ทริคิโนซิส (Trichinosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคทริคิโนซิส (Trichinosis) หรือ ทริคินิเอซิส (Trichiniasis) หรือ ทริคิเนลโลซิล(Trichinellosis) เป็นโรคเกิดจากคนติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารจากพยาธิตัวกลมที่อยู่ในสกุล(Genus)ชื่อ Trichinella ซึ่งมีหลายชนิด(Species)ที่สามารถก่อการติดพยาธิในคนได้

โดยชนิดที่พบก่อการติดเชื้อในคนได้บ่อยที่สุด คือ Trichinella spiralis (T. spiralis) ซึ่งการติดเชื้อเกิดจาก คนกินเนื้อสัตว์ดิบหรือสุกๆดิบๆที่มีตัวอ่อน(Larva)พยาธินี้ฝังตัวอยู่ในเนื้อสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านี้ ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด สัตว์ปีก และสัตว์เลื้อยคลาน ที่กินเนื้อเป็นอาหาร ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นได้ทั้ง สัตว์เลี้ยง หรือ สัตว์ป่า เช่น หมู ม้า หนู หมี กระรอก วาฬ จรเข้ นกเค้าแมว นกฮูก สุนัข แมว โดยในชีวิตประจำวัน คนติดโรคนี้ได้บ่อยทั่สุดจากกินเนื้อหมู รองๆลงไป คือ เนื้อม้า(มักพบในคนยุโรปตะวันออกที่ชอบบริโภคเนื้อม้า) และเนื้อหนู

พยาธิ Trichinella เป็นพยาธิพบทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิประเทศเขตร้อน ในแหล่งที่การเลี้ยงสัตว์ยังไม่เจริญพอ และในที่ที่คนยังนิยมกินเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุกๆดิบ

พยาธิ Trichinella มีแหล่งรังโรค คือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และสัตว์บางชนิด ดังได้กล่าวแล้ว ซึ่งสัตว์เหล่านั้น นอกจากเป็นรังโรคแล้ว ยังเป็นโฮสต์ตัวกลางของพยาธินี้ด้วย เพราะพยาธิ์นี้ ในวงจรชีวิตต้องมี 2 โฮสต์ คือ โฮสต์ที่เป็นรังโรค (พยาธิอาศัยอยู่และออกลูกหลาน) และโฮสต์ตัวกลาง(Intermediate host)ที่พยาธิอาศัยอยู่ในช่วงหนึ่งของวงจรชีวิต ส่วนคนเป็นโฮสต์โดยบังเอิญ(Accidental host) คือกินเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนของพยาธินี้ จึงเกิดการติดเชื้อพยาธิ์นี้

ตัวแก่ของพยาธินี้ที่พร้อมผสมพันธ์ได้ ตัวผู้จะมีขนาดประมาณ 1.4 -1.6 มิลลิเมตร เล็กกว่าตัวเมียประมาณ 2 เท่า ไข่พยาธิจะมีขนาดเล็กมาก หน่วยเป็นไมครอน(Micron) เป็นรูปรี เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์ ตัวอ่อนที่ออกจากไข่จะมีขนาดเล็กมากเป็นไมครอนเช่นกัน ส่วนตัวอ่อนที่เป็นระยะติดต่อ (Infective stage larva)/ระยะที่เมื่อคนกินเข้าไปแล้วจะติดเชื้อได้ เป็นตัวอ่อนที่ฝังตัวอยู่ในเนื้อสัตว์ที่มักเป็นกล้ามเนื้อลาย (แต่พบในเนื้อเยื่ออื่นก็ได้ เช่น สมอง ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ) และมักมีถุงหุ้ม เรียกว่า “ซีสต์(Cyst) หรือ Nurse cell” จะมีขนาดประมาณ 0.8-1 มิลลิเมตร

