นอนไม่หลับ (Sleeplessness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร ? พบบ่อยไหม?

นอนไม่หลับ (Sleeplessness) คือ อาการ หรือ ภาวะ การนอนที่ผิดปกติไปจากเดิม กล่าวคือ นอนหลับยาก, นอนหลับไม่สนิท, มักตื่นบ่อย, หรือเมื่อตื่นแล้ว มักนอนไม่หลับ, หรือ ตื่นก่อนเวลาที่เคยมาก, ซึ่งส่งผลให้เมื่อตื่นนอนจะไม่สดชื่น, ยังง่วงนอน, จึงมีผลต่อการทำงาน หรือ ก่ออาการง่วงกลางวัน จนอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์จิตใจไปจนถึงกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

นอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท ชื่อทางการแพทย์คือ อินซำเนีย(Insomnia) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค (โรค-อาการ-ภาวะ) เป็นอาการพบบ่อย มีรายงานพบประมาณ 10%-50% ของประชากรในแต่ละปี อาการนอนไม่หลับพบทั้งในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)และในผู้ใหญ่ แต่พบในผู้ใหญ่สูงกว่าในเด็กมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่65ปีขึ้นไป, พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชายประมาณ40%

นอนไม่หลับมีกี่ประเภท?

นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท แบ่งได้หลายประเภท/หลายกลุ่ม เช่น

ก. แบ่งตามระยะเวลาที่เกิดอาการนอนไม่หลับ: แบ่งเป็น 2กลุ่ม คือ

  • เมื่ออาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นในช่วงระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เรียกว่า “การนอนไม่หลับชั่วคราว (Transient insomnia)” เช่น เกิดจากการเปลี่ยนสถานที่ หรือมีความเครียดชั่วครั้งชั่วคราว
  • เมื่ออาการนอนไม่หลับเกิดต่อเนื่องนานเกิน1สัปดาห์ เรียกว่า “การนอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia)” ซึ่งบางท่าน ยังแบ่งกลุ่มนี้เป็น 2กลุ่มย่อยคือ
    • นอนไม่หลับต่อเนื่องแต่ไม่เกิน3เดือน เรียกว่า “นอนไม่หลับเฉียบพลัน (Acute insomnia)”
    • แต่ถ้านอนไม่หลับต่อเนื่องนานเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป เรียกเป็น “นอนไม่หลับเรื้อรัง (Chronic insomnia)”

ข. แบ่งตามสาเหตุ: แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม/ประเภท คือ นอนไม่หลับปฐมภูมิ (Primary insomnia), และนอนไม่หลับทุติยภูมิ (Secondary insomnia)

  • นอนไม่หลับปฐมภูมิ: เป็นการนอนไม่หลับที่เกิดเอง ไม่ได้เกิดจากโรค หรือ จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด(เช่น ยาในกลุ่ม Alpha blocker, ยาลดความดันโลหิตบางชนิด) โดยการนอนไม่หลับปฐมภูมินี้เป็นได้ทั้ง นอนไม่หลับแบบชั่วคราว, เฉียบพลัน, หรือ เรื้อรัง, ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น นอนไม่หลับจากเปลี่ยนสถานที่ หรือ เกิดจากความเครียด
  • นอนไม่หลับทุติยภูมิ คือ การนอนไม่หลับที่เกิดจากโรค หรือจากภาวะที่เปลี่ยนแปลง หรือจากผลข้างเคียงของยา การนอนไม่หลับทุติยภูมิเป็นได้ทั้ง การนอนไม่หลับชั่วคราว, เฉียบพลัน, หรือ เรื้อรัง ขึ้นกับสาเหตุ ตัวอย่างสาเหตุการนอนไม่หลับทุติยภูมิ เช่น
    • จากโรค: เช่น จากโรคปวดศีรษะไมเกรน, โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, โรคเบาหวาน, โรคสมองต่างๆ(เช่น อัมพาต :โรคหลอดเลือดสมอง, โรคสมองเสื่อม, โรคอัลไซเมอร์)
    • วัยก่อนหมดประจำเดือน, วัยหมดประจำเดือน
    • จากบริโภคสารบางชนิด เช่น สารคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคลา เครื่องดื่มชูกำลัง)
    • การเลิกสุรา
    • การเลิกบุหรี่
    • มีการรบกวนในขณะนอนหลับ เช่น จาก เสียง กลิ่น ต่างๆ
    • ผลข้างเคียงจากยารักษาโรคบางชนิด เช่น เช่น ยาในกลุ่มแอลฟาบล็อกเกอร์, ยาลดความดันโลหิตบางชนิด

