ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ผ้าอนามัยแบบสอดคืออะไร?

ผ้าอนามัยแบบสอด (Tampon) คือ ผ้าอนามัยชนิดหนึ่งใช้ซับเลือดประจำเดือนสตรี โดยจะมีลักษณะเป็นแท่ง กลม ยาว เรียว ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดขณะมีประจำเดือน เพื่อซับเลือดประ จำเดือนไม่ให้เลือดไหลออกมาเลอะเทอะภายนอก ผ้าอนามัยแบบสอดสามารถใช้นิ้วจับผ้าอนามัยสอดเข้าไปในช่องคลอดได้ แต่บางบริษัทจะมีการผลิตพลาสติกเป็นท่อช่วยเป็นเครื่องนำผ้าฯสอดเข้าไปในช่องคลอดแทนการใช้มือสอดผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอด

ใครสามารถใช้ผ้าอนามัยแบบสอดได้?

ผ้าอนามัยแบบสอด

ผ้าอนามัยแบบสอดสามารถใช้ได้ทั้งสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วหรือยังไม่มีเพศสัมพันธ์ แต่ในสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์อาจมีอาการเจ็บระคายเคืองขณะใช้มากกว่า

มีวิธีใช้ผ้าอนามัยแบบสอดอย่างไร?

ผ้าอนามัยแบบสอดมีวิธีใช้ดังนี้คือ

1. ดูแลความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกก่อนสอดผ้าอนามัยฯ

2. ล้างมือให้สะอาดเมื่อใส่และถอดผ้าอนามัย

3. การใส่ผ้าอนามัยแบบสอดมี 2 วิธีคือ

  • แบบสอดที่มีแท่งหรือแกนตัวนำเพื่อช่วยการใส่ (Applicator): โดยผ้าอนามัยจะบรรจุอยู่ในแท่งตัวนำนี้ ลักษณะแท่งจะคล้ายปากกา
    • เวลาจะใส่ อาจใช้เป็นท่านั่งหรือยืนก็ได้ตามถนัด หรือยกขาข้างหนึ่งขึ้นสูง
    • หลังจากแกะที่ห่อหุ้ม Applicator ออกแล้ว ใช้มือที่ถนัดจับแท่ง Applicator ไว้แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือด้านที่ไม่ถนัดแหวกบริเวณปากช่องคลอด (Labia minora) จากนั้นสอด Applicator เข้าไปในช่องคลอดจนถึงระดับที่ทำเครื่องหมายไว้บนแท่ง แล้วทำการดันแกนของแท่งเพื่อดันให้ผ้าอนามัยที่อยู่ในแท่ง Applicator หลุดเข้าไปอยู่ในช่องคลอด
    • จากนั้นดึง Applicator ออก จะมีสายหรือเชือกที่ต่อกับปลายผ้าอนามัยยื่นยาวออกมานอกช่องคลอดเพื่อใช้ดึงผ้าอนามัยออกจากช่องคลอด
    • ซึ่งเมื่อใช้ Applicatorไปแล้วก็ทิ้งขยะไปไม่ควรนำมาใช้ซ้ำ
    • โดยทั่วไปผ้าอนามัยแต่ละชิ้นจะมาใน Applicator แต่ละอัน
  • แบบที่ไม่มี Applicator: สามารถใช้มือที่ถนัดจับผ้าอนามัยใส่เข้าไปในช่องคลอดได้เลยโดยมีวิธีการใส่เหมือนที่กล่าวมาแล้ว
    • ควรดันผ้าอนามัยเข้าไปอยู่ประมาณกึ่งกลางของช่องคลอด (ปลายผ้าอนามัยที่มีเชือกผูกควรอยู่ระดับความลึก 5 - 6 ซม./เซนติเมตรจากปากช่องคอด) แล้วปล่อยด้านที่มีเส้นเชือกออกมาข้างนอกช่องคลอด หากใส่ในตำแหน่งที่เหมาะสมจะไม่รู้สึกระคายเคือง

