พราลิดอกซิม (Pralidoxime)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาพราลิดอกซิม(Pralidoxime หรือ Pralidoxime chloride)ชื่อเคมีคือ 2-pyridine aldoxime methyl chloride เรียกย่อๆว่า ‘2-PAM’ เป็นสารประกอบในกลุ่ม Oximed ทางคลินิกใช้เป็นยาต้านพิษของสารเคมีที่นำมาใช้กำจัดแมลงประเภทออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphate poisoning)

ออร์กาโนฟอสเฟต เป็นสารประกอบที่มีกลไกออกฤทธิ์ต่อต้านเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส(Anticholinesterase) ซึ่งอยู่ในระบบการทำงานของเส้นประสาท และก่อให้เกิดภาวะอัมพาตของร่างกายตามมา

อย่างไรก็ตาม ยาพราลิดอกซิม ไม่สามารถต้านพิษของยาฆ่าแมลงประเภทอื่นๆอีกหลายชนิด/หลายประเภทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต

ยาพราลิดอกซิม มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยาฉีด ตัวยาชนิดนี้สามารถกระจายตัวเข้าสู่สมองตลอดจนเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายที่มีน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยง การทำลายยาพราลิดอกซิมในร่างกายจะเกิดที่ตับถึงประมาณ 80% และยังสามารถกำจัดทิ้งไป กับน้ำปัสสาวะโดยผ่านไปที่ไต เฉลี่ยระยะเวลาที่ตัวยานี้/ชนิดนี้ สามารถอยู่ในร่างกายได้ยาวนาน 1-3 ชั่วโมง ดังนั้นก่อนที่จะใช้ยาพราลิดอกซิมต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติ การเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เช่น

  • ผู้ป่วยมีโรคไต หรือโรคตับ ร่วมด้วยหรือไม่
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา หรือไม่
  • มีประวัติแพ้ยาพราลิดอกซิมหรือไม่

สำหรับการแก้พิษจากสารออร์กาโนฟอสเฟต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาพราลิดอกซิมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเพื่อให้การใช้ยานี้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้มากที่สุด แพทย์จำเป็นต้องใช้ยา Atropine และ ยา Diazepam ร่วมในการรักษาด้วย

กลไกการออกฤทธิ์ของตัวยาพราลิดอกซิมที่ช่วยต้านพิษยาฆ่าแมลง ส่วนมากจะเกิดขึ้นบริเวณกล้ามเนื้อ และบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ภายนอกสมอง แพทย์จะใช้เกณฑ์น้ำหนักร่างกายมาคำนวณขนาดยาที่ต้องใช้กับผู้ป่วย

ข้อจำกัดการใช้ยาพราลิดอกซิมบางประการที่ควรทราบ มีดังต่อไปนี้

  • ยาพราลิดอกซิมไม่สามารถใช้ต้านพิษที่เกิดจากธาตุฟอสฟอรัส
  • ยานี้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ดัรับพิษจากสารประกอบฟอสเฟตที่เป็นเกลืออนินทรีย์
  • ยานี้ใช้ไม่ได้ผลกับสารออร์กาโนฟอสเฟตที่ไม่ได้มีฤทธิ์ต่อต้านการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส

ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากยาพราลิดอกซิมมากกว่าเพียงเพื่อต้านพิษยาฆ่าแมลงโดยยานี้ถูกนำมาบำบัดอาการป่วยที่เกิดจากการได้รับสารเคมีชนิดอื่นๆที่เป็นพิษต่อระบบประสาท รวมถึงผู้ที่ได้รับยาจำพวก Acetylcholinesterase inhibitor (Anticholinesterase) เกินขนาด

ยาพราลิดอกซิม เป็นยาที่มีใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้นจะไม่ค่อยพบเห็นการจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป และการใช้ยาชนิดนี้จะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

พราลิดอกซิมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

พราลิดอกซิม

ยาพราลิดอกซิมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ต้านพิษยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตที่มีฤทธิ์ทำลายกลไกการทำงานของ กล้ามเนื้อ (Organophosphate poisoning)
  • บำบัดอาการจากสารประกอบที่ก่อพิษต่อเส้นประสาท (Nerve agent poisoning)
  • รักษาอาการพิษจากการได้รับยา Acetylcholinesterase inhibitor (Anticholinesterase) เกินขนาด

พราลิดอกซิมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการทำงานของระบบประสาทที่คอยสั่งการให้กล้ามเนื้อของร่างกายทำงานได้เป็นปกตินั้น เกิดจากกระบวนการทำงานของเอนไซม์ชื่อโคลีนเอสเทอเรส การปิดกั้นหน้าที่ของเอนไซม์ชนิดนี้จะรบกวนการส่งสัญญาณประสาทที่คอยสั่งการให้กล้ามเนื้อของร่างกายทำงาน ซึ่งยาฆ่าแมลงจำพวกออร์กาโนฟอสเฟตจะมีฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสได้เป็นอย่างดี

