ตาปลา (Corns)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ตาปลา (Corns) คือ โรคที่เนื้อเยื่อชั้นบนของผิวหนังเกิดหนาตัวและนูนขึ้นมาเป็นตุ่มเล็กๆและมักมีอาการเจ็บ พบบ่อยบริเวณ 'มือและเท้า', โรคนี้เกิดจากมีการเสียดสีเรื้อรังของผิวหนังจึง 'ไม่ใช่โรคติดต่อ' ซึ่งแตกต่างจาก 'โรคหูด'

หากตาปลาชนิด 'มี' จุดที่กดแข็งอยู่ตรงกลางตุ่มนูน จะเรียกว่า ‘Corns หรือ Clavus หรือ Heloma’, แต่หากชนิด 'ไม่มี' จุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง จะเรียกว่า ‘Callus หรือ Tyloma’  ซึ่งโรคตาปลาทั้ง 2 ชนิดมีวิธีรักษาให้หายได้หลายวิธี

โรคตาปลาเป็นโรคพบบ่อย พบในทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกวัย แต่พบในผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่น

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคตาปลา?

 

สาเหตุของโรคตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังถูกเสียดสีหรือถูกกดทับกับสิ่งต่างๆบ่อยๆและเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำของเรา, หรือ เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเองก็ได้

ก. สาเหตุจากการกระทำของเราหรือสาเหตุจากภายนอก (Extrinsic factor): เช่น การใส่รองเท้าที่คับและแน่นเกินไป, ไม่ใส่รองเท้าเวลาเดิน, ใช้มือทำงานบางอย่างบ่อยๆ เป็นเวลานาน เช่น ร้อยพวงมาลัยและใช้นิ้วมือถูกับเข็มร้อยมาลัยบ่อยๆ, เขียนหนังสือมาก, ออกแรงใช้นิ้วกดทับดินสอ/ปากกา, หิ้วถุงหนักๆโดยใช้นิ้วมือ, เป็นช่างตีเหล็ก ช่างเจาะ ช่างขุด, เป็นนักกีฬายิมนาสติก, เด็กทารกที่มีการดูดนิ้วมือตัวเองบ่อยๆ ก็อาจพบได้, ฯลฯ

ข. สาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายหรือสาเหตุจากภายใน (Intrinsic factor): เช่น   มีเท้าผิดรูป ทำให้เวลาเดินบางตำแหน่งของเท้าจะรับน้ำหนักและถูกกดทับมากกว่าปกติ,  มีความผิดปกติจากมีปุ่มกระดูกยื่นหรือนูนออกมาทำให้เกิดการเสียดสีเวลาใช้งานได้เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ซึ่งจะมีข้อนิ้วมือผิดรูป ทำให้การใช้งานไม่เป็นปกติ มีการเสียดสีบางตำแหน่งมากเกินไป, หรือในโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินก็จะทำให้เท้ารับน้ำหนักมากเกินไป เกิดแรงกดทับบางตำแหน่งมากกว่าปกติ

โรคตาปลามีอาการอย่างไร?

เนื่องจากมือและเท้าเป็นอวัยวะที่ใช้งานบ่อยรวมทั้งมีการเสียดสีและถูกกดทับได้บ่อยครั้ง จึงเป็นตำแหน่งที่มักจะพบโรคตาปลาบ่อยกว่าตำแหน่งอื่นๆ แต่บริเวณอื่นๆที่อาจพบเกิดตาปลาได้ เช่น บริเวณขาและหน้าผากพบได้ในชาวมุสลิมที่สวดมนต์โดยการคุกเข่าและใช้หน้าผากกดกับพื้นเป็นประจำ

