ตรวจเลือดและปัสสาวะ ลดความเสี่ยง (ตอนที่ 7)

สารบัญ

การทดสอบปัสสาวะ ยังมีประเด็นที่ควรเข้าใจเพิ่มเติมอีก ดังนี้ :-

  • Leukocyte esterase (WBC esterase) – เป็นตัวแสดงเม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ในปัสสาวะ การพบเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะแสดงว่ามีการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • คีโตน (Ketones) – เมื่อร่างกายใช้ไขมันในการให้พลังงานจะทำให้เกิดคีโตนขึ้นมาและไหลออกทางปัสสาวะ การพบคีโตนในปัสสาวะเป็นจำนวนมากอาจหมายถึงสถานการณ์ที่ร้ายแรง เช่น มีภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน หรือที่เรียกว่า ดีเคเอ (Diabetic ketoacidosis : DKA) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่มีอันตรายถึงชีวิตซึ่งพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้อาหารที่มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตต่ำ การอดอาหาร หรือการอาเจียนอย่างรุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดคีโตนในปัสสาวะได้เช่นกัน
  • การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic analysis) ในการทดสอบนี้จะนำปัสสาวะไปปั่นในเครื่องหมุนเหวี่ยง (Centrifuge) เพื่อให้ตะกอน (Sediment) จมลงที่ก้น แล้วนำเอาตะกอนไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งสิ่งที่อาจพบจากการตรวจได้แก่
    • เม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาว – ปกติจะไม่พบเม็ดเลือดในปัสสาวะ แต่หากเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ หรือมีการบาดเจ็บเกิดขึ้นที่ไต (Kidneys) ท่อสายไต (Ureters) กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) หรือท่อปัสสาวะ (Urethra) ก็อาจเป็นสาเหตุให้มีเลือดในปัสสาวะ สำหรับเม็ดเลือดขาวที่พบอาจเป็นสัญญาณของการที่ไตติดเชื้อ
    • Casts – โรคไตบางชนิดอาจเป็นสาเหตุของการเกิดตะกอนของสารผิดปกติต่างๆ ที่มีอยู่ในปัสสาวะที่เรียกว่า Casts ในท่อไต Casts จะไหลไปรวมกับปัสสาวะ Casts อาจเกิดจากเม็ดเลือดแดงหรือเม็ดเลือดขาว ไขมัน หรือโปรตีน การตรวจประเภทของ Casts ในปัสสาวะบอกได้ว่ากำลังเป็นโรคไตชนิดไหนอยู่
    • ผลึก (Crystals) – คนที่มีสุขภาพดีมักจะพบผลึกเพียงเล็กน้อยในปัสสาวะ ผลึกจำนวนมากหรือผลึกบางชนิดอาจแสดงให้เห็นว่ากำลังเป็นนิ่วในไตหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเผาผลาญในร่างกาย (Metabolism)
    • เชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ หรือปาราสิต – ปกติจะไม่พบเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ หรือปาราสิตในปัสสาวะ แต่ถ้าหากพบแปลว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น
    • เซลล์สความัส (Squamous cells) – การพบเซลล์สความัสอาจแปลว่าการเก็บปัสสาวะไม่บริสุทธิ์เท่าที่ควร แต่ไม่ได้หมายความว่ามีปัญหาเรื่องการรักษา ดังนั้นแพทย์อาจขอให้เก็บตัวอย่างปัสสาวะใหม่

การเตรียมตัวเพื่อตรวจปัสสาวะ

  1. อย่ากินอาหารที่อาจทำให้เกิดสีในปัสสาวะก่อนการตรวจ เช่น แบลคเบอรี่ บีทรูท เป็นต้น
  2. อย่าออกกำลังกายให้มากก่อนการตรวจ
  3. แจ้งให้แพทย์ทราบว่าอยู่ระหว่างการมีประจำเดือนหรือเริ่มมีประจำเดือน ซึ่งแพทย์อาจให้รอเพื่อตรวจครั้งต่อไป
  4. แพทย์อาจขอให้หยุดใช้ยาบางชนิดที่ทำให้เกิดสีในปัสสาวะ ซึ่งรวมถึงวิตามินบี ยา Phenazopyridine ยา Rifampin และยา Phenytoin และให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ากำลังใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) อยู่ เนื่องจากมีผลกระทบต่อผลการตรวจ

แหล่งข้อมูล

  1. Information and Resources. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/urine-test [2013, March 7].