น้ำมันมะกอก (Olive oil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาน้ำมันมะกอก/น้ำมันมะกอก (Olive oil) คือ ยา/สารที่ถูกสกัดจากลูกและเมล็ดมะกอก สามารถนำมาผลิตเป็นยาหรือใช้ในวงการเครื่องสำอาง โดยผลิตเป็นสินค้ากลุ่มบำรุงผิวพรรณ และใช้ประกอบอาหาร

มีงาน วิจัยทางด้านสุขภาพการแพทย์หลายเรื่องที่กล่าวถึงสรรพคุณทางด้านยาของน้ำมันมะกอกเช่น ป้อง กันภาวะหัวใจล้มเหลว , ใช้รักษาและบำบัดมะเร็งเต้านม ,มะเร็งลำไส้ใหญ่, โรคข้อรูมาตอยด์, และการปวดหัวไมเกรน,

ผู้บริโภคบางกลุ่มได้ใช้น้ำมันมะกอกเป็นยาระบาย , ลดไขมันคอเลสเตอรอล ,ลดความดันโลหิต, บรรเทาอาการของผู้ป่วยเบาหวานที่มีปัญหาด้านหลอดเลือด, อาการปวดในช่องหูเนื่องจากการติดเชื้อ, รักษาโรคถุงน้ำดี, บางกรณีถูกนำไปใช้รักษาอาการดีซ่าน, หรือใช้น้ำมันมะกอกกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์, และประโยชน์อื่นๆที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้หมด

ยาน้ำมันมะกอก ถูกแบ่งกลุ่มตามความบริสุทธิ์โดยใช้กรดไขมันที่มีชื่อว่า Oleic acid เป็นตัวชี้วัด กล่าวคือ

  • ยาน้ำมันมะกอกสกัดที่มีความบริสุทธิ์สูง จะมี Oleic acid ปนอยู่ไม่เกิน 1%
  • ยาน้ำมันมะกอกสกัดที่มีความบริสุทธิ์ จะมี Oleic acid ปนอยู่ไม่เกิน 2%
  • ยาน้ำมันมะกอกชนิดธรรมดา จะมี Oleic acid ปนอยู่ไม่เกิน 3.3%
  • ยาน้ำมันมะกอกที่ไม่ผ่านกระบวนการทำให้เกิดความบริสุทธิ์จะมี Oleic acid ปนอยู่มากกว่า 3.3%

ในบางผลิตภัณฑ์ผู้ผลิตได้นำยาน้ำมันมะกอกไปผสมกับแก๊สโอโซน (Ozonated olive oil) และนำไปใช้รักษาอาการบาดเจ็บจากผึ้งต่อย การติดเชื้อราที่ผิวหนัง ในบางประเทศได้รับการยินยอมจากกระ ทรวงสาธารณสุขให้นำน้ำมันมะกอกที่ผสมกับแก๊สโอโซนไปใช้ในการถนอมอายุของอาหารได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆจากน้ำมันมะกอก ผู้บริโภคควรต้องสังเกตเครื่อง หมายรับรองต่างๆว่าถูกต้องตามกฎหมายและมีมาตรฐานความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญคือ เครื่องหมาย “อย.”จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และหากเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นยา ควรต้องได้รับคำยืนยันก่อนการใช้จากแพทย์ผู้รักษาเสมอ

น้ำมันมะกอกมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)ทางยาอย่างไร?

น้ำมันมะกอก

ยาน้ำมันมะกอกมีสรรพคุณทางยา/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้เป็นยาแก้ท้องผูก
  • ใช้เป็นส่วนประกอบของสารอาหารไขมันที่ให้กับผู้ป่วยทางหลอดเลือด
  • ช่วยละลายขี้หู (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ขี้หูอุดตัน)
  • ใช้ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ดูชุ่มชื้น
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในยาบางชนิดเช่น ยาลดการปวดเกร็งในการถ่ายปัสสาวะ

น้ำมันมะกอกมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาน้ำมันมะกอกสำหรับใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกคือ น้ำมันมะกอก จะทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น อีกทั้งทำให้การเคลื่อนผ่านตามลำไส้ของอุจจาระเป็นไปได้ง่ายและสะดวกขึ้น จึงเกิดฤทธิ์การระบายตามสรรพคุณ

นอกจากนี้ ในน้ำมันมะกอกยังมีส่วนประกอบของสารเคมีตัวหนึ่งคือ Phenolic ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เมื่อนำน้ำมันมะกอกไปผสมร่วมกับยารักษาอาการปวดเกร็งของท่อปัสสาวะ ซึ่งมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย สาร Phenolic ในน้ำมันมะกอกจะช่วยต่อต้านแบคทีเรียดังกล่าวในระดับหนึ่ง และเป็นผลช่วยให้อาการปวดเกร็งของช่องทางเดินปัสสาวะทุเลาลง

น้ำมันมะกอกมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาน้ำมันมะกอกมีรูปแบบการจัดจำหน่าย ดังนี้เช่น

  • สารอาหารไขมันประเภทของเหลวแขวนตะกอนที่ต้องให้ทางหลอดเลือด
  • ของเหลวบรรจุขวดสำหรับรับประทานเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก
  • ทำเป็นยาหยอดหูเพื่อลดอาการอุดตันของขี้หูที่มีมากเกินไป/ช่วยละลายขี้หู
  • น้ำมันมะกอกสำหรับทาผิวหนังเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยดูแลผิวหนัง
  • เป็นส่วนประกอบของยาลดอาการปวดเกร็งขณะถ่ายปัสสาวะ โดยบรรจุอยู่ในแคปซูลชนิดนิ่ม(Gel capsule)

น้ำมันมะกอกมีวิธีการใช้อย่างไร?