พยาธินี้ที่เป็นตัวผู้ เมื่อผสมพันธ์แล้วจะตาย ส่วนตัวเมียจะผลิตไข่และตัวอ่อนอยู่ได้นานประมาณ 3-4 สัปดาห์ถึงตาย เมื่อตายแล้วร่างกายคนจะขับซากมันออกมากับอุจจาระ ส่วนตัวอ่อนระยะเป็นซีสต์ จะมีอายุในกล้ามเนื้อลายของคนได้นานประมาณ 6 เดือน ถึงเป็นปี มีรายงานอยู่ได้นานถึง 40 ปี แต่ตัวอ่อนที่ไชไปอยู่ในเนื้อเยื่ออื่นที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อลาย มักถูกร่างกายฆ่าตายและสลายตัวไปไม่มีการเกิดเป็นซีสต์ ทั้งนี้ไม่สามารถฆ่า พยานี้, ตัวอ่อนพยาธิ, และซีสต์พยาธิได้ด้วยการ หมักดอง แช่น้ำปลา ตากแดด ทำเค็ม และแม้แต่การใช้ไมโครเวฟเพียงวิธีการเดียว(เพราะมักไม่สามารถทำให้เนื้อสัตว์สุกทั่วถึงได้)

พยาธิชนิดนี้ ตัวอ่อน และซีสต์ สามารถตายได้จากการความร้อนที่อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 71 องศาเซลเซียส(Celsius) ที่แน่นอน คือ ตั้งแต่ 75 องศาเซลเซียสขึ้นไปนานอย่างน้อยประมาณ 5 นาที และฆ่าได้จากน้ำยาฆ่าเชื้อหลายชนิด เช่น 95% Ethanol alcoholผสมกับXylol ในอัตราส่วน 1:1, และส่วนผสมของ Phenol และ Xylol ในอัตราส่วน 1:1, ทั้งนี้ไม่สามารถฆ่าพยาธินี้ให้ตายได้ด้วย ความเย็น แช่แข็ง หมัก ดอง ตากแดด รมควัน ทำเค็ม หรือปรุงสุกด้วยไมโครเวฟ(ใช้เพียงวิธีการเดียว เพราะมักปรุงสุกได้ไม่ทั่วถึง)

โรคทริคิโนซิส พบทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อน ในแหล่งที่การปศุสัตว์ยังไม่เจริญพอ และในถิ่นที่คนยังนิยมกินเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุกๆดิบ เป็นโรคพบได้ในทุกอายุที่เด็กเริ่มกินเนื้อสัตว์ได้ไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายพบโรคได้เท่ากัน ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพราะอาหารประจำถิ่นมักปรุงดิบหรือสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ แหนม ก้อย พร่า ซึ่งประเทศไทยเรามีรายพบโรคนี้ได้ประมาณ 200-600 รายต่อปี ในจีนประมาณ 10,000 รายต่อปี ในสหรัฐอเมริกามีรายงานประมาณ 10 รายต่อปี

โรคทริคิโนซิสเกิดได้อย่างไร?

ทริคิโนซิส

สาเหตุของโรคทริคิโนซิส คือ คนติดพยาธิตัวกลมในสกุล Trichinella โดยเริ่มจากการกินตัวอ่อนระยะติดต่อ/ซีสต์ที่อยู่ในเนื้อสัตว์ที่ปรุงดิบหรือสุกๆดิบๆ เมื่อคนกินเนื้อสัตว์นี้เข้าไป เปลือกหุ้มซีสต์จะถูกกรดในกระเพาะอาหารย่อยออก ได้เป็นตัวอ่อน ซึ่งจะเคลื่อนไปอยู่ในที่ผนังลำไส้เล็ก เกาะจับที่ผนังลำไส้เล็กและเจริญเป็นตัวแก่ที่มีได้ทั้งตัวผู้และตัวเมียภายในระยะเวลาประมาณ 30-36 ชั่วโมง หลังจากนั้นตัวแก่จะผสมพันธ์กัน หลังผสมพันธ์ ตัวผู้จะตาย ตัวเมียออกไข่ และไข่กลายเป็นตัวอ่อนได้ในตัวแก่ตัวเมียนั้น ซึ่งระยะเวลาที่นับจากคนกินซีสต์ไปจนถึงได้เป็นพยาธิตัวอ่อน จะประมาณ 5 วัน ทั้งนี้ตัวเมียจะอยู่ในลำไส้เล็กได้นานประมาณ 4 สัปดาห์ก็จะตาย