ก. โรคตาปลาที่เรียกว่า คอร์น (Corns): ตาปลาชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังที่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง(เรียกว่า Central core, Nucleus, หรือ Radix) ซึ่งเกิดจากผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้าที่เรียกว่า Stratum corneum มีการหวำตัวลงไป และทำให้ชั้นของขี้ไคล (เคอราติน/Keratin) ซึ่งเกิดจากการลอกตัวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังกำพร้านี้มีการสะสมอัดแน่นจนไปกดเบียดชั้นผิวหนังแท้ซึ่งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บนั่นเอง แบ่งตาปลาชนิดคอร์นออกได้เป็นอีก 2 ชนิดย่อยคือ

  • ตาปลาชนิดแข็ง (Hard corn หรือ Heloma durum) พบบ่อยสุดที่ในบริเวณด้านข้างของนิ้วก้อยเท้า เป็นตาปลาที่ค่อนข้างแข็ง มีผิวแห้งเป็นขุยแต่มีความวาวเหมือนขี้ผึ้ง เมื่อใช้มีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบางๆก็จะเห็นจุดกดแข็ง สีออกใสๆขนาด 1 - 2 มิลิเมตร (มม.) อยู่ตรงกลางของตุ่ม
  • ตาปลาชนิดอ่อน (Soft corn หรือ Heloma molle) พบบ่อยสุดที่ง่ามนิ้วระหว่างนิ้วก้อยและนิ้วนางของเท้า เป็นตาปลาที่นุ่มกว่า มีผิวชุ่มชื้น และมักจะมีการลอกตัวออกของผิวเสมอ หากใช้มีดเฉือนตุ่มนูนนี้ออกบางๆก็จะเห็นจุดกดแข็งอยู่ตรงกลางเช่นเดียวกัน

ข. โรคตาปลาที่เรียกว่า คัลลัส (Callus): ตาปลาชนิดนี้จะเป็นตุ่มนูนของผิวหนังแบบที่ไม่มีจุดกดแข็งอยู่ตรงกลาง พบบ่อยบริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าบริเวณใกล้ๆกับนิ้วเท้า อาจจะมีอาการเจ็บหรือไม่มีก็ได้ ขอบเขตของตุ่มนูนในตาปลาชนิดนี้จะไม่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากตาปลาชนิดคอร์นที่จะมีขอบเขตชัดเจน

แพทย์วินิจฉัยโรคตาปลาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตาปลาได้จาก อาการและการตรวจรอยโรคเป็นหลัก ที่สำคัญคือจะต้องแยกออกจาก 'โรคหูด'ที่ผิวหนังเป็นตุ่มนูนแข็งดูคล้ายๆกันได้ แต่สาเหตุและการรักษาแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปทดสอบได้โดย

  • ใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบางๆ หากพบจุดดำๆซึ่งเป็นจุดเลือดออกเล็กๆจากเส้นเลือดฝอย ตุ่มนูนชนิดนี้ก็เป็นหูดไม่ใช่ตาปลา
  • นอกจากนี้ ถ้าเป็นตาปลา ผู้ป่วยจะเจ็บเมื่อใช้มือกดตรงๆลงไปที่ตุ่มนูน แต่ถ้าเป็นหูดเมื่อกดจากด้านข้าง 2 ข้างจึงจะเจ็บ
  • การซักประวัติอาชีพการทำงานหรือกิจกรรมที่ทำเป็นประจำก็จะช่วยในการวินิจฉัยโรคตาปลาได้

สำหรับการวินิจฉัยแยกตาปลา ชนิดคอร์น กับ ชนิดคัลลัส ออกจากกันนั้น ทำได้โดยการใช้มีดเฉือนตุ่มนูนออกบางๆเช่นกัน  

  • ชนิดคอร์นจะพบจุดแข็งอยู่ตรงกลาง แต่ชนิดคัลลัสจะไม่มีจุดแข็งตรงกลาง
  • นอกจากนี้ผิวของชนิดคัลลัสยังพบลายเส้นของผิวหนังเป็นปกติ ในขณะที่ผิวของชนิดคอร์นจะไม่พบลายเส้นของผิวหนัง
  • ทั้งนี้ การแยกตาปลา 2 ชนิดดังกล่าวนี้อาจไม่มีความจำเป็นมากนัก เนื่องจากไม่มีผลต่อการรักษา

