คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos)เป็นสารประกอบประเภทออร์กาโนฟอสเฟต (Organophosphates) มีฤทธิ์กำจัดแมลงและหนอนต่างๆได้หลายชนิด เกษตรกร จึงใช้สารเคมีชนิดนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) เพื่อเป็นสาร/ยากำจัดศัตรูพืช

คลอร์ไพริฟอส จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของระบบประสาทในตัวแมลง(Inhibiting acetylcholinesterase) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้คลอร์ไพริฟอสเป็นสารประกอบที่มีอันตราย การสัมผัสโดยตรงสามารถส่งผลกระทบต่อระบบประสาทของมนุษย์ และทำให้เกิดภาวะภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune disorders)

นอกจากนี้สารประกอบออร์กาโนฟอสเฟต ยังสร้างผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย เช่น ทำให้สูญเสียการควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย ทำลายกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายต่ำลง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต สตรีตั้งครรภ์ที่ได้รับสารประกอบชนิดนี้จะทำให้การพัฒนาระบบประสาทของทารกในครรภ์ผิดปกติได้

จากข้อมูลความเป็นพิษหลายประการของคลอร์ไพริฟอส ทำให้ครอบครัวเกษตรกรในอเมริกาเลิกใช้คลอร์ไพริฟอสในฟาร์มของตนเองตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) เป็นต้นมา

การบริโภคคลอร์ไพริฟอสที่ตกค้างในพืชผักเป็นปริมาณมากๆ สามารถทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ อดีตที่ผ่านมาคลอร์ไพริฟอสเป็นยาฆ่าแมลงที่มีการจำหน่ายเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก โดยใช้ฉีดพ่นลงในแปลงเกษตร เช่น ฝ้าย ข้าวโพด อัลมอนด์ รวมถึงผลไม้จำพวกส้ม กล้วย และแอปเปิ้ล แต่ถูกต่อต้าน และมีการยกเลิกการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดนี้ในหลายประเทศเช่นกัน

คลอร์ไพริฟอสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

คลอร์ไพริฟอส

คลอร์ไพริฟอสถูกจำหน่ายในลักษณะของเหลวที่มีความเข้มข้นขนาด 23.5% หรือ 50% การนำไปใช้ในแปลงเกษตรจะต้องเจือจางลงโดยการใช้กับพื้นที่แปลงเกษตรที่มีบริเวณกว้างจะใช้ความเข้มข้น 0.03 – 0.12% กรณีใช้ฉีดพ่นแบบจำเพาะเจาะจงอาจใช้ความเข้มข้นสูงถึง 0.5%

คลอร์ไพริฟอสมีลักษณะการออกฤทธิ์อย่างไร?

คลอร์ไพริฟอสมีกลไกการออกฤทธิ์โดยรบกวนสัญญาณจากสารสื่อประสาทจำพวก Acetylcholine โดยตัวมันจะเข้าจับเอนไซม์ที่มีชื่อเรียกว่า Acetylcholinesterase อย่างถาวร และการเกิดพิษแบบเฉียบพลันต่อแมลงจะเกิดขึ้นเมื่อเอนไซม์ Acetylcholinesterase ถูกรบกวนเป็นปริมาณ 70% ขึ้นไป จากเหตุผลดังกล่าวเป็นผลให้สารสื่อประสาท Acetylcholine ไม่สามารถส่งสัญญาณประสาท ทำให้เกิดสภาพอัมพาตในแมลงและทำให้แมลงตายลงในที่สุด

ผลกระทบต่อการใช้คลอร์ไพริฟอสอย่างไม่รับผิดชอบมีอะไรบ้าง?

ก่อนใช้ยาฆ่าแมลง ควรศึกษาผลดี-ผลเสียที่จะเกิดต่อ ผู้ใช้ ผู้บริโภค สภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ และสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ การละเลยและใช้แบบผิดๆอาจส่งผลกระทบดังนี้