ส่วนตัวอ่อนจากไข่จะใช้เวลาเติบโตอยู่ในลำไส้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงไชเข้าผนังลำไส้เข้าสู่ระบบน้ำเหลืองของลำไส้ เข้าสู่กระแสเลือด และเข้าสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นกล้ามเนื้อลาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อลายที่เคลื่อนไหวเสมอ เช่น กะบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง ลิ้น และกล้ามเนื้อขา

เมื่อเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อลาย ร่างกายจะทำลายตัวอ่อนให้ตายได้ ส่วนตัวอ่อนที่อยู่ในกล้ามเนื้อลาย จะยังมีชีวิตอยู่ได้โดยจะสร้างผนังหุ้มตัวเอง ที่เรียกว่า ‘ซีสต์’ที่จะอยู่ในกล้ามเนื้อลายได้นานเป็นหลายเดือนถึงหลายปี โดยร่างกายจะพยายามกำจัดโดยมีหินปูนมาจับที่ซีสต์และทำให้ตัวอ่อนในซีสต์ตายในทึ่สุด โดยระยะเวลานับจากที่คนกินซีสต์ในเนื้อสัตว์ ไปจนถึงเกิดเป็นซีสต์ใหม่ในกล้ามเนื้อคน จะประมาณ 5-6 สัปดาห์ *อนึ่ง พยาธินี้บางชนิดย่อยที่พบได้น้อย อาจไม่มีการสร้างซีสต์ได้

ทั้งนี้ ระยะต่างๆในการเจริญเติบโตของพยาธิโรคทริคิโนซิสในลำไส้คน ไปจนถึงระยะเกิดซีสต์ จะก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้นกับร่างกาย ขึ้นกับตัวอ่อนพยาธินี้จะไปอยู่ตำแหน่งไหนของร่างกาย ซึ่งรวมเรียกความผิดปกติทั้งหมดที่เกิดจากพยาธินี้ว่า “โรคทริคิโนซิส”

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคทริคิโนซิส?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคทริคิโนซิส คือ

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในแหล่งที่พบโรคนี้ได้บ่อยหรือที่เป็นโรคประจำถิ่น และ
  • คนที่ชอบกินเนื้อสัตว์ปรุงดิบ หรือปรุงสุกๆดิบๆ

โรคทริคิโนซิสมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคทริคิโนซิสจะขึ้นกับว่า ตัวอ่อนพยาธิเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อใดของร่างกาย ส่วนความรุนแรงของอาการ อาจจากไม่มีอาการเลย ไปจนถึงอาการรุนแรงมากจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ขึ้นกับ

  • ปริมาณพยาธิที่ได้รับว่ามากหรือน้อย
  • ชนิดของพยาธิเป็นสายพันธ์ที่รุนแรงหรือไม่ และ
  • สุขภาพของร่างกาย ว่าแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ปกติหรือไม่

ในผู้ที่ร่างกายแข็งแรง ที่ได้รับพยาธินี้ในปริมาณน้อย และเป็นสายพันธ์ที่รุนแรงน้อย คนคนนั้นมักไม่มีอาการ และจะไม่รู้เลยว่าติดเชื้อพยาธินี้ จะรู้ได้โดยบังเอิญจากพบซีสต์ที่มีหินปูนจับ/ที่พยาธิตายแล้วจากเอกซเรย์ภาพอวัยวะนั้นๆเมื่อผู้นั้นป่วยเป็นโรคอื่นๆ

ในผู้ที่มีอาการ อาการอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ขึ้นกับว่าพยาธิตัวอ่อนเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อส่วนใดของร่างกาย ได้แก่ ระยะอาการทางลำไส้ (Enteral phase หรือ Intestinal stage, ระยะตัวอ่อนเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อ( Parenteral phase หรือ Muscle invasion stage) และระยะตัวอ่อนฝังตัวและสร้างซีสต์(Encystment phase หรือ Convalescent stage)