4. ควรเลือกใช้ขนาดของผ้าอนามัยแบบสอดให้เหมาะสมกับปริมาณเลือดประจำเดือน หากเป็นวันที่เลือดประจำเดือนมากต้องใช้ขนาดที่ซึมซับเลือดได้มากขึ้น

5. การใส่แบบสอดต้องใส่วันที่มีประจำเดือนมา เลือดประจำเดือนจะช่วยให้การใส่ลื่นขึ้น หรือสามารถใช้เจลหล่อลื่นชนิดมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (K-Y jelly) ใส่ที่หัว Applicator หรือที่ผ้าอนามัย (กรณีเป็นชนิดไม่มีApplicator) ได้เมื่อเริ่มใช้ใหม่ๆ

6. ไม่ปล่อยให้ผ้าอนามัยแบบสอดอยู่ในช่องคลอดนานเกิน 8 ชั่วโมง โดยทั่วไปประมาณ 4 - 6 ชั่วโมงหรือเมื่อมีความรู้สึกว่าหนักๆหน่วงๆในช่องคลอดควรเปลี่ยนผ้าอนามัย

7. ไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดทิ้งไว้ในช่องคลอดตลอดทั้งคืน ในเวลากลางคืนที่ต้องนอนยาวควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น

8. หลังจากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดไปแล้ว เวลาปัสสาวะ อุจจาระ หากไม่มีการปนเปื้อนก็ไม่จำ เป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย หลังการว่ายน้ำหากไม่มีเลือดเลอะออกมาภายนอกก็ยังไม่จำเป็น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย แต่หากมีความรู้สึกว่ามีเลือดเต็มผ้าอนามัยมีอาการหน่วงๆควรต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย

ข้อดีของผ้าอนามัยแบบสอดมีอะไรบ้าง?

ผ้าอนามัยแบบสอดมีข้อดีดังนี้

1. สะดวก ไม่ต้องพกผ้าอนามัยแบบแผ่น

2. สบายตัว เนื่องจากไม่ต้องใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น

3. สามารถแต่งตัวได้ตามต้องการ

4. สามารถว่ายน้ำได้ขณะมีประจำเดือนไม่ทำให้เลอะเทอะ

ข้อด้อยของผ้าอนามัยแบบสอดมีอะไรบ้าง?

ผ้าอนามัยแบบสอดมีข้อด้อยดังนี้

1. ราคาสูงกว่าผ้าอนามัยแบบแผ่น

2. หากใส่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดอาการเจ็บ ระคายเคือง เป็นแผลในบริเวณอวัยวะเพศภาย นอกและที่ช่องคลอด

3. หากใส่ไว้ในช่องคลอดนานเกินไปสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกายที่รุน แรงได้

4. หากสายดึงผ้าอนามัยขาดจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการดึงผ้าอนามัยออกจากช่องคลอด (อ่านเพิ่มเติมใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองและอันตรายจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด’)

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด?

การดูแลตนเองเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอดได้แก่

  • ดูแลสุขอนามัยของอวัยวะเพศภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อวัยวะเพศภายนอกสตรี)
  • ควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อลดโอกาสเกิดรอยขีดข่วนที่อวัยวะเพศภายนอกและในช่องคลอดเมื่อสอดใส่ผ้าอนามัยแบบสอด
  • ควรเลือกขนาดผ้าอนามัยแบบสอดให้เหมาะสมกับปริมาณเลือดประจำเดือน
  • ก่อนใช้ควรตรวจสอบความคงทนของเชือกปลายผ้าอนามัย ลองดึงดูว่าไม่ขาดหรือหลุดง่าย
  • ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอดทุก 4 - 6 ชั่วโมง ไม่ควรค้างผ้าอนามัยไว้นานเกิน 8 ชั่วโมง
  • ไม่ควรใส่ผ้าอนามัยแบบสอดทิ้งไว้ในช่องคลอดตลอดทั้งคืน ช่วงการนอนควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทน
  • หากหลังใส่ผ้าอนามัยแบบสอดแล้วมีกลิ่นเหม็นผิดปกติหรือมีไข้ ต้องรีบเอาผ้าอนามัยออก แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • หากสายเชือกสำหรับดึงผ้าอนามัยออกมาเกิดขาด สามารถใช้นิ้วชี้เข้าไปเกี่ยวเอาผ้าอนามัยออกมาได้ หากนำผ้าอนามัยฯออกมาเองไม่ได้ ควรต้องรีบไปสถานพยาบาล/โรงพยาบาล ให้แพทย์/พยาบาลช่วยเอาออกให้ อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะจะเกิดอันตราย (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ อันตรายจากการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด)
  • หลังจากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดไปแล้ว เวลาปัสสาวะ อุจจาระ หากไม่มีการปนเปื้อนก็ไม่จำ เป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย หลังการว่ายน้ำหากไม่มีเลือดเลอะออกมาภายนอกก็ยังไม่จำเป็น ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย แต่หากมีการความรู้สึกว่ามีเลือดเต็มผ้าอนามัยมีอาการหน่วงๆควรต้องเปลี่ยนผ้าอนามัย
  • การดูแลตนเองหลังใส่ผ้าอนามัยแบบสอด สามารถทำความสะอาดอวัยวะเพศภาย นอกได้ตามปกติ และไม่ต้องสวนล้างช่องคลอด

การใช้ผ้าอนามัยแบบสอดมีอันตรายไหม?

อันตรายที่ร้ายแรงในการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดคือ อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเชื้ออย่างรุนแรงที่เรียกว่า ‘กลุ่มอาการทอกสิกช็อก (Toxic shock syndrome)’ และหากรักษาไม่ทันท่วงที สามารถทำให้ตายได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเกิดจากการใส่ผ้าอนามัยแบบสอดไม่ถูกต้อง มีการปนเปื้อนเชื้อโรคขณะสอดใส่ หรือมีการทิ้งผ้าอนามัยแบบสอดไว้ในช่องคลอดนานเกินไป ทำให้เกิดการหมักหมมของเลือดที่ทำให้มีการแบ่งตัวของแบคทีเรียเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้จะมีอาการไข้สูง, หนาวสั่น, มีเลือดหรือมีหนองปนเลือดออกทางช่องคลอด, มีกลิ่นเหม็น, การรักษาต้องเอาผ้า อนามัยแบบสอดออก รีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะต้องให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา

อันตรายอย่างอื่นมีไม่มากเช่น เจ็บช่องคลอดเวลาสอดผ้าอนามัยเข้าไปในช่องคลอดหรือรู้ สึกไม่สบายหากใส่ไม่ถูกวิธี

สังเกตตัวเองได้อย่างไรว่าผิดปกติเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด?

ควรสังเกตอาการตนเองเสมอเมื่อใช้ผ้าอนามัยแบบสอด ซึ่งถ้าพบมีอาการผิดปกติดังจะกล่าวต่อไป ควรรีบเอาผ้าอนามัยออก แล้วรีบพบแพทย์/รีบด่วนไปโรงพยาบาล ซึ่งอาการดังกล่าว เช่น

  • หลังจากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดไปแล้วมีอาการปวดในช่องคลอดผิดปกติ
  • หลังจากใส่ผ้าอนามัยแบบสอดไปแล้วเลือดประจำเดือนมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • มีไข้
  • ปวดท้อง หรือ ปวดท้องน้อย
  • ท้องเสีย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tampon [2021,Oct30]
  2. https://www.nhs.uk/conditions/toxic-shock-syndrome/ [2021,Oct30]
  3. https://www.wikihow.com/Use-a-Tampon [2021,Oct30]