นอนไม่หลับเกิดได้อย่างไร?

สมองส่วนที่ควบคุม ’การนอน’ เป็นวงจรร่วมกันระหว่าง สมองส่วนไฮโปธาลามัส, สมองใหญ่ส่วนนอก, และก้านสมอง, ดังนั้น การนอน จึงเป็นผลจากหลายๆปัจจัยที่ส่งผลกระทบถึงการทำงานของวงจรสมอง เช่น

  • อารมณ์ จิตใจ
  • มีตัวกระตุ้น อารมณ์ จิตใจ ร่างกาย ในแต่ละวัน
  • การพักผ่อนของร่างกาย ทั้งในช่วง กลางคืน และ กลางวัน
  • การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย
  • การใช้พลังงานจากน้ำตาลกลูโคลส (Glucose) ของร่างกาย
  • และในปัจจุบัน ยังพบว่า ในร่างกายมีฮอร์โมนที่ควบคุมเกี่ยวกับการนอน ชื่อว่าเมลาโทนินซึ่งสร้างจากต่อมไพเนียลในสมอง ซึ่งต่อมนี้ทำงานสัมพันธ์กับการทำงานของสมองไฮโปธาลามัส

ดังนั้น นอนไม่หลับ /หลับยาก/หลับไม่สนิท จึงเป็นผลจากหลายๆสาเหตุ ที่ส่งผลกระทบถึงวงจรในสมองที่ควบคุมเกี่ยวกับการนอนหลับให้ผิดปกติไปจากเดิม จึงส่งผลให้เกิดการนอนไม่หลับขึ้น

อะไรเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับ?

สาเหตุนอนไม่หลับ /หลับยาก/หลับไม่สนิท ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ขาดสุขลักษณะการนอน (Sleep hygiene) เช่น นอนไม่เป็นเวลา, กินอาหารมื้อหนักก่อนนอน, ดื่มสารคาเฟอีนก่อนนอน
  • มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ เช่น ความเครียด, ซึมเศร้า
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด, ยาขับปัสสาวะ, ยาลดน้ำมูก/ยาแก้แพ้บางชนิด, ยาจิตเวชบางชนิด
  • ช่วง เลิกสุรา, เลิกบุหรี่
  • โรคเรื้อรังต่างๆที่ก่ออาการรบกวนการนอน เช่น โรคเบาหวาน, โรคของตอมไทรอยด์, โรคที่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกลางคืน(เช่น โรคต่อมลูกหมากโต, โรคเบาหวาน) , อาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดข้อ หรือ ปวดจากโรคมะเร็ง, โรคสมองบางชนิด, โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ, โรคกรดไหลย้อน
  • การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนของร่างกาย เช่น วัยใกล้หมดประจำเดือน, วัยหมดประจำเดือน, โรคต่อมไทรอยด์
  • การใช้ชีวิตแบบนั่งๆนอนๆ ไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย
  • อายุ: ยิ่งอายุมากขึ้น จะพบนอนไม่หลับ/การนอนไม่หลับ/ อาการนอนไม่หลับ สูงขึ้น ทั้งจากภาวะทางอารมณ์ จิตใจ, การเสื่อมของเซลล์สมอง,และของต่อมไร้ท่อที่สร้างฮอร์โมนต่างๆที่เกี่ยวกับการนอนหลับ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการนอนไม่หลับ?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท คือ

