คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไป

ยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) ถูกจัดเป็นยาบรรเทาอาการไอ (ยาแก้ไอ) อันเนื่องมา จากมีเสมหะในช่องทางเดินหายใจมาก จึงไม่ควรใช้ร่วมกับยาแก้ไอที่มีฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอ หรือยาแก้ไอที่มีฤทธิ์ลดสารคัดหลั่งในหลอดลม (ยาลดน้ำมูก)

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

คาร์โบซิสเทอีน

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • ช่วยละลายเสมหะ (ยาละลายเสมหะ) บรรเทาอาการไอจากการมีเสมหะมาก
  • บรรเทาอากาไอจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • รับประทานเพื่อลดสารคัดหลั่งในช่องทางเดินหายใจก่อนการผ่าตัด

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาคาร์โบซิสเทอีน มีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะละลายเสมหะที่ข้นเหนียวในช่องทางเดินหายใจ ทำให้กำจัดเมือกและเสมหะบริเวณหลอดลมได้ดี ช่วยให้การหายใจโล่งและสะดวกขึ้น

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคาร์โบซิสเทอีน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ขนาด 375 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำเชื่อม 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา) และ 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาคาร์โบซิสเทอีนในแต่ละผู้ป่วย จะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ, ความรุนแรงของอาการ, และสภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อรับประทานเอง

โดยทั่วไป ขนาดรับประทานสูงสุดในผู้ใหญ่ เมื่อรับประทานวันแรกเริ่มต้นครั้งละไม่เกิน 750 มิลลิ กรัม 3 ครั้งหลังอาหาร, วันที่ 2 รับประทานไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเหลือ 2 ครั้ง เช้า – เย็น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาคาร์โบซิสเทอีนควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาคาร์โบซิสเทอีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดรวมทั้งอาการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์โบซิสเทอีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาอาจจะ/มักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารกจนก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาคาร์โบซิสเทอีนควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคาร์โบซิสเทอีน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) ของยาคาร์โบซิสเทอีน เช่น

  • คลื่นไส้
  • อาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์โบซิสเทอีนอย่างไร?

ข้อควรระวังของการใช้ยาคาร์โบซิสเทอีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ในผู้ที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้(แผลเปบติค) อาจเพิ่มโอกาสเกิดเลือดออกจากแผลได้ /เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาคาร์โบซิสเทอีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่มีรายงานพบว่ายาคาร์โบซิสเทอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น

ควรเก็บรักษายาคาร์โบซิสเทอีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาคาร์โบซิสเทอีน เช่น

  • เก็บยาให้พ้นแสงแดด
  • ไม่เก็บยาในที่ชื้น
  • สามารถเก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้
  • ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาคาร์โบซิสเทอีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาชื่อการค้าของยาคาร์โบซิสเทอีน และบริษัทผู้ผลิตยา เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
BOCYTIN (โบซีทิน) Asian Pharm
CARBOCTER (คาร์บอกเตอร์) Pharmasant Lab
CARBOMED (คาโบเมด) Medicine Products
COPHARMEX (โคฟาร์เมกซ์) Community Pharm PCL
EXFLEM (เอ็กซ์เฟลม) Stada
FLEMEX/FLEMEX KIDS (เฟลมเมกซ์ / เฟลมเมกซ์ คิดซ์) Gemardi
FLUIFORT (ฟลูอิฟอร์ท) Eurodrug
I - COF (ไอ-คอฟ) T.C. Pharma - Chem
MUCOLEX (มูโคเลกซ์) Pharmahof
MUCOMEX (มูโคเมกซ์) Greater Pharma
MUFLEX (มูเฟลกซ์) T.O. Chemicals
MURHINAL (มูไรนัล) Farmaline
RHINATHIOL (ไรนาไทออล) Sanofi – Aventis
RHINEX (ไรเนกซ์) Stada
SIFLEX (ไซเฟลกซ์) Siam Bheasach
SOLMUX CAPSULE (โซลมักซ์ แคปซูล) Westmont
SOLMUX SUSPENSION (โซลมักซ์ ซัสเพนชัน) Pediatrica
THROATSIL – CBS (โทรแอทซิล - ซีบีเอส ) Millimed

บรรณานุกรม

1 http://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/[2020,Aug1]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Carbocisteine [2020,Aug1]