ชักสะดุ้ง (Myoclonic seizure)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำเรื่องทั่วไป

การชัก หรือโรคลมชัก มีลักษณะการชัก 2 รูปแบบดังที่ทราบมาแล้วคือ การชักเฉพาะที่/โรคชักเฉพาะที่ และการชักทั้งตัว (ลมชักทั่วไป) ซึ่งการชักแบบทั้งตัวนั้นมีได้หลายรูปแบบ แบบหนึ่งที่จะกล่าวในบทความนี้คือ การชักแบบสะดุ้ง/ชักสะดุ้ง (Myoclonic seizure) ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่รู้จักการชักรูปแบบนี้เลย เนื่องจากพบไม่บ่อยและมีลักษณะการสะดุ้งเพียงครั้งเดียว การชักแบบนี้มีอันตรายหรือไม่, จะวินิจฉัยได้อย่างไร, รักษาหายหรือไม่ ,ต้องติดตามบทความนี้ครับ ชักสะดุ้ง

ชักสะดุ้งคืออะไร? มีอาการอย่างไร?

ชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้ง (Myoclonic seizure) คือ การชัก/โรคลมชักแบบทั้งตัวชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะอาการสำคัญ คือ การกระตุกของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วเพียง 1 ถึง 2 ครั้งในเวลาประมาณ 1 - 2 วินาที กล้ามเนื้อของแขนและไหล่เป็นตำแหน่งที่พบบ่อย บริเวณขาพบได้น้อยในขณะที่เกิดอาการนั้น ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถควบคุมอาการหรือควบคุมสติของตนเองได้

ชักสะดุ้งพบบ่อยหรือไม่?

ชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งพบได้ไม่บ่อยเท่าโรคชักเฉพาะที่ที่ผู้ป่วยไม่มีสติขณะเกิดอาการชัก (Complex partial seizure) หรือการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว/ลมชักทั่วไป (Generalized tonic -clonic seizure) การชักสะดุ้งอาจพบมีการชักเพียงอาการเดียวก็ได้หรือเป็นกลุ่มอาการชักคือ พบร่วมกับการชักรูปแบบอื่นๆด้วย (เช่น ร่วมกับการชัก/ลมชักชนิดเหม่อ หรือการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว) เช่น ในโรค Juvenile myoclonic seizure/ลมชักที่เกิดในเด็กและวัยรุ่นสาเหตุจากความผิดปกติทางพันธุกรรม, Progressive myoclonic seizure/ลมชักอีกชนิดหนึ่งที่สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม, Lennox Gastaut syndrome/ลมชักชนิดมักพบในเด็กสาเหตุจากความผิดปกติทางสมองตั้งแต่แรกเกิด

ชักสะดุ้งมีลักษณะคล้ายอาการผิดปกติอื่นอะไรบ้าง?

ชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งมีอาการลักษณะคล้ายกับอาการสะดุ้งขณะนอนหรือช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลียและหลับอย่างรวดเร็ว หรืออาการกล้ามเนื้อกระตุกของแขนขา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวผิดปกติแบบหนึ่ง รวมทั้งอาการเคลื่อนไหวแบบ 'กล้ามเนื้อกระตุก (Tics)'

แพทย์ให้การวินิจฉัยชักสะดุ้งอย่างไร?

ทั่วไป แพทย์ให้การวินิจฉัยชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งได้จาก 

  • ประวัติอาการ โดยเฉพาะการเห็นอาการ ของผู้ป่วย การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาทเพื่อพิจารณาว่าไม่ใช่การเคลื่อนไหวผิดปกติของกล้ามเนื้อหรืออาการของ Tics

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ควรต้องรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้ออาการฯ' หรือสงสัยว่าจะมีอาการดังกล่าว และควรถ่ายคลิปไว้ด้วยขณะเกิดอาการ เพื่อนำมาให้แพทย์ดูก็จะช่วยการวินิจฉัยโรคของแพทย์ได้เป็นอย่างดี

สาเหตุของชักสะดุ้งเกิดจากอะไร?

สาเหตุของชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งที่พบบ่อย คือ  

  • ความผิดกติของสมองตั้งแต่เกิด
  • การผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย
  • ภาวะตับวาย
  • ภาวะไตวาย
  • การติดเชื้อในสมองจากเชื้อไวรัส (ไวรัสสมองอักเสบ)
  • ภาวะสมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง

การชักสะดุ้งมีผลเสียต่อสมองหรือไม่?

การชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งนั้นเกิดเพียงในระยะเวลาสั้นๆมักไม่เกิน 2 วินาที จึงไม่ได้ส่ง ผลเสียต่อสมองโดยตรง แต่ผลเสียต่อสมองมักเกิดจากโรคที่เป็นสาเหตุมากกว่า

การรักษาชักสะดุ้งทำอย่างไร?

การรักษาชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้ง ประกอบด้วยการรักษา/แก้ไขสาเหตุ และการให้ทานยากันชัก 

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการชักเช่น การรักษาภาวะตับวายเมื่อสาเหตุการชักเกิดจากตับวาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตับวาย) หรือ การรักษาไวรัสสมองอักเสบเมื่อสาเหตุเกิดจากไวรัสสมองอักเสบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไวรัสสมองอักเสบ) เป็นต้น

ข. การทานยากันชัก: ซึ่งมีหลายชนิด การใช้ยาที่รวมถึงชนิดยา ขนาดยา ระยะเวลาในการรักษา จะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย ขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรงของสาเหตุ และความรุนแรงของอาการ ดังนั้นการใช้ยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา (อ่านเพิ่มเติมในเว็haamor.com บทความเรื่อง ยากันชัก)

ผลการรักษา/การพยากรณ์โรคของชักสะดุ้งเป็นอย่างไร?

ผลการรักษา/การพยากรณ์โรคของการชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งขึ้นกับแต่ละสาเหตุ ถ้ารักษาควบคุมสาเหตุได้ดีก็จะรักษาควบคุมการชักสะดุ้งได้ดี

นอกจากนั้น การชักสะดุ้งยังมีการตอบสนองต่อยารักษา/ยากันชักแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ส่วนใหญ่ต้องได้รับการรักษา/กินยากันชักต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรืออาจต้องตลอดชีวิต

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้ง จะเช่นเดียวกับการดูแลตนเองในโรคลมชัก ทั่วไปที่สำคัญได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • การทานยากันชักตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอไม่ขาดยา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชักเช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายที่พอดีกับสุขภาพ
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา/เบียร์
  • ไม่สูบบุหรี่
  • จดบันทึกอาการต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำมาแจ้ง/ปรึกษาแพทย์เมื่อพบแพทย์
  • ถึงแม้จะยังรู้ตัวขณะชักและการชักเกิดในระยะเวลาสั้นมาก แต่ก็อาจก่ออันตรายในการขับขี่ยวดยานได้จากที่ควบคุมอาการไม่ได้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังและควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนว่า ควรหรือไม่ควรอย่างไร
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

ทั่วไป ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • การชักนั้นเป็นรุนแรงขึ้นเช่น เกิดบ่อยขึ้น
  • มีการชักเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบรุนแรงขึ้นเช่น มีการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวร่วมด้วย
  • สงสัยแพ้ยาหรือมีอาการแพ้ยากันชักเช่น ขึ้นผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะต่อเนื่อง

ช่วยเหลือผู้ป่วยขณะมีอาการอย่างไร?

การชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งมีอาการเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นมักไม่เกิน 2 วินาทีจึงมักไม่มีอันตรายขณะมีอาการ และไม่ทันสังเกตเห็นอาการ เพราะเป็นเวลาสั้นมากๆ จึงไม่ต้องมีการช่วยเหลืออะไร

ป้องกันชักสะดุ้งได้อย่างไร?

การป้องกันชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้ง คือ การป้องกันสาเหตุ (ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ) ที่ป้องกันได้  ที่สำคัญคือ

  • ป้องกันเกิดภาวะตับวาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ตับวาย)
  • ป้องกันเกิดภาวะไตวาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไตวาย)
  • ป้องกันโรคไวรัสสมองอักเสบ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไวรัสสมองอักเสบ)
  • ป้องกันภาวะสมองขาดออกซิเจน อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะสมองขาดออกซิเจน)

สรุป

การชักสะดุ้ง/ลมชักสะดุ้งเป็นการชักที่พบไม่บ่อย และเกิดอาการเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆจึงต้องหมั่นสังเกตคนใกล้เคียง ถ้าสงสัย ผมแนะนำให้ถ่ายคลิปมาให้แพทย์ดูด้วยจะดีมากครับ

บรรณานุกรม

https://www.epilepsy.com/what-is-epilepsy/seizure-types/myoclonic-seizures#What-is-a-myoclonic-seizure?  [2023,March11]