  • ปนเปื้อนลงใน แหล่งน้ำ อากาศ พื้นดิน จนทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศน์ และการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า รวมถึงแมลงที่มีประโยชน์อย่าง ผึ้ง ผีเสื้อที่ช่วยผสมพันธุ์พืชตามธรรมชาติให้ตายลงเป็นจำนวนมาก ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เช่น ลูกปลาไม่สามารถเจริญเป็นตัวเต็มวัยด้วยตายลงเสียก่อน หรือการปนเปื้อนในปลาใหญ่ที่พอจะทนพิษยาฆ่าแมลงได้อาจส่งผลกระทบมาถึงผู้บริโภคปลานั้น นอกจากนี้ ไส้เดือนซึ่งเป็นสัตว์เกษตรกรที่ผิวดินมีหน้าที่ทำให้ดินร่วนซุยและเกิดปุ๋ยตามธรรมชาติจะสูญหายไปจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง สัตว์ป่าตามธรรมชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ภาคเกษตรกรรม เช่น นก อาจสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
  • เกิดภาวะกลายพันธุ์ของแมลงที่เป็นศัตรูพืช แมลงเหล่านี้สามารถทนพิษของยา ฆ่าแมลงทำให้เราเรียนรู้ว่าการใช้ยาฆ่าแมลงไม่ใช้วิธียั่งยืน แต่กลับก่อให้เกิดผลเสีย มากกว่า
  • มนุษย์ที่ได้รับยาฆ่าแมลงโดยตรงหรือโดยอ้อมหรือไม่รู้ตัวว่ากำลังได้รับ ยาฆ่าแมลงอยู่จนทำให้เกิดโรคต่อร่างกายได้มากมายไม่ว่าจะเป็นโรคทาง ระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ กล้ามเนื้อ หัวใจ และ มะเร็ง

อาการของผู้ที่ได้รับคลอร์ไพริฟอสเข้าร่างกายเป็นอย่างไร?

สามารถสรุปอาการของผู้ที่ได้รับพิษเฉียบพลันจากคลอร์ไพริฟอสโดยสังเกตจากอาการดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะ
  • น้ำตาไหลมาก เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • น้ำลายในปากมีปริมาณมาก
  • คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย
  • ตาพร่า มองภาพไม่ชัดเจน
  • ตัวชาหรือไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกคล้ายเป็นอัมพาต
  • กล้ามเนื้อหดเกร็งตัวหรือเกิดตะคริว มีอาการชักกระตุก และหมดสติ
  • มีอาการโคม่า

การแก้พิษของคลอร์ไพริฟอสทำอย่างไร?

กรณีที่ได้รับ/บริโภคสารคลอร์ไพริฟอส ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที

การรักษาคือ แพทย์จะให้ยา Atropine พร้อมกับยากลุ่ม Oximes เช่น Pralidoxime และควบคุมสัญญาณชีพให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลา

การใช้คลอร์ไพริฟอสอย่างปลอดภัยควรทำอย่างไร?

งานภาคเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย ได้มีผู้ริเริ่มสานต่อกันมาและมีผู้ให้ความนิยมมากขึ้น เกษตรกรจำนวนมากปฏิเสธการใช้ยาฆ่าแมลง และหันมาใช้วิธีการอื่นทดแทน เช่น

  • คัดเลือกสายพันธุ์พืชที่ทนแมลง
  • สนับสนุนให้มีศัตรูทางชีวภาพ เช่น นก แมงมุม ตัวห้ำ เบียน
  • ปลูกพืชหมุนเวียน ทำเกษตรสวนผสมทดแทนเกษตรเชิงเดี่ยว

อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. อ่านคู่มือการใช้งานโดยละเอียด ศึกษาวิธีการเตรียมยาฆ่าแมลงในสัดส่วนที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและสภาพแวดล้อม ห้ามผสมยาฆ่าแมลงที่มีคุณสมบัติต่างกัน หรือเป็นยาฆ่าแมลงคนละกลุ่มเพื่อนำมาใช้ฆ่าแมลงในครั้งเดียว

2. ศึกษาวิธีปฐมพยาบาลเมื่อได้รับยาฆ่าแมลงชนิดนั้นๆ จนเข้าใจและสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง

3. ใช้อุปกรณ์การฉีดพ่นที่มีมาตรฐาน ห้ามใช้อุปกรณ์การปรุงอาหารไม่ว่าจะเป็น ของมนุษย์หรือสัตว์มาประยุกต์ใช้กับยาฆ่าแมลง

4. เตรียมผสมยาฆ่าแมลงให้พอดีกับการใช้งาน ไม่ควรเตรียมเกินความต้องการ ซึ่งต้องทิ้ง ทำลาย และสิ้นเปลือง

5. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น แว่นป้องกันสารเคมีเข้าตา หน้ากากกรองสารพิษ หมวกคลุมผม ชุดเสื้อผ้าที่ป้องกันการซึมผ่านของสารเคมีมาสัมผัสผิวหนัง ถุงมือ รองเท้าที่ปกคลุมเท้าอย่างมิดชิด