วิธีการใช้น้ำมันมะกอกเป็นยาขึ้นอยู่กับแต่ละข้อบ่งใช้ ซึ่งจะได้รับการแนะนำวิธีการใช้จากแพทย์ผู้สั่งการรักษา

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างวิธีการใช้เฉพาะกรณีสำหรับเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 30 มิลลิลิตร, ระยะเวลาและความถี่ของการรับประทานจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาน้ำมันมะกอกเป็นยาระบายในเด็กควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาน้ำมันมะกอก ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาน้ำมันมะกอกและอาหารเสริมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

น้ำมันมะกอกมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาน้ำมันมะกอก

ก.ชนิดที่ใช้รับประทาน: อาจ

  • ทำให้ผู้บริโภคมีอาการท้องเสีย
  • การบริโภคเป็นปริมาณมากทุกวัน อาจเป็นสาเหตุให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เพราะยาน้ำมันมะกอก

ข. ชนิดที่ใช้เป็นสารอาหารประเภทไขมัน:

  • อาจมีผู้ป่วยบางรายเกิดอาการแพ้ และมีอาการผื่นคันติดตามมา

มีข้อควรระวังการใช้น้ำมันมะกอกอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาน้ำมันมะกอก: เช่น

  • ห้ามไม่ให้ใช้ในผู้แพ้ยาน้ำมันมะกอก
  • ห้ามมิให้ใช้กับตา
  • สำหรับวัตถุประสงค์ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ให้รับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • การใช้ยาน้ำมันมะกอกสำหรับรับประทานเป็นยากับผู้ป่วยเด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องได้รับคำยินยอมหรือคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาน้ำมันมะกอกให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยา/น้ำมันมะกอกหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมน้ำมันมะกอกด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

น้ำมันมะกอกมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

มีรายงานของการศึกษาวิจัยน้ำมันมะกอกรายงานว่า

  • การรับประทานยาน้ำมันมะกอกร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดการเสริมฤทธิ์ของการลดน้ำตาลในกระแสเลือดกับผู้ป่วยได้มาก แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาลดน้ำตาลฯให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป กลุ่มยารักษาอาการเบาหวานดังกล่าวได้แก่ Glimepiride, Insulin, Pioglita zone, Tolbutamide เป็นต้น
  • การรับประทานยาน้ำมันมะกอกร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูงอาจเสริมฤทธิ์และทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงมามาก แพทย์จะปรับขนาดการรับประทานเมื่อใช้ร่วมกันเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการรัก ษาของยาลดความดันโลหิตเช่น Captopril, Enalapril, Losartan, Valsartan, Diltiazem, Amlodipine, Hydrochlorothiazide, Furosemide เป็นต้น

ควรเก็บรักษาน้ำมันมะกอกอย่างไร?

สามารถเก็บยาน้ำมันมะกอก:

  • เก็บในในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ควรเก็บตามเงื่อนไขที่ระบุมากับตัวผลิตภัณฑ์
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์

น้ำมันมะกอกมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาน้ำมันมะกอก มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ClinOleic (คลินโอลิก) Baxter Healthcare
OliClinomel (โอลีคลิโนเมล) Baxter Healthcare
OilClinomel N7-1000E (ออยล์คลิโนเมล เอ็น7-1000อี) Baxter Healthcare
Olive Oil Community Pharm (โอลีฟ ออยล์ คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) Community Pharm PCL
Rowachol (โรวาคอล) Rowa
Rowatinex (โรวาติเน็กซ์) Rowa
SMOFlipid 20% (เอสเอ็มโอฟลิปิด 20%) Fresenius Kabi

บรรณานุกรม

  1. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-233/olive [2021,April24]
  2. https://www.drugs.com/npp/olive-oil.html [2021,April24]
  3. https://healthfully.com/side-effects-of-pure-virgin-olive-oil-6769999.html [2021,April24]
  4. https://examine.com/supplements/olive-leaf-extract/ [2021,April24]
  5. https://www.mims.com/singapore/drug/info/olive%20oil?mtype=generic [2021,April24]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=olive%20oil [2021,April24]
  7. https://www.wikihow.com/Store-Olive-Oil [2021,April24]
  8. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18069902/ [2021,April24]
  9. https://en.wikiversity.org/wiki/Antimicrobial_Agents_I [2021,April24]
  10. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17536679/ [2021,April24]