คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ (Cholesterol absorption inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์(Cholesterol absorption inhibitors) เป็นกลุ่มยาที่ทำหน้าที่ยับยั้งการดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลจากอาหารในระบบทางเดินอาหาร และจากระบบทางเดินน้ำดี ที่ผ่านลำไส้เล็ก จึงมีผลต่อปริมาณคอเลสเตอรอลที่ถูกส่งไปยังตับให้ลดลง ทำให้ระดับของคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลงตามมา

ทั้งนี้ อาจจำแนกตัวอย่างของยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ ดังนี้ เช่น

1. ยา Ezetimibe: เป็นยามีโครงสร้างทางเคมีที่เรียกว่า โมโนแบคแตม(Monobactam,สารเคมีชนิดหนึ่ง)ซึ่งไม่มีฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ จัดเป็นยากลุ่มใหม่ที่ใช้ลดไขมันในเลือด โดยกลไกลดการดูดซึมไขมันโคเลสเตอรอลจากลำไส้เล็ก สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาหรือใช้ร่วมกับยากลุ่มสแตติน(Statin) หรือ ฟีโนไฟเบรท (Fenofibrate)ก็ได้ รูปแบบการจำหน่ายที่พบเห็นในท้องตลาดจะเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 10 มิลลิกรัม หรือเป็นสูตรตำรับที่ผสมร่วมกับยาอื่น อย่าง Ezetimibe 10 มิลลิกรัม + Simvastatin 10 มิลลิกรัม/เม็ด คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยา Ezetimibe อยู่ในหมวดยาอันตราย และสามารถซื้อหายานี้ได้จากร้านขายยาทั่วไป

2. ยา Phytosterol: มีโครงสร้างคล้ายกับโมเลกุลของคอเลสเตอรอล พบมากในน้ำมันพืช ยา Phytosterol ถูกดูดซึมจากลำไส้เล็กได้น้อยและส่วนใหญ่ถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ จากการศึกษาพบว่า ยา Phytosterol จะชะลอการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และมักจะพบเห็นยา Phytosterol ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมากกว่าใช้เป็นยารักษาโรค

ทั้งนี้ ไม่ว่ายาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์จะอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยา หรือ รูปแบบอาหารเสริม ผู้บริโภคก็ไม่ควรไปซื้อหามารับประทานเอง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรขอคำแนะนำหรือปรึกษาข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ดังกล่าวจากแพทย์และเภสัชกรได้ทั่วไปก่อนการซื้อยา/ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาบริโภคด้วยตนเอง

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

คอเลสเตอรอลแอบซอร์บชั่นอินฮิบิเตอร์

ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ลดไขมันคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด โดยใช้ในรูปแบบยาเดี่ยว หรือ ใช้สูตรตำรับที่ผสมร่วมกับยาลดไขมันกลุ่มอื่นๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ “บทนำ”
  • ลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรัง

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์คือ ตัวยาจะลดการดูดซึมไขมันคอเลสเตอรอลจากอาหารในลำไส้เล็ก ส่งผลให้ลดการสะสมไขมันในตับ และทำให้ระดับของคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลง ด้วยกลไกที่กล่าวมา จึงมีผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน
  • ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

การรับประทานยา/ผลิตภัณฑ์คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ ด้วยแพทย์ต้องนำปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกัน เช่น ความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือภาวะให้นมบุตรหรือไม่ วัยหรืออายุของผู้ป่วย โรคประจำตัวของผู้ป่วย ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยมีรับประทานอยู่ก่อน ดังนั้นการใช้ยานี้และขนาดยานี้จึงเป็นกรณีๆไปตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา และผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนั้น จึงขอไม่กล่าวถึงขนาดการใช้ยานี้ในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึง ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ตรงเวลา

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน คลื่นไส้ ตับอ่อนอักเสบ ท้องผูก
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดข้อ กล้ามเนื้อเกร็งตัว/ตะคริว ปวดต้นคอ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ง่าย ไซนัสอักเสบ ไอ อาจมีอาการหยุดหายใจได้กรณีแพ้ยานี้
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ /ตับอักเสบ เอนไซม์ทรานซามิเนส (Transaminases, เอนไซม์การทำงานของตับ)ในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะ Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ)
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร

มีข้อควรระวังการใช้คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับในระดับความรุนแรงปานกลาง จนถึงในระยะรุนแรงหรือผู้ป่วยที่มีเอนไซม์ทรานซามิเนส (Serum transaminase/เอนไซม์การทำงานของตับ) ในเลือดสูง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคไต และ/หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของโรคตับ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยา โดยสังเกตจากอาการ ใบหน้าบวม ตัวบวม มีผื่นคัน ลมพิษขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก กรณีพบอาการดังกล่าว ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดอาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Ezetimibe ร่วมกับยา Fenofibrate อาจทำให้เกิดอันตรายกับถุงน้ำดี โดยอาจก่อให้เกิดถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน เช่น มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และ/หรือมีไข้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 ตัวให้เหมาะสม และเฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • การใช้ยา Ezetimibe ร่วมกับยา Cyclosporine สามารถเพิ่มระดับความเข้มข้น ของยา Ezetimibe ในกระแสเลือดได้ จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยา Ezetimibe ติดตามมา เช่น ตับอักเสบ หรือเกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ตลอดจนทำให้ไตเสื่อม จนอาจเสียชีวิต การใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน จึงควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น และแพทย์จะพิจารณาปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่มิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

คอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาคอเลสเตอรอล แอบซอร์บชั่น อินฮิบิเตอร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ezetrol (อีเซโทรล)MSD
Ezetimibe Sandoz (อีเซทิไมบ์ แซนดอส) Sandoz
Vytorin (ไวโทริน)MSD
Blackmores Choles-Bloc (แบลคมอ คอเลส-บล็อก)Blackmores

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Zetia, Ezedoc, Ezetimiba, Vytorin, Inegy

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Cholesterol_absorption_inhibitor [2016,Oct15]
  2. https://www.medicaid.nv.gov/Downloads/provider/Cholesterol%20Absorption%20Inhibitors.pdf [2016,Oct15]
  3. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/in-depth/cholesterol-medications/art-20050958 [2016,Oct15]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ezetimibe%20sandoz/?type=brief [2016,Oct15]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ezetrol/?type=brief [2016,Oct15]
  6. http://www.mims.com/thailand/drug/info/blackmores%20choles-bloc/?type=brief [2016,Oct15]
  7. https://www.drugs.com/sfx/ezetimibe-side-effects.html [2016,Oct15]
  8. https://www.drugs.com/ezetimibe.html [2016,Oct15]