ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ความดันหลอดเลือดปอดสูง หรือเรียกสั้นๆว่า ความดันปอดสูง(Pulmonary hypertension ย่อว่า PH หรือ PHT) เป็นภาวะหรือโรคที่มีความดันหลอดเลือดปอดทุกชนิด ทั้งหลอดเลือดดำ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย สูงขึ้นเกินปกติ โดยนิยามของการมีความดันหลอดเลือดปอดสูง คือการมีความดันในหลอดเลือดแดงปอดในขณะพักที่เรียกว่า Mean pulmonary artery pressure(PAPm) สูงมากกว่า/เท่ากับ 25 มิลลิเมตรปรอท(mmHg)

โรคความดันหลอดเลือดปอดสูง เป็นโรคพบน้อย พบได้ทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบในทุกอายุ แต่มักพบในผู้สูงอายุบ่อยกว่าในวัยอื่น แต่พบในเด็กได้น้อยมากๆ และพบในผู้มีโรคหัวใจ และ/หรือโรคปอด สูงกว่าในโรคอื่นๆ โดยมีรายงานจากประเทศเนเทอร์แลนด์พบโรคนี้ได้ 2.6%ของประชากรทั้งหมด

อนึ่ง ความดันเลือดในปอด/ความดันโลหิตในปอด(Pulmonary pressureหรือ Pulmonary blood pressure) หมายถึงความดันเลือดที่ส่งเลือดจากหัวใจเข้าสู่ปอด หรือคือความดันเลือดที่ไหลเวียนอยู่เฉพาะในปอด ไม่ใช่ความดันโลหิตของร่างกายที่เราตรวจวัดกันได้ปกติทั่วไป ทั้งนี้ “ค่าปกติของความดันเลือดปอดจะต่ำกว่าความดันโลหิตของร่างกายมาก คือ ในขณะพัก ความดันเลือดปอด/ความดันโลหิตปอดจะประมาณ 8-20 มิลลิเมตรปรอท”

อะไรเป็นสาเหตุของโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง?

ความดันหลอดเลือดปอดสูง

โรคความดันหลอดเลือดปอดสูงมีหลากหลายสาเหตุ โดยองค์การอนามัยโลกWorld Health Organization (WHO)ได้แบ่งโรคนี้ตามสาเหตุเป็นกลุ่มๆ(Classification) 5 กลุ่ม/กรุ๊ป(Group) ดังนี้

1. กรุ๊ป1(WHO group I) คือ ผู้ป่วยกลุ่มมีสาเหตุจากมีความดันในหลอดเลือดแดงปอดสูง(Pulmonary arterial hypertension ย่อว่า PAH) ซึ่งมีสาเหตุได้จากหลากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic PAH)
  • โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของปอด เช่นจาก โรคออโตอิมมูน
  • โรคติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคตับ
  • โรคเลือดชนิดมีรูปร่างเม็ดเลือดแดงผิดปกติ(Sickle cell disease)
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • โรคพยาธิใบไม้เลือด
  • อาการไม่พึงประสงค์จากยาบางชนิด เช่น สาร/ยาเสพติด(เช่น Cocaine), ยาลดความอ้วน
  • โรคหลอดเลือดในปอด เช่น โรค Pulmonary capillary hemangiomatosis, โรค Pulmonary venoocclusive disease
  • จากพันธุกรรม ที่พ่อแม่เป็นโรค PAH

2. กรุ๊ป2(WHO Group II) คือโรคความดันหลอดเลือดปอดสูงที่เกิดจากโรคของหัวใจห้องซ้าย เช่น จากโรคลิ้นหัวใจที่อยู่ในหัวใจซ้ายที่เรียกลิ้นหัวใจนี้ว่า Mitral valve และ จากโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมอาการได้ไม่ดี

3. กรุ๊ป3(WHO Group III) คือ ผู้ป่วยกลุ่มที่มีสาเหตุจากโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเป็นพังผืด ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ผู้ป่วยมีโรคปอดผิดปกติแต่กำเนิด

4. กรุ๊ป4 (WHO Group IV) คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคลิ่มเลือดเรื้อรังเกิดในหลอดเลือดปอด( Chronic Throboembolic Pulmonary hypertension ย่อว่า CTEPH)

5. กรุ๊ป5(WHO Group V) คือ ผู้ป่วยสาเหตุอื่นๆนอกเหนือจากใน 4 กรุ๊ปดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดอักเสบ โรคต่อมไร้ท่อ โรคไตเรื้อรัง การล้างไต

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง ได้แก่

  • เพศหญิง พบเป็นโรค PAH สูงกว่าเพศชาย ประมาณ 2 เท่า
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในโรค PAH
  • โรคอ้วน
  • โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ
  • ผู้คนที่อาศัยในสถานที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมาก(High altitude)
  • ผู้มีโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคปอดแต่กำเนิด โรคตับเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูงกลุ่มที่ควบคุมอาการได้ไม่ดี โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของปอด(เช่น โรคออโตอิมมูน)
  • มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง
  • คนที่กินยาลดความอ้วนต่อเนื่อง
  • ติดสาร/ยาเสพติด เช่น Cocaine

โรคความดันหลอดเลือดปอดสูงมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคความดันหลอดเลือดปอดในทุกกรุ๊ปจะเหมือนกัน ซึ่งอาการที่พบ บ่อย ได้แก่

  • หายใจลำบาก หายใจเร็ว ใจสั่น เป็นลม
  • เหนื่อยง่าย
  • หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก
  • ไอแห้งๆ
  • มึนงง
  • บวมน้ำที่บริเวณ หน้าแข็ง ข้อเท้า เท้า
  • อาจมี ริมฝีปาก เล็บมือ เล็บเท้า เขียวคล้ำ
  • เบื่ออาหาร
  • อาจมีอาการของ Raynaud,s phenomenon

