วยอุณหภูมิ ทั้งการประคบด้วยความร้อน และ/หรือด้วยความเย็น

การฟื้นฟูและดูแลตนเองที่บ้านทำได้อย่างไรบ้าง?

คำแนะนำหลักที่นักกายภาพบำบัดมักให้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ คือ

1. การยืดกล้ามเนื้อน่อง: สามารถทำได้ง่ายๆ โดยเลือกทำท่าใดท่าหนึ่งที่จะกล่าวต่อไป ทำค้างไว้ 30 วินาที ทำ 3 รอบ ทำ 3 รอบต่อวัน ร่วมกับการรักษาแบบอื่นๆ เมื่ออาการปวดหายไปสามารถหยุดทำได้ หรืออาจจะทำต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกได้

  • การนอนหงาย ใช้ผ้าขนหนูคล้องฝ่าเท้าข้างที่มีอาการปวด ใช้มือสองข้างออกแรงดึงผ้าขนหนูให้ตึง ค่อยๆออกแรงยกขาข้างที่ปวดฝ่าเท้าขึ้น
  • หรือนั่งเหยียดเข่า หันหน้าเข้าหากำแพง ฝ่าเท้าทั้งสองแนบกับกำแพง ค่อยๆก้มตัว เอื้อมปลายนิ้วไปแตะปลายเท้า
  • หรือหันหน้าเข้าหากำแพง มือทั้งสองข้างท้าวไปที่กำแพง ก้าวเท้าข้างปกติมาข้างหน้าเล็กน้อย ออกแรงโน้มตัวไปด้านหน้าเพื่อให้น่องข้างที่มีอาการปวดฝ่าเท้าตึง

2. แช่เท้าข้างปวดในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาทีทุกเช้าหลังจากตื่นตอน นอกจากจะลดความเจ็บปวดแล้ว ยังจะช่วยให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าอ่อนนุ่มลง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

3. เหยียบลูกเทนนิส หรือวัสดุกลิ้งได้ เช่น ขวด, ไม้นวดแป้ง (Dynamic stretches for plantar fascia) และใช้ฝ่าเท้าข้างที่มีอาการปวด เหยีบบนลูกเทนนิสหรืออุปกรณ์ที่กลิ้งได้ แล้วกดเบาๆ พร้อมกลิ้งไปมาในทิศทางต่างๆ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดใต้ฝ่าเท้า

4. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆในฝ่าเท้า (Foot muscle strengthening exercises) ก็มีรายงานยืนยันว่าสามารถช่วยบรรเทาปวด และลดการกลับมาเป็นซ้ำของอาการผังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้ ทำได้ด้วยกันหลายวิธี เช่น

  • สอดแผ่นกระดาษเข้าไประหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ของเท้าข้างที่มีอาการปวด ออกแรงหนีบ อาจเพิ่มความยากด้วยการพยายามใช้มือดึงกระดาษแผ่นนั้นออก
  • อีกวิธีที่นิยมคือใช้เท้าข้างที่มีอาการปวด ขยุ้มผ้าแช็ดหน้าแล้วยกขึ้นให้ลอยจากพื้น

*ทั้งนี้ การออกกำลังกายเท้าทั้ง 2 วิธีนี้ ทำค้างไว้ 30 วินาที ทำ 3 รอบต่อวัน ควรทำอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก

5. ความรู้เรื่องการหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งผู้ป่วยควรต้องสังเกตุตนเองว่า อะไรเป็นตัวกระตุ้น/ท่าทาง/กิจกรรม ที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ

6. คำแนะนำเรื่องการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้มาก

  • นอกจากการออกกำลังกายที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วอย่างเป็นประจำ
  • การเลือกรองเท้าให้เข้ากับรูปเท้า
  • การลงน้ำหนักของผู้ป่วยแต่ละราย
  • และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ให้นั่งพักทุกครึ่งชั่วโมง หากต้องทำกินกรรมที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ก็สามารถลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำได้

บรรณานุกรม

  1. Christoph Schmitz, Nikolaus B. M. Császár, Stefan Milz et al, Efficacy and safety of extracorporeal shock wave therapy for orthopedic conditions: a systematic review on studies listed in the PEDro database. Br Med Bull. 2015 Dec; 116(1): 115–138.
  2. John Dickson, Frances Mawer. Plantar fasciitis.www.arc.org.uk. 2004. [2019,April6]