ยาพราลิดอกซิม จะออกฤทธิ์ต่อเซลล์ประสาทที่อยู่ภายนอกสมองโดยตัวยาจะเข้าไปกระตุ้นให้เอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสกลับมาทำงานเป็นปกติ ทำให้เซลล์ประสาทกลับมาสั่งการและทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม

พราลิดอกซิมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาพราลิดอกซิมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยา Pralidoxime chloride ชนิดผงแห้งปราศจากเชื้อ ขนาดบรรจุ 1,000 มิลลิกรัม/ขวด (Vial)

พราลิดอกซิมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาพราลิดอกซิม มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับ

ก. ต้านพิษยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต: เช่น

  • ผู้ใหญ่:
    • เจือจางยาขนาด 1,000– 2,000 มิลลิกรัมในน้ำเกลือ (0.9% Sodium chloride) 100 มิลลิลิตร แล้วหยดเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาหยดยานาน 15–30 นาที
    • กรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะน้ำท่วมปอด/ปอดบวมน้ำ หรือการให้ยาโดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำไม่สามารถกระทำได้ ให้เจือจางตัวยา 1,000 มิลลิกรัมลงในน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ 20 มิลลิลิตร แล้วฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ โดยใช้เวลาในการฉีดยานานอย่างน้อย 5 นาที
    • กรณีที่ผู้ป่วยยังมีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง จำเป็นต้องได้รับยานี้ครั้งที่สอง หลังจากการให้ยานี้ครั้งแรกไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง โดยใช้ปริมาณยาเท่ากับขนาดการใช้ในครั้งแรก
    • หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์มีความจำเป็นต้องให้ยาพราลิดอกซิมซ้ำอีกทุกๆ 10–12 ชั่วโมง จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
  • เด็กอายุตั้งแต่ 16 ปีลงมา: หยดเข้าหลอดเลือดขนาด 20–50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเจือจางตัวยาให้มีความเข้มข้น 10–20 มิลลิกรัม/ มิลลิลิตร ขนาดการให้ยาสูงสุดไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/ครั้ง เวลาของการให้ยา ควรอยู่ในช่วงนาน 15–30 นาที จากนั้นแพทย์จะให้ยาพราลิดอกซิมต่อเนื่องอีก 10–20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ชั่วโมง

ข. สำหรับบำบัดอาการที่ได้รับยากลุ่มโคลีนเอสเทอเรสเกินขนาด:

  • ผู้ใหญ่:
    • เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆขนาด 1 – 2 กรัม จากนั้น แพทย์อาจสั่งฉีดยาเพิ่ม 250 มิลลิกรัมทุกๆ 5 นาทีตามความจำเป็น
    • ตัวยาจะต้องถูกเจือจางให้มีความเข้มข้นอยู่ที่ 10–20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก อยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถฉีดยาพราลิดอกซิมเข้าทางกล้ามเนื้อได้โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ผู้ป่วยโรคไต แพทย์ต้องลดขนาดการใช้ยานี้ลง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาพราลิดอกซิม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะตัวยาพราลิดอกซิม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

พราลิดอกซิมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาพราลิดอกซิมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะระบายลมหายใจเกิน(Hyperventilation)
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดมีระดับสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงขณะที่หัวใจคลายตัว และบีบตัว และอาจมีภาวะหัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อตา: เช่น มีภาวะตาพร่า ตาเห็นภาพซ้อน สูญเสียการปรับความคมชัดของ ตา
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ค่าเอนไซม์ Creatine phosphokinase ในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตแย่ลง

มีข้อควรระวังการใช้พราลิดอกซิมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาพราลิดอกซิม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่มีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่ม Anticholinesterase
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพภาชนะบรรจุแตกหักชำรุด
  • ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาพราลิดอกซิม ต้องเฝ้าระวังสัญญาณชีพต่างๆให้เป็นปกติ อยู่ตลอดเวลาเช่น อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ รวมถึงสภาพการทำงาน ของกล้ามเนื้อ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาพราลิดอกซิมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

พราลิดอกซิมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาพราลิดอกซิม มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาพราลิดอกซิมร่วมกับ ยาSuccinylcholine ด้วยยาพราลิดอกซิม จะทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยา Succinylcholine ด้อยลง

ควรเก็บรักษาพราลิดอกซิมอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาพราลิดอกซิม ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

พราลิดอกซิมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาพราลิดอกซิม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Protopam (โพรโตแพม)Baxter Laboratories

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pralidoxime [2018,Oct13]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/014134s022lbl.pdf [2018,Oct13]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00733 [2018,Oct13]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/pralidoxime/?type=brief&mtype=generic [2018,Oct13]
  5. https://www.drugs.com/dosage/pralidoxime.html#Usual_Adult_Dose_for_Anticholinesterase_Overdose [2018,Oct13]
  6. https://www.drugs.com/mtm/pralidoxime.html [2018,Oct13]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/pralidoxime-index.html?filter=2&generic_only= [2018,Oct13]