6. ไม่ดื่ม กินอาหาร สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง ขณะฉีดพ่นยาฆ่าแมลง

7. ดูแลมิให้บุคคลและสัตว์เข้ามาอยู่ในพื้นที่หลังพ่นยาฆ่าแมลง กรณีคลอร์ไพริฟอสต้องป้องกันพื้นที่เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่ใช้ ฉีดพ่น

8. ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงที่หมดอายุแล้ว ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ยาฆ่าแมลงที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเท่านั้น

9. ควรฉีดพ่นยาฆ่าแมลงในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแนวลมที่มักจะพัดแรง ในระหว่างวัน

10. ขณะฉีดพ่นยาฆ่าแมลงต้องระวังมิให้ไปปนเปื้อนพืชหรือพื้นที่เกษตรที่ไม่ได้ เกี่ยวข้องเช่นพื้นที่ใกล้เคียงของเพื่อนบ้าน

11. หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดเดียวซ้ำซาก ควรสลับหรือไม่เปลี่ยนมาเป็น การใช้วิธีทางกายภาพ เช่น กางมุ้งในแปลงเกษตร เพาะเลี้ยงศัตรูชีวภาพของแมลงศัตรูพืช เช่น เบียน ห้ำ แมงมุม นกกินแมลง

12. อาบน้ำชำระร่างกาย ฟอกสบู่ สระผม หลังปฏิบัติงานกับยาฆ่าแมลง

13. ไม่ล้างอุปกรณ์การฉีดพ่นยาฆ่าแมลงลงในแม่น้ำ คูคลองตามธรรมชาติ

ถ้าเกษตรกรหันมาใช้เกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ผลิตผลที่มาจากฟาร์มปลอดยาฆ่าแมลงจะส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งของ ผู้ผลิต ผู้บริโภค ปลอดโรค ปลอดภัยและได้รับการยอมรับจากประชากรทั่วประเทศ/ทั่วโลก

ควรเก็บรักษายาฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอสอย่างไร?

ควรเก็บยาฆ่าแมลง/คลอร์ไพริฟอส ดังนี้ เช่น

  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความร้อน
  • เก็บยาฆ่าแมลงที่รวมถึงคลอร์ไพริฟอส ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น และอยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี
  • เก็บยาฆ่าแมลง/คลอร์ไพริฟอสให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์หรืออาหารสัตว์
  • ห้ามทิ้งยาฆ่าแมลง/คลอร์ไพริฟอส ลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติและห้ามทิ้งลงพื้นดินโดยตรง

มีวิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าแมลงอย่างไรบ้าง?

มีวิธีขั้นตอนการปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับพิษจากยาฆ่าแมลง/คลอร์ไพริฟอส ดังนี้

  • นำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงโดยเร็ว
  • ตรวจสอบสภาพภายในปากมิให้มี อาหาร น้ำลาย วัตถุต่างๆเช่น ฟันปลอมที่อาจ อุดหรือปิดกั้นช่องทางเดินหายใจ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดภายในช่องปากผู้ป่วย
  • ตรวจสอบว่าผู้ป่วยยังหายใจได้ดีหรือไม่ การทำการกูชีพด้วยเทคนิค CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation ผู้ปฏิบัติต้องได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
  • หลีกเลี่ยงการทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับพิษจากการสูดดม หรือการรับประทาน
  • กรณียาฆ่าแมลง/คลอร์ไพริฟอส เข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดอย่างต่อเนื่อง อาจต้องใช้เวลานานเกิน 15 นาทีเพื่อให้แน่ใจว่ายาฆ่าแมลงไม่หลงเหลือในลูกตา ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโยเร็วหลังจากล้างตาแล้ว เพื่อประเมินอาการของตา
  • กรณียาฆ่าแมลงสัมผัสผิวหนัง ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนยาฆ่าแมลงออก ล้างทำ ความสะอาดร่างกายโดยใช้น้ำและสบู่ฟอกเพื่อลดปริมาณยาฆ่าแมลงให้มากที่สุด
  • สำหรับผู้ป่วยที่หมดสติ ต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันทีไม่ควรรอดูอาการ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Chlorpyrifos#International_law [2018,Oct6]
  2. https://www.epa.gov/ingredients-used-pesticide-products/chlorpyrifos [2018,Oct6]
  3. https://www.dovemed.com/healthy-living/first-aid/first-aid-insecticide-poisoning/ [2018,Oct6]
  4. http://npic.orst.edu/health/safeuse.html [2018,Oct6]