ก. ระยะแรก คือ ระยะอาการทางลำไส้(Enteral phase หรือ Intestinal stage): หลังกินตัวอ่อนพยาธิได้ประมาณ 1-7วัน ผู้ป่วยจะเกิดอาการได้ (ระยะฝักตัวของโรค) หรือบางคนอาจนานได้ถึง 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะเกิดอาการทางกระเพาะอาหารและลำไส้ซึ่งเป็นอาการทั่วไป ไม่เฉพาะสำหรับโรคนี้ เช่น

  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้ อาจอาเจียน
  • หลังจากนั้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆดีขึ้นเอง และหายไปได้ในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งผู้ป่วยจะเป็นปกติไปจนถึงเข้าสู่ระยะต่อไป

ข. ระยะต่อมา หรือระยะที่2 คือ ระยะตัวอ่อนเข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อ (Parenteral phase หรือ Invasive phase) บางคนเรียกว่า ระยะตัวอ่อนไชเข้ากล้ามเนื้อ(Muscle invasion stage): อาการจะเกิดนับหลังจากกินพยาธิตัวอ่อนได้ประมาณ 2-8 สัปดาห์ บางคนอาจนานกว่านี้ได้ เป็นระยะที่อาการจะเกิดจากร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม คือ ตัวอ่อนพยาธิ ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย เช่น

  • มีไข้
  • ปวดเนื้อตัว
  • เจ็บ/ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเมื่อเกิดกับกล้ามเนื้อที่ช่องปากและลำคอ จะส่งผลให้เคียวและกลืนอาหารลำบาก และเจ็บคอ
  • อ่อนเพลีย
  • บวมตามเนื้อเยื่อต่างๆได้ทั่วตัว
  • ตาแดง และตากลัวแสง ที่พบบ่อยคือบวมรอบๆตา
  • มีเลือดออกใต้เล็บ

ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวในทั้ง2ระยะโรค ร่วมกับประวัติกินอาหารดิบ สุกๆดิบ มักเป็นอาการสำคัญที่ช่วยแพทย์ในการวินิจัยโรคนี้ และเมื่อแพทย์ตรวจสืบค้นเพิ่มเติม โดยตรวจเลือดซีบีซี/CBC จะพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูงมาก อาจสูงได้ถึง 80-90%

อาการที่ได้รับเชื้อนี้ในปริมาณปานกลาง อาการอาจเป็นอยู่ได้นาน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าได้รับเชื้อปริมาณมาก อาจมีอาการอยู่ได้นาน 2-3 เดือน ซึ่งร่างกายจะค่อยๆฟื้นตัว และควบคุมโรคได้ โดยตัวอ่อนจะเริ่มมีการสร้างซีสต์ขึ้นหุ้มตัวมันเอง แต่ถ้าเป็นพยาธินี้ชนิดไม่สร้างซีสต์ ร่างกายก็จะทำลายตัวอ่อนให้ตายและสลายตัวไป

*ระยะที่โรค นี้ถ้าโรครุนแรง โดยตัวอ่อนเข้าไปอยู่ที่เนื้อเยื่อสำคัญอื่นที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อลาย จะส่งผลให้เกิดอาการทางอวัยวะนั้นๆได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังมีอาการจากอวัยวะสำคัญเหล่านี้ เช่น

  • สมองอักเสบ เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่สมอง
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เมื่อตัวอ่อนเข้าสู่หัวใจ
  • ปอดอักเสบเมื่อตัวอ่อนเข้าสู่ปอด

ค. ระยะที่3 คือ ระยะตัวอ่อนฝังตัวและสร้างซีสต์ (Convalescent phase): โดยพยาธินี้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดสร้างซีสต์ ซึ่งเมื่อตัวอ่อนเข้าสู่กล้ามเนื้อลาย ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้ตัวอ่อนสร้างซีสต์ขึ้นมาหุ้มตัวมันเอง ระยะนี้จะพบเกิดได้ในช่วงประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังกินพยาธิตัวอ่อน ซึ่งในระยะนี้อาการต่างๆของผู้ป่วยจากในระยะที่ 2 จะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียต่อเนื่องอยู่ได้นานเป็นหลายเดือน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง?

