น้ำตาเทียม (Artificial tears)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำตาเทียม (Artificial tears) ถูกผลิตขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะนำมาเป็นสารหล่อลื่นลูกตา ใช้รักษาและบรรเทาอาการตาแห้งเนื่องจากมีน้ำตาน้อย รักษาอาการระคายเคืองในลูกตา หรือใช้หล่อลื่นลูกตาขณะใส่คอนแทคเลนส์

ส่วนประกอบหลักของน้ำตาเทียม เป็นสารเซลลูโลส (Cellulose) ที่พบมากในพืช จากนั้นนำ มาผ่านกระบวนการผลิต คัดกรองและทำการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ หากอ่านที่ฉลากของน้ำตาเทียม เราอาจจะเห็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษา/ของการหล่อลื่นลูกตา ได้แก่ Carboxymethyl, Cellulose, Hydroxypropyl cellulos, Hydroxyprepyl methycellulose หรือได้จากการนำสารเมมเบรนโปรตีน (Membrane protein) มาสังเคราะห์ช่วยการหล่อลื่นเช่น กรด Hyaluronic acid หรือแม้แต่สารโพลิเมอร์สังเคราะห์ (Synthetic polymer) เช่น Polyvinyl alcohol

โดยทั่วไปน้ำตาเทียมจัดอยู่ในหมวดยาทั่วไป/ยาแผนปัจจุบัน ชนิดยาใช้ภายนอก ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ยาเสพติด หรือยาควบคุมพิเศษ แต่สำหรับบางชื่อการค้าก็จะจดทะเบียนเป็นยาใช้ภายนอกชนิดยาอันตราย อย่างไรก็ตามการใช้ยาได้อย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพในการรักษา ยังคงต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยเท่านั้น

น้ำตาเทียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

น้ำตาเทียม

น้ำตาเทียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาอาการตาแห้ง มีน้ำตาน้อย
  • บรรเทาอาการแผลที่กระจกตา (กระจกตาอักเสบ)
  • ใช้หล่อลื่นลูกตาหลังผ่าตัดต้อกระจกหรือหลังการทำเลซิค (LASIK)
  • บรรเทาอาการกระจกตาถลอก
  • ใช้เป็นตัวช่วยรักษาอาการของต้อหิน
  • น้ำตาเทียมบางสูตรตำรับถูกผลิตขึ้นมาเพื่อประกอบกับการใช้คอนแทคเลนส์
  • บรรเทาอาการระคายเคืองของดวงตาอันเนื่องมาจากฝุ่นและควันบุหรี่ อาการตาแห้งเนื่องจากรังสีความร้อน

น้ำตาเทียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำตาเทียม หรือสารหล่อลื่นลูกตาส่วนใหญ่ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยจะทำตัวเป็นฟิล์ม (Film, เยื่อบางๆ) บางๆและมีความหนืดในตัวเอง ทำให้เกิดการจับและหล่อลื่นที่ผิวของดวงตา ลดอาการระคายเคือง และรู้สึกสบายภายในลูกตาหลังหยอดน้ำตาเทียม

น้ำตาเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

น้ำตาเทียมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาหยอดตา: รูปแบบขวด ขนาดบรรจุ 5, 15, และ 30 มิลลิลิตร ใช้ได้นาน 1 เดือน
  • รูปแบบเป็นแท่งใช้หยอดตาได้ไม่เกิน 1 วัน (Monodose eye drop): ขนาดบรรจุ 0.3, 0.6, และ 0.8 มิลลิลิตร
  • น้ำตาเทียม รูปแบบขี้ผึ้งป้ายตา (เป็นหลอด): ขนาดบรรจุ 3.5 กรัม ใช้ได้นานตามข้อกำหนด ในเอกสารกำกับยาของแต่ละบริษัทผู้ผลิต

น้ำตาเทียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

น้ำตาเทียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. ขนาดการใช้:

  • สำหรับอาการตาแห้ง ระคายเคืองเล็กน้อย: ให้หยอดยาวันละ 4 ครั้ง
  • สำหรับอาการตาแห้งรุนแรง: ให้หยอดยาวันละ 10 - 12 ครั้ง/วัน
  • สำหรับน้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง: ให้ป้ายยาวันละ 1 - 2 ครั้ง/วัน แนะนำให้ป้ายตาก่อนนอน

อนึ่ง:

  • การเลือกใช้น้ำตาเทียมแบบหยอดตาทั้ง ชนิดขวด ชนิดใช้ครั้งเดียว หรือชนิดขี้ผึ้ง อาจพิจารณาถึงความสะดวกเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน หากผู้ป่วยมีความสะดวกที่จะใช้ชนิด หยอดตาได้หลายครั้งในระหว่างวัน ก็สามารถเลือกใช้ชนิดรูปแบบขวดหรือชนิดรูปแบบแท่ง ด้วยผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 แบบมีความหนืดน้อย จึงรบกวนเรื่องการมองเห็นน้อยกว่าชนิดขี้ผึ้ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าในระหว่างวันไม่มีความสะดวกของการใช้น้ำตาเทียมชนิดขวดและชนิดแท่งใช้วันเดียว ให้เลี่ยงมาใช้ชนิดขี้ผึ้งโดยป้าย 1 ครั้งก่อนนอน
  • ขนาดการหยอดยารวมถึงความถี่ของการใช้ยาในแต่ละวัน ขึ้นกับชนิดของสารสำคัญในน้ำตาเทียมของผู้ผลิตในแต่ละบริษัท ควรหยอดน้ำตาเทียมตามคำแนะนำของแพทย์ ประกอบกับทำความเข้าใจวิธีใช้จากเอกสารกำกับยาของยาแต่ละบริษัทผู้ผลิต