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ”อาการฯ” โดยเฉพาะในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ดังได้กล่าวในหัวข้อ “ปัจจัยเสี่ยงฯ” ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยโรคความดันหลอดเลือดปอดสูงได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง ได้จาก ประวัติอาการ ประวัติอาชีพ การงาน ถิ่นที่พักอาศัย การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิต้านทานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคออโตอิมมูน การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจประสิทธิภาพการทำงานของปอด(เช่น การตรวจที่เรียกว่า Spirometry and diffusion capacity) และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย เช่น การส่องกล้องตรวจสภาพหลอดลมในปอด(Bronchoscopy) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง(เอคโคหัวใจ) และอาจรวมไปถึงการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคในปอดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคความดันหลอดเลือดปอดสูงได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง คือ การรักษาสาเหตุ การให้ยาขยายหลอดเลือดปอด การให้ยาช่วยการทำงานของกล้ามเน้อหัวใจ การรักษาประคับประคองตามอาการ และการผ่าตัด

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายตามสาเหตุ เช่น การรักษาโรคหัวใจ การรักษาโรคปอด การรักษาโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (โรคออโตอิมมูน) หรือ การรักษาโรคตับ ทั้งนี้ อ่านเพิ่มเติมวิธีรักษาโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com

ข. การให้ยาขยายหลอดเลือดปอด เช่นยา Treprostinil , Epoprostenol, Sildenafil, Calcium channel blocker, ยาต้านการแช็งตัวของลือด

ค. การใช้ยาช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เช่นยา Digoxin, ยาชับปัสสาวะ/ยาขับน้ำ

ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งจะเหมือนกันในผู้ป่วยทุกราย เช่น การให้ออกซิเจนกรณีมีการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย

จ. การผ่าตัด เช่น การผ่าตัดผนังห้องหัวใจระหว่างห้องหัวใจด้านขวาและด้านซ้ายเพื่อลดความดันในหัวใจห้องขวา ที่เรียกว่า “Septostomy” และการผ่าตัดเปลี่ยนปอด/การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด(Lung transplantation) ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ใช้เทคโนโลยีสูง ยุ่งยาก ซับซ้อน มีอันตรายสูงต่อชีวิตผู้ป่วย แลมีค่าใช้จ่ายการรักษาสูงมาก และผลการรักษายังอยู่ในขั้นการศึกษาทดลอง ดังนั้นแพทย์จึงเลือกวิธีการนี้ในผู้ป่วยเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสม

โรคความดันหลอดเลือดปอดสูงมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคความดันหลอดเลือดปอดสูง เป็นโรคมีการพยากรณ์โรคไม่ดี โอกาสรักษาหายมีน้อย อาการโรคมักรุนแรง ซึ่งในกรณีมีสาเหตุจากโรค PAH มีรายงานการมีชีวิตอยู่ได้หลังการวินิจฉัยโรคได้ประมาณ 2-3 ปี แต่ในกรณีอาการโรคไม่รุนแรงโอกาสอยู่รอดที่ 5 ปี ประมาณ 50-60%

ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง มักเสียชีวิตจาก มีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมกับมีภาวะหายใจล้มเหลว

โรคความดันหลอดเลือดปอดสูงมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง ได้แก่ การเกิดภาวะหายใจล้มเหลวร่วมกับภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งมักเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรคความดันหลอดเลือดปอดสูง ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงสูบบุหรี่มือสอง
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายทุกวัน ตามควรกับสุขภาพ ตามแพทย์แนะนำ
  • ควบคุมอาหารตามแพทย์แนะนำ
  • ในสตรี ต้องปรึกษาแพทย์ถึงการวางแผนครอบครัว (การคุมกำเนิด/ วิธีคุมกำเนิด เพราะการตั้งครรภ์จะทำให้อาการโรครุนแรงขึ้น ร่วมถึงผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดด้วย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตามแพทย์แนะนำ
  • ใช้ยาต่างๆเฉพาะตามคำสั่งแพทย์ ไม่ใช้ยาพร่ำเพื่อ ไม่ซื้อยาใช้เอง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ

  • อาการต่างๆของโรคเลวลง เช่น หายใจลำบากมากขึ้น เหนื่อยหอบมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ไอเป็นเลือด
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้มาก วิงเวียนมาก ท้องเสียรุนแรง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคความดันหลอดเลือดปอดสูงได้อย่างไร?

ป้องกันโรคความดันหลอดเลือดปอดสูงได้โดย หลีกเลี่ยง ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ ด้วยการปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ และ พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ ร่วมกับ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่มือสอง
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • ควบคุมอาหาร กินแต่อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

บรรณานุกรม

  1. Hoepwr,M. et al. J Am Coll Cardiol 2013;62: D42-50
  2. Von Noordegraal, A. et al. Eu Reapir Rev 2016;25:4-11
  3. http://www.clevelandclinicmeded.com/medicalpubs/diseasemanagement/pulmonary/pulmonary-hypertension/ [2017,Dec2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Pulmonary_hypertension [2017,Dec2]
  5. http://www.nhs.uk/Conditions/pulmonary-hypertension/Pages/introduction.aspx [2017,Dec2]
  6. https://www.thoracic.org/patients/patient-resources/breathing-in-america/resources/chapter-17-pulmonary-hypertension.pdf [2017,Dec2]
  7. http://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0130072 [2017,Dec2]
  8. http://www.heart.org/HEARTORG/Conditions/HighBloodPressure/GettheFactsAboutHighBloodPressure/Pulmonary-Hypertension---High-Blood-Pressure-in-the-Heart-to-Lung-System_UCM_301792_Article.jsp [2017,Dec2]