ผู้ป้วยโรคทริคิโนซิส ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง ได้แก่

  • กินตัวอ่อนพยาธิในปริมาณมาก
  • ได้รับพยาธิชนิดรุนแรง เช่น ชนิดที่สร้างซีสต์ได้จะรุนแรงกว่าชนิดที่สร้างซีสต์ไม่ได้
  • มึภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำกว่าปกติ เช่น ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ (ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ใครมีปัจจัยเสี่ยงฯ’)

แพทย์วินิจฉัยโรคทริคิโนซิสได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคทริคิโนซิสต์ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติกินเนื้อสัตว์ดิบหรือสุกๆดิบๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เช่น
    • การตรวจเลือด ซีบีซี/CBC ดูจำนวณเม็ดเลือดขาว Eosinophil
    • การตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์การอักเสบของกล้ามเนื้อ เช่น Creatine kinase (CK)
    • การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน และ/หรือดูสารก่อภูมิต้านทานของพยาธินี้ เช่น วิธีที่เรียกว่า Elisa และ
    • อาจต้องมีการตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อลาย เช่น กล่ามเนื้อน่องตำแหน่งที่เจ็บปวดที่สุด เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคทริคิโนซิสได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคทริคิโนซิส คือ การให้ยาฆ่าพยาธิ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การให้ยาฆ่าพยาธิ: โดยการกินยาฆ่าพยาธิ ซึ่งยาที่มีประสิทธิภาพที่ฆ่าพยาธิตัวแก่ และตัวอ่อนที่อยู่ในลำไส้ แต่ตัวอ่อนในเลือด หรือในเนื้อเยื่อ อาจลดประสิทธิภาพลงได้ เช่น ยา Albendazole และ Mebendazole

  • ส่วนเมื่อตัวอ่อนอยู่ในระยะเป็นซีสต์ ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าพยาธิชนิดใดที่สามารถฆ่าตัวอ่อนระยะ”ซีสต์”นี้ได้

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: คือเมื่อมีอาการอย่างไรก็ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ และ/หรือ ยาแก้คัน

โรคทริคิโนซิสก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคทริคิโนซิส มักพบในคนที่ติดเชื้อที่รุนแรง เช่น

  • การติดเชื้อพยาธินี้ที่สมองโดยผลข้างเคียงคือ สมองอักเสบ
  • ที่ปอด ผลข้างเคียงคือปอดอักเสบ และ
  • ที่หัวใจ ที่ผลข้างเคียงคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

โรคทริคิโนซิส มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคทริโคโนซิส โดยทั่วไป ถ้าเป็นการติดเชื้อในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ มักเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาให้หายได้ดี

ถ้าในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ มักเกิดอาการรุนแรง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 1-5%

แต่ในแหล่งที่การสาธารณสุขยังไม่ดีพอ อัตราการเสียชีวิต อาจสูงได้ถึงประมาณ 30%

อนึ่ง คนสามารถติดพยาธินี้ซ้ำได้เสมอ จากการกินเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนพยาธินี้ ที่ปรุงดิบ หรือ ดิบๆสุก

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้าน เมื่อพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคทริคิโนซิส คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะหายแล้ว
  • กินแต่อาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตง์ต่างๆ ที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึงทั้งชิ้น ด้วยอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 75 องศาเซลเซียสขี้นไปนานอย่างน้อย 5 นาที เพื่อป้องกันการติดพยาธิซ้ำ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง หรือ มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น มีไข้สูง ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย
  • อาการที่เคยหายไปแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น กลับมาไอเป็นเลือดอีก
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคทริคิโนซิสได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีน และยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันโรคทริคิโนซิส แต่สามารถป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกทั่วถึงตลอดทั้งชิ้นในอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 75 องศาเซลเซียสขึ้นไปนานอย่างน้อย 5 นาที

บรรณานุกรม

  1. โรคทริคิโนซิส สำนักควบคุม ป้องกนและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ http://pvlo-npt.dld.go.th/pvlo_npt/images/animal_diseases/diseases_002.pdf [2019,April20]
  2. https://emedicine.medscape.com/article/230490-overview#showall [2019,April20]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/230490-clinical [2019,April20]
  4. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/trichinella.html[2019,April20]
  5. http://www.cdc.gov/parasites/trichinellosis/ [2019,April20]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Trichinosis [2019,April20]