ข.วิธีใช้น้ำตาเทียม: วิธีการใช้/การหยอด/ป้ายน้ำตาเทียม ให้ปฏิบัติ เช่น

  • เอียงศีรษะเล็กน้อย โดยอยู่ในมุมที่ถนัดที่สุด
  • ดึงเปลือกตาล่างลงเบาๆ เพื่อเปิดพื้นที่ของการหยอดน้ำตาเทียม
  • มองที่ปลายหลอดของยาหยอดตาและวางในตำแหน่งที่ห่างจากดวงตาพอประมาณ
  • บีบหลอดยาของน้ำตาเทียมให้ยาหยดตรงบริเวณดวงตา จำนวนหยดให้ใช้ตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
  • หลับตาประมาณ 2 - 3 นาที โดยเอียงศีรษะเพื่อไม่ให้น้ำตาเทียมไหลออกมาจากดวงตา
  • หลังหยอดน้ำตาเทียม ควรหลีกเลี่ยงการกระพริบตาถี่ๆ (เพราะจะทำให้น้ำตาเทียมไหลออกจากตาเร็วขึ้น) และใช้นิ้วมือคลึงเบาๆบริเวณหัวมุมของเปลือกตาเพื่อช่วยกระจายน้ำตาเทียม
  • หากมีการใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วย ควรเว้นระยะเวลาห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10 นาที

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

รูปแบบของน้ำตาเทียมต่างกันอย่างไร?

เปรียบเทียบการบริหารยาของน้ำตาเทียมตามรูปแบบของผลิตภัณฑ์ได้ เช่น

ก. น้ำตาเทียมรูปแบบแท่งใช้วันเดียว (Monodose eye drops):

  • แบ่งบรรจุเป็นหลอดเล็กๆและสะดวกต่อการใช้แต่ละวัน
  • การใช้หยอดตาแต่ละครั้งจะได้ปริมาณน้ำตาเทียมเท่าๆกันของการหยอดแต่ละครั้ง
  • สามารถแบ่งพกพาได้ตามจำนวนวันที่ต้องหยอดตา
  • โอกาสปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกภายนอกน้อยกว่า ด้วยเหตุที่เปิดภาชนะและใช้หยอดตาเพียง 1 วัน
  • ไม่มีสารกันบูด จึงลดโอกาสตาแพ้สารกันบูด แต่อาจแพ้สารเพิ่มความหนืดของน้ำตาเทียมได้

ข. น้ำตาเทียมชนิดรูปแบบขวดใช้ได้นาน 1 เดือน:

  • สามารถใช้หยอดดวงตาได้หลายครั้ง หลังเปิดใช้งานแล้วไม่ควรใช้เกิน 1 เดือน
  • หลังการเปิดใช้หยอดตาแต่ละครั้ง หากปิดขวดเก็บไม่มิดชิด อาจจะเกิดการปนเปื้อนจากสิ่ง แวดล้อมได้ง่าย ต้องเพิ่มความระมัดระวังด้านการจัดเก็บและการใช้หยอดตาในครั้งถัดไป ต้องระมัด ระวังความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ดวงตาติดตามมา
  • สารกันบูด ตาจึงอาจแพ้สารกันบูดได้
  • ราคาตามท้องตลาดถูกกว่าชนิดใช้ 1 วันมาก

ค. น้ำตาเทียมชนิดรูปแบบขี้ผึ้ง:

  • มีความหนืดมากกว่าน้ำตาเทียมชนิดขวดและชนิดใช้ 1 วัน จึงทำให้ความถี่ในการหยอดยาน้อยกว่าน้ำตาเทียมชนิดขวดและชนิดใช้ 1 วัน
  • ในสูตรตำรับอาจพบองค์ประกอบของ White petrolatum Lanolin หรือ Mineral oil เพื่อทำให้ฟิล์มของน้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้งจับที่ผิวดวงตาได้นานขึ้น จึงให้ความรู้สึกเหนอะหนะที่ตา
  • มักจะรบกวนการมองเห็นมากกว่าชนิดขวดและชนิดใช้ครั้งเดียว จึงแนะนำให้หยอดตาในช่วงก่อนนอน
  • ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ไม่ควรใช้น้ำตาเทียมชนิดขี้ผึ้ง ด้วยจะรบกวนการมองเห็นภาพและอาจทำให้คุณภาพของคอนแทคเลนส์ลดลงไป
  • ต้องจัดเก็บยาหลังการเปิดใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากสิ่ง แวดล้อมได้ง่าย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงน้ำตาเทียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น หยอดยาแล้วมีอาการ ปวด แสบ ระคายเคือง ตา
  • มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับตา รวมทั้งกำลังหยอดยาอะไรอยู่ เพราะน้ำตาเทียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาหยอดตาชนิดอื่นๆที่ใช้อยู่ก่อน