ในกรณีมีปัญหาในการวินิจฉัยแยก ตาปลา กับโรคหูด หรือจากโรคผิวหนังชนิดอื่นๆที่มีตุ่มนูน เช่น ตุ่มนูนเกิดในตำแหน่งอื่นๆที่ไม่น่าเป็นตาปลาได้ หรือมีตุ่มนูนหลายตุ่ม อาจต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังตรงรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา 

เมื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นตาปลาได้แล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ ต้องหาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดตาปลาขึ้น เช่น การซักถามประวัติอาชีพการทำงาน กิจกรรมที่ทำเป็นประจำ, การตรวจดูรูปร่างของมือหรือเท้าว่ามีรูปร่างผิดปกติ มีกระดูกยื่นออกมาผิดปกติหรือไม่, ซึ่งอาจต้องอาศัยการเอกซเรย์เพื่อดูรูปร่างกระดูก, นอกจากนี้อาจใช้วิธีการเพื่อตรวจดูการรับน้ำหนักของเท้าขณะเดินที่เรียกว่า Pedobarography

โรคตาปลามีผลข้างเคียงจากโรคและมีความรุนแรงอย่างไร?

ตาปลาเป็นโรคไม่รุนแรงไม่ทำให้ถึงตาย  เพียงก่ออาการเจ็บเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันบ้าง และผลข้างเคียงจากโรคตาปลา เช่น

  • ตาปลาที่มีอาการเจ็บ จะทำให้ทำงานได้ไม่สะดวก เดินไม่คล่องตัว
  • ตาปลาชนิด Soft corn ที่ผิวหนังมีการลอกตัว จึงอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือ โรคเชื้อราแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง, เป็นโรคเบาหวานหรือเมื่อเป็นโรคของหลอดเลือดส่วนปลาย (ส่วนของแขน-ขา)
  • ผู้ป่วยที่รักษาโดยการเฉือนตาปลาออกเอง อาจพลาดเฉือนเอาผิวหนังที่ปกติออกจนเลือดออก และกลายเป็นแผลทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมาได้

มีแนวทางการรักษาโรคตาปลาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตาปลาแบ่งออกเป็น การรักษาตาปลาที่กำลังเป็นอยู่, และการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลา

ก. การรักษาตาปลา: เช่น

  • การใช้ใบมีดโกน หรือ มีดผ่าตัด เฉือนตุ่มตาปลาออก โดยหากเฉือนได้ถูกต้องเลือดจะไม่ออก
  • และอาจใช้ยาในรูปแบบยาทา/ยาใช้ภายนอกรักษาร่วม
  • หรือหากตาปลามีขนาดเล็ก เพิ่งเป็นมาไม่นาน อาจใช้ยาทารักษาอย่างเดียวก็ได้
  • โดยยาสำหรับทามีอยู่หลายชนิด ยาเหล่านี้จะไปทำให้ชั้นผิวหนังของตาปลานิ่มลงและค่อยๆหลุดลอกออกไปเอง ชนิดของยา เช่น Salicylic acid, Ammonium lactate, และยูเรียครีม (Urea cream) รวมถึงวิตามินเอในรูปแบบยาทา ซึ่งวิตามินเอจะไปช่วยให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเป็นไปอย่างปกติ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีต่างๆที่ช่วยทำให้ตาปลานิ่มลงและง่ายต่อการเฉือนออก เช่น การแช่มือหรือเท้าที่เป็นตาปลาในน้ำอุ่น และอาจใช้หินสำหรับขัดตัว ถูบริเวณตาปลาที่แข็งมากๆ