  • เพศหญิง: ทั้งนี้เพราะเพศหญิงมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิงตลอดเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการนอนไม่หลับได้ เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือนที่เรียกว่า กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน, การตั้งครรภ์, วัยใกล้หมดประจำเดือน, หรือ ในวัยหมดประจำเดือน
  • อายุ: พบอาการนอนไม่หลับได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุโดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 65ปีขึ้นไป เพราะเซลล์ต่างๆในร่างกายมีการเสื่อมถอย รวมทั้งเซลล์สมองที่ควบคุมเกี่ยวกับวงจรในการนอนหลับ
  • มีปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ: เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือ ความเครียด
  • การเปลี่ยนสภาพการทำงาน หรือ สถานที่: เช่น ที่เคยทำงานกลางวัน เปลี่ยนมาทำกลางคืน หรือ การเดินทางที่เปลี่ยนสถานที่นอน เป็นต้น
  • การเดินทางข้ามวันข้ามคืน จากประเทศหนึ่ง ไปอีกประเทศหนึ่ง ที่เรียกว่า เจทแลค
  • ขาดสุขลักษณะการนอน
  • มีปัญหาทางเศรษฐกิจ

นอนไม่หลับมีอาการอะไรร่วมอีกได้บ้าง?

อาการที่พบบ่อยร่วมกับการนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท หรือ อาการที่สัมพันธ์กับการนอนไม่หลับ คือ

  • ใช้เวลานานมากกว่าจะนอนหลับ
  • ตื่นบ่อย เมื่อตื่นแล้วหลับยาก
  • ตื่นนอนเช้ากว่าปกติมาก
  • ตื่นนอนไม่สดชื่น ยังง่วงอยู่มาก
  • กลางวันอ่อนเพลีย
  • ง่วงกลางวันเกินปกติ
  • สับสน, วิตกกังวล, กังวลแต่เรื่องนอนไม่หลับ, ซึมเศร้า, ไม่มีสมาธิ, ทำงานผิดพลาดบ่อย
  • เกิดอุบัติเหตุง่าย
  • ปวดหัวตั้งแต่เช้า
  • ท้องอืด, ท้องเฟ้อ, ปวดท้องเรื้อรัง

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์

เมื่อนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เมื่อ

  • นอนไม่หลับต่อเนื่องนานมากกว่า 3-4 สัปดาห์
  • นอนไม่หลับจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การงาน และ/หรือ การเรียน
  • การนอนไม่หลับจนส่งผลต่อสุขภาพกาย และ/หรือ ต่อสุขภาพจิต
  • เมื่อกังวลในอาการ

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุนอนไม่หลับได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของ การนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท ได้จาก

  • สอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ลักษณะการนอนไม่หลับ, อาการต่างๆที่ร่วมด้วย, ประวัติเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน, โรคประจำตัว การงาน อาชีพ, ประวัติการใช้ยาต่างๆ, การเดินทาง
  • การตรวจร่างกาย
  • และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มการสืบค้นเติมตามอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาลในเลือด เมื่อสงสัยโรคเบาหวาน, ดูระดับฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์กรณีสงสัยโรคของต่อมไทรอยด์
    • ตรวจภาพต่อมลูกหมากด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) หรือ เอมอาร์ไอ เมื่อสงสัยสาเหตุปัสสาวะบ่อยกลางคืนจากโรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

*อนึ่ง ลักษณะทางคลินิกที่แพทย์มักวินิจฉัยว่า ‘นอนไม่หลับ’ที่เป็นภาวะผิดปกติที่จำเป็นต้องรักษา เมื่อ

  • ผู้ป่วยนอนไม่หลับอย่างน้อย 3 คืนต่อสัปดาห์ เป็นเวลาต่อเนื่องนานอย่างน้อย3เดือน
  • และร่วมกับ การนอนไม่หลับนี้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น ปัญหาทางอารมณ์, ประสิทธิภาพในการเรียนหรือในการทำงาน

รักษาอาการนอนไม่หลับได้อย่างไร?

แนวทางรักษาอาการนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท คือ

  • รักษาสาเหตุ
  • ฝึกให้มีสุขลักษณะการนอน
  • การบำบัดด้านจิตเวช
  • และ *******ใช้ยานอนหลับ ซึ่งมีหลากหลายชนิดตาม สาเหตุ, อายุ, โรคประจำตัว, ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาอันตรายที่อาจส่งผลให้ถึงตาย และ บางชนิดอาจมีผลเป็นยาเสพติดได้

ทั้งนี้ การจะเลือกใช้วิธีรักษาอย่างไร ขึ้นกับ สาเหตุ, ความรุนแรง, ประเภทอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

นอนไม่หลับมีผลข้างเคียงรุนแรงไหม?

ความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไปมักเกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงแต่มักส่งผลถึงคุณภาพชีวิต และก่อให้เกิดความกังวล

ผลข้างเคียงจากการนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท เช่น

  • ส่งผลให้คุณภาพในการทำงาน และ/หรือ การเรียนลดลง
  • เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายจากง่วงกลางวัน
  • เพิ่มความกังวล, ความเครียด (เป็นวงจรกลับไปกลับมา จากเหตุเป็นผล จากผลเป็นเหตุ)
  • ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย
  • และบางการศึกษาพบว่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้
  • ในส่วนที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ยังไม่พบการศึกษาที่ยืนยันได้ชัดเจน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อนอนไม่หลับ?

การดูแลตนเองเมื่อนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท ได้แก่

  • สร้างเสริมให้ตนเองมีสุขลักษณะการนอน
  • ควบคุม ดูแล รักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • ปรึกษาแพทย์ปรับเปลี่ยนยา เมื่อการนอนไม่หลับเกิดจากผลข้างเคียงของยา
  • เลิก/ไม่ สูบบุหรี่ และ/หรือ ดื่มเครื่องสุรา/ดื่มแอลกอฮอล์
  • พยายามไม่นอนหรือลดระยะเวลานอนในตอนกลางวัน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี ยอมรับชีวิต และรักษาสุขภาพจิต
  • มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน ไม่ออกกำลังกายหักโหม
  • ถ้ามีการรักษากับแพทย์ ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัด เสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

กรณีพบแพทย์แล้ว ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • ปรับพฤติกรรม และ/หรือกินยาแล้ว ยังคงนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท คือ อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง และการนอนไม่หลับยังมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาต่างๆที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย หรือท้องผูก มาก ง่วงนอนมาก ใจสั่น
  • กังวลในอาการ

ป้องกันนอนไม่หลับได้อย่างไร?

การป้องกันการนอนไม่หลับ/หลับยาก/หลับไม่สนิท ได้แก่

  • ฝึกให้มีสุขลักษณะการนอน
  • ควบคุม ดูแล รักษาโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้ดี
  • ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพ สม่ำเสมอทุกวัน
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มสุรา/แอลกอฮอล์
  • ยอมรับ และเข้าใจชีวิต รักษาสุขภาพจิต

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Harsora, P., and Kessmann, J. (2009). Nonpharmacologic management of chronic insomnia. Am Fam Physician. 79, 125-130.
  3. Ramakrishnan, K., and Scheid, D. (2007). Treatment options for insomnia. Am Fam Physician. 76, 517-526.
  4. Roth, T. (2007). Insomnia: definition, prevalence, etiology, and consequences. Journal of Clinical Sleep Medicine. 3, s7-s10.
  5. https://www.sleepassociation.org/sleep-disorders/insomnia/ [2021,July17]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Insomnia [2021,July17]
  7. http://sleepeducation.org/essentials-in-sleep/insomnia[2021,July17]
  8. https://emedicine.medscape.com/article/1187829-overview#showall [2021,July17]
  9. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2924526/ [2021,July17]
  10. https://www.sleepfoundation.org/insomnia [2021,July17]