ฝีสมอง ฝีในสมอง (Brain abscess)

สารบัญ

บทนำ

ภาวะติดเชื้อในสมอง (Central nervous system infection) เป็นโรค/ภาวะที่มีอันตรายต่อสมองและชีวิตอย่างยิ่ง เช่น ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้อสมองอักเสบ และฝีในสมอง/ฝีสมอง (Brain abscess) ซึ่งโดยเฉพาะฝีในสมองที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสมองและชีวิตอย่างยิ่ง เราจึงต้องทราบความผิดปกติของโรคนี้เป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ทันเวลา

โรคฝีสมองคืออะไร?

ฝีในสมอง

โรคฝีสมอง คือ โรค/ภาวะติดเชื้อ (จากเชื้อแบคทีเรีย หรือ เชื้อรา) ในเนื้อสมองที่ก่อ ให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท เนื่องจากเชื้อก่อโรคนั้นจะทำให้เนื้อสมองกลายเป็นฝี (Abscess) ในเนื้อสมอง ทำให้มีอาการผิดปกติต่างๆเกิดขึ้น จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

โรคฝีสมอง พบได้ไม่บ่อย ส่วนใหญ่แล้วพบบ่อยในวัยเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ เนื่องจากสา เหตุหลักเกิดจากโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุ คือ โรคหูน้ำหนวก โรคหัวใจพิการชนิดเขียวคล้ำแต่กำเนิด ส่วนในผู้ใหญ่ สาเหตุมักเกิดจากอุบัติเหตุที่ศีรษะ

โรคฝีสมองเกิดได้อย่างไร?

โรคฝีสมองเกิดขึ้นจาก

  • การติดเชื้อของสมองจากอวัยวะข้างเคียงสมองที่กระจายเชื้อต่อไปยังสมอง เช่น หูน้ำ หนวก ฟันผุ แผลบริเวณใบหน้า ศีรษะ เป็นต้น
  • การติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ) แล้วกระจายไปที่สมอง
  • การติดเชื้อในสมองโดยตรง เช่น อุบัติเหตุต่อสมอง หรือผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดสมอง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดฝีสมอง?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดฝีสมอง ได้แก่

  • มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
  • มีภาวะติดเชื้อเรื้อรังของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในส่วนของศีรษะ เช่น หูน้ำหนวก ไซนัสอักเสบ เหงือกเป็นหนอง มีแผลติดเชื้อเรื้อรังที่หนังศีรษะ
  • เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบติดเชื้อ
  • เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดชนิดก่ออาการเขียวคล้ำ
  • มีการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • มีอุบัติเหตุที่สมอง

โรคฝีสมองมีอาการอะไรบ้าง?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยของฝีสมอง ได้แก่

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • มีไข้ มีได้ทั้ง ไข้สูง หรือไข้ต่ำ ขึ้นกับชนิดของเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ
  • แขนขาอ่อนแรง
  • ตาพร่า/ ตามัว
  • อาเจียน
  • ชัก
  • อาการอื่นๆ เช่น วิงเวียนศีรษะ เซ ทั้งนี้ ขึ้นกับตำแหน่งของฝีฯว่าอยู่ที่ส่วนใดของสมอง
  • อาการผิดปกติของโรคที่เกิดร่วมกับฝีฯหรือที่เป็นสาเหตุของฝีฯ เช่น หนองไหลจากหูเมื่อเป็นโรคหูน้ำหนวก เป็นต้น

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ถ้ามีอาการปวดศีรษะรุนแรง ร่วมกับมีไข้ และ /หรือเริ่มมีแขนขาอ่อนแรง

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคฝีสมอง?

แพทย์วินิจฉัยโรคฝีสมองได้ โดยพิจารณาจากอาการผิดปกติที่กล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ประวัติทางการแพทย์ต่างๆ การตรวจร่างกาย และผลจากการส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิว เตอร์ หรือเอมอาร์ไอสมอง พบรอยโรคที่เข้าได้กับฝีในสมอง

โรคฝีสมองรักษาอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคฝีสมอง ต้องให้การรักษาโดยการนอนรักษาในโรงพยาบาลตลอดระยะเวลาการรักษา การรักษาเริ่มต้นด้วยการให้ยาต้านจุลชีพ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 – 6 สัปดาห์ หรือจนกระทั้งฝีหายไปทั้งหมด ซึ่งถ้าโรคไม่ตอบสนองต่อยา ก็จะพิจารณาการผ่าตัดสมองเพื่อนำก้อนฝีออก

นอกจากนั้นคือ การรักษาควบคุมสาเหตุ เช่น ถ้ามีโรคหูน้ำหนวก หรือโรคหัวใจ ก็ต้องรัก ษาควบคุมโรคนั้นๆให้ดี เพื่อป้องกันไม่เกิดเป็นฝีสมองซ้ำอีก

ฝีสมองมีการพยากรณ์โรคอย่างไร? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของฝีสมอง ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือการรักษาล่าช้า ผู้ป่วยมักเสียชี วิต แต่ถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ผลการรักษาส่วนใหญ่ได้ผลดี แต่อาจมีผลข้างเคียงทางระบบประสาทหลงเหลืออยู่หลังการรักษาได้ เช่น แขนขาอ่อนแรง หรือ อาการชัก

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นฝีสมอง? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นฝีสมอง ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคฝีสมอง จำเป็นต้องรักษาควบคุมโรคประจำตัว/ปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวในหัว ข้อปัจจัยเสี่ยง) ที่มีอยู่ให้ดี
  • ถ้ามีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น แขน ขาอ่อนแรง ควรทำกายภาพบำบัดตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล แนะนำ สม่ำเสมอ ตลอดไป
  • ถ้ามีอาการชัก ต้องทานยากันชักต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ ไม่ขาดยา
  • ต้องรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ดี ช่วยลดโอกาสการเกิดฝีสมองเป็นซ้ำ
  • ควรพบแพทย์ตามนัดเสมอ และ
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ มีอาการผิดไปจากเดิม หรือเมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น แขนขากลับมาอ่อนแรงอีก หรืออ่อนแรงมากขึ้น หรือมีอาการชักบ่อยขึ้น ทั้งนี้รวมถึงเมื่อยังกังวลในอาการด้วย

ป้องกันฝีสมองได้อย่างไร?

การป้องกันการเกิดฝีในสมอง ได้แก่

  • ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ
  • รักษาควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง (ดังกล่าวในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง) ให้ดี
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้ม กันต้านทานโรคที่ดี ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ

สรุป

โรคฝีสมองเป็นโรคที่อันตราย แต่โอกาสเกิดนั้นค่อนข้างยาก ถ้าเราดูแลตนเองให้แข็ง แรง หรือถ้ามีโรคประจำตัวที่เป็นภาวะติดเชื้อเรื้อรัง ก็ต้องรักษาควบคุมให้ดี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจลุกลามเป็นฝีในสมองได้