หากลืมหยอดน้ำตาเทียมควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดยา สามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในเวลาถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการหยอดยาเป็น 2 เท่า

น้ำตาเทียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

น้ำตาเทียมอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวอาจมีสาเหตุจากสารอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบร่วมในสูตรตำรับยา เช่น สารกันบูด สารเพิ่มความหนืดของยา ทั้งนี้ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น

  • ทำให้การมองเห็นภาพไม่ค่อยชัดเจน
  • อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตา
  • ทำให้เกิดการแพ้แสงสว่าง
  • ทำให้เปลือกตาบวม
  • มีอาการคล้ายกับตาแฉะ

มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาเทียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้น้ำตาเทียม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยา/แพ้น้ำตาเทียมชนิดนั้นๆ
  • ห้ามใช้น้ำตาเทียมที่มีการเปลี่ยนสีไปจากมาตรฐานเดิมของผู้ผลิต
  • ห้ามนำน้ำตาเทียมที่ออกแบบการใช้เพียง 1 วันกลับมาใช้ใหม่ หากใช้หยอดตาไม่หมดให้ทิ้งทำลายหลังการใช้
  • ระวังการแพ้ส่วนประกอบของน้ำตาเทียม เช่น สารยับยั้งเชื้อ/สารกันบูด (Preservatives)
  • น้ำตาเทียมที่ใช้กับผู้ใส่คอนแทคเลนส์ ควรเป็นสูตรตำรับสำหรับคอนแทคเลนส์โดยเฉพาะ
  • ยังไม่มีข้อมูลของผลกระทบกับการใช้น้ำตาเทียมในสตรีมีครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรและในเด็ก ด้วยเพราะน้ำตาเทียมเป็นยาที่ใช้เฉพาะที่ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจใน การใช้ยากับกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวเป็นกรณีไป
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมน้ำตาเทียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

น้ำตาเทียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

น้ำตาเทียม จัดเป็นยาใช้ภายนอกที่ใช้กับตา จึงมีข้อมูลที่ก่อปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประ ทานน้อยมาก ยกเว้นอาจรบกวนการดูดซึมของยาหยอดตาชนิดอื่น (เมื่อต้องใช้ร่วมกัน ควรหยอดยาแต่ละชนิดให้ห่างกันอย่างน้อยประมาณ 10-15 นาที)

แต่ หากพบอาการผิดปกติหลังการใช้ยาหยอดตา ให้ รีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ควรเก็บรักษาน้ำตาเทียมอย่างไร?

สามารถเก็บน้ำตาเทียม เช่น

  • ชนิดรูปแบบหยอด: เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ชนิดรูปแบบขี้ผึ้ง: เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส
  • เก็บยาทุกรูปแบบ:
    • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

น้ำตาเทียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

น้ำตาเทียม มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cellufresh MD/Celluvisc MD (เซลลูเฟรช เอ็มดี/เซลลูวิส เอ็มดี) Allergan
Cellufresh/Celluvise (เซลลูเฟรช/เซลลูวิส) Allergan
Endura(เอ็นดูรา) Allergan
Duratears (ดูราเทีย) Alcon
Optal-Tears (ออพตัล-เทียร์) Olan-Kemed
Genteal Gel (เจนเทียล เจล) Alcon
Hialid (ไฮอะลิด) Santen
Lac-Oph (แล็ค-ออฟ) Semg Thai
Lacryvisc (ลาครีวิส) Alcon
Liposic (ลิโพซิค) Bausch & Lomb
Liquifilm (ลิควิฟิล์ม) Allergan
Natear (นาเทียร์) Silom Medical
Opsil Tears (ออฟซิล เทียร์) Silom Medical
Optive (ออฟทีบ) Allergan
Refresh (รีเฟรช) Allergan
Tears Naturale Free (เทียร์ แนเชอรอล) Alcon
Tears Naturale ll (เทียร์ แนเชอรอล 2) Alcon
VislubeA (วิสลูบเอ) TRB Chemedica
Vidisic (วิดิซิค) Bauch & Lomb

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Artificial_tears [2020,Dec26]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fVislube%2f%3ftype%3dfull#Contraindications [2020,Dec26]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fpolyvinyl%2520alcohol%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage[2020,Dec26]
4 http://www.drugs.com/mtm/artificial-tears.html [2020,Dec26]
5 http://www.drugs.com/sfx/artificial-tears-side-effects.html[2020,Dec26]
6 http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/lookup.cfm?setid=1a8640de-e2bb-48e5-b664-e0c157a2337d[2020,Dec26]
7 http://www.healthcentral.com/medications/r/medications/artificial-tears-opht-799/dosage [2020,Dec26]
8 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fDuratears%2f [2020,Dec26]
9 http://www.webmd.com/drugs/2/drug-10427/artificial-tear-ointment-opht/details#uses [2020,Dec26]