ข. การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตาปลา: เช่น

  • หากเป็นตาปลาที่เท้า: ควรเลือกรองเท้าใส่ให้พอดีกับเท้า ไม่รัดแน่นหรือหลวมจนเกิดการเสียดสีได้, ด้านหน้าของรองเท้าต้องไม่บีบนิ้วเท้า, ส้นรองเท้าต้องไม่สูงเกินไป, พื้นรองเท้าต้องนิ่มแต่ยืดหยุ่น, ถุงเท้าที่ใส่ต้องมีความพอดีไม่รัดแน่นหรือหลวมไปเช่นกัน
  • ผู้ป่วยที่มีตาปลาอยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้า: อาจใช้สำลีหรือฟองน้ำบุระหว่างง่ามนิ้วเท้า
  • หากตาปลาอยู่ตรงฝ่าเท้าด้านหน้าใกล้ๆกับนิ้วเท้า: อาจเสริมพื้นรองเท้าเหนือส่วนที่เกิดตาปลาเพื่อลดแรงกด
  • หากเกิดจากมีเท้าผิดรูป หรือ การลงน้ำหนักของเท้ามีความผิดปกติ: อาจเลือกใช้รองเท้าที่ออกแบบเป็นพิเศษที่เหมาะสมกับความผิดปกติแต่ละชนิด
  • ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาฉีดซิลิโคนเข้าชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกยื่นออกมาเพื่อลดแรงเสียดสีและแรงกดผิวหนังตรงปุ่ม, หรือแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดก็ได้
  • ผู้ที่โรคอ้วนมีน้ำหนักมากและมีตาปลาที่เท้า: อาจต้องลดน้ำหนักเพื่อลดแรงกดของเท้ากับพื้น
  • ผู้ที่เป็นตาปลาที่มือ: ควรใส่ถุงมือเวลาทำงานเพื่อลดการเสียดสีของผิวหนัง

ดูแลตนเองและป้องกันโรคตาปลาได้อย่างไร?

ผู้ที่เป็นตาปลาสามารถรักษาด้วยตนเองได้ โดยหากจะใช้ใบมีดเฉือนตาปลา ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ที่มีประสาทรับความรู้สึกปกติดี เพราะโดยปกติเมื่อเฉือนไปได้ระดับหนึ่งแล้วก็จะเกิดความรู้สึกเจ็บและผู้ป่วยก็จะหยุดเฉือนต่อ แต่หากประสาทรับความรู้สึกไม่ดี เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจเฉือนลึกเกินไปจนเกิดเป็นแผลและเลือดออกได้

สำหรับการป้องกันการเกิดตาปลาต่อไป คือ ต้องหาสาเหตุของการเกิดตาปลา เช่น การสำรวจรองเท้า ถุงเท้าที่ใช้, การใช้งานของมือและปรับปรุงให้เหมาะสมต่อไป, ผู้ที่มีการผิดรูปของ มือหรือเท้า มีปุ่มกระดูกยื่นออกมาผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีรักษาที่เหมาะสมถูกต้อง

เมื่อเป็นโรคตาปลาควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อเป็นโรคตาปลาควรพบแพทย์ เมื่อ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเบาหวาน, โรคที่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย เช่น แขน ขา มือ เท้า, หรือมีอาการชาตามมือเท้า การสัมผัสรับความรู้สึกจึงน้อยลง, โรคของหลอดเลือดส่วนปลาย หากเป็นตาปลาควรรีบพบแพทย์/ไปโรง พยาบาลเพื่อรักษาตั้งแต่ต้น เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  • เมื่อมีอาการบวมแดงรอบๆตาปลาเกิดขึ้น, มีอาการปวดมากขึ้น,  มีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกมาจากตาปลา, ซึ่งแสดงว่าน่าเกิดการติดเชื้อ จำเป็นต้องรีบให้แพทย์ตรวจรักษาเพื่อการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/1089807-overview# [2023,Feb25]
  2. https://www.emedicinehealth.com/corns_and_calluses/article_em.htm  